Eye on Beppu : เมืองมีคน คนมีดี ฟ้ามีไอ ใต้ดินมีน้ำพุร้อน เบื่อค่อยนอนฟังเสียงทะเล

Highlights

  • เมืองเบปปุ บนเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ออนเซ็นจึงเป็นทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของเมืองนี้
  • แต่เรื่องที่น่าอิจฉากว่านั้นคือ เบปปุยังเป็นเมืองที่มีช่างฝีมืองานไม้ไผ่ที่โดดเด่น ทั้งในแง่ทักษะ และสุนทรียภาพ จนช่างไม้ไผ่จากเบบปุจำนวนไม่น้อยมีชื่อเสียงในระดับชาติ

เพราะเป็นแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่เป็นที่สองของโลกรองจากเยลโลว์สโตนของสหรัฐอเมริกา บ้านเรือนของเบปปุจึงตั้งอยู่บนกาต้มน้ำขนาดยักษ์ ที่ปล่อยไอตามท่อสู่ท้องฟ้า และทำให้ท้องฟ้าของเบปปุไม่เหมือนที่ใดในโลก

แต่เยลโลว์สโตนไม่ใช่เมือง มันคืออุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมือง ดังนั้นหากว่ากันด้วยเรื่องเมืองๆ ต้องยกให้เบปปุเป็นสุดยอดของเมืองน้ำพุร้อน

ไม่แปลกที่ออนเซ็นจะเป็นทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของเบปปุ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดโออิตะบนเกาะคิวชูแห่งนี้

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งออนเซ็น ลำพังแค่การทำเรื่องท่องเที่ยวให้ยั่งยืนและรองรับผู้มาเยือนได้ไม่เป็นสองรองใคร ก็ทำให้เบปปุขึ้นหน้าขึ้นตาสำหรับญี่ปุ่นแล้ว แต่เรื่องน่ารักกว่านั้น (หรือจะว่าไปก็น่าอิจฉาอยู่เหมือนกัน) คือเบปปุยังเป็นเมืองที่มีงานช่างฝีมือโดดเด่นอีกต่างหาก กล่าวได้ว่ามีคนรุ่นก่อนเป็นปรมาจารย์งานฝีมือ และมีคนรุ่นใหม่ที่ให้ค่ากับศิลปะและงานฝีมือ โดยเฉพาะการสืบสานงานไม้ไผ่ ซึ่งก็เป็นเรื่องขึ้นหน้าขึ้นตาของญี่ปุ่นอีกเหมือนกัน

ไม่แปลกที่งานไม้ไผ่จะเป็นทั้งวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของที่นี่ด้วย

จะบอกว่าเป็นโชคสองชั้นก็คงจะได้ ที่เมืองแห่งนี้เป็นทั้งแหล่งน้ำพุร้อนที่ดีที่สุด และขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งสร้างสรรค์งานไม้ไผ่ที่ขึ้นชื่อที่สุดของญี่ปุ่น แต่ประวัติศาสตร์บอกกับเราว่า โลกนี้ไม่มีเรื่องราวใดแยกออกจากกันได้อย่างแท้จริงสักเท่าไหร่

สินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีลมหายใจ

เมื่อพูดถึงน้ำพุร้อน เบปปุซึ่งมีแหล่งน้ำพุร้อนกว่าสองพันแห่ง (ราวร้อยละ 10 ของญี่ปุ่น) สามารถแบ่งออกได้เป็น 8 โซนที่เรียกว่า เบปปุฮัตโต หากไล่เรียงจากเหนือลงใต้ขนานกับชายฝั่งก็จะประกอบด้วยคาเมงาวะออนเซ็น, เบปปุออนเซ็น และฮามาวากิออนเซ็น หากไล่จากด้านข้างภูเขาจากเหนือลงใต้เช่นกัน ก็คือชิบาเซกิออนเซ็น เมียวบังออนเซ็น คันนาวะออนเซ็น โฮริตะออนเซ็น และคันไคจิออนเซ็น สาเหตุที่ต้องไล่เรียงให้ดูว่าโซนไหนใกล้ภูเขา โซนไหนใกล้ทะเล เพราะนั่นคือวิวที่แขกของโรงแรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรียวกัง จะได้เห็นทั้งวี่ทั้งวันหากได้ห้องที่หันหน้าไปยังทิศที่ถูกที่ควร

โดยแหล่งน้ำพุร้อนแต่ละโซนจะพัฒนาเป็นพื้นที่รีสอร์ตของตนเอง (รีสอร์ตที่เก่าแก่ที่สุดย้อนกลับไปได้ถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 8) และมีจุดออนเซ็นแยกย่อยอีกมากมาย ซึ่งน้ำพุร้อนก็จะมีคุณสมบัติต่างกันออกไปตามปริมาณ คุณภาพ และที่สำคัญคือชนิดของน้ำพุร้อนที่หาไม่ได้จากที่อื่นในญี่ปุ่น คือจุดแข็งสำคัญของการท่องเที่ยวเบปปุที่ธรรมชาติมอบให้ ของแถมก็คือนอกจากใต้พิภพร้อนระอุจะปลดปล่อยออกมาเป็นน้ำพุร้อนแล้ว ความที่เป็นเมืองชายหาด เบปปุจึงมีทรายร้อนเป็นโบนัสที่เสริมการท่องเที่ยวเบปปุได้เป็นอย่างดี

คราวนี้มาพูดถึงไม้ไผ่กันบ้าง ในบรรดาไผ่กว่าพันชนิดที่มีอยู่ในโลกนี้ ราวครึ่งหนึ่งพบได้ในญี่ปุ่น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นมหาอำนาจทางไม้ไผ่ตัวจริง ในบรรดาไผ่ของญี่ปุ่น จังหวัดโออิตะถือเป็นเลิศในการปลูกไผ่ป่าที่เรียกว่ามาดาเกะ วัสดุสำคัญในการสร้างสรรค์งานไม้ไผ่ของเบปปุ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดให้เป็นงานหัตถศิลป์ดั้งเดิมประจำจังหวัดโออิตะ

และหากพูดถึงงานไม้ไผ่ดั้งเดิมของเบปปุ ชื่อแรกที่ทุกคนจะนึกถึงก็คือ Shōno Shōunsai (1904-1974) ปรมาจารย์งานไม้ไผ่ผู้ได้รับเลือกให้เป็นทรัพย์สมบัติมีชีวิตของญี่ปุ่น (Living National Treasure) ที่รัฐบาลมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มคนผู้ฝึกฝนงานศิลปะหรือช่างฝีมือจนมีทักษะเชี่ยวชาญในระดับมาสเตอร์ ถือเป็นผู้รักษาและส่งต่อสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของญี่ปุ่นสู่คนรุ่นต่อไป

โดยโชโนะผู้ถือกำเนิดในเมืองเบปปุนี้ นับเป็นปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับการประกาศเกียรติยศนี้ในสาขางานไม้ ในปี 1967

 

มีดีมานด์ มีซัพพลาย มีองค์ความรู้

พงศาวดารญี่ปุ่นบันทึกไว้ว่า เครื่องครัวทำจากไม่ไผ่ของญี่ปุ่นนั้นมีมาแต่ครั้งหัวหน้าพ่อครัวของพระจักรพรรดิเคโคะ (ค.ศ. 71–130)  เดินทางมาเยือนเบปปุและได้พบไผ่ลำต้นเรียวที่เหมาะแก่การสานเป็นตะกร้า เมื่อถึงยุคเอโดะซึ่งเบปปุกลายเป็นสถานออนเซ็นขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ตะกร้าไม้ไผ่สำหรับชาวญี่ปุ่นใช้ใส่ข้าวสาร รวมถึงอุปกรณ์ทำครัวจากไม้ไผ่จึงกลายเป็นของที่ระลึกยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว นำมาสู่การพัฒนางานไม้ไผ่เป็นหัตถอุตสาหกรรมสำคัญของท้องถิ่น

ในปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนารถไฟอย่างจริงจัง เมื่อทางรถไฟบนเกาะคิวชูเปิดวิ่งและเชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าจากโอซาก้าที่เฟื่องฟู ชาวญี่ปุ่นก็ยิ่งเดินทางมาอาบน้ำร้อนในเบปปุกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากสถานีเบปปุเปิดให้บริการในต้นศตวรรษที่ 20 การท่องเที่ยวที่เติบโตหมายถึงอุปสงค์ต่อโรงแรม โดยเฉพาะในแบบเรียวกังซึ่งสร้างไม่ทัน โรงเรียนเทคนิคจึงได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อผลิตช่างฝีมือ โดยเฉพาะช่างฝีมือที่ฝีกทักษะในการทำงานไม้ไผ่ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรียวกัง

เมื่อมีทั้งความต้องการและความรู้ที่จะมอบให้ เบปปุจึงดึงดูดช่างฝีมืองานไม้ไผ่จากทั่วญี่ปุ่นให้เดินทางมารับการฝึกฝน ณ สถานศึกษาที่ภายหลังพัฒนาเป็นโรงเรียนเทคนิคโออิตะแห่งนี้ นับเป็นที่วางรากฐานเชิงเทคโนโลยีการผลิตสำหรับงานไม้ไผ่ของญี่ปุ่น โดยจังหวัดโออิตะยังคงเป็นสถานฝึกฝนช่างฝีมืองานไม้ไผ่มาจนถึงปัจจุบัน

ไม้ไผ่ไม่เพียงใช้สำหรับงานตกแต่งภายในเรียวกัง แต่นักท่องเที่ยวผู้มาใช้บริการเรียวกังจะพบผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่เป็นส่วนประกอบสำคัญในการพักผ่อนของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นแจกันดอกไม้ที่วางไว้ในส่วนที่เรียกว่าโทโคโนมะ (บริเวณที่จัดไว้เป็นส่วนตกแต่ง ห้ามวางของ) หรือตะกร้าสำหรับใส่ข้าวของต่างๆ เมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน มันคือบรรยากาศของการต้อนรับในแบบเรียวกังนั่นเอง

 

งานไม้ไผ่ในโลกพลาสติก

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าความนิยมของงานไม้ไผ่ในวงกว้างจะสะดุดลงเมื่อพลาสติกซึ่งมีราคาถูกกว่ามากเข้ามาแทนที่ แต่ในเรื่องแย่มีมุมดีๆ เสมอ สำหรับเบปปุ มันคือโฟกัสที่ชัดเจนขึ้นในการยกระดับงานไม้ไผ่จากสินค้าในชีวิตประจำวันสู่งานศิลปะขั้นสูง

ซึ่งหมายความว่าฝีมือและทักษะ รวมถึงสุนทรียภาพ จะยกระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ช่างไม้ไผ่จำนวนไม่น้อยของเบปปุจึงมีชื่อเสียงในระดับชาติ แน่นอนว่ารวมถึงโชโนะด้วย

การโฟกัสในศิลปะขั้นสูงหมายถึงเรี่ยวแรงและเวลาในการฝึกฝนและสร้างสรรค์ผลงาน นั่นยิ่งทำให้คุณค่าของการทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงานของคนญี่ปุ่นยังคงเหลืออยู่ให้เห็นในงานหัตถศิลป์สูงค่านี้เอง

ในปัจจุบัน เราจะเห็นงานไม้ไผ่จากเบปปุเดินทางไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่นเดียวกับที่มันกลับมาเป็นเสน่ห์พิเศษสำหรับคนญี่ปุ่น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเมื่อแบรนด์แฟชั่น-ไลฟ์สไตล์อย่าง BEAMS จับมือกับ Beppu Project องค์กรไม่แสวงหากำไรของเบปปุที่เน้นการใช้ศิลปะสร้างเมือง ร่วมกันทำงานในชื่อ BEAMS EYE on BEPPU มาตั้งแต่ปี 2016 ด้วยการจัดสรรเวลาหนึ่งเดือน ตกแต่งพื้นที่ร้าน BEAMS JAPAN ชั้นหนึ่งด้วยธีมเบปปุ พร้อมกับสินค้าจากโครงการ SELECT อันเป็นผลิตภัณฑ์คัดสรรของจังหวัดโออิตะมาวางขายในร้าน ในบรรยากาศอุ่นไอออนเซ็น

อธิบายเพิ่มเติมสักนิด BEAMS JAPAN คือสาขาของร้าน BEAMS ในชินจูกุที่อุทิศให้กับงานที่มีการออกแบบเนื้อหา (Curated store) โดยมีคีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่าญี่ปุ่น มีด้วยกัน 6 ชั้น แต่ละชั้นจัดเป็นพื้นที่สำหรับแต่ละเรื่อง เช่น ชั้นใต้ดินเป็นอาหารตะวันตกแบบญี่ปุ่นกับคราฟต์เบียร์ ชั้นหนึ่งเป็นสินค้าพิเศษจากทั่วญี่ปุ่นกับกาแฟเจแปนเบลนด์ลิมิเต็ดอิดิชั่น ชั้นสองเป็นเสื้อผ้าเมดอินเจแปนและแบรนด์แฟชั่น ชั้นสามเป็นงานความร่วมมือระหว่าง BEAMS กับแบรนด์ต่างๆ ชั้นสี่ว่าด้วยป๊อปคัลเจอร์ ส่วนชั้นห้าเป็นศิลปะและงานฝีมือ การที่ BEAMS เลือกทำธีมเบปปุสะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงการมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของเมือง

หากให้สรุปก็น่าจะเป็นส่วนผสมระหว่างสินทรัพย์ที่ธรรมชาติมอบให้ ทักษะที่คนรุ่นก่อนสั่งสมไว้ รวมกับทรรศนะของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นท้องถิ่นของตนเองไปต่อได้อย่างมีที่มาที่ไป จึงทำให้เบปปุในวันนี้ยังเป็นแหล่งออนเซ็นชั้นยอด ที่มีงานไม้ไผ่เป็นหัตถศิลป์ล้ำค่าและขายได้ราคาอย่างที่เป็น

กลายเป็นตัวอย่างของเมืองที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นจากสินทรัพย์ของท้องถิ่นเอง

 

อ้างอิง

Beppu Project, Beppu City Traditional Bamboo Crafts Center, Government of Japan, BEAMS

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Louis Sketcher

นักวาดภาพที่มีพื้นฐานจากวิชาสถาปัตย์ฯ ทำให้มีความสนใจมากมายในศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเมือง