เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล : ศิลปินที่สะสมสถานการณ์ฝุ่นไว้ในงานศิลปะ

Highlights

  • เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล คือศิลปินผู้เป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก อาการป่วยนี้เองจุดประกายให้เขาทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
  • ที่ผ่านมา เรืองศักดิ์สร้างงานที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหลายงาน เช่น Monolith Souvenir ผลงานที่นำเสนอเรื่องฝุ่น PM 2.5 ผ่านใบไม้ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ หรือผลงาน Revenge งานประติมากรรมที่มีแรงบันดาลใจมาจากความไม่ยุติธรรมที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์เลี้ยง
  • เรืองศักดิ์อธิบายว่า งานศิลปะของเขาไม่จำเป็นต้องมีลายเซ็นเพื่อระบุตัวตน เพราะงานทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่แค่เขาหรือใครคนใดคนหนึ่ง

ผมยังจำได้ดี เมื่อช่วงต้นปีผู้คนพากันต่อแถวยาวเหยียดจนยื่นออกมาจากร้านขายยาเพื่อรอซื้อหน้ากากกันฝุ่น บางคนลงทุนสั่งจากประเทศอื่น บางคนให้เพื่อนๆ ที่อยู่ต่างจังหวัดส่งมาให้ เครื่องฟอกอากาศก็ขายดิบขายดีไม่แพ้กัน สื่อเกือบทุกสำนักกระหน่ำลงข่าวเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น PM2.5 

และผมยังจำได้ดีว่าพวกเราตื่นตัวกันขนาดไหน

จนช่วงหลังสงกรานต์ที่ลมฤดูร้อนเริ่มพัดมา ดัชนีคุณภาพอากาศถึงลดลง และเมื่อฝนเริ่มตั้งเค้า ฝุ่นควันก็เบาบางจนเข้าสู่ภาวะปกติ คำถามมีอยู่ว่า ปัญหาฝุ่นเวียนมาทุกปี ปีนี้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกอย่างที่เห็น แล้วเราจะตื่นตัวกันเฉพาะเมื่อฤดูฝุ่นมาถึงเท่านั้นหรือ? 

จากปัญหาฝุ่นที่ปะทุรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ ผมนึกถึงศิลปินไทยที่สร้างงานศิลปะสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง โจ้–เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ชายผู้เป็นโรคภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก อาการป่วยนี้เองที่จุดประกายให้เขาทำงานศิลปะเพื่อสื่อสารให้สังคมรับรู้และตระหนักถึงปัญหาที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต งานศิลปะของเขาไม่จำเป็นต้องมีลายเซ็นเพื่อระบุตัวตน เพราะงานทั้งหมดนี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่แค่เรืองศักดิ์หรือใครคนใดคนหนึ่ง กระนั้นผมก็ยังสงสัยว่า เขานิยามงานศิลปะของตนเองว่าอย่างไร

“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน” เขาตอบคำถามด้วยเสียงเรียบนิ่ง หากไร้เจตนายียวน “บางคนบอกว่าเป็น conceptual art บางคนก็บอกว่าเป็น biology art ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นงานที่แสดงถึงผลกระทบมากกว่า ผมชอบพูดกับหลายคนว่า ผมไม่ได้ทำงานศิลปะ ผมแค่สะสม ถ้าพูดให้ดูดีคือสะสมสถานการณ์บางอย่างที่ไม่ปกติ แล้วเอาสถานการณ์นั้นมาไว้ในงานศิลปะ ก่อนหน้านี้คือน้ำท่วม ก่อนหน้านั้นอีกคือดินจากโรงไฟฟ้าที่ฟูกูชิมา”   

เรืองศักดิ์จบการศึกษาด้านศิลปะจากรั้วเพาะช่าง อย่างที่บอก เขารู้ตัวว่าเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ไม่ว่าจะเป็นขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ดินประสิว และอีกสารพัด เด็กชายต้องได้รับการฉีดยากระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกสัปดาห์ แต่ทำอย่างไรก็ไม่หายขาด เมื่อร่ำเรียนศิลปะ เขาจึงอยากลงไปลุยกับสิ่งที่ร่างกายของตัวเองต่อต้าน

“หลายคนถามว่า ถ้ามีผลกระทบต่อตัวเองจะทำเรื่องพวกนี้ทำไม แต่นั่นแหละคือข้อดีของมัน คนที่รู้ว่ามันหนักหนาแค่ไหนจะรู้ว่าควรถ่ายทอดมันอย่างไร และผมเป็นคนจริงจัง ไม่อยากพร่ำเพ้อในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น” เขาอธิบายวิธีคิด

ล่าสุดเรืองศักดิ์เลือกผลงานชื่อ Monolith Souvenir ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2016 มาปัดฝุ่นใหม่เพื่อร่วมแสดงในนิทรรศการ Shift Path: 2.5 PM ซึ่งจัดขึ้นพอดิบพอดีในช่วงที่ฝุ่นเริ่มจางลงเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ผลงานชิ้นนี้นำเสนอเรื่องฝุ่นโดยเฉพาะ ชายผู้เป็นโรคภูมิแพ้ออกภาคสนามด้วยตัวเองเพื่อเก็บตัวอย่างใบไม้จากพื้นที่ซึ่งคลุ้งด้วยมลพิษในหลากหลายจังหวัดของประเทศไทย เช่น สระบุรี สมุทรปราการ ระนอง และลำปาง โดยมีแนวความคิดว่า ต้นไม้เหล่านั้นล้วนยืนต้นอยู่กับที่ ไม่สามารถหลีกหนีมลพิษที่ประเดประดังเข้ามาหาพวกมันได้ หากมองลึกลงไปก็ไม่ต่างอะไรกับผู้คนที่ไม่สามารถหนีออกจากพื้นที่ประสบมลภาวะได้ ทุกคน ทุกชนชั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจน ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยฝุ่นพิษที่แทรกซึมไปได้ในทุกซอกมุม 

Monolith Souvenir ที่จัดแสดงใน Shift Path: 2.5 PM นั้นประกอบไปด้วยใบไม้ถึง 11 ชนิด เช่น ใบลั่นทมขาวหรือลีลาวดีจากสระบุรี กระบองเพชรที่ยืนต้นอยู่หน้าโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในระยอง หรือใบเฟิร์นที่พบบนถนนระหว่างทางขึ้นดอยอินทนนท์ซึ่งกำลังปรับปรุงทาง ใบไม้ทั้งหมดผ่านกรรมวิธีการหล่อเรซินสีใสจำนวนหลายชั้น ไล่อากาศออกไปเพื่อแช่แข็งพวกมัน ฝุ่นที่ห่อหุ้มใบไม้และแทรกซึมอยู่ในเรซินเป็นหลักฐานของมลพิษซึ่งเกิดขึ้นจริงและมีปริมาณมาก คนที่ได้เห็นผลงานจึงได้คาดเดากันต่อว่า ขืนยังปล่อยให้สภาพแวดล้อมแย่ลงเรื่อยๆ แบบนี้ ความเป็นอยู่จะแย่ลงตามไปอีกเพียงใด

“จริงๆ มันเป็นไอเดียที่ค่อนข้างเก่าเก็บ คือพยายามนำงานที่เห็นมาอยู่ในห้องที่สะอาด เพื่อให้เกิดภาพที่ขัดแย้งกันมากๆ ผมตั้งใจให้มันเป็นของสวยงามสำหรับตั้งโชว์ หรือจะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็ได้เช่นกัน” เขาหยิบผลงานขนาดเท่าบล็อกอิฐให้ผมดู 

“อย่างอันนี้ ถ้าพัฒนาให้เป็นแท่นวางหนังสือ หรือก้อนอิฐสำหรับสร้างผนังบ้านก็ได้” คงเป็นภาพที่แปลกตาไม่เบาหากผนังบ้านของผมทำจากบล็อกอิฐที่ข้างในเป็นใบไม้เปื้อนฝุ่น

กว่า 4 ปีที่นำใบไม้มาสตัฟไว้ สีของเรซินที่เคยขาวใสนั้นซีดลงอย่างชัดเจน จากใบไม้เขียวเข้มก็แปรสภาพเป็นสีอ่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปไหนคือคราบฝุ่นจำนวนมากที่เกาะอยู่ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งชี้ว่า ฝุ่นและมลพิษเป็นเรื่องร้ายแรง ควรได้รับการแก้ไข ลองคิดเล่นๆ สิว่าถ้าฝุ่นนั้นมาเกาะอยู่ตามปอดของพวกเราบ้าง จะน่ากลัวขนาดไหน แล้วเราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ หรือเรียกร้องเพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมา ผลงานส่วนใหญ่ของเรืองศักดิ์ถูกส่งออกไปจัดแสดงยังต่างเมือง ทุกงานของเขาล้วนสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลกระทบต่อโลก และมักมีฝุ่นเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างสรรค์งาน ในบางครั้งเขายังผสมผสานความเข้มข้นทางวิทยาศาสตร์เข้ากับงานศิลปะในแบบของตนด้วย  

ยกตัวอย่างเช่น Revenge (2006) ซึ่งได้ไปจัดแสดงที่ประเทศเบลเยียม งานประติมากรรมซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากความไม่ยุติธรรมที่มนุษย์กระทำต่อสัตว์เลี้ยง โดยมีวัตถุดิบหลักเป็นกระดูกสัตว์ บ้างเสียชีวิตจากน้ำมือของเจ้านายที่ตัดสินใจวางยาเบื่อเพื่อตัดภาระการเลี้ยงดู บ้างเสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุ โครงกระดูกเหล่านั้นถูกจัดวางไว้ในท่วงท่าที่แสดงความดุร้ายเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกโหยหาการแก้แค้นต่อสิ่งต่างๆ ที่เหล่ามนุษย์ได้กระทำลงไป

ภาพ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล

ผลงาน Ash Heart Project (2007) เป็นโปรเจกต์ที่สานต่อมาจากผลงานก่อนหน้า โดยนำสัตว์ที่เสียชีวิตด้วยกิจกรรมของมนุษย์มาเผาเพื่อสะท้อนแนวคิดทางพระพุทธศาสนาจนเป็นขี้เถ้าและขึ้นรูปหล่อเป็นรูปทรงของหัวใจมนุษย์จำนวนกว่า 270 ดวง ผลงานชุดนี้ถูกจัดแสดงใน BACC ทั้งยังไปไกลถึงประเทศเบลเยียมและสิงคโปร์ 

ภาพ ชลิตาภรณ์ ยามูล

ส่วนงานที่ทำให้เรืองศักดิ์ถูกพูดถึงอย่างมากในบ้านเราน่าจะเป็น installation art ในนิทรรศการชื่อว่า Right to Clean Air – The Art Exhibition ขออากาศดีคืนมา (2018) ซึ่งจัดโดย Greenpeace องค์กรระดับโลกที่ดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ครั้งนั้นเรืองศักดิ์เลือกนำเสนอผลงานประติมากรรมรูปปั้นขนาดเท่าคนจริงของเด็ก แม่ และคนชรา

ชิ้นงานนั้นให้ความรู้สึกน่ากลัวเพราะห้อยหัวลงมาดั่งร่างไร้วิญญาณ วัสดุที่ใช้ปั้นหุ่นทั้งหมดมาจากการลงพื้นที่เก็บฝุ่นตามโรงโม่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้งฝุ่นจากการเผาอ้อย เผาหญ้า ซึ่งล้วนแต่เป็นบ่อเกิดของปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 มลภาวะทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของทุกคน เพื่อส่งสารบอกเล่าภัยใกล้ตัวที่หลายคนยังคิดว่าไกลตัว 

ภาพ บารมี เต็มบุญเกียรติ/กรีนพีซ

ภาพ Watcharapat Kongkhaow

คิดไปคิดมา การจะสร้างความตระหนักรู้ต่อภยันตรายของปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือการจะจุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ เหมือนจะต้องใช้วิชวลหรือเนื้อหาที่รุนแรง กระทบใจ หรือใช้เครื่องมือที่บางคนเรียกว่า ‘ดราม่า’ อย่างตอนที่มีข่าวว่า พบเต่าทะเลอายุมากที่มีหลอดพลาสติกเสียบคาอยู่ในรูจมูก หลายคนถึงเลิกใช้หลอดพลาสติก หรือตอนที่มีภาพฉลามจมดิ่งใต้ทะเลโดยไร้ครีบ หลายคนถึงเลิกกินหูฉลาม 

งานของเรืองศักดิ์ก็ให้วิชวลและบอกเล่าเนื้อหาที่รุนแรงและกระทบใจคนเช่นกัน–ผมตั้งขอสังเกตกับเขา

“ตลกดี ผมพยายามจะไม่ดราม่า แต่ดราม่ามันเกิดขึ้นเพราะมันกระทบกับคนจริงๆ นั่นแหละ เพราะถ้าคนเราไม่รู้สึก มันก็ไม่เกิดการแก้ไข ใช่ไหม?” เขาถามกลับ

“ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราจะรู้สึกกับมันได้อย่างไร ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้น อย่างเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มันยังไม่เกิดขึ้นกับบ้านเรา แต่พอเราเห็นหายนะจากที่อื่น เราจะรู้สึกกับมันได้ไหม หรือต้องรอให้มันเกิดก่อน แล้วเราจะแก้ไขได้หรือเปล่า

“พอคนเห็นภาพว่ามีเต่าทะเลหรือวาฬตาย เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มันเร็วขึ้น เริ่มเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนขึ้น เพราะคนเริ่มเห็นแล้วว่า ภาพที่ดูโหดร้ายพวกนั้นมีสาเหตุจากพวกเราเองและเราปฏิเสธไม่ได้ พอปฏิเสธไม่ได้ ความรับผิดชอบของแต่ละคนก็เริ่มเข้ามา เริ่มช่วยกันแก้ปัญหากัน” 

ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ ข่าวคราวของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจและถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเรื่องภูเขาน้ำแข็งละลาย ขยะพลาสติกล้นทะเล ฝุ่นขนาดเล็กระบาด และอื่นๆ อีกมากมาย กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกลุกขึ้นมาช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา และในวันนี้ศิลปินอย่างเรืองศักดิ์เองสื่อสารงานศิลปะเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

“สมัยก่อนมีหลายครั้งที่คนมองว่า ต้องดูศิลปะที่สวยเพื่อจรรโลงจิตใจ ผมว่าคำว่าจรรโลงจิตใจสร้างประวัติการฆ่าศิลปะไปเยอะ เพราะถ้าคุณแยกตัวเองออกไป คุณยิ่งไปเชิดชู หลงละเริง หรือสร้างอำนาจให้กับตัวเอง คุณจะมองไม่เห็นความจริง แต่วันนี้คนเริ่มมองเห็นความจริงมากยิ่งขึ้น พอรู้ว่าความจริงที่ว่ามาจากตัวเองยิ่งดีใหญ่ จะได้มีเกิดการเปลี่ยนแปลง

“ทุกวันนี้ผมทำไปทีละนิดแหละครับ อย่างที่บอกว่า งานศิลปะเป็นผลกระทบหลังจากปรากฏการณ์ ผลกระทบที่รวดเร็วที่สุดก็คือข่าว แต่ข่าวเป็นสิ่งที่ให้ผลกระทบ ณ เวลานั้น ข้อดีของงานศิลปะคือมันสามารถถูกจับมาพูดได้เรื่อยๆ ย้ำไปย้ำมา ดังนั้นในทางหนึ่งแล้วมันเป็นการยืนยันเชิงสถิติในตัวเอง จะเอาข่าวมาไล่แปะในแต่ละครั้งก็ได้ แต่ข่าวมันคือความใหม่ คุณต้องเขียนคอนเทนต์ใหม่ๆ ในเรื่องเก่า แต่พอเป็นงานศิลปะ พอมันเก่าแล้ว ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันยิ่งแสดงความเข้มข้นของตัวเอง” 

หลังจากร่ำลากับเรืองศักดื์ ผมแวะร้านสะดวกซื้อ สายตาเหลือบไปเห็นหน้ากากอนามัยชนิดยอดฮิตที่หลายคนแย่งกันซื้อเมื่อต้นปี ในใจครุ่นคิดว่าจะซื้อตุนดีไหม หรือแท้จริงแล้วตัวผมเองทำอะไรได้บ้างมากกว่าซื้ออุปกรณ์ป้องกันตัวไว้เผื่อฤดูฝุ่นปีหน้า

ผมจึงกลับบ้าน นั่งลงที่โต๊ะทำงาน และเขียนบทความชิ้นนี้ออกมา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน