ภาพห้องสมุดสีขาว งานออกแบบสุดล้ำที่เน้นความงดงามของเส้นโค้งที่ลากเป็นชั้นหนังสือจากพื้นจรดเพดาน ทำเอาหลายคนอดฝันไม่ได้ว่าอยากไปเยี่ยมชมสถานที่แห่งนั้นสักครั้ง
แม้ในเวลาต่อมา เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมออกมาว่าหนังสือที่วางอยู่บนชั้นสูงๆ ที่เห็นในรูปนั้น ไม่ใช่หนังสือที่แท้จริงแต่กลับเป็นเพียงของประดับงานออกแบบจาก MVRDV บริษัทออกแบบชื่อดังสัญชาติดัตช์ จะทำให้ความหลงใหลในห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่แห่งนี้ลดลงไปบ้างก็ตาม
แต่นั่นก็ทำให้เราต้องหันกลับมามองเทียนจิน เมืองเก่าที่รัฐบาลจีนกำลังนำมาเล่าใหม่ โดยวางตัวให้เป็นนักแสดงนำในฐานะเมืองยุทธศาสตร์ที่จะพาจีนก้าวสู่อนาคต
พื้นที่ใหม่ ความฝันครั้งใหม่
แท้จริงแล้ว ห้องสมุดเทียนจิน ปินไห่ ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองเทียนจินเสียทีเดียว
แต่มันตั้งอยู่ในเขต ‘พื้นที่ใหม่ปินไห่’ อันเป็นโครงการระดับประเทศริมทะเลปั๋วไห่ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนที่เป็นท่าเรือซึ่งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับโลก และแบ่งพื้นที่เป็นโซนตามประเภทอุตสาหกรรมก้าวหน้าต่างๆ (คล้ายกับโครงการ EEC)
เราอาจมองพื้นที่ใหม่นี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกแห่งก็ได้ แต่รัฐบาลจีนมองไกลกว่านั้น เพราะตั้งใจใช้พื้นที่ใหม่นี้ไม่ต่างจากพื้นที่ต้นแบบสำหรับของใหม่ทุกอย่างที่จีนจะนำมาใช้ในอนาคต นั่นรวมถึงโครงการ Tianjin Eco-city แผนพัฒนาเมืองสีเขียวเต็มรูปแบบอันเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลสิงคโปร์
นอกจาก Eco-city เทียนจิน ปินไห่ยังมีพื้นที่พัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางการเงินที่เรียกว่าหยูเจียผู่ ที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นแมนแฮตตันของจีน แต่ในปัจจุบันลงเอยด้วยสภาพไม่ต่างจากอนุสาวรีย์แห่งความชะงักงันทางเศรษฐกิจ
แม้วิสัยทัศน์จะพาเมืองไปยังฝั่งฝัน แต่การพัฒนาซึ่งขาดแผนบนความเป็นจริงก็อาจเปลี่ยนมันเป็นฝันสลาย และเทียนจินกำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญชะตากรรมที่ว่านั้น
มี 2-3 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเทียนจิน หนึ่งคือเมืองแห่งนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่สุดว่าด้วยการแบ่งเค้กอย่างเป็นระบบของประเทศตะวันตกในช่วงสงครามฝิ่น
สองคือเทียนจินถือเป็นเมืองระดับเทศบาลนครของจีน ซึ่งมีทั้งหมด 4 เมือง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง และเทียนจิน ความหมายของการเป็นเทศบาลนครคือเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีระดับเทียบเท่ามณฑล และการบริหารขึ้นตรงต่อส่วนกลาง
และสาม เทียนจินถือเป็นเมืองมาทีหลังสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน เพราะรัฐบาลเพิ่งหันมาใช้เทียนจินเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจเมื่อไม่นานมานี้ และนี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมเทียนจินอาจเป็นเมืองตกรถไฟว่าด้วยการเติบโตของจีน
หน้าตาใหม่
ย้อนกลับไปในสมัยราชวงศ์ชิง เทียนจินหรือเทียนสินก็คือเมืองเช่าของตะวันตกที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่า พร้อมกับเปิดเสรีทางการค้า จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของประเทศจีนตอนเหนือ
ในความหมายของการเป็นเมืองเช่าตะวันตก เทียนจินอาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเข้าใจภาพการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่าง ‘8 ชาติพันธมิตร’ (ญี่ปุ่น รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมนี อิตาลี และออสเตรีย-ฮังการี) ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลเหนือจักรวรรดิจีนในสมัยการปกครองของซูสีไทเฮาได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับเทียนจินออกจะพิเศษสักหน่อย เพราะมีอีกหนึ่งชาติคือเบลเยียมร่วมด้วย
และเพราะพื้นที่เมืองเทียนจินถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เพื่อเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาติตะวันตกที่กล่าวมา ในปัจจุบันเทียนจินจึงเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตกรูปแบบต่างๆ กระจายอยู่ทั่วเมือง ใครไปเทียนจินอาจเห็นป้ายที่เขียนว่า Historical and Stylistic Architecture of Tianjin อยู่ในแทบทุกเส้นทางที่ผ่านตาในเขตเมืองเก่า (ซึ่งไม่ใช่พื้นที่เล็กๆ) พร้อมหมายเลขกำกับอาคารเหล่านั้น
นอกจากมีสถาปัตยกรรมยุคเมืองเช่ากระจายไปทั่ว ปัจจุบันเทียนจินยังมีตึกสูงกระจายไปทั่วเช่นกัน ไม่รู้เป็นความจงใจในแง่ผังเมืองหรือเปล่าที่จะปล่อยเสรีตึกสูง แต่ภาพปัจจุบันของเทียนจินก็คือส่วนผสมของสถาปัตยกรรมตะวันตกอายุร้อยปีบวกลบสลับกับตึกสูงที่เป็นสัญลักษณ์การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนสมัยใหม่
นับเป็นสุดยอดของความมิกซ์แต่ไม่แมตช์ ที่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความเป็นเมืองแห่งนี้อย่างบอกไม่ถูก
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะย้อนกลับไปสมัยราชวงศ์ชิงหรือในวันนี้ เทียนจินก็คือเมืองที่มีพิกัดเป็นข้อได้เปรียบแบบหาได้ยาก
นั่นเป็นเพราะมันเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ใกล้เมืองหลวงอย่างปักกิ่งที่สุด เพราะเหตุนี้เมืองท่าเทียนจิน (เดิมเรียกว่าเมืองท่าตังกู ห่างจากตัวเมืองเทียนจินอีกประมาณ 60 กิโลเมตร) จึงถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่สุดทางตอนเหนือของประเทศจีน และเป็นจุดเชื่อมต่อกับแม่น้ำไห่เหอที่เชื่อมต่อไปยังปักกิ่ง โดยตลอดความยาว 32 กิโลเมตรริมชายฝั่งมีท่าเรืออยู่มากกว่า 150 แห่ง
ปัญหามีอยู่ว่า เดิมทีเขตอุตสาหกรรมปักกิ่ง-เทียนจินนี้เป็นเขตอุตสาหกรรมหนักเสียมาก ท่าเรือในเมืองท่าแห่งนี้จำนวนไม่น้อยจึงเป็นท่าเรือขนส่งเคมีภัณฑ์อันตราย เหตุการณ์วัตถุอันตรายระเบิดครั้งใหญ่ในปี 2015 ซึ่งหลายคนเปรียบเหตุการณ์นี้กับระเบิดปรมาณูยังคงเป็นภาพจำเมื่อพูดถึงเมืองเทียนจิน
แต่นั่นยิ่งทำให้โครงการพัฒนาพื้นที่ใหม่ของรัฐบาลน่าสนใจมากขึ้นไปอีก สำหรับนโยบายลดกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหนักและมุ่งหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่นเดียวกับที่สถาบันการศึกษาหลักของจีนไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซิงหัว หนานไค เทียนจิน ฯลฯ ต่างมาตั้งสถาบันวิจัยและห้องแล็บในพื้นที่ใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
หนี้ก้อนใหม่
ในฐานะนักท่องเที่ยว เทียนจินมักเริ่มต้นที่จัตุรัสวัฒนธรรมไห่เหอ (Haihe Cultural Square) ซึ่งหากอธิบายง่ายๆ ก็คือบริเวณหน้าสถานีรถไฟเทียนจินสร้างเป็นลานริมน้ำกว้างใหญ่ พร้อมที่นั่งแบบขั้นบันได เอาไว้ให้นั่งชมความงดงามของกลุ่มสถาปัตยกรรมตะวันตกเก่าแก่ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามพอดิบพอดี
ในยามค่ำคืน ที่เทียนจินโดยเฉพาะบริเวณจัตุรัสวัฒนธรรมแห่งนี้ เปลี่ยนตัวเองเป็นเวทีแสดงแสงสีเสียง เมื่ออาคารเก่าแก่และอาคารใหม่สูงเสียดฟ้าพร้อมใจกันเปิดไฟเล่นจังหวะกันอย่างครึกครื้น
นอกจากนี้ยังมีทางเดินเลียบแม่น้ำไห่เหอความยาวหลายกิโลเมตรที่ปรับปรุงใหม่ในทศวรรษก่อน และทำให้เราได้สังเกตชีวิตระหว่างวันอันน่าอิจฉาของผู้คนชาวเทียนจินที่มาออกกำลังกาย เดินเล่น นั่งตกปลา หรือทำกิจกรรมสารพัดอย่างที่พื้นที่สาธารณะลมโชยนี้จะเอื้อ
คุณภาพชีวิตของเมืองเทียนจินพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่พุ่งทะยานมากกว่าเมืองอื่นๆ เหตุผลสำคัญคือเพราะเทียนจินพัฒนาทีหลัง จึงมีที่ทางให้เติบโตมากกว่า
แต่น่าเสียดาย การเติบโตที่ว่านั้นกำลังสะดุดจากผลพวงของเศรษฐกิจชะลอตัว และที่สำคัญคือหนี้มหาศาลที่ธนาคารของรัฐปล่อยกู้อย่างไม่ยั้งให้กับธุรกิจ เพื่อเนรมิตทุกอย่างให้เกิดขึ้นได้ในเวลารวดเร็ว ไม่ต่างจากการใช้เงินเพื่อสร้างเงิน
สำหรับคนที่สงสัยว่าจีนเติบโตร้อนแรงมากว่า 3 ทศวรรษได้อย่างไร รูปแบบหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนก็คือการที่รัฐขายที่ดินขนาดใหญ่ให้เอกชน และกู้เงินมาสนับสนุนค่าก่อสร้าง โดยถือเป็นการสร้างงานพร้อมกับสร้างเมืองในเวลาเดียวกัน นั่นคือเบื้องหลังของตึกสูงที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไปจนถึงโครงการเมกะโปรเจกต์อย่างทางรถไฟความเร็วสูง โดยมีการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้ทุกอย่างเคลื่อนไปข้างหน้า
เมื่อเศรษฐกิจหยุดชะงัก เทียนจินจึงกลายเป็นเมืองใหญ่ที่เห็นการหดตัวมากที่สุดในปี 2017 ตามมาด้วยการที่ผู้คนย้ายออกและตลาดอสังหาริมทรัพย์ว่างเปล่า สิ่งที่ทับๆ เอาไว้จึงเริ่มผุดให้เห็น โดยเฉพาะการสร้างหนี้เกินระดับความสามารถในการทำกำไร ซึ่งมาจากปัญหาด้านประสิทธิภาพของธุรกิจที่มีรัฐเป็นเจ้าของ
นอกจากเศรษฐกิจจะหดตัวมากที่สุด รายงานจากมูดีส์ยังบอกว่า เทียนจินคือเมืองที่มีระดับหนี้สูงสุดในแผ่นดินใหญ่ โดยเงินกู้ที่ปล่อยให้กับธุรกิจท้องถิ่นที่มีรัฐเป็นเจ้าของนั้นสูงถึง 7 เท่าของงบประมาณรายปี
ในความเป็นจริง แผนการพัฒนาเทียนจินนั้นทั้งน่าสนใจและน่าจะส่งผลให้เมืองแห่งนี้เปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมขั้นสูงได้ไม่ยาก จะเป็นอะไรหากไม่ใช่เทียนจินมาช้าไป และผู้บริหารเมืองมั่นใจเกินไป
บทความจาก The New York Times อธิบายภาพให้เห็นว่า ในปัจจุบันพื้นที่เช่าในแมนแฮตตันจีนหรือย่านการเงินหยูเจียผู่นั้นว่างเปล่าราวสี่ในห้า ในขณะที่แผ่นฟ้าประดับประดาด้วยตึกที่หยุดก่อสร้างราวกับเป็นผืนผ้าใบให้โครงกระดูก ศูนย์การค้าร้างคน ร้านขายสัตว์เลี้ยงปราศจากสัตว์เลี้ยงใดๆ อยู่ในนั้น
ขณะที่เมืองยังคงกู้เงินมากขึ้นมาประคองไม่ให้ทุกอย่างล้มครืน ด้วยความหวังของทุกฝ่ายว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในไม่ช้า
ก็ได้แต่หวังว่า เทียนจินจะเป็นอีกหนึ่งกรณีที่จีนเอาอยู่ได้ในท้ายที่สุด
อ้างอิง