ประวัติศาสตร์ซินเดอเรลล่า ว่าด้วย Cinderella Story พล็อตเรื่องอายุพันปีที่ยังขายดีไม่มีเบื่อ

ซินเดอเรลล่า เป็นนิทานพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในโลกนี้มีนิทานที่เกี่ยวข้องกับ 1.หญิงสาวแสนสวยจิตใจดี 2.ถูกรังแกจากสังคมรอบข้าง 3.ได้พบรักกับเจ้าชายโดยมีรองเท้าเป็นสื่อกลาง มากมายหลายเวอร์ชั่น ซึ่งถ้าจะนับกันจริงๆ เรื่องราวเกี่ยวกับซินเดอเรลล่าที่เก่าที่สุด อาจสืบย้อนไปได้ไกลถึงยุคอียิปต์โบราณ นิทานเรื่องนี้มีชื่อว่าโรโดพิซ กล่าวถึงสตรีชาวกรีกที่ถูกขายเป็นทาสในอียิปต์ เจ้านายของโรโดพิซเป็นคนแก่จิตใจดี แต่ไม่มีเวลาสอดส่องข้าทาสบริวารมากนัก ทำให้โรโดพิซซึ่งเป็นเด็กใหม่ แถมมีรูปลักษณ์แตกต่างจากชาวพื้นเมืองถูกรังเกียจจากบรรดาเพื่อนร่วมงาน 

โรโดพิซ ตำนานซินเดอเรลล่าเวอร์ชั่นอียิปต์ที่อาจมีต้นฉบับมาจากกรีกอีกที

โรโดพิซมีเส้นผมสีทอง ในขณะที่สาวอียิปต์มีเส้นผมสีเข้ม โรโดพิซมีดวงตาสีเขียว แต่ผู้หญิงอียิปต์มีดวงตาสีน้ำตาลค่อนไปทางดำ โรโดพิซมีผิวสีขาวสว่าง แสงแดดเพียงเล็กน้อยก็ทำให้เกิดรอยไหม้ แต่สาวอียิปต์มีผิวสีน้ำผึ้งเรียบเนียนเสมอ ด้วยรูปลักษณ์และที่มาที่แตกต่าง ทำให้โรโดพิซถูกรุมใช้งานจากบรรดาสาวใช้รุ่นพี่ โรโดพิซไม่มีเพื่อนที่เป็นมนุษย์ แต่กลับผูกพันกับสัตว์น้อยใหญ่ เธอสอนลิงให้ปีนมานั่งบนไหล่ สอนให้นกบินมาเกาะที่มือเพื่อรับอาหาร แม้แต่สัตว์ใหญ่อย่างฮิปโป ก็ยังอยากอยู่ใกล้หญิงสาวผู้งดงามและจิตใจดี 

ทุกวันหลังเลิกงาน หากโรโดพิซมีเวลาอยู่บ้าง เธอจะเดินไปลำธารเพื่อร้องเพลงและเต้นรำกับบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ เธอเต้นรำได้ดีมากกระทั่งเท้าแทบจะไม่แตะพื้น วันหนึ่งเจ้านายของโรโดพิซแอบมานอนหลับใกล้ลำธาร เขาเห็นสาวใช้ของตนเต้นรำได้สวยงามก็เกิดถูกใจ ซื้อรองเท้าสีแดงคู่ใหม่ให้เป็นของขวัญ กล่าวว่าผู้หญิงที่เต้นรำได้งดงามเช่นนี้ ไม่สมควรจะเดินเท้าเปล่า 

บรรดาสาวใช้คนอื่นเห็นโรโดพิซมีรองเท้าสวยงาม ก็ยิ่งทวีความเกลียดชัง วันหนึ่งเมื่อฟาโรห์แห่งอียิปต์จัดงานเต้นรำในเมมฟิส พระองค์เชิญประชาชนจากทั่วทุกสารทิศให้มาร่วมงาน บรรดาสาวใช้ใจดำจึงวางแผนมอบหมายงานมากมายให้โรโดพิซจนเธอไม่สามารถเดินทางไปร่วมงานเพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง

โรโดพิซเสียใจเป็นอย่างมาก แบกผ้าสกปรกเดินไปที่ลำธารเพื่อซักล้าง เธอถอดรองเท้าสีแดงไว้ข้างกัน แต่แล้วเหยี่ยวตัวใหญ่กลับบินลงมา โฉบเอารองเท้าหนึ่งข้างจากไปทั้งอย่างนั้น โรโดพิซตกใจ เธอทราบว่าเหยี่ยวเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้าฮอรัส ดังนั้นจึงรีบกลับบ้าน เก็บรองเท้าอีกข้างไว้เป็นอย่างดี 

ตัดภาพไปยังฝั่งฟาโรห์ พระองค์กำลังเบื่อหน่ายกับงานเต้นรำที่ไม่มีสิ่งไหนน่าสนใจ แต่แล้วนกเหยี่ยวตัวใหญ่ก็บินโฉบลงมา วางรองเท้าสีแดงแสนสวยลงบนตัก ฟาโรห์เข้าใจในทันทีว่าเทพเจ้าฮอรัสวางแผนยิ่งใหญ่ให้พระองค์ จึงระดมสรรพกำลังเพื่อออกตามหาเจ้าของรองเท้า เมื่อขบวนของฟาโรห์มาถึงบ้านของโรโดพิซ สาวใช้คนอื่นรู้ในทันทีว่าเจ้าของรองเท้าข้างนี้คือหญิงสาวที่พวกเธอเกลียดชัง ดังนั้นจึงพยายามกีดกันไม่ให้โรโดพิซได้ลองสวมรองเท้า 

อย่างไรก็ดี ทหารของฟาโรห์พบโรโดพิซเข้า ขอให้เธอสวมรองเท้าและพบว่าสามารถใส่ได้พอดี โรโดพิซหยิบรองเท้าอีกข้างขึ้นมา พิสูจน์ว่าเธอเองคือเจ้าของรองเท้าที่แท้จริง ฟาโรห์แห่งอียิปต์เมื่อได้เห็นหญิงสาว ก็ตีความว่าเทพเจ้าฮอรัสคงมีประสงค์ให้พระองค์เลือกสตรีผู้นี้เป็นราชินีแห่งอียิปต์ บรรดาสาวใช้ผู้มีจิตริษยา กล่าวว่าโรโดพิซไม่มีความเหมาะสม เธอเป็นแค่นางทาส แถมไม่มีสายเลือดอียิปต์แม้แต่น้อย ฟาโรห์กล่าว สาวคนนี้เหมาะสมมากที่สุด ดวงตาของเธอเป็นสีเขียวเหมือนแม่น้ำไนล์ เส้นผมเป็นสีทองเหมือนกระดาษปาปิรุส ผิวสีชมพูเป็นดังกลีบบัว 

โรโดพิซอภิเษกกับฟาโรห์ และได้ใช้ชีวิตแบบเจ้าหญิงดิสนีย์ คือมีความสุขชั่วนิรันดร์ 

หากพิจารณาองค์ประกอบหลักจากนิทานโรโดพิซ จะพบว่าเรื่องราวในทำนองนี้ มีความใกล้เคียงกับตำนานพื้นบ้านในหลายพื้นที่ ในประเทศจีนมีเรื่องราวเกี่ยวกับเย่เซี่ยน เด็กสาวใจงามที่มีชีวิตรันทดเพราะแม่เลี้ยงใจร้าย เธอมีเพื่อนเป็นปลาแต่กลับถูกแม่เลี้ยงผู้มีจิตริษยาฆ่าปลาจนตาย ชายชราบอกให้เด็กสาวเก็บกระดูกปลาเพื่อขอพร เธอขอให้มีโอกาสเข้าร่วมงานเต้นรำฤดูใบไม้ผลิ วิญญาณของปลามอบรองเท้าสีทองและชุดแสนสวยให้เย่เซี่ยน เธอทำรองเท้าข้างหนึ่งตกไว้ในงาน ฮ่องเต้ติดตามหาเจ้าของจนทั้งสองได้สมรสกัน 

ในเวอร์ชั่นของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ (ตีพิมพ์ในปี 1812) เรื่องราวของซินเดอเรลล่ามีชื่อว่า Aschenputtel หรือแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Ash Girl เธอปลูกต้นไม้เหนือหลุมศพแม่แท้ๆ ที่จากไปทำให้มีนกวิเศษคอยช่วยเหลือจนหญิงสาวได้สมรสกับเจ้าชายรูปงาม ตอนจบของเรื่องนี้ดูจะโหดร้ายกว่าเวอร์ชั่นก่อนหน้าเพราะนกตัวนี้ลงโทษแม่เลี้ยงใจร้ายและลูกสาวสองคนโดยการจิกให้ตาของพวกเธอมืดบอดในตอนท้าย 

Aschenputtel ในเวอร์ชั่นของพี่น้องกริมม์ มีนกวิเศษแต่ไม่มีนางฟ้าแม่ทูนหัว

ในประเทศไทย เรื่องราวเกี่ยวกับหญิงงามจิตใจดีที่ถูกรังแกโดยแม่เลี้ยงใจร้าย มีความคล้ายกับนิทานแม่ปลาบู่ ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกามีการเรียกรวมพล็อตเรื่องแบบนี้ว่า ‘Cinderella Story’ หมายถึงเรื่องดีๆ จะเกิดกับผู้มีจิตใจดีงาม ซึ่งในทัศนะแบบอเมริกัน ซินเดอเรลล่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเพศหญิงเสมอไปเพราะเคยมีการตีความใหม่ให้ซินเดอเรลล่าเป็นผู้ชายในภาพยนตร์ใบ้เรื่อง The Cinderella Man (1917) ในเรื่องนี้หญิงสาวมั่งมีปลอมตัวเป็นคนจนเพื่อพิสูจน์ใจของชายหนุ่มที่จะสมรสมาเป็นสามี 

ดิสนีย์กับซินเดอเรลล่า ว่าด้วยตำนานสาวผู้แสนดีกับโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

เมื่อดิสนีย์ตัดสินใจนำนิทานซินเดอเรลล่ามาปรับเป็นแอนิเมชั่น พวกเขาเลือกหยิบเอาเวอร์ชั่นที่เขียนขึ้นโดยนายชาร์ล แปร์โรลต์ (Charles Perrault) มาเป็นต้นแบบ ชาร์ล แปร์โรลต์เขียนนิทานเรื่องซินเดอเรลล่า (หรือในภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า Cendrillon ou La petite pantoufle de verre แปลเป็นภาษาอังกฤษคือ Cinderella, or the Little Glass Slipper) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถือเป็นยุคร่วมสมัยกับกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 โดยเห็นได้ว่าดิสนีย์นำองค์ประกอบหลายอย่างมาจากเวอร์ชั่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น การปรากฏตัวของนางฟ้าแม่ทูนหัว ซึ่งไม่มีในเวอร์ชั่นสองพี่น้องตระกูลกริมม์ การเสกฟักทองให้เป็นราชรถ การกำหนดเวลาให้เวทย์มนตร์เสื่อมลงหลังเที่ยงคืน รวมไปถึงการเลือกให้รองเท้าคู่สำคัญทำมาจากแก้ว (ในเวอร์ชั่นของสองพี่น้องตระกูลกริมม์ รองเท้าของซินเดอเรลล่าทำมาจากทองคำประดับด้วยผ้าไหมและแร่เงิน) 

แม้ว่าซินเดอเรลล่าในเวอร์ชั่นของนายชาร์ล แปร์โรลต์จะมีท้องเรื่องอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่แอนิเมชั่นของดิสนีย์กลับไม่ได้อ้างอิงวัฒนธรรมฝรั่งเศสมากนัก แถมไม่ได้เลือกเครื่องแต่งกายของตัวละครให้อยู่ในยุคสมัยที่วรรณกรรมถูกเขียนขึ้น 

ซินเดอเรลล่าฉบับดิสนีย์มีการใช้แฟชั่นต้นฉบับที่ปะปนกันระหว่างแฟชั่นยุควิกตอเรียนกับแฟชั่นร่วมสมัย

ชุดของสองพี่เลี้ยงใจร้าย-ดริเซลล่ากับอนาสตาเซียอ้างอิงจากชุดยุควิกตอเรียนช่วงปี 1870s ซึ่งมีการเสริมเน้นชายกระโปรงด้านหลัง ในขณะที่ชุดของแม่เลี้ยงใจร้าย เป็นแฟชั่นในยุคปลายวิกตอเรียน ราวช่วงปี 1890s 

ตัวอย่างชุดแบบมีหางของสองพี่เลี้ยงใจร้าย

ชุดของซินเดอเรลล่าในวัยเด็ก เป็นชุดที่ค่อนข้างอ้างอิงแฟชั่นยุควิกตอเรียนแทบทั้งหมด เด็กผู้หญิงในยุคนั้นนิยมสวมกระโปรงบาน ชายกระโปรงยาวไม่ถึงพื้น ตกแต่งด้วยโบและระบาย อย่างไรก็ดีชุดที่นางเอกของเราสวมไปงานเต้นรำ กลับดูเหมือนแฟชั่นร่วมสมัย อ้างอิงจากชุดราตรีของ Dior คอลเลกชั่นปี 1947 (Dior New Look) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเนื่องจากซินเดอเรลล่าของดิสนีย์ออกฉายในปี 1950 จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ทีมงานอาจนำแรงบันดาลใจมาจากแฟชั่นที่ประสบความสำเร็จในยุคนั้น วรรณกรรมของนายชาร์ล แปร์โรลต์กล่าวว่า นางฟ้าแม่ทูนหัวเสกชุดให้ซินเดอเรลล่าเป็นภูษาเงินและทองคำ (cloth of gold and silver) แต่ในเวอร์ชั่นของดิสนีย์เลือกให้ชุดของซินเดอเรลล่าเป็นสีเงิน เข้ากันกับรองเท้าแก้วซึ่งเป็นวัตถุสำคัญภายในเรื่อง

ตัวอย่างชุดของเด็กในยุควิกตอเรียน

ซินเดอเรลล่าของดิสนีย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแอนิเมชั่นเรื่องนี้ปล่อยออกมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจบลงเพียง 5 ปี กระแสหวนกลับสู่ช่วงเวลาเก่าอันแสนรุ่งเรืองของยุโรปกำลังได้รับความนิยม แม้แต่ Dior New Look ก็ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบเสื้อผ้ามาจากแฟชั่นเก่ายุควิกตอเรียน แต่นำมาปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัย 

หนึ่งในภาพยนตร์ที่นำแนวคิดแบบ Cinderella Story มาใช้ แล้วประสบความสำเร็จอีกเช่นกันคือภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง Sissi (1956) นำเสนอเรื่องราวของบุคคลจริงในประวัติศาสตร์คือจักรพรรดินีซีซี่แห่งออสเตรีย (พระนามเต็มจักรพรรดินีเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย) กับพระสวามีคือจักรพรรดิฟรานซ์​ โจเซ็ฟ แต่ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สวยงามดั่งเทพนิยาย

ฟรานซ์ โจเซ็ฟจักรพรรดิหนุ่มเดินทางตามหาเจ้าสาวจนมาพบซีซี่ เจ้าหญิงจากแคว้นบาวาเรียที่มีชีวิตเรียบง่ายอิสระท่ามกลางป่าเขา เขาตกหลุมรักเธอในทันที ทั้งคู่เข้าสู่ประตูวิวาห์และใช้ชีวิตต่อมาในปราสาทหลังใหญ่ แน่นอนว่าตอนจบของเรื่องจริงไม่สวยงามเหมือนซินเดอเรลล่า แต่จุดเริ่มต้นและบุคลิกของซีซี่ ทำให้ชาวออสเตรียเชื่อมโยงจักรรพรรดินีเข้ากับตำนานพื้นบ้านได้ง่าย 

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ราชสำนักออสเตรียรุ่งเรืองหรูหราเหมาะกับการหลีกหนีความจริงของโลกหลังสงครามแสนวุ่นวาย ที่สำคัญ เวียนนาในยุคนั้นปราศจากกอิทธิพลเยอรมัน สลัดภาพลักษณ์ของออสเตรียช่วงหลังสงครามซึ่งอยู่ในสถานะก้ำกึ่งเป็นทั้งเหยื่อและผู้สมรู้ร่วมคิดของนาซี

ซินเดอเรลล่ากับบริบททางประวัติศาสตร์ เรื่องราวที่สวยงามดั่งนิยาย ซ่อนความหมายแบบไหนในระหว่างบรรทัด 

แม่เลี้ยงใจร้าย – การแย่งชิงมรดก 

นิทานพื้นบ้านยุโรปจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นซินเดอเรลล่า สโนไวท์ หรือแม้แต่ฮันเซลกับเกรเทล จุดเริ่มต้นของปัญหาและความยากลำบากของตัวละครหลัก มักมาจากแม่เลี้ยงใจร้ายซึ่งเป็นภรรยาคนใหม่ของพ่อ ปัญหาเรื่องการแต่งงานใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุโรป เนื่องจากสตรีจำนวนมากมักเสียชีวิตในระหว่างการคลอดบุตร การแต่งงานใหม่และการมาถึงของแม่เลี้ยงจึงถือเป็นเรื่องแสนธรรมดา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือการจัดสรรทรัพยากรของครอบครัวรวมไปถึงเรื่องมรดก ลูกเลี้ยงอย่างสโนไวท์และซินเดอเรลล่า เป็นตัวแทนของภรรยาคนก่อน โดยหากภรรยาที่จากไปมาจากตระกูลมั่งคั่ง ก็อาจทิ้งทรัพย์สมบัติจำนวนมากให้กับลูกสาว ดังนั้นแม่เลี้ยงที่เป็นคนมาทีหลัง จึงต้องแย่งชิงพื้นที่ในบ้านแข่งกับลูกของอดีตภรรยา การแย่งชิงที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่เรื่องความรัก แต่รวมไปถึงอำนาจการตัดสินใจ และการจัดการทรัพย์สินในกรณีที่สามีอาจจากโลกไปก่อนลูกเลี้ยงจะบรรลุนิติภาวะ 

รองเท้า – สัญลักษณ์ทางเพศ

การที่ตำนานซินเดอเรลล่ามักมีรองเท้าเป็นส่วนประกอบ นักประวัติศาสตร์บางส่วนกล่าวว่ารองเท้าเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงช่องคลอดของสตรี เจ้าชายตามหาสตรีที่สามารถสวมใส่รองเท้าเข้าไปได้พอดี มีสัญลักษณ์สื่อถึงเรื่องทางเพศ นักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่ารองเท้าในต้นฉบับของนายชาร์ล แปร์โรลต์ อาจไม่ใช่รองเท้าแก้ว แต่เป็น รองเท้าขน ซึ่งเป็นการอุปมาถึงช่องคลอด อย่างไรก็ดี การที่เจ้าของผลงานเปลี่ยนรองเท้าของซินเดอเรลล่าให้เป็นแก้ว อาจเพื่อสื่อถึงคุณสมบัติสูงส่งของซินเดอเรลล่า เนื่องจากวัตถุที่ทำจากแก้วในศตวรรษที่ 17 เป็นของหายากราคาแพง มีแต่สตรีที่สูงส่ง เหมาะสมกับการเป็นเจ้าหญิงเท่านั้นจึงสามารถเดินและเต้นรำบนรองเท้าแก้วได้ 

การสมรสของสตรี – โอกาสที่ดีกว่า 

การแต่งงานดูจะเป็นทางออกของทุกปัญหาในนิทานซินเดอเรลล่า เนื่องจากสถานะในครอบครัวของเธอถูกทำลายจากการมาถึงของแม่เลี้ยงใจร้ายและการตายของบิดา ซินเดอเรลล่าจำเป็นต้องหาสถานะใหม่ในสังคม แต่ผู้หญิงในยุคก่อน จะสามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้งก็ด้วยการแต่งงานที่มาพร้อมผลประโยชน์เพียงเท่านั้น ดังนั้นหากเราจะพูดถึงคติสอนใจที่ได้จากนิทาน ซินเดอเรลล่าเพียงสอนว่าเราต้องเป็นคนดี และถ้าหน้าตาของเราก็ดีด้วย ความสวยจากภายนอกและภายในจะนำมาซึ่งสิ่งดีๆ 

แนวคิดนี้เข้ากันได้ดีกับสังคมอเมริกันช่วงทศวรรษที่ 1950s ซึ่งมีแนวคิดแบบอเมริกันดรีม (American Dream) ความฝันของสตรีในยุคนั้นคือการสมรสเพื่อเป็นภรรยา การแบ่งหน้าที่ของบุรุษ/สตรี แม้แต่ของเล่นที่มีการแบ่งเพศชายหญิงอย่างเด็ดขาด ถูกทำขึ้นภายใต้แนวคิดผู้หญิงที่ดีต้องพร้อมเป็นแม่และภรรยา กระทั่งสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นศัตรูคู่แข่งของสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นล้อเลียนว่าสังคมอเมริกันต้องการล่ามโซ่ผู้หญิงไว้ในห้องครัว ต่างกับแนวคิดแบบสังคมนิยมที่ให้โอกาสผู้หญิงให้สามารถก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่ต่างจากบุรุษ 

Cinderella Story อะไรทำให้พล็อตเรื่องแบบนี้ขายดีมาจนถึงปัจจุบัน? 

ในโลกนี้มีนิทานพื้นบ้านที่มีพล็อตเรื่องคล้ายกับซินเดอเรลล่ามากกว่า 500 เวอร์ชั่น ไม่รับภาพยนตร์ ละครเพลง แอนิเมชั่น หรือสื่อร่วมสมัยอื่นๆ ที่ใช้นิทานซินเดอเรลล่ามาเป็นแรงบันดาลใจ เหตุผลหลักที่ซินเดอเรลล่าได้ใจประชาชนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน เป็นเพราะนิทานเรื่องนี้มีความเป็นสากล หลายคนโตมากับเรื่องนี้แนวนี้ และมีตำนานท้องถิ่นที่บอกเล่าเรื่องราวใกล้เคียงกัน 

ซินเดอเรลล่ายังเป็นพล็อตหนังที่มีช่องว่างให้ตีความมาก ในเวอร์ชั่นของพี่น้องตระกูลกริมม์ แม่แท้ๆ ของซินเดอเรลล่าได้กล่าวกับลูกสาวก่อนสิ้นใจ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ขอให้เด็กสาวยึดมั่นในความดี เพราะเรื่องดีๆ จะเกิดกับผู้มีจิตใจดีอยู่เสมอ ผู้อ่านหลายท่านอาจตีความจิตใจที่ดีของซินเดอเรลล่าว่าเป็นเรื่องโง่เขลา บางคนเห็นว่าซินเดอเรลล่าน่าจะออกจากบ้านไปซะ หรือทำไมไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิ์ของตนเอง ประเด็นขัดใจคนดูเหล่านี้ น่าสนใจว่ากลายเป็นหมุดหมายให้ซินเดอเรลล่าในแต่ละเวอร์ชั่น พยายามหาคำอธิบายแบบใหม่เพื่อครองใจคนดู ในบางครั้งบุคลิกของซินเดอเรลล่าถูกตีความเป็นหญิงสาวแสนฉลาด และอดทน รอคอยเวลาที่เหมาะสมเพื่อทวงคืนสิทธิ์ที่เป็นของเธอ 

อีกหนึ่งประเด็นที่ซินเดอเรลล่าครองใจผู้ชมทุกวัย เป็นเพราะเรื่องราวในนิทาน แม้จะน้ำเน่าแต่ก็กล่าวถึงความหวัง ซินเดอเรลล่าพาเรากลับไปหาคุณงามความดีทั้งปวงซึ่งเป็นแกนหลักของคำสอนแทบทุกศาสนา คือการมีจิตใจเมตตา เอื้ออารีต่อผู้อื่น ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายซับซ้อน เราอาจคาดหวังให้เรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับคนที่คู่ควร ไม่ต่างกับละครสอนใจที่ได้รับความนิยมในสื่อยุคใหม่ ซินเดอเรลล่าอาจเป็นพล็อตละครที่ทำให้เราได้ย้อนกลับไปเห็นจิตใจที่สวยงามของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญล้ำค่าไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหนหรือสมัยใด 

References:

https://sites.pitt.edu/~dash/grimm021.html?fbclid=IwAR2FrLn9_p5PztKCpj_U2_w4929szSP8geJR36b1qOhh2QTaP4ladhpBsjA

https://sites.pitt.edu/~dash/perrault06.html

https://www.dictionary.com/e/cinderella-story/

https://www.npr.org/2015/03/13/392358854/a-girl-a-shoe-a-prince-the-endlessly-evolving-cinderella

https://www.vox.com/2015/3/15/8214405/cinderella-fairy-tale-history

https://www.npr.org/2015/03/13/392358854/a-girl-a-shoe-a-prince-the-endlessly-evolving-cinderella

https://www.edenvalleyenterprises.org/blhrc/educational/cindtour/world.html

https://www.youtube.com/watch?v=3Wo6HHzhE58 
https://www.rotoscopers.com/2015/02/21/cinderella-what-makes-her-so-popular/

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ประภวิษณุ์ อินทร์ตุ่น

นักออกแบบสายแอมบิเวิร์ท ผู้หลงใหลธรรมชาติ เสียงเพลง ภูเขา งานอดิเรกคือ อ่านหนังสือ ปาร์ตี้ และของกิน