Jurassic Plastic : โปรเจกต์เปลี่ยนของเล่นถูกทิ้ง 50,000 ตัวให้เป็นไดโนเสาร์ตัวเบิ้มที่คนรัก

Highlights

  • Jurassic Plastic คือนิทรรศการศิลปะโดย ฮิโรชิ ฟูจิ ศิลปินระดับโลกชาวญี่ปุ่นผู้สร้างสรรค์ประติมากรรมสัตว์ต่างๆ จากของเล่นกว่า 50,000 ชิ้น 
  • งานศิลปะของฮิโรชิเริ่มต้นใน ค.ศ. 2000 เมื่อเขากับลูกสาวอยากจะกำจัดของเล่นพลาสติกในบ้านโดยไม่ต้องทิ้งเป็นขยะ เขาจึงเปิดให้คนนำของเล่นมาแลกกันในโปรเจกต์ ‘Kaekko’ (เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าแลกเปลี่ยน) กระแสตอบรับที่ดีทำให้เขามีของเล่นจำนวนมาก แต่บางอย่างก็แตกหักและซ้ำกัน เขาจึงนำมันมาแปลงร่างเป็นไดโนเสาร์ นก และสัตว์ต่างๆ
  • นอกจากการไม่เพิ่มขยะของเล่น ฮิโรชิยังพยายามสื่อสารเรื่องปัญหาขยะพลาสติกและปัญหาลัทธิบริโภคนิยมผ่านนิทรรศการและกิจกรรมเวิร์กช็อปของเขาอีกด้วย
  • หลังจากจัดแสดงงานที่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียมาแล้ว ปีนี้ถึงคิวของประเทศไทยบ้าง โดยฮิโรชิจะนำของเล่นในไทยและญี่ปุ่นมาประดิษฐ์เป็นสัตว์ต่างๆ และจัดแสดงงานที่ช่างชุ่ยในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2562

ลองจินตนาการดูว่าตอนนี้คุณกำลังยืนอยู่ท่ามกลางของเล่นพลาสติกกว่า 50,000 ชิ้น มองไปทางซ้ายมีเหล่าหุ่นยนต์รูปร่างแปลกๆ มองไปทางขวาก็เต็มไปด้วยโมเดลตัวการ์ตูนหน้าตาคุ้นเคย ไหนจะรถถัง เลโก้ และสารพัดของเล่นที่ได้แถมมาจากร้านฟาสต์ฟู้ด คุณจะจัดการอย่างไรโดยไม่ต้องทิ้งมัน

หลายคนน่าจะมีคำตอบในใจ ไม่ว่าจะเอาไปบริจาค ขายต่อ หรือส่งต่อให้เด็กๆ ในครอบครัวอื่น แต่เราอยากให้คุณลองฟังคำตอบของผู้ชายคนนี้

เขาเลือกนำของเล่นมาทำงานศิลปะ

Hiroshi Fuji คือศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้สร้างสรรค์ประติมากรรมสัตว์ต่างๆ จากของเล่นกว่า 50,000 ชิ้น เหตุผลที่เขามีของเล่นจำนวนมหาศาลขนาดนี้ไม่ใช่เพราะเขาเป็นนักสะสมตัวยง แต่ทั้งหมดเกิดจากโปรเจกต์ Kaekko (เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่าแลกเปลี่ยน) ซึ่งเริ่มต้นใน ค.ศ. 2000 เมื่อฮิโรชิกับลูกสาวอยากกำจัดของเล่นพลาสติกในบ้านโดยที่ไม่ต้องทิ้งขยะ พวกเขาจึงเปิดให้คนที่ประสบปัญหาเดียวกันนำของเล่นมาแลกกัน

ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีของการทำโปรเจกต์คาเอกโกะ ฮิโรชิได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยม ของเล่นจากทั่วญี่ปุ่นหลั่งไหลมายังเขามากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักร้อย สู่หลักพัน หลักหมื่น กระทั่งแตะจำนวนครึ่งแสน

นอกจากของเล่น จำนวนคนที่สนใจนำของเล่นมาแลกเปลี่ยนก็เพิ่มข้ึนตลอดเวลา แต่แล้วปัญหาก็เกิด เมื่อใครๆ ก็ไม่อยากแลกของเล่นที่แตกหัก ของแถมจากร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด หรือของเล่นที่ซ้ำกับที่ตัวเองมี คลังของเล่นของฮิโรชิจึงใหญ่ขึ้นทุกที จนแทบระเบิดออกมา

ไม่ได้การ เขาจะทำแค่โปรเจกต์แลกของเล่นต่อไปไม่ได้แล้ว

ทันใดนั้นฮิโรชิเกิดไอเดียบรรเจิดที่จะนำของเล่นน่าสงสารที่ถูกลืมมาประดิษฐ์เป็นประติมากรรม ในที่สุดของเล่นเหล่านั้นจึงกลายร่างเป็นนก ไดโนเสาร์ และสัตว์ต่างๆ ขนาดใหญ่เบิ้มที่เราต้องเงยหน้ามองในชื่อ ‘Jurassic Plastic’ ซึ่งยืนยันความป๊อปโดยเด็กๆ หลายสัญชาติทั่วโลก

สัตว์มหัศจรรรย์ของฮิโรชิเคยจัดแสดงที่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียให้เด็กๆ กรี๊ดกร๊าดมาแล้ว ปีนี้ถึงคิวของประเทศไทยที่จะมีไดโนเสาร์จากของเล่นพลาสติกกันบ้าง โดยฮิโรชิจะนำของเล่นจากชาวไทยและชาวญี่ปุ่นมาประดิษฐ์เป็นสัตว์ต่างๆ และจัดแสดงงานที่ช่างชุ่ยในช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2562 นี้

แต่ก่อนจะไปดูสิงสาราสัตว์ของเล่น

เราขอชวนคุณไปคุยกับนักสร้างสรรค์ขี้เล่นคนนี้ก่อนดีกว่า

 

ตอนที่คุณพบว่ามีของเล่นเยอะเกินไป ทำไมคุณถึงเลือกทำเป็นสัตว์ยุคจูราสสิก

ผมเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าพลาสติกเกิดขึ้นจากอะไร มันคือน้ำมันดิบ พอมาคิดต่อว่าน้ำมันดิบเกิดขึ้นจากอะไร ผมก็คิดว่าในยุคจูราสสิก ไดโนเสาร์ที่ตายแล้วต่างทับถมกันเป็นซาก เป็นชั้นหิน ซากไดโนเสาร์เหล่านั้นทับถมกันจนกลายเป็นน้ำมันดิบขึ้นมา ผมก็เลยเจอความเชื่อมโยงระหว่างยุคจูราสสิกและพลาสติกที่เราใช้กันได้ในปัจจุบัน

 

ทำไมคุณถึงให้ความสนใจกับปัญหาพลาสติก ตั้งแต่ในยุคที่การรณรงค์เรื่องพลาสติกยังไม่แพร่หลายขนาดนี้

ผมเกิดในยุคที่พลาสติกยังไม่แพร่หลาย แต่เมื่อเติบโตขึ้น คนก็เริ่มใช้พลาสติกมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นผมได้รู้ว่าพลาสติกผลิตจากน้ำมัน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ผมจึงเริ่มรู้สึกแปลกๆ ต่อพลาสติก ผมว่ามันไม่ค่อยเข้ากับเราเท่าไหร่ จากนั้น ผมก็เริ่มตั้งคำถามขึ้นมาว่าทำไมพลาสติกถึงมีจำนวนมากในปัจจุบันและไม่หมดไปสักที ผมรู้สึกเหมือนว่าเราจะต้องอยู่กับพลาสติกไปจนสิ้นอายุขัย

20 ปีที่แล้ว ผมมีลูกคนแรก ความตั้งใจคือผมจะไม่ให้ลูกเล่นของเล่นพลาสติก จะให้เล่นแต่ของเล่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเท่านั้น แต่ขนาดตั้งใจอย่างแรงกล้า ระหว่างที่ลูกโตขึ้น ผมก็ไม่รู้ว่าของเล่นพลาสติกจากที่ไหนกันที่มาสะสมอยู่ในห้องของเธออย่างล้นหลาม ถึงจุดหนึ่งผมก็คิดว่าอยากจะกำจัดของเล่นพลาสติกของลูก โดยตั้งใจว่าจะไม่ทิ้งของเล่นเหล่านี้ให้เกิดเป็นขยะขึ้นมา ก็เลยเกิดโปรเจกต์ ‘คาเอกโกะ’ ขึ้น บ้านผมเลยมีของเล่นพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วเป็นพลาสติกหรือของเล่นที่พังแล้วสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนผมต้องเริ่มคิดหาวิธีกำจัดมันโดยไม่ให้กลายเป็นขยะอีก เลยลองเอามาประดิษฐ์เป็นนก ไดโนเสาร์ และออกมาเป็นงานศิลปะ

จริงๆ ถึงไม่ได้สะสมของเล่นเยอะๆ ผมก็ยังสนใจจะเอาขยะพลาสติกมาทำงานศิลปะอยู่ดีนะ ยิ่งตอนนี้มีพลาสติกในทะเลเยอะมากที่ถูกคลื่นซัดมาที่ชายฝั่ง ผมชอบไปเก็บขยะทำความสะอาดชายหาดและได้เจอวัสดุที่น่าสนใจคือพลาสติกที่แตกหักเป็นเศษเล็กๆ

 

 

ในเมื่อพลาสติกมีผลกระทบกับเราขนาดนี้ คุณคิดว่าพลาสติกคือผู้ร้ายหรือเปล่า

จริงอยู่ว่าเมื่อมองจากมุมมองของโลกปัจจุบันพลาสติกนั้นไม่ได้เป็นของดี ในสายตาคนทั่วไปมันอาจจะเป็นผู้ร้าย แต่มันก็เป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อทำให้ชีวิตเราสะดวกขึ้น เป็นของจำเป็นของคนในยุคสมัยหนึ่งมาก่อน ส่วนตัวผมไม่อยากมองแค่สองด้านว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่ดีหรือเลว เป็นสีขาวหรือดำ แต่ผมมองมันเป็นสีรุ้งมากกว่า เพราะถ้าเราจะป้ายสีบอกว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่เลวทรามทั้งหมดก็ไม่ถูกต้อง ในเมื่อที่ผ่านมามันก็มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตประจำวันของเรามาโดยตลอด

 

คุณทำงานศิลปะกับของเหลือใช้มาตลอด อะไรทำให้คุณชอบใช้วัสดุเหล่านี้

ผมอยากใช้วัสดุที่เป็นของรอบๆ ตัว และพยายามสร้างกิจกรรมที่ทำให้สามารถรวบรวมเศษขยะเพื่อนำมาสร้างงานศิลปะ อย่างตอนนี้ผมกำลังทำชมรมที่เมืองเซนได เพื่อรวบรวมเศษกระดาษ ทั้งกล่องกระดาษ ถุงกระดาษ กระดาษห่อต่างๆ โดยวางกล่องขอรับบริจาคเอาไว้ ปรากฏว่าทุกคนเอามาบริจาคกันเยอะมาก มันแสดงให้เห็นว่าใครๆ ก็มีของพวกนี้เก็บไว้

อีกอย่าง ผมไม่อยากจะโดนร้านขายอุปกรณ์ศิลปะหลอกเอา ผมไม่ได้โทษว่าบริษัทผลิตสีเป็นคนไม่ดีนะ แต่ด้วยความที่ร้านขายอุปกรณ์ศิลปะต้องขายของให้หมด นั่นทำให้เกิดการหว่านล้อมให้ศิลปินใช้ผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าช่วงไหนคนนิยมใช้วัสดุอะไร ร้านก็จะขายแต่ของเหล่านั้น ส่วนตัวผมอยากจะใช้ของที่ไม่มีขายในพวกร้านขายอุปกรณ์ศิลปะก็เลยเลือกวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ขึ้นมา

จริงๆ เมื่อกี้เป็นเหตุผลสวยๆ แต่เหตุผลที่แท้จริงคือผมไม่มีเงินน่ะฮะ (หัวเราะ) ด้วยความที่งานศิลปะถ้าจะทำให้ทรงพลังหรือสร้างความประทับใจ วิธีการคือเพิ่มขนาดของงานให้ใหญ่ขึ้นหรือทำในปริมาณเยอะขึ้น ดังนั้นผมจึงเลือกใช้ของที่ไม่แพงมาทำ

 

คุณมีของเล่นให้เลือกใช้ถึง 50,000 ชิ้น คุณเลือกใช้มันอย่างไร

ขั้นตอนนี้เป็นส่วนที่สนุกมากเลยครับ ส่วนตัวผมเป็นคนชอบแยกประเภทของอยู่แล้ว ผมมักจะแยกประเภทของเล่นเป็นสีๆ เอาไว้ เมื่อจะเริ่มสร้างมันขึ้นมา ผมจะเริ่มจากการใช้ไม้เก่ามาสร้างเป็นโครงไดโนเสาร์ให้เป็นท่าทางต่างๆ จากนั้นค่อยเลือกของเล่น ส่วนใหญ่ผมจะเลือกของเล่นชิ้นใหญ่ไปติดที่ท้องก่อน แล้วก็ติดไปเรื่อยๆ ในระหว่างเลือก บางทีผมจะมองเห็นว่า เอ้อ! ชิ้นนี้เหมาะที่จะเป็นเขา ชิ้นนี้เหมาะจะเป็นหลังนะ 

พาร์ตที่สนุกที่สุดคือการเลือกของเล่นมาติดเป็นฟัน (หัวเราะ) ผมจะดูว่าอะไรที่มีท่าทางแข็งแรง บางทีก็เป็นหุ่นยนต์กันดั้มเพราะขามันแข็งแรงดีเหมาะกับการเป็นฟัน หรือของเล่นบางอันมีลักษณะคล้ายเขี้ยวก็เอามาทำเป็นเขี้ยว ถ้าเป็นของเล่นคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจ ผมจะเริ่มคิดแล้วว่าจะเอาตัวนี้ไปซ่อนไว้ตรงไหนให้คนดูหาเจอ หรือว่าอาจจะสร้างเรื่องราวเหมือนสมัยตอนเล่นเด็กๆ เช่น ในปาก บางครั้งผมก็เลือกของเล่นที่เป็นสัตว์ทั้งหมด แล้วจินตนาการว่าพวกมันกำลังต่อสู้กันอยู่

อีกอย่างคือเราต้องค้นหาของเล่นที่เหมาะและพอดีกับแต่ละส่วนในโครงสร้างงาน เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากความสนุกในการคัดสรรแล้ว ยังมีความดีใจเวลาของเล่นประกอบกันได้ลงล็อกพอดี แค่เลือกของเล่นแล้วติดไปเรื่อยๆ ก็สนุกมาก แทบลืมเวลาไปเลย ส่วนใหญ่ผมจะเริ่มทำงานหลังจากกินข้าวกลางวัน มีอยู่หนหนึ่งผมเลือกของเล่นมาติดงานจนเพลิน ทำไปได้สักพักคิดว่าน่าจะได้เวลาน้ำชาแล้ว (วัฒนธรรมญี่ปุ่นเวลาน้ำชาคือบ่ายสามโมง) ปรากฏว่าพอดูนาฬิกาอีกที อ้าวตายแล้ว! นี่มันสามทุ่ม คือผมทำโดยไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่าเวลาผ่านไปนานขนาดนี้

งานประติมากรรมจากของเล่นไทยจะแตกต่างจากงานที่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียอย่างไรบ้าง

อย่างแรก ผมคาดหวังให้โปรเจกต์ครั้งนี้มีการรวบรวมของเล่นที่ไม่ใช้แล้วของไทยมาด้วย ซึ่งน่าจะแตกต่างกับของเล่นที่อื่นๆ อย่างของเล่นญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นคาแร็กเตอร์หรือตัวละครในการ์ตูนค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์จากแอนิเมชั่นหรือจากมังงะก็ตาม โดยเฉพาะโดราเอมอนจะเยอะที่สุดเลย เพราะเป็นคาแร็กเตอร์ที่ได้รับความนิยมมาหลายสิบปี อีกอย่างโดราเอมอนยังทำคอลเลกชั่นทุกปีด้วย มันเลยกลายเป็นของเล่นคาแร็กเตอร์ที่ถูกทิ้งมากที่สุดในญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

สำหรับที่ออสเตรเลีย ความน่าสนใจคือเราแทบจะไม่เจอของเล่นคาแร็กเตอร์ชิ้นเล็กๆ เลย ส่วนใหญ่จะเป็นของเล่นชิ้นใหญ่ หรืออาจจะเป็นพวกโมเดลรถ รถดับเพลิง 

นอกจากความต่างที่กล่าวไป ถ้ามองอีกด้าน ความเหมือนของงานแต่ละที่ก็คือการเผชิญหน้ากับปัญหาพลาสติก ตอนนี้ปัญหาระดับโลกที่พูดคุยกันอยู่คือระดับไมโครพลาสติก เรื่องการทำลายสภาพแวดล้อม เรื่องมลพิษจากพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาที่หลายประเทศเผชิญร่วมกันอยู่ ผมคิดว่าถ้าเกิดเราสื่อสารประเด็นปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีหนักๆ จะทำให้คนไม่อยากเข้าใกล้หรือไม่อยากสนใจมัน แต่ถ้าคุณต้องการให้เกิดความตระหนักรู้ คุณต้องใช้ความสนุก ใช้งานอาร์ตดึงคนให้สนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น งานเซตนี้ผมเลยตั้งใจจะให้กิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่เข้ามาดูสามารถเชื่อมโยงไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

 

คุณคลุกคลีอยู่กับของเล่นพลาสติกมานานเกือบ 20 ปี แล้วถ้าให้คุณเลือกเป็นของเล่นสักตัวเพื่อสื่อสารปัญหาพลาสติก คุณอยากเป็นของเล่นอะไร

(หัวเราะแล้วนิ่งคิด) คิตตี้ จริงๆ ก็ไม่น่าจะใช่นะครับ อาจจะเป็นหมีพูห์หรือโดราเอมอนก็ได้ แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องเป็น 2 ตัวนี้ (หัวเราะ)


ใครอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการ ‘Jurassic Plastic’ ของฮิโรชิ ฟูจิ สามารถร่วมบริจาคของเล่นเก่าได้ที่ ช่างชุ่ย ครีเอทีฟพาร์ค (สิรินธร) หรือส่งผ่านไปรษณีย์ไปที่ ช่างชุ่ย 460/8 ถนนสิรินธร แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ 10700 บริจาคได้ตั้งแต่วันนี้ – 16 สิงหาคม 2562

และถ้าใครอยากไปเห็นหน้าตาของไดโนเสาร์จากของเล่นไทย สามารถชมนิทรรศการ Jurassic Plastic ได้ที่ช่างชุ่ยตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม – 14 ตุลาคมนี้ เข้าชมฟรี พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อปอีกมากมายที่จะจัดตลอดช่วงแสดงงานอีกด้วยนะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน