คุยกับ ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ : วิศวกรเมืองและ Disrupter ผู้ปลุกปั้น ‘แก้มลิงใต้ดิน’ เพื่อซับน้ำท่วมซ้ำซากและซับน้ำตาให้คนเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งมองเห็นภาพตึกเอ็มไพร์สเตทในหนังสือพิมพ์ แล้วฝันอยากเป็นวิศวกรผู้ยิ่งใหญ่ที่สร้างตึกสูงเสียดฟ้าแบบนั้นให้ได้บ้าง

20 ปีให้หลัง แทนที่เราจะได้เห็นตึกสูงระฟ้าฝีมือเด็กผู้ชายคนนี้ ตรงกันข้าม เรากลับได้สิ่งปลูกสร้างที่ลึกลงไปใต้ดินแทน ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้แหละที่เข้ามาพลิกโฉมประวัติศาสตร์ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ ไปตลอดกาล

ใช่แล้ว นั่นคือระบบรถไฟฟ้าใต้ดินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ถ้าเราไม่มีเด็กผู้ชายช่างจินตนาการในวันนั้น ที่คิดฝันอยากสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา เราอาจจะยังติดแหง็กอยู่บนถนนที่รถติดหนักขึ้นทุกวี่วัน และใช้เวลาค่อนวันในการเดินทาง เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว กรุงเทพฯ ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีโครงการสร้างระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่หรือตอหม้อรถไฟลอยฟ้าโผล่มาให้เห็นสักต้น

ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวครูโรงเรียนช่าง ทำให้ได้คลุกคลีอยู่กับห้องแล็บไฟฟ้า เครื่องกล เครื่องบัดกรี เห็นคนซ่อมเครื่องยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเป็นเรื่องปกติ จุดประกายให้เด็กชายขี้สงสัยอย่าง เอ้ หรือ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลองประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายตัวกระเปี๊ยก ทั้งต่อวงจรไฟฉายใช้เองและทำวิทยุทำมือ ล้วนมีส่วนหล่อหลอมวิญญาณนักประดิษฐ์ให้เกิดขึ้นในตัวเอ้ซึ่งเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้อยากเป็นวิศวกรเต็มตัว

ความฝันเหมือนจะไปได้สวย แต่ต้องถล่มทลายลงตั้งแต่ปากทาง เพราะเอ้สอบไม่ติดโรงเรียนในฝันที่กรุงเทพฯ ที่ครอบครัววาดหวังไว้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เอ้ท้อ กลับทำให้ยิ่งฮึดสู้จนได้โควตาเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับที่เขานั่งตำแหน่งอธิการบดีอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นวิศวกรผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ หลังจากคว้าปริญญาตรีใบแรกจากสาขาวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังสำเร็จแล้ว เอ้ตั้งใจไปเรียนต่อปริญญาโทเรื่องการสร้างอุโมงค์ในดินอ่อน เพื่อกลับมาสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินให้เกิดขึ้นจริงที่กรุงเทพฯ และคว้าปริญญาโทสองใบได้ตามหวัง ใบแรกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ด้านนโยบายและเทคโนโลยี ควบปริญญาโทใบที่สองด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมที่ MIT

หากมองเผินๆ ใครๆ ก็มักจะคิดว่าเส้นทางชีวิตของเขาโรยด้วยกลีบกุหลาบ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เอ้รีบปฏิเสธทันควันว่าไม่ใช่เช่นนั้นเลย

เอ้เริ่มเส้นทางการเป็นวิศวกรเมืองด้วยการเป็นเด็กวิศวะฯ เกรดร่อแร่เกือบโดนรีไทร์ เพราะมัวแต่เล่นกีฬาและทำกิจกรรมเป็นประธานนักศึกษา จนเพื่อนทุกคนแทงหวยว่าจะต้องถูกมหาวิทยาลัยเชิญให้ออก กลับกลายเป็นนักเรียนวิศวะฯ คนเดียวของประเทศในปีนั้นที่ได้รับการตอบรับให้เข้าเรียนใน MIT สถาบันด้านวิศวกรรมอันดับหนึ่งของโลก

ในวัย 47 ปี เอ้ผ่านการทำงานมากมายหลายอย่าง ทั้งเป็นวิศวกรเมือง และก้าวขึ้นมาเป็นนายกสภาวิศวกรสมัยที่ 7 เป็นศาสตราจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา เป็นนายกสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ควบตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นกรรมการขับเคลื่อนและบูรณาการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในอีกหลากหลายแวดวงเกินกว่าที่จะกล่าวถึงได้หมด

ในฐานะผู้ออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ท่ามกลางความกังขาและการดูหมิ่นดูแคลนว่ากรุงเทพฯ จะสามารถสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้จริงหรือ จนมาถึงวันนี้ กรุงเทพฯ มีโครงข่ายรถไฟฟ้าใต้ดินใช้ทั่วเมือง เอ้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าวิศวกรเมืองสามารถพลิกเมืองได้โดยใช้เทคนิคทางวิศวกรรมศาสตร์มาแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ฝันก้าวถัดไปคือการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้กรุงเทพฯ เพราะตัวเอ้เองก็เป็นพลเมืองคนหนึ่งที่ประสบภัยน้ำท่วมซอยบ้านทุกครั้งที่ฝนตก เขาจึงเข้าใจหัวอกคนเมืองเป็นอย่างดี และในฐานะที่เป็นวิศวกรเมืองทำให้เอ้ตัดสินใจลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในกรอบความรู้ความสามารถที่เขามี เขาจึงออกแบบโมเดล ‘แก้มลิงใต้ดิน’ เพื่อดึงมวลน้ำในช่วงฝนตกลงไปเก็บใต้ดินเพื่อรอระบายลงคลองในภายหลัง ซึ่งเขามองว่าถ้าโมเดลนี้สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ ก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ไปช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดช่วงฝนตกได้ด้วย

เราขอย้อนรอยเส้นทางชีวิตผู้ชายที่เป็นเหมือนไอรอนแมนเมืองไทย ผู้เป็นทั้งวิศวกรเมืองและ disrupter คนสำคัญที่มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนเมืองมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น และตั้งใจยุติปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่ก่อทุกข์ซ้ำซ้อนให้ผู้คนตลอดมา

 

ย้อนรอยวิศวกรเมืองผู้ออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก

เอ้บอกว่าในชีวิตของเขาเริ่มต้นจากสองสิ่งคือ ‘design’ และ ‘desire’ คือมีแผนการในชีวิตและไฟปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำให้สำเร็จ เพราะถ้ามีแต่แผนแต่ไร้พลังฮึดก็เดินต่อไม่ได้ หรือถ้ามีแต่พลังใจแต่ไร้แผนก็จะล้มอยู่ร่ำไป

เอ้เริ่มต้นเส้นทางการเป็นวิศวกรเมืองด้วยการวางแผนไปเรียนต่อที่ MIT ในระดับปริญญาโทเรื่องการสร้างอุโมงค์ในดินอ่อน เพื่อกลับมาสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินให้กรุงเทพฯ ตามความตั้งใจเดิม

“เราวางแผนว่าจะทำยังไงถึงจะเข้าเรียน MIT ได้ เลยคิดว่าจะทำโปรเจกต์ที่ล้ำยุคที่สุด ปกติเด็กวิศวะฯ ภาคโยธาก็จะทำโปรเจกต์เอาปูนมาผสมแกลบหล่อเป็นเสาจำลองแล้วดูกำลัง แต่เราคิดว่าทำเท่านั้นไม่พอ เราอยากไปให้ไกลกว่านั้น เลยคิดอยากออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของประเทศ เพื่อแก้ปัญหารถติดให้คนเมือง”

แรงบันดาลใจการคิดสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินมาจากการที่เอ้เห็นคนหงุดหงิดเวลารถติด เขารู้สึกว่าเมืองเขมือบเวลาและพรากรอยยิ้มจากผู้คนไปหมด เอ้จึงคิดอยากสร้างระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ เพื่อหวังจะนำรอยยิ้มมาสู่ผู้คนอีกครั้ง ให้สมกับที่บ้านเมืองนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น Land of Smiles

ระหว่างทำโปรเจกต์ เอ้บอกว่าในยุคนั้นยังไม่มีอาจารย์คนไหนจบด้านการสร้างอุโมงค์ในดินอ่อนมาก่อน จึงต้องบากบั่นไปยืมตำราที่ห้องสมุดสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) เพราะเป็นที่ที่มีตำราต่างประเทศมากที่สุดในยุคนั้น

“เราก็มาฝึกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ C++ สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดิน และนำเสนออาจารย์โดยการทำโมเดลจำลองผนังอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินที่ถอดได้ 6 ชิ้น เรายกคอมพิวเตอร์ที่เขียนโปรแกรมมาให้อาจารย์ดูด้วย อาจารย์ตกใจและประทับใจกับการนำเสนอมาก เกรด A ในวิชานี้เลยทำให้ได้เกรดเฉลี่ยรวมเป็น 3.01 เป็นเกียรตินิยมลำดับสุดท้ายของมหาวิทยาลัย ซึ่งพอจะทำให้สามารถยื่นเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้”

เอ้ไม่หยุดแค่การนำเสนอส่งอาจารย์แล้วเก็บขึ้นหิ้ง แต่เขาอยากให้โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจริง เพื่อให้กรุงเทพฯ มีอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินใช้ เอ้จึงตัดสินใจเข้าพบ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น เพื่อมอบโมเดลจำลองและโปรแกรมสำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินให้ผู้ว่าฯ

“พอได้เข้าพบผู้ว่าฯ ท่านก็บอกว่ากำลังคิดอยู่พอดีว่าจะสร้างรถไฟลอยฟ้าหรือใต้ดินดี ตอนนั้นเป็นจังหวะเดียวในชีวิตของเราที่ได้อยู่ตรงนั้น เลยพูดขึ้นมาว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่เพื่อจะแก้ปัญหาการจราจรได้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จบมาทางด้านการทำอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินเลย ซึ่งในต่างประเทศเขาทำกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ผมขออาสาเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนเรื่องการออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินในดินอ่อนเพื่อจะมาช่วยกรุงเทพฯ แต่ผมจะไปเรียนที่ MIT ได้ผมต้องได้รับจดหมายรับรองจากผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นศิษย์เก่า MIT และเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ท่านก็ตอบรับจะเขียนจดหมายแนะนำให้ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่งจดหมายนั้นทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปเลย”

ความฝันและจินตนาการที่อยากสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินที่จะมาพลิกโฉมกรุงเทพฯ ทำให้เอ้ได้รับการตอบรับให้เข้าเรียน MIT ตามที่หวังได้สำเร็จ และจบมาเป็นวิศวกรด้านอุโมงค์และรถไฟฟ้าใต้ดินคนแรกของประเทศ ซึ่งหลังจากเรียนจบไม่นาน เอ้ก็ได้ออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกสำเร็จ รวมถึงสายอื่นๆ ที่ตามมาอย่างรถไฟฟ้าสายที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเส้นล่าสุด ก็เป็นฝีมือการออกแบบของเขาด้วยเช่นกัน

 

จากอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน สู่โมเดล ‘แก้มลิงใต้ดิน’

“เราเติบโตมาในสายวิศวกรเมือง และเห็นว่างานสายนี้สามารถเปลี่ยนเมืองเปลี่ยนโลกได้ ตอนนั้นกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าที่บรรเทาปัญหาการจราจรลงได้แล้ว แต่ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือน้ำท่วมซ้ำซากที่ต้องแก้ไข”

เอ้เริ่มด้วยการวิเคราะห์ดูภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ว่าเป็นพื้นที่ดินทับถมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้กรุงเทพฯ ต่ำกว่าระดับแม่น้ำ โดยเฉพาะย่านลาดพร้าวที่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสองเมตร ว่าง่ายๆ คือทุกวันนี้กรุงเทพฯ อยู่มาได้ด้วยเขื่อนและการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ

“หลักการที่ควรจะเป็นคือสูบน้ำจากซอยบ้านคน ออกสู่ถนนให้ไหลลงคลอง และน้ำจากคลองไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เวลาฝนตกก็สูบน้ำออกจากถนนเพื่อลงไปยังคลอง แต่หลายครั้งการสูบน้ำยิ่งทำให้น้ำทะลักจากถนนเข้าสู่ซอยบ้านคน ทำให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซากและทุกข์ซ้ำซ้อนเป็นวงจรไม่จบสิ้น”

เอ้อ้างอิงถึงโครงการแก้มลิงซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ให้เราฟังว่า

“เวลาน้ำท่วมเราต้องหาที่ลุ่มที่เป็นเหมือนแก้มลิงอมน้ำไว้ก่อน อาจจะเป็นบึงหรือลานกว้างๆ ก็ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลไปรวมกันที่ถนนหรือตามซอย ซึ่งทำให้รถติดและผู้คนเดือดร้อน พอฝนหยุดจึงค่อยสูบน้ำลงคลอง แต่ในเมืองไม่มีที่ลุ่มขนาดนั้น แล้วจะทำยังไง เราเลยมาคิดต่อว่าน่าจะทำแก้มลิงใต้ดินดู เพราะบนดินไม่มีพื้นที่กว้างใหญ่พอจะรับมวลน้ำมหาศาลได้”

พอฟังมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจนึกสงสัยเหมือนเราว่า แล้วจะไปทำแก้มลิงใต้ดินที่ตรงไหน แก้มลิงจะเก็บน้ำได้ยังไง

เอ้จึงให้เราลองจินตนาการถึงแทงก์น้ำขนาดใหญ่ใต้สวนจตุจักรที่เป็นพื้นที่ใจกลางของย่านวิภาวดี ลาดพร้าว และบางซื่อ โดยเปิดหน้าดินที่สวนจตุจักร สร้างแทงก์น้ำคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่เพื่อเป็นแก้มลิงใต้ดินไว้เก็บน้ำ

เอ้อธิบายว่าการทำแก้มลิงคอนกรีตนั้นมีวิธีการขุดง่ายกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินอีก เพราะไม่มีคนเข้าไป ในขณะที่รถใต้ดินต้องคำนึงถึงระบบอากาศ และระบบรถไฟเข้า

“โมเดลแก้มลิงใต้ดินสามารถเก็บน้ำได้ประมาณหนึ่งแสนลูกบาศก์เมตร พอขุดเปิดหน้าดินเสร็จก็กลบ เรื่องการก่อสร้างก็จะไม่กระทบประชาชน ส่วนโซนที่ไม่มีการก่อสร้าง คนก็ยังสามารถมาใช้พื้นที่สวนสาธารณะได้อยู่ ไม่รุกล้ำพื้นที่ถนน เพราะไม่ได้เจาะผิวถนนที่ทำให้คนสัญจรไปมาเดือดร้อน เพราะเราทำในสวนสาธารณะที่สามารถปิดบางโซนได้ เราก็จะเจาะท่อจากใต้ดินไปเชื่อมบนถนนตามที่ต่างๆ คือมีท่อรับน้ำที่ถนนวิภาวดี ลาดพร้าว และบางซื่อ ให้น้ำไหลมารวมกันที่ใต้ดิน เพราะน้ำจะไหลตามแรงโน้มถ่วง พอฝนหยุดตกเราค่อยสูบน้ำลงคลองทีหลัง”

เช่นเดียวกับย่านสุขุมวิท อโศก และพระราม 4 ที่มีสวนเบญจกิติเป็นพื้นที่ใจกลางที่สามารถรับน้ำได้ โดยสามารถขุดทำเป็นแทงก์น้ำใต้ดิน จากนั้นก็ปิดฝา ด้านบนก็ทำเป็นทะเลสาบเหมือนเดิม เจาะปากปล่องที่ถนนสุขุมวิท อโศก และพระราม 4 ให้น้ำไหลมารวมกันที่แทงก์น้ำใต้สวนเบญจกิติที่เดียว ถนนก็จะแห้ง พอฝนหยุดก็ค่อยสูบน้ำออก

“นี่เป็นโมเดลที่น้อมนำพระราชดำริเรื่องแก้มลิงมาต่อยอด เพื่อทำแก้มลิงใต้ดินแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เพราะอย่างโตเกียวก็ทำแทงก์น้ำใต้ดินได้แล้ว โตเกียวฝนตกหนักกว่ากรุงเทพฯ เจอพายุไต้ฝุ่นปีละหลายลูก แผ่นดินต่ำกว่าแม่น้ำ แต่น้ำไม่ท่วมและรถไม่ติด เพราะโตเกียวมีแก้มลิงใต้ดินมาก่อนเราและมีวิศวกรเมืองที่นำแนวคิดนี้ไปสร้างเพื่อแก้ปัญหา หรืออย่างเนเธอร์แลนด์หรือลอนดอนที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเหมือนกรุงเทพฯ แต่น้ำไม่ท่วมและรถไม่ติด คนกรุงเทพฯ เจ็บปวดชินชากับปัญหาซ้ำซากจนคิดว่ามันแก้ไม่ได้ แต่ถ้าจะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ผมมองว่าสามารถใช้หลักทางด้านวิศวกรรมเมืองมาแก้ปัญหาต่างๆ ได้เหมือนกับอีกหลายประเทศที่เจอปัญหาเดียวกัน”

 

นวัตกรรมในมือวิศวกรเมืองที่ช่วยเปลื้องทุกข์เรื่องผังเมือง

นอกจากปัญหารถติดหรือน้ำท่วม กรุงเทพฯ ยังเผชิญกับปัญหาผังเมือง เช่น การต่อเติมรุกล้ำพื้นที่คลองและแม่น้ำ หรือการต่อเติมตึกผิดประเภทที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง

“รถไฟฟ้าใต้ดินก็มีแล้ว เรื่องปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากโดยการทำแก้มลิงใต้ดินก็มีแนวโน้มสูงที่จะทำได้ ทุกวันนี้มีปัญหาการรุกล้ำพื้นที่แม่น้ำ คลอง หรือการต่อเติมตึกผิดประเภททำให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย ปัญหาคือไม่มีข้าราชการมากพอที่จะตรวจตราได้หมดทุกซอกซอย ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีทางด้านดาวเทียมและโดรน ที่สามารถถ่ายเปรียบเทียบเป็นตารางกริดได้เลย ตรวจจับได้ว่ามีการต่อเติมผิดประเภทหรือมีการรุกล้ำแม่น้ำลำคลองที่ตรงไหน ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่เทคโนโลยีของวิศวกรรมเมืองที่จะเข้ามาแก้ปัญหาผังเมืองได้เช่นกัน”

เอ้ขยายต่อว่านวัตกรรมทางด้านวิศวกรรมเมือง โดยเฉพาะการตรวจตราเรื่องผังเมืองจะทำให้คนมีความปลอดภัย ไม่มีการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ที่สำคัญคือทำให้คนอยู่ในระเบียบ อยู่ในกฎหมาย ซึ่งตอนนี้หลวงพระบางนำเทคโนโลยีโดรนมาใช้แล้ว เอ้บอกกับเราว่าเป็นไปได้สูงที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีการนำเทคโนโลยีโดรนที่ว่านี้มาใช้ที่กรุงเทพฯ เช่นกัน

Disrupter ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก

เอ้ในฐานะวิศวกรเมืองผู้มองเห็นข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของเมืองอย่างทะลุปรุโปร่งจนใครๆ ก็พากันเรียกเขาว่า disrupter ไม่ว่าจะทั้งเรื่องการสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน เรื่องโมเดลแก้มลิงใต้ดินช่วยซับน้ำท่วม ไปจนถึงความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและโดรนเข้ามาช่วยตรวจตราผังเมืองให้อยู่ในรูปในรอยเพื่อความปลอดภัยของคนเมือง ในมุมของเอ้เอง เขามองตัวเองในฐานะผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงว่ายังไง สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์ในชีวิตเขาแล้วหรือยัง

“ผมมองว่าผมเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ใช้ความรู้และประสบการณ์มาแก้ปัญหาในชีวิตผู้คน และใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริม ผมตั้งปณิธานว่าอยากเป็นคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงแบบหักศอก คือกล้าที่จะเปลี่ยนและสู้ไม่ถอยที่จะเปลี่ยนด้วย เพราะต่อให้มีความรู้ความสามารถแต่ไม่กล้าก็ทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ เพราะคนที่เคยอยู่มาแบบเดิมๆ ก็จะต่อต้านหรือบอกว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างคราวที่เราจะทำรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่เราเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยน และสิ่งที่สำคัญกว่าคือทำให้คนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถเป็นไปได้”

สิ่งที่เอ้พยายามทำอยู่ทุกวันนี้นอกจากการเป็นวิศวกรเมืองและ disrupter ผู้คิดสร้างนวัตกรรมพลิกเมืองแล้ว คือการสนับสนุนให้คนเมืองเปิดหู เปิดตา เปิดหัวใจ ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราทุกคนมีส่วนร่วมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง

“แนวคิดที่มองไปข้างนอก ไม่ใช่แค่มองที่ตัวเราอย่างเดียว แนวความคิดที่มองว่าทุกอย่างเป็นไปได้จะเป็นแนวคิดที่ทำให้เมืองของเราพัฒนาได้แบบเต็มสูบ” เอ้เอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและมีความหวัง

“เราเชื่อว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก คนไทยมีพรสวรรค์ มีทักษะเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่คนไทยต้องเสริมคือจิตวิญญาณนักสู้หรือ fighting spirit เราต้องดูอย่างสิงคโปร์ที่ไม่มีน้ำจืด ไม่มีทรัพยากร แต่คนเขามีวิญญาณนักสู้ ต้องคิดค้นนวัตกรรมอยู่ตลอดเวลา ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ หรือญี่ปุ่นที่เจอทั้งแผ่นดินไหว ทั้งไต้ฝุ่น แต่คนญี่ปุ่นสู้ขาดใจและมีวินัย หรืออย่างเกาหลีที่พัฒนามาเป็นประเทศที่เก่งด้านเทคโนโลยีมากๆ ทุกประเทศมีจิตวิญาณนักสู้”

เอ้อธิบายต่อไปว่า แล้วจะปลูกฝังจิตวิญญาณนักสู้ให้ปะทุอยู่ในตัวคนไทยได้อย่างไร เขาแนะนำด้วยคำสั้นๆ ว่าให้ อ่าน

“จิตวิญญาณนักสู้เกิดจากการอ่าน คนยิ่งใหญ่ระดับโลกล้วนเกิดมาได้ด้วยการอ่าน เพราะการอ่านจะฝังเข้าไปในตัวเราและเป็นแรงบันดาลใจให้อยากลงมือทำบ้าง กล้าลองทำ กล้านำเสนอ กล้าออกจากคอมฟอร์ตโซน และต้องไม่คิดว่าการถูกดูหมิ่นหรือความล้มเหลวเป็นสิ่งเลวร้าย ให้คิดเสียว่าเป็นแรงผลักดันให้เราทำสำเร็จ ทำให้เรารู้จักแก้ปัญหา ลองลงมือทำซ้ำๆ แล้วจิตวิญญาณนักสู้จะผุดขึ้นมาในตัวเอง และทำให้เราอยากออกไปสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เอ้เสริมว่าจิตวิญญาณนักสู้ไม่ได้มาจากแค่พลังใจอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงด้วย เพราะหากมองย้อนกลับไปที่การต่อสู้หลายยกในชีวิตของคนเรา ถ้าร่างกายไม่พร้อมรับ ต่อให้จิตใจและสมองแกร่งแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้เราลุกขึ้นมาสู้ได้ เอ้จึงแนะนำว่าต้องดูแลสภาพร่างกายควบคู่ไปกับจิตใจที่ต้องสร้างให้แกร่งเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหา

เอ้กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่แค่เขาที่เป็น disrupter อยู่คนเดียวแล้วจะขับเคลื่อนเมืองได้ ในฐานะวิศวกรเมือง และในฐานะอาจารย์ของลูกศิษย์ สิ่งที่เอ้อยากหว่านเพาะลงไปในตัวของคนรุ่นใหม่มากที่สุดคือความหวัง เอ้ยืนยันว่าใครๆ ก็เป็น game changer ได้ในทุกสนามและเป็นนักสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น

“อยากให้คนมีความหวัง อย่างแรกคือหวังว่าตัวเราจะเก่งขึ้น ดีขึ้น และต้องไม่คิดว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเรา ต่อมาคือเราควรจะมีความหวังและไม่ดูถูกบ้านเมืองของเราก่อน คิดว่าตัวเรานี่แหละที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ตัวเราเองจากเด็กวิศวะฯ ที่เกือบจะถูกรีไทร์ ฝันอยากเรียนในมหาวิทยาลัยวิศวกรรมอันดับหนึ่งของโลก เคยเจอคนดูถูกมากมาย แต่ความฝันและความหวังไม่มีใครขโมยไปจากเราได้ เพราะมันยังไม่เกิดขึ้น จะมาบอกว่ามันไม่จริงได้ยังไง สิ่งที่อยากบ่มเพาะเข้าไปในหัวใจของเด็กรุ่นใหม่คือ dream, believe, dare, do คือมีความฝันว่าตัวเราและบ้านเมืองของเราสามารถดีขึ้นได้ ฝันแล้วต้องเชื่อว่าเป็นไปได้ ต้องมีความกล้าที่จะมุ่งไปทำความฝัน และเริ่มลงมือทำเดี๋ยวนี้”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐนิช ชนะฤทธิชัย

ช่างภาพสาวร่างเล็ก อดีต a team junior 11 ผู้หลงใหลความทรงจำในภาพถ่ายและสนุกกับการแต่งตัวเป็นที่สุด เจ้าของ instagram @mochafe