A day in Chengdu : ดื่มกินวัฒนธรรมในเมืองที่ขายของได้ราคา และมีร้านชามากกว่าวันที่แดดออก

A day in Chengdu : ดื่มกินวัฒนธรรมในเมืองที่ขายของได้ราคา และมีร้านชามากกว่าวันที่แดดออก

Highlights

  • ในปี 2010 เฉิงตูถือเป็นเมืองแรกในเอเชียที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งอาหาร (City of Gastronomy) โดยเป็นเมืองที่สองต่อจากโปปายันของประเทศโคลอมเบีย
  • การได้รับคัดเลือกเป็นเมืองแห่งอาหารไม่น่าสนใจเท่ากับว่าเฉิงตูใช้ประโยชน์จากสถานภาพนี้อย่างไรในระยะยาวในการสร้างเมืองให้ ‘เป็นที่นิยมมากขึ้นทุกวัน’ และนับเป็นเมืองของประเทศจีนที่ถือว่าประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หากภาพแครี่ แบรดชอว์ ซึ่งแสดงโดยซาราห์ เจสสิกา พาร์กเกอร์ กับกลุ่มเพื่อนสาวของเธอในซีรีส์ Sex and the City นั่งรับประทานอาหารมื้อสายเพื่ออัพเดตทุกเรื่องราวในชีวิต คือภาพจำของวิถีแบบนิวยอร์กเกอร์ นี่ก็อาจเป็นภาพกลับด้าน

มันไม่ใช่ภาพเพื่อนสาวสุดชิคนั่งพูดคุยกันอย่างออกรสท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไปมากลางยูเนียนสแควร์ แต่น่าจะเป็นภาพผู้คนนั่งดื่มชาคลอความร่มรื่นของหมู่ไผ่พลิ้วไหว ห้อมล้อมด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนที่ได้รับการปรับแต่งให้เป็นร้านชา ข้างอารามเหวินชูอันเก่าแก่และเป็นที่ศรัทธาใจกลางนครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวนแห่งนี้

แม้ฉากหลังจะต่าง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือมันดำเนินไปเรื่อยราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด วงสนทนาของสาวๆ Sex and the City ไม่อับจนบทสนทนาฉันใด ถ้วยชาใบเล็กก็จะถูกเติมนับครั้งไม่ถ้วนฉันนั้น (ถ้วยชาเล็กก็จริง แต่กระติกน้ำร้อนที่ไว้สำหรับชงชานั้นใหญ่ รินกันไปคุยกันไป โดยมีกับแกล้มยอดนิยมเป็นเมล็ดทานตะวัน)

เวลาเป็นของมีค่า มันจึงควรใช้สำหรับบทสนทนาอันรื่นรมย์

 

ดื่ม

เมื่อพูดถึงเฉิงตู สิ่งแรกที่เรานึกถึงอาจเป็นแพนด้า แต่ไกด์บุ๊กส่วนมากจะเริ่มต้นจากวัฒนธรรมชาที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน

แม้จีนจะเป็นประเทศแห่งชา แต่การดื่มชาของเฉิงตูนั้นก็ยังเป็นสิ่งที่อธิบายความเป็นเฉิงตูได้อย่างเห็นภาพ มันคือสิ่งที่หลายคนนิยามด้วยคำว่า ‘ชีวิตเนิบช้า’ แต่ ‘สุนทรียภาพ’ อาจเป็นคำที่เหมาะสมกว่า

มีคนบอกไว้ว่า เฉิงตูนั้นมีร้านชามากกว่าเซี่ยงไฮ้เสียอีก นั่นก็น่าจะจริง เมื่อร้านชาในเฉิงตูนั้นพบเห็นได้อยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านแบบปิด ร้านเปิด หรือร้านชาในสวนสาธารณะ ที่ทุกโต๊ะจะเติมเต็มด้วยบทสนทนาหรือไม่ก็วงไพ่นกกระจอก

นอกจากมีร้านชามากกว่าเซี่ยงไฮ้ ยังมีคำกล่าวด้วยว่าเฉิงตูนั้นมีร้านชามากกว่าวันที่แดดออก เพราะในทางภูมิศาสตร์แล้ว เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่บนที่ราบเฉิงตูซึ่งเต็มไปด้วยความชื้น และล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ความชื้นสูงทำให้หมอกฟอร์มตัวง่าย แต่สลายไปยากเพราะภูเขาบังลม เฉิงตูจึงไม่ต่างจากเมืองในหมอก

หมายเหตุว่าสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวบวกกับโครงการก่อสร้างจำนวนมากเพื่อขยายเมือง ทำให้ในปัจจุบันเฉิงตูเป็นเมืองที่มีปัญหา PM2.5 มากกว่าปักกิ่งที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

เมื่อหมอกจางลงในช่วงสาย ชีวิตก็ดำเนินต่อไป การอยู่กับความชื้นอาจทำให้การดื่มชาได้รับความนิยมมากกว่าที่อื่น แต่ความเป็นมาของวัฒนธรรมชาของเฉิงตูมีมากกว่าการใช้อาหารเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน เพราะประวัติศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน

เรื่องราวเริ่มต้นจากโครงการชลประทานที่รู้จักกันในชื่อ ‘ตูเจียงเยี่ยน’ สุดยอดงานด้านวิศวกรรมอายุกว่าสองพันปีที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ระบบชลประทานนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกร่วมกับ ‘เขาชิงเฉิง’ อันเป็นศูนย์กลางสำคัญของลัทธิเต๋า (และเป็นฉากหลังภาพยนตร์ กังฟูแพนด้าภาค 3)

นับตั้งแต่มีระบบชลประทาน เสฉวนก็ได้รับฉายาว่าแผ่นดินแห่งความอุดมสมบูรณ์ เมื่อบวกกับการเป็นดินแดนที่ค่อนข้างสงบสุข แม้จะเป็นศูนย์บัญชาการของเล่าปี่ในยุคสามก๊ก วัฒนธรรมการดื่มชาจึงเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง ที่จะนัดกันมาสังสรรค์ อวดนกหายาก ชิมชาราคาแพง และแลกเปลี่ยนบทสนทนา ก่อนที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะแพร่หลายไปยังวงกว้าง

ในสมัยราชวงศ์ถังที่ขึ้นชื่อในความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม ว่ากันว่าเมืองเฉิงตูก็มีร้านชาอยู่กว่า 400 ร้าน ทั้งยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของชาที่ปลูกในมณฑลอื่นอย่างมณฑลยูนนาน ซึ่งค้าขายกันบนเส้นทางสายไหมทางตอนใต้ หรือที่รู้จักกันว่าถนนชา-ม้าโบราณ (Ancient Tea Horse Road) เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางการค้าเก่าแก่เสียยิ่งกว่าเส้นทางสายไหมที่โลกรู้จัก

สิ่งที่เฉิงตูขายแลกกันกับชาก็คือ ผ้าไหมปักดิ้นอันลือชื่อของแคว้นสู่ (ชื่อเรียกมณฑลเสฉวนโบราณ) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดไหมปักดิ้นของจีน ร่วมกับไหมปักดิ้นเมฆาของหนานจิง ไหมปักดิ้นแห่งราชวงศ์ซ่งของซูโจว และไหมปักดิ้นของชาวจ้วงแห่งกว่างสี ไหมปักดิ้นก็คืออาภรณ์ที่เราเห็นจักรพรรดิจีนในอดีตสวมใส่นั่นเอง

กิน

คนจีนนั้นขึ้นชื่อเรื่องการใช้อาหารเป็นยา อาหารเสฉวนรสเผ็ดร้อนอย่างหม้อไฟที่มีส่วนประกอบสำคัญคือพริกและพริกไทยเสฉวน (ที่ทำให้ลิ้นชาเวลารับประทานหม่าล่า) จึงช่วยในการขับพิษและทำให้ร่างกายอบอุ่นได้เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับไหมปักดิ้น อาหารเสฉวนก็ถือเป็นหนึ่งในตำรับอาหารสำคัญของจีน

ในปี 2010 เฉิงตูถือเป็นเมืองแรกในเอเชียที่ได้รับคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งอาหาร (City of Gastronomy) โดยเป็นเมืองที่สองต่อจากโปปายันของประเทศโคลอมเบีย

อาหารเสฉวนที่แต่เดิมก็แพร่หลายอยู่แล้ว จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดนักท่องเที่ยว

ข้อมูลจากยูเนสโกในปี 2017 บอกว่าเฉิงตูมีเชฟอาชีพอยู่กว่า 70,000 คน และมีการจ้างกว่า 600,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีเชฟระดับชาติอยู่ร่วม 300 คน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้นอยู่ที่เลขสองหลัก

การได้รับคัดเลือกเป็นเมืองแห่งอาหารจึงไม่น่าสนใจเท่ากับว่าเฉิงตูใช้ประโยชน์จากสถานภาพนี้อย่างไรในระยะยาวในการสร้างเมืองให้ ‘เป็นที่นิยมมากขึ้นทุกวัน’ และเป็นเมืองของประเทศจีนที่ถือว่าประสบความสำเร็จอันดับต้นๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นในปี 2008 หลายคนยังจำได้ถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในมณฑลเสฉวน ขณะที่เฉิงตูได้รับความเสียหายอย่างหนัก วิกฤตที่เปลี่ยนเป็นโอกาสก็คือการมีนักข่าวต่างชาติเข้าไปทำข่าวจำนวนมาก และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างแบรนด์ของเมืองขึ้นใหม่ในสายตาโลกภายนอก ว่ามันยังเป็นเมืองที่ปลอดภัยและน่าเที่ยว รวมถึงน่าลงทุนอีกด้วย

ตามมาด้วยการเป็นเมืองแห่งอาหารของยูเนสโก และความพยายามในการสร้างแบรนด์เฉิงตูให้สะท้อนภาพ ‘จีนที่แท้จริง’ ซึ่งหมายถึงการเป็นอารยธรรมเก่าแก่แต่ในขณะเดียวกันก็กำลังเดินหน้าสู่ความทันสมัย เช่นเดียวกับการโปรโมตเมืองในฐานะบ้านของแพนด้า ที่ไม่เพียงเป็นสัตว์คุ้มครองสำคัญ รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของ WWF แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างจีนกับนานาประเทศ

วัฒนธรรม

เฉิงตูไม่เพียงมีแพนด้า ผ้าไหมปักดิ้น อาหารเสฉวน วัฒนธรรมชา พวกเขายังมี ‘งิ้วเสฉวน’ อันโด่งดังโดยเฉพาะการเปลี่ยนหน้ากาก ที่ในแต่ละปีทำรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาล

แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เมืองแห่งนี้ไม่ได้รีบร้อนที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างไม่จำกัด ดูเหมือนว่าพวกเขาเลือกขายของให้ได้ราคามากกว่า

ถึงตอนนี้ เราจะไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งของเฉิงตู ที่เรียกกันว่า ตรอกกว้างและแคบ (Wide and Narrow Alley) หรือเรียกในภาษาจีนว่าตรอกกวนจ้าย

อันที่จริงพื้นที่ตรอกกวนจ้ายนั้นประกอบด้วยตรอก 3 ตรอก เรียงรายด้วยหมู่ตึกโบราณกว่า 40 แห่งที่สร้างแบบมีลานโล่งตรงกลาง โดยกวนจ้ายนี้นับเป็นหนึ่งในสามพื้นที่อนุรักษ์ในเมืองเฉิงตูแม้ว่าพื้นที่หลายส่วนจะได้รับการสร้างขึ้นใหม่ก็ตาม

ในปัจจุบัน หมู่ตึกเหล่านี้บ้างได้รับการดัดแปลงเป็นโรงแรมซึ่งรวมถึงดีไซน์โฮเทล บ้างเป็นร้านชา ร้านอาหาร ร้านขนมปัง ร้านขายเสื้อผ้าไหม ร้านขายหนังสือ ร้านขายของเก่า ร้านขายของที่ระลึก ฟังดูแล้วอาจเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายแห่งทั่วโลก ที่พื้นที่ประวัติศาสตร์ได้รับการปรับโฉมให้รองรับการท่องเที่ยว

กวนจ้ายก็เป็นอย่างนั้น ต่างกันก็คือบรรยากาศ และอาจจะเป็น ‘ราคา’

หากเดินเข้าไปในหมู่ตึกที่จัดไว้เป็นร้านขายของเก่า นั่นอาจหมายถึงสิ้นค้าอย่างโต๊ะไม้เก่าแก่ราคาหลักล้านบาท เดินเข้าไปร้านขายหวี ลองหยิบขึ้นมาดูอาจเป็นหวีราคาหลักหมื่นบาท ส่วนร้านผ้าไหมนั้นก็ไม่ใช่ผ้าไหมที่พบเห็นได้ดาษดื่นตามเมืองท่องเที่ยวของจีน แต่เป็นงานหัตถศิลป์ที่สามารถส่งมอบเป็นมรดกรุ่นสู่รุ่น แม้ของแพงจะไม่ได้หมายถึงของดีเสมอไป แต่ตรอกกวนจ้ายบอกกับเราว่าเฉิงตูเลือกที่จะนำเสนอของสูงค่าและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ร้านขายของเก่าไม่เพียงขายของ มันทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใครก็เข้าชมได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เฉิงตูมีราคา

ออกจากร้านขายของเก่า เราอาจเลือกเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์งิ้วแล้วแต่งชุดงิ้วถ่ายรูปเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป แต่จะทำอย่างนั้นได้ต้องมีเวลามากพอด้วย เพราะช่างจะบรรจงแต่งหน้าให้เหมือนเราเป็นนักแสดงงิ้วจริงๆ เช่นเดียวกับเครื่องแต่งกายที่ไม่ได้ตัดเย็บลวกๆ แต่สะท้อนความสูงค่าของศิลปะแขนงนี้ และทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกไม่เสียทีที่ครั้งหนึ่งได้มีประสบการณ์ร่วมกับอุปรากรจีน

กระนั้น เราก็ยังสามารถซื้ออาหารข้างทางรับประทานได้ในตรอกกวนจ้ายนี้ โดยเฉพาะอาหารทานเล่นอย่างมันทอดหรือหม่าล่าที่พบเห็นได้ทั่วไปในเฉิงตู โดยที่ไม่ได้ดูขัดกับร้านรวงต่างๆ แต่อย่างใด เช่นเดียวกับการเดินชมภาพวาดทั้งที่เป็นศิลปะดั้งเดิมและร่วมสมัยที่มาตั้งโชว์กันบนถนนในตรอกดังกล่าว

เราจะอธิบายถึงบุคลิกของตรอกกวนจ้าย ไปจนถึงเมืองเฉิงตูนี้อย่างไรดี? สมมติว่าเป็นคน คนคนนี้ก็น่าจะอยู่ในบ้านที่เต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่า แต่ไม่ได้จัดวางให้ผู้มาเยือนรู้สึกตัวหดลีบเล็ก แต่กลับโล่ง สบาย ผ่อนคลาย และที่สำคัญคือเป็นมิตร

การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเฉิงตูจึงสะท้อนให้เห็นวิถีในการดำเนินชีวิตที่แม้แต่ชาวจีนด้วยกันยังอิจฉา เพราะแม้จะเป็นเมืองที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดเมืองหนึ่งของจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมืองแห่งนี้ก็ไม่ได้มีภาพลักษณ์รีบเร่งแต่ประการใด

เราอาจบอกว่าเฉิงตูได้เปรียบเพราะเต็มไปด้วยสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่ทุกเมืองในโลกที่รู้จักวิธีปฏิบัติกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นี้และเปลี่ยนมันให้เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่ลดทอนคุณค่าของสิ่งที่ตนเองมีอยู่

ลองว่ามีเวลานั่งดื่มชา ก็คงหาสมดุลให้กับทุกอย่างได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหรือเมือง

 

อ้างอิง

ศิลปวัฒนธรรม

Branding Chinese Mega-Cities: Policies, Practices and Positioning 

Lonely Planet

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Louis Sketcher

นักวาดภาพที่มีพื้นฐานจากวิชาสถาปัตย์ฯ ทำให้มีความสนใจมากมายในศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเมือง