จาก ‘Pumped up Kicks’ ถึง ‘Sunday Bloody Sunday’ ประวัติศาสตร์ของโศกนาฏกรรมและความขมขื่นในบทเพลง

20 เมษายน 1999 ทั้งรัฐโคโลราโดตลอดจนประเทศสหรัฐฯ ถูกปลุกให้ตื่นจากภวังค์ด้วยเสียงปืนลูกซองของเด็กเกรด 12 จากโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ เสียงปืนในครั้งนี้กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สังหารหมู่ในรั้วโรงเรียนที่รุนแรงที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของอเมริกา ซึ่งทันทีที่รู้ข่าว Cubbie Fink เด็กหนุ่มวัย 16 ที่ย้ายมาอยู่เมืองซานดิเอโกกับครอบครัวตั้งแต่ 9 ขวบ ก็ตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินตรงดิ่งไปยังโคโลราโดซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เพื่อไปดูแลญาติซึ่งเป็นเด็กสาวผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้นอย่างหวุดหวิด

เหตุการณ์นั้นฝังอยู่ในความรู้สึกของฟิงก์และชาวอเมริกันส่วนใหญ่มานับแต่นั้น ในอีกสิบปีต่อมา เมื่อเขากลายมาเป็นมือเบสของวง Foster The People ฟิงก์และเพื่อนร่วมวงอย่าง Mark Foster และ Mark Pontius ร่วมกันแต่งเพลงที่บอกเล่าถึงบาดแผล ความรุนแรง และความเจ็บปวดของวัยรุ่นใน Pumped up Kicks จนกลายเป็นหนึ่งในบทเพลงที่บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ความรุนแรง บอกเล่าความขมขื่นของคนรุ่นใหม่ ทั้งยังไต่ชาร์ตติดอันดับ 3 ของบิลล์บอร์ดอยู่นาน 8 สัปดาห์ กับเสียงวิจารณ์แง่บวกไม่ว่าจะในเชิงดนตรีหรือเนื้อหา ถึงขนาดมีคนบอกว่าเนื้อเพลงที่ว่าด้วยลูกกระสุนและความรุนแรงในเพลง เมื่อผสานกับเสียงซินท์ป๊อปและเสียงผิวปากแล้วให้ความรู้สึกขนลุกอย่างแปลกประหลาด

Yeah, he found a six shooter gun
In his dad’s closet, in a box of fun things.
And I don’t even know what
But he’s coming for you, yeah, he’s coming for you.

ฟิงก์เล่าถึงที่มาของบทเพลงนี้สั้นๆ ว่ามันกลายเป็นเพลงที่ช่วยเยียวยาเขาและญาติที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อปี 1999 ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง “เธอสนิทกับผมมากจนเหมือนเป็นน้องสาวแท้ๆ เพราะงั้นมันเลยกระทบต่อผมด้วยเช่นกัน การมีเพลงแบบนี้มันเลยดีต่อเราทั้งสองนั่นแหละ” ส่วนฟอสเตอร์ ฟรอนต์แมนของวงและเป็นหัวเรือใหญ่ในการเขียนเพลงบอกว่า “ตอนนั้นผมเพิ่งอ่านบทความที่เล่าถึงกระแสความป่วยไข้ทางจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นแล้วอยากเข้าใจเรื่องทางจิตวิทยาพวกนี้มากเพราะผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย มันน่าตระหนกจริงๆ นะที่ในรอบทศวรรษที่ผ่านมามีสถิติวัยรุ่นป่วยไข้ทางจิตใจพุ่งขึ้นสูงมาก หากเราไม่ลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง โลกที่เราจะส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปมันคงน่ากลัวมากๆ

“เพลงนี้เหมือนเป็นข้อสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนในทุกวันนี้ ผมอยากเล่าถึงเด็กที่หมดทางจะไปสักคน และพบว่าเพลงได้ทำหน้าที่นี้แล้วในตอนที่คนเริ่มพูดถึงมันจนกลายเป็นประเด็นขึ้นมา ซึ่งผมว่ามันดีมากเลย”

‘Pumped up’ หมายถึงรองเท้ารุ่น Reebok Pump ที่ปล่อยออกมาในปี 1989 หน้าตาฉูดฉาดและราคาแพงลิบลิ่ว เด็กที่จะมีมันในครอบครองได้จึงมักเป็นเด็กบ้านรวย หรือไม่ก็ถ้ามีรองเท้ารุ่นนี้ก็จะกลายเป็นที่นิยมชมชอบ และโด่งดังในหมู่เพื่อนๆ ทันที โดยบทเพลงเล่าถึงโรเบิร์ต (หลายคนตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมาจากชื่อของ Robert Hawkins เด็กหนุ่มวัย 19 ที่กราดยิงในห้างสรรพสินค้าปี 2007 แต่ทางวงออกมาปฏิเสธว่าเป็นเรื่องบังเอิญเฉยๆ) เด็กผู้ชายเงียบๆ ที่ไปคว้าเอาปืนของพ่อแล้วบุกไปที่โรงเรียน ติดตามมาด้วยเนื้อร้องท่อน “All the other kids with the pumped up kicks / You better run, better run faster than my bullet.” ส่งสัญญาณให้เด็กบ้านรวยและเป็นที่รักของเพื่อนๆ เจ้าของรองเท้าผ้าใบแพงระยับนั่นหนีให้พ้นจากวิถีกระสุนของโรเบิร์ต 

Reebok Pump

ยังไงก็ดี เนื้อเพลงและสัญญะต่างๆ ในเพลงก็ไม่ได้เป็นที่พิสมัยของทุกคนนัก ช่อง MTV ซึ่งตอนนั้นยังเป็นหนึ่งในช่องทางหลักๆ ในการเผยแพร่เพลงตัดเอาคำว่า ‘ปืน’ และ ‘กระสุน’ ออกจากท่อนคอรัส ขณะที่วงและค่ายเพลงต่างก็ต้องรับมือกับจดหมายจำนวนมหาศาลจากคนฟังที่รู้สึกว่าเพลงสนับสนุนความรุนแรงจนกังวลว่าอาจทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก ซึ่งวงออกมาค้านอย่างหนักแน่นว่า “นี่ไม่ได้เป็นเพลงที่สนับสนุนให้มีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ นี่เป็นเพลงที่ทำให้คุณได้มีช่องไปคุยกับลูกๆ เพื่อสำรวจประเด็นที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อนเพื่อคุยกับลูกอย่างสนิทสนมมากขึ้น” 

Pumped up Kicks ไม่ใช่เพลงแรกและเพลงเดียวที่มีต้นธารมาจากความเคลื่อนไหวในสังคม หลายต่อหลายครั้งที่บทเพลงทำหน้าที่บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรือกระทั่งในอดีตมาบอกเล่าอีกครั้งด้วยจุดประสงค์อันหลากหลาย แต่บางเรื่องก็เป็นอดีตอันไกลลิบหลายร้อยปีก่อนอย่าง Children’s Crusade ของ Sting นักดนตรีสัญชาติอังกฤษที่หยิบเอาเหตุการณ์ชื่อเดียวกันกับเพลงเมื่อปี 1212 มาเขียนเป็นบทเพลงต่อต้านสงครามอันลือลั่นเมื่อปี 1985

Children’s Crusade หรือสงครามครูเสดเด็ก เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของมหาสงครามที่กินเวลานานหลายร้อยปีอย่างสงครามครูเสด ซึ่งโดยภาพรวมเป็นสงครามศาสนาระหว่างศาสนจักรคาทอลิกและมุสลิมในยุคกลาง กินเวลาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เรื่อยมาจนศตวรรษที่ 14 ระหว่างนั้นมีสงครามครั้งใหญ่และสงครามย่อยสลับกันแพ้-ชนะอยู่เป็นระยะ รวมทั้งสงครามครูเสดเด็กซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่ชวนหดหู่อย่างที่สุด ว่ากันว่ามีนักบวชวัยเยาว์คนหนึ่งแถบฝรั่งเศส (บางที่ก็บอกว่าเยอรมนี) อ้างว่าเยซูมอบหมายมาที่เขาโดยตรงให้มุ่งหน้าไปยังครูเสดเพื่อไปให้โอวาทชาวมุสลิมในพื้นที่แห่งนั้นเปลี่ยนใจมานับถือศาสนาคริสต์ และด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เด็กชายก็ได้รับความร่วมมือจากเด็กๆ นับตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงเด็กหนุ่มราว 30,000 คน ออกเดินทางลงใต้ไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยเชื่อว่าทะเลจะเปิดทางให้พวกเขาเดินทางไปถึงเยรูซาเล็มได้อย่างรวดเร็ว หากแต่การณ์กลับไม่เป็นดังนั้น พวกเขาติดอยู่ที่ชายฝั่งทะเลและถูกพ่อค้าจับไปขายเป็นทาส คนที่รอดจากเหตุการณ์นั้นหากไม่พายเรือไปจนถึงตูนีเซียก็แพแตกลงเสียก่อนกลางทะเล

ยังไงก็ตาม ประวัติศาสตร์ของสงครามครูเสดเด็กนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าที่มาของการส่งเด็กออกเดินทางไปยังสงครามนั้นคืออะไร นักประวัติศาสตร์บางคนเสนอว่าเป็นแนวคิดเรื่องการบูชายัญเด็กให้แก่พระผู้เป็นเจ้า หรือบางคนเสนอว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับสถานะทางสังคมของเด็กในยุคนั้นด้วย ที่คนที่ถูกเลือกให้ออกเดินทางนั้นเป็นเด็กยากจนและอยู่ชั้นล่างสุดในสังคม และอาจเป็นไปได้ว่าพระสันตะปาปาในช่วงเวลานั้นตัดสินใจลอยแพเด็กในเมืองเพื่อตัดปัญหาเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ

Young men, soldiers, nineteen fourteen
Marching through countries they’d never seen.
Virgins with rifles, a game of charades.

Sting เอาเรื่องเล่าจากสมัยโบราณมาผสมรวมกับสงครามร่วมสมัยอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 “โดยภาพรวมแล้ว มันเป็นเพลงที่ว่าด้วยความโง่เขลาของมนุษย์และความรุนแรงของสงคราม” เขาบอก “อเมริกามักมองกลับไปยังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ราวกับว่ามันเป็นการเดินทางที่งดงามเสียเหลือเกิน มีเครื่องยนต์ล้ำยุคเอาไว้ปกป้องผู้คนจากการโดนข่มเหงจากเผด็จการ แต่ในอังกฤษเราไม่เป็นอย่างนั้น สำหรับเด็กนักเรียนแล้วมันคือหายนะอย่างที่สุด มันคือโศกนาฏกรรมที่พาคนหนุ่มออกไปตายอย่างเปล่าประโยชน์ คนหนุ่มเป็นหมื่นๆ คนถูกส่งไปที่แนวรบด้านตะวันตกเพื่อให้ถูกกระสุนปืนกลฉีกทึ้งร่างออกเป็นส่วนๆ ยุทธวิธีแบบค่อยๆ บุกมันช่างไร้ประโยชน์ เราไม่เคยได้คืบไปไกลเกินหนึ่งนิ้วเลย

“สงครามโลกครั้งที่ 1 ของอังกฤษที่ผมจำได้นั้นราวกับมันเป็นเรื่องของคนที่พากันไปตายโดยไม่มีที่สิ้นสุด สงครามกลายเป็นสัญลักษณ์ของจุดจบความเกรียงไกรของจักรวรรดิอังกฤษ ทำลายศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสติปัญญาของนายพลและนักการเมือง

“คุณอาจรับรู้มาว่าเรื่องของสงครามครูเสดเด็กคือการที่เด็กๆ เหล่านี้ถูกส่งไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้เป็นอุบายชั่วของพวกนักบวชในศตวรรษที่ 11 พวกเขาไปดึงเอาเด็กยากจนมากมายมารวมเข้าด้วยกันแล้วส่งไปยังแอฟริกาเหนือ ใครที่ยังรอดจะถูกขายเป็นทาส เห็นหรือยังว่ามันคือเรื่องของผู้ใหญ่ชั่วที่หลอกลวงผู้คนด้วยแผนการอันแยบยลและน่ารังเกียจ” เขาบอกอย่างขมขื่น “ก็เหมือนคนหนุ่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ถูกหลอกให้เชื่อต่างๆ นานานั่นแหละ

The Children’s Crusade

“เพลงนี้สาปส่งให้ไอ้พวกที่หลอกลวงคนเข้าสู่สงครามไปตายซะให้หมด”

อีกเพลงหนึ่งที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าคือ Sunday Bloody Sunday ของวงร็อกจากไอริช U2 ที่ปกติก็พูดเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ผ่านเนื้อเพลงอยู่บ่อยๆ อย่าง The Saints are Coming และ The Refugee แต่เพลงที่ถูกพูดถึงอย่างหนาหูคือ Sunday Bloody Sunday เพราะฉากหลังมันคือเรื่องของความรุนแรงที่รัฐบาลอังกฤษกระทำต่อประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือในปี 1972 ภายหลังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Bloody Sunday หรือวันอาทิตย์เลือด

ในช่วงเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสหราชอาณาจักรไม่ค่อยดีนักเมื่อฝ่ายแรกพบว่าสหราชอาณาจักรเข้ามามีบทบาทในเชิงการเมืองและประวัติศาสตร์ ซึ่งกินเวลานับตั้งแต่อังกฤษยึดไอร์แลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมตัวเองตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ท่ามกลางความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและความเชื่อจนเกิดการลุกฮือของชาวไอร์แลนด์รอบแล้วรอบเล่า และชนวนสำคัญคือการปะทะกันที่บ็อกไซต์ปี 1969 ในเดร์รี ไอร์แลนด์เหนือ เมื่อสหภาพแรงงานก่อจลาจลปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เวลาผ่านไปสองวันก็ยังระงับเหตุไม่ได้ ทางสหราชอาณาจักรจึงส่งกองทัพลงมาปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งยิ่งทำให้ชาวไอร์แลนด์เหนือโกรธจัดขึ้นไปอีก กลายเป็นเชื้อเพลิงสำคัญให้ผู้คนลุกขึ้นต่อต้านมากขึ้นเรื่อยๆ และทางกองทัพก็จัดการอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน อย่างในปี 1971 เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่บัลลีเมอร์ฟี ย่านเล็กๆ ในไอร์แลนด์เหนือที่หน่วย The Parachute Regiment สังกัดทหารราบของอังกฤษยิงประชาชนเสียชีวิตไป 11 ชีวิต

Bloody Sunday

ชาวไอร์แลนด์เหนือกอดเอาความขุ่นเคืองนี้ตั้งป้อมสู้กับสหราชอาณาจักรข้ามปี จนล่วงเข้าเดือนมกราคม 1972 สมาพันธ์สิทธิพลเมืองไอร์แลนด์เหนือและสมาชิกนับหมื่นคนออกมาเรียกร้องการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนจนถึงย่านเดร์รี ย่านใหญ่เป็นอันดับสองของไอร์แลนด์เหนือ มีเจ้าหน้าที่ตั้งกองกำลังและเครื่องกีดขวางดักรออยู่ก่อนแล้วจนเกิดการปะทะระหว่างสองฝ่าย ตามมาด้วยกองทัพสหราชอาณาจักรโยนแก๊สน้ำตาและกระสุนจริงใส่ผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กวัยรุ่น 7 ราย ทั้งหมดไม่มีอาวุธเลย และแม้ว่าจะมีการไต่สวนว่ากองทัพอังกฤษทำเกินกว่าเหตุจริงหรือไม่ในเวลาต่อมา (มีหลักฐานว่านายทหารของสหราชอาณาจักร 21 คนยิงกระสุนจริงทั้งสิ้น 108 นัด) แต่ก็ได้รับคำตัดสินว่าไม่มีความผิด ซึ่งยิ่งบ่มเพาะความโกรธแค้นให้ชาวไอร์แลนด์เหนือมากขึ้นไปอีก (ทั้งนี้มีการรื้อคดีกลับมาไต่สวนอีกครั้งในปี 1998 โดยคณะกรรมการชุดใหม่ และพบว่าทหารเป็นฝ่ายใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ในเวลาต่อมาเมื่อปี 2010 เดวิด แคเมอรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในตอนนั้น ออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชนชาวไอร์แลนด์เหนือกลางสภา ถึงสาเหตุอันไม่สมควรที่กองทัพอังกฤษเคยกระทำไว้ในปี 1972 และเสนอจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายและบาดเจ็บในครั้งนั้น นับเป็นการชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของสองประเทศ

How long, how long must we sing this song?
How long? How long?
‘Cause tonight
We can be as one
Tonight.

ครั้งหนึ่งมือกลองของวง U2 แลร์รี มัลเลน เคยออกมาเปรยๆ ว่าเพลง Sunday Bloody Sunday ไม่เพียงแต่พูดถึงเหตุการณ์จากหน้าประวัติศาสตร์ แต่มันยังชวนให้คนฟังตระหนักถึงความรุนแรงที่ห้อมล้อมเราอยู่ทุกเมื่อด้วย “อย่างเวลาพูดถึงไอร์แลนด์เหนือกับเหตุการณ์ Bloody Sunday คนก็จะคิดว่า ‘อ๋อ ครั้งที่มีชาวคาทอลิกถูกทหารอังกฤษยิงไป 13 คนนั่นใช่ไหม’ ซึ่งจริงๆ แล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่เพลงเราพูดถึงเลย เราพูดถึงตัวเหตุการณ์นั้นต่างหาก เหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดของไอร์แลนด์เหนือและเป็นวิธีสื่อสารว่า เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ไปอีกนานแค่ไหนได้อย่างทรงพลังที่สุด” 

แต่เพลงที่ขึ้นชื่อว่าแทบจะเอาตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์มาเรียงเป็นเนื้อเพลงคือ We Didn’t Start the Fire จากอัลบั้ม Storm Front (1989) ของ Billy Joel ที่ทะลวงชาร์ตเพลงในสหรัฐอเมริกาขึ้นอันดับหนึ่งทันทีหลังจากปล่อยเพลง กับเนื้อเพลงที่หยิบเอาคนและเหตุการณ์ต่างๆ มาเล่าเป็นเนื้อเรื่อง และกลายเป็นการย่นย่อประวัติศาสตร์ยุค 50s-60s จำนวน 119 เหตุการณ์มาขมวดอยู่ในเวลาเพียง 4.29 นาที

เริ่มกันตั้งแต่ชื่อ Harry S. Truman อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และก่อตั้งสัทธิทรูแมนอันชวนเหวอในยุค 50s ตามมาด้วย Doris Day และ Marilyn Monroe นักแสดงสาวที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมกระแสหลักของยุคนั้น กระทั่งยังมีวรรณกรรมแสวงหาความหมาย The Catcher in the Rye โดย J. D. Salinger, เพลงบลูส์ชื่อดังแห่งยุค Rock Around The Clock, หนังอลังการของ David Lean ความยาวร่วม 4 ชั่วโมงอย่าง Lawrence of Arabia (1962) หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับอัฟกานิสถาน

ที่มาของเพลงที่แทบจะยัดเอาเหตุการณ์ใหญ่ๆ ของทั้งทศวรรษเข้าไปในเวลาไม่ถึงห้านาทีนี้ โจเอลเล่าว่าเป็นช่วงที่เขากำลังจะอายุ 40 เข้าสตูดิโอไปอัดเพลงและเจอกับ Seán Lennon นักดนตรีหนุ่มวัย 21 ปี ลูกชายของ John Lennon กับ Yoko Ono ที่บ่นอิดออดกับเขาว่า “การอายุ 21 นี่มันแย่จริงๆ นะ” ซึ่งโจเอลพอเข้าใจได้เพราะเวลานั้นเป็นต้นยุค 90s ที่ทุกอย่างเปลี่ยนผ่านรวดเร็ว เขาเลยตอบกลับไปว่า “จริงแหละ จำได้เหมือนกันสมัยที่ตัวเองอายุ 21 ยังคิดอยู่เลยว่าเป็นช่วงที่แย่จัง แล้วตอนนั้นเรามีทั้งสงครามเวียดนาม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความเท่าเทียม แล้วทุกอย่างมันดูแย่ไปหมดเลย”

หนุ่มน้อยเลนนอนบอกเขาว่า “ก็จริง แต่มันก็ต่างออกไปอยู่ดีไหมนะ เพราะสมัยที่คุณยังเด็กคุณอยู่ในยุค 50s แล้วทุกคนก็รู้ว่ายุค 50s มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง” และนี่เองที่ทำเอาโจเอลฉงนฉงายหนักถึงขั้นรุกไล่ถามเลนนอนไม่หยุด “เดี๋ยวนะพวก นายไม่เคยได้ยินเรื่องสงครามเกาหลีหรือวิกฤตการณ์สุเอซเหรอ” 

ยังไงก็ตาม มันได้กลายเป็นไอเดียให้เขาเอาเหตุการณ์ในยุค 50s มาเรียบเรียงเป็นบทเพลง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ เขาไม่ปลื้มนัก (และออกจะงงงวยว่ามันฮิตขนาดนี้ได้ยังไงวะ) เพราะสำหรับเขา “มันไม่ค่อยจะเป็นเพลงเท่าไหร่ พอเอาชื่อมาต่อๆ กันมันก็มีทำนองของมันเองแล้ว แต่ฟังดูยังกะเสียงกรอฟัน” (แต่แม้จะเหม็นบูดเพลงตัวเองแค่ไหน เพลงที่ ‘ยังกะเสียงกรอฟัน’ ก็ได้เข้าชิงแกรมมีสาขา Record of the Year นะเออ)

We Didn’t Start the Fire กลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของวัฒนธรรมกระแสหลักที่ใช้ในการบอกเล่าเหตุการณ์หรือรายละเอียดยาวเหยียดบางอย่าง หรือถูกเอาไปดัดแปลงเนื้อเพลงให้เข้ากับบริบท อย่างปี 2006 ที่เพลงกลับมาฮิตอีกครั้งหลังโคคา-โคลาใช้เพลงนี้เปิดตัวเวิลด์คัพ แต่เปลี่ยนเนื้อเพลงให้เป็นชื่อประเทศต่างๆ แทน หรือล่าสุดกับจักรวาลหนังมาร์เวลที่หยิบเอาทำนองเพลงมาใช้ แล้วเอาชื่อตัวละครในหนังใส่เข้าไปในเนื้อเพลงแทน

ในแง่หนึ่ง เพลงจึงกลายเป็นบทบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ที่ย้ำเตือนไม่ให้เราหลงลืมความขมขื่นในเหตุการณ์เหล่านั้น ด้านหนึ่งอาจจะเพื่อเยียวยาบาดแผลส่วนตัวของคนทำเพลงเอง หรือในอีกด้านมันก็อาจเยียวยาหัวใจคนฟังที่อาจยังจมอยู่กับบาดแผลนั้นว่าพวกเขาไม่ได้เดียวดายแต่อย่างใด

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที