ได้เปรียบเพราะว่างเปล่า : ในวันที่เมืองไม่มีประวัติศาสตร์อย่าง ‘เซินเจิ้น’ เติบโต

ได้เปรียบเพราะว่างเปล่า : ในวันที่เมืองไม่มีประวัติศาสตร์อย่าง ‘เซินเจิ้น’ เติบโต

Highlights

  • เซินเจิ้นมีป้ายแปะเป็นคำว่า generic city ซึ่งอธิบายเร็วๆ ได้ว่าเมืองอันปราศจากอัตลักษณ์โดดเด่น แต่เมืองที่เปรียบเสมือนกระดาษเปล่านี่แหละ ที่ในปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์นับเป็นตลาดที่มีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากโตเกียว เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง

ในปี 2018 มูจิเปิดตัวโรงแรมแห่งแรก ไม่ใช่ในโตเกียวหรือปักกิ่ง แต่เป็นเมืองเซินเจิ้น เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (V&A) นอกอังกฤษแห่งแรกที่เลือกมาลงหลักในเมืองนี้เช่นกัน

เซินเจิ้นที่มีป้ายแปะเป็นคำว่า generic city ซึ่งอธิบายเร็วๆ ได้ว่าเมืองที่ปราศจากอัตลักษณ์โดดเด่นนั่นแหละ

เมื่อพูดถึงประวัติของเซินเจิ้น ประโยคท่องจำก็คือการเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงที่มีประชากรราวสามหมื่นคนเท่านั้นในวันที่ก่อร่างสร้างเมือง (ประชากรสองกลุ่มหลักคือชาวกวางตุ้งและจีนแคะ) โดยเมืองแห่งนี้มีอายุ 40 ปีเท่ากันพอดีกับการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน

ไม่ต้องเสียเวลาโหยหาอดีตหรือถามหามรดกทางวัฒนธรรมอะไรในเซินเจิ้น แต่อย่าเพิ่งคิดว่า Rem Koolhaas สถาปนิกชื่อก้องโลกชาวดัตช์ผู้ใช้เซินเจิ้นเป็นตัวอย่างของ generic city จะมองว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย (เรมแนะนำคำนี้ให้โลกรู้จักผ่านหนังสือ S,M,L,XL ของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 1994)

เพราะสำหรับเรม อัตลักษณ์นั้นมีลักษณะตายตัวและกะเกณฑ์เกินไป ขณะที่ generic city คือภาพสะท้อนของความต้องการและความสามารถ ณ ปัจจุบัน ‘มันคือเมืองที่ไม่มีประวัติศาสตร์’

ใช่ว่ามีอัตลักษณ์เข้มข้นจะไม่มีข้อเสียเปรียบ แต่ก็ใช่ว่าเป็นกระดาษเปล่าจะไม่มีข้อได้เปรียบ

Economic Capital

หลังจากสร้างชื่อเสียงจากอาคาร CCTV ในเมืองปักกิ่ง ผลงานในประเทศจีนลำดับถัดมาของบริษัทสถาปนิก OMA ที่มีเรมเป็นหุ้นส่วนหลัก ก็คืออาคารที่ทำการตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นที่สร้างเสร็จในปี 2013

เรมพูดถึงงานนี้ไว้ว่าน่าตื่นเต้นที่มันจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิทัศน์เมืองแห่งนี้ในศตวรรษที่ 21 เราอาจกล่าวต่อได้ว่าหากเซินเจิ้นเป็นกระดาษเปล่า มันก็กำลังได้รับการแต่งแต้มด้วยสถาปัตยกรรมที่รังสรรค์โดยสถาปนิกหัวแถวแห่งศตวรรษที่ 21 จากทั่วโลก

นั่นรวมถึง Vertical Campus อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ Tencent ที่ออกแบบโดย NBBJ และสร้างความกระฉับกระเฉงให้กับภูมิทัศน์ของเซินเจิ้นอย่างไม่น้อยหน้าใคร

กลับมาที่ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น ในปัจจุบันนับเป็นตลาดที่มีมูลค่าใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากโตเกียว เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง แต่สิ่งที่เซินเจิ้นไม่เหมือนอย่างโตเกียว เซี่ยงไฮ้ หรือฮ่องกง คือประวัติความเป็นมาไม่ยาวนาน โดยเฉพาะในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นนั้นเริ่มเปิดดำเนินงานในปี 1991 นับถึงตอนนี้ก็ยังไม่ครบสามทศวรรษด้วยซ้ำ

แต่ในช่วงเวลาเกือบสามทศวรรษนี้ ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ต่างจากเศรษฐกิจจีน ในปี 2017 ตลาดแห่งนี้มีการออก IPO คิดเป็นมูลค่ามากกว่าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นในการระดมทุนสำหรับธุรกิจในแผ่นดินใหญ่ ในเวลาเดียวกับที่เซินเจิ้นมีฐานะเป็นฐานการผลิตให้กับธุรกิจในฮ่องกง

ไม่เพียงตลาดทุน แต่ทุกอย่างในเซินเจิ้นเติบโตก้าวกระโดดไปหมด ไม่ว่าจะเป็นขนาดเศรษฐกิจ พื้นที่ จำนวนผู้อยู่อาศัย ไปจนถึงวิถีชีวิตที่อาจไม่มีใครนึกออกแล้วว่าเมื่อ 40 ปีก่อนมันเป็นอย่างไร (ดูข้อมูลเปรียบเทียบในมิติต่างๆ ระหว่างเซินเจิ้นและฮ่องกงช่วง 40 ปีที่ผ่านมาจากรายงานเชิงกราฟิกของ South China Morning Post ที่ทำไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ)

Creative Capital

มันคงเป็นแค่ความบังเอิญที่เซินเจิ้นมีชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นเมืองชายฝั่งทะเลจีนใต้ และอยู่ติดกันกับฮ่องกงที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจ ในวันที่เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจเปิดประเทศและเลือกเอาบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน

และบังเอิญว่าฮ่องกงจะกลับคืนสู่อาณัติของจีนแผ่นดินใหญ่หลังจากนั้นไม่นาน จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจีนจะวางเซินเจิ้นให้เป็นเมืองต้นแบบสำหรับทดลองระบบทุนนิยมซึ่งงอกเงยเต็มที่ในฮ่องกง ด้วยการเปิดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก

ความหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษก็คือ การเปิดรับทุนจากต่างชาติ ให้สิทธิพิเศษทางภาษี และใช้กลไกตลาด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเงินทุนจากต่างชาติจำนวนมากไหลผ่านมาทางฮ่องกง และไม่แปลกที่ร้านแมคโดนัลด์สาขาแรกในประเทศจีนก็เปิดขึ้นในเซินเจิ้นด้วย

เรื่องน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่า เซินเจิ้นไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเป็นฐานการผลิตเท่านั้น แต่เลือกที่จะผลักดันตนเองด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและการออกแบบ ระหว่างที่ใครๆ มองว่าเซินเจิ้นคือของก๊อปหลากเกรด เมืองแห่งนี้แท้จริงแล้วไม่ต่างจากซิลิคอนวัลลีย์ของฮาร์ดแวร์ สโลแกน From ‘Made in China’ to ‘Created in China’ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2004 บอกให้รู้ถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของเมืองที่จะยกระดับตัวเอง และนั่นรวมถึงงบประมาณหลายล้านหยวนที่ใช้สนับสนุนสตาร์ตอัพด้วยเช่นกัน

ในปี 2008 เซินเจิ้นได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) จากความแข็งแกร่งโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมงานออกแบบกราฟิก ที่พัฒนาจากการเป็นฐานการผลิตบรรจุภัณฑ์ แต่นี่ก็อาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว

การยกระดับของเซินเจิ้นจากการเป็นฐานการผลิตสู่เมืองเศรษฐกิจก้าวหน้า แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีจากการเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของธุรกิจเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Huawei, Tencent ไปจนถึง BYD ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน

ลองนึกภาพเมืองที่มีท่าเรือคึกคักติดอันดับโลกและเป็นที่ตั้งของธุรกิจที่ขายของให้คนทั้งโลกอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่แปลกหรอกที่เซินเจิ้นจะก้าวกระโดดไปไกลที่สุดในบรรดาเมืองในประเทศจีนด้วยกัน

สำคัญที่สุดก็คือความจริงที่ว่า ความก้าวหน้าของเซินเจิ้นทำให้ฮ่องกงซึ่งเคยมองเซินเจิ้นเป็นแรงงานของตน ต้องหันมาใคร่ครวญอย่างจริงจัง เมื่อในวันนี้พวกเขาทั้งคู่ดูจะเป็นเพื่อนบ้านที่ทัดเทียมกัน และถ้าจะยอมรับความจริง ฮ่องกงก็ดูเป็นรองเพื่อนบ้านไปแล้วในหลายมิติ โดยเฉพาะความสามารถในการผลิตและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เติบโตขึ้นทุกวัน

เป็นไปได้ว่า ฮ่องกงจะถนัดเรื่องการค้าซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของพวกเขามากกว่าความคิดสร้างสรรค์ และนั่นอาจเป็นเหตุผลให้เซินเจิ้นที่เคยมีสถานะไม่ต่างจากคนชายขอบ ก้าวข้ามฮ่องกงได้ในที่สุด

ขณะเดียวกัน อาจเป็นเพราะเซินเจิ้นคือกระดาษเปล่าที่เริ่มจากการเป็นฐานการผลิตไร้ตัวตน เซินเจิ้นจึงมีความได้เปรียบตรงที่ว่าพวกเขาจะผลิตอะไรขึ้นมาก็ได้ ในวันหนึ่งที่มีความรู้และทักษะมากพอ

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าวันนั้นได้มาถึงแล้ว

 

อ้างอิง

South China Morning Post (1)

South China Morning Post (2)

South China Morning Post (3)

OMA

Wallpaper

A Quantum City

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Louis Sketcher

นักวาดภาพที่มีพื้นฐานจากวิชาสถาปัตย์ฯ ทำให้มีความสนใจมากมายในศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเมือง