‘Bit.Playground’ สวนสนุกที่ใช้เทคโนโลยีเสกจินตนาการวัยเด็กให้เป็นจริง

Highlights

  • Bit.Playground คือสวนสนุกอินเทอแร็กทีฟสำหรับเด็กๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสบการณ์ให้กิจกรรมที่เด็กๆ ทุกเชื้อชาติคุ้นเคย เช่น บ่อบอล บ่อทราย ว่าว หรือตุ๊กตากระดาษ 
  • ภายในแบ่งเป็นฐาน 10 ฐานที่ไม่มีป้ายบอกวิธีเล่น 'ที่ถูกต้อง' เพื่อให้เด็กๆ ได้ลองผิดลองถูก ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเรียนรู้จากประสบการณ์ได้เต็มที่
  • เป้าหมายของ Bit.Playground คือการทำให้เด็กๆ ได้เกิดการเรียนรู้ทักษะต่างๆ และเปลี่ยนทัศนคติที่พ่อแม่มีต่อเทคโนโลยีว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีแค่แง่ร้าย เพราะถ้าใช้ให้ถูกวิธี สิ่งนี้จะมีประโยชน์ต่อเด็กๆ มาก

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ แต่ถ้าได้มา Bit.Playground สักครั้ง คุณน่าจะต้องอยากย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กแน่ๆ

ที่นี่คือสวนสนุกอินเทอแร็กทีฟใจกลางเมืองที่หยิบเอากิจกรรมของเด็กๆ มาใส่เทคโนโลยีเข้าไป บ่อบอล ว่าว ตุ๊กตากระดาษ หรือดินน้ำมันที่ Bit.Playground จึงอาจมีหน้าตาแปลกออกไปจากเวอร์ชั่นดั้งเดิมที่เราเคยเล่นสักหน่อย

พ่อแม่บางคนอาจคิดหนัก เพราะคำว่าเทคโนโลยีพาให้คิดถึงหน้าจอแท็บเล็ตที่หลายบ้านพยายามหลีกเลี่ยง แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้คือพวกเขาตั้งต้นคิดฐานต่างๆ จากกิจกรรมที่เด็กๆ โปรดปรานอยู่แล้ว ก่อนต่อยอดด้วยวิธีคิดละเอียดยิบเพื่ออัพเกรดความสนุก แถมยังช่วยเรื่องการเรียนรู้ และพัฒนาการรอบด้านของเด็กๆ อีกต่างหาก

แต่กว่าจะออกมาเป็นสวนสนุกอินเทอร์แร็กทีฟที่เด็กๆ กรี๊ดกร๊าดอย่างทุกวันนี้ พวกเขาต้องผ่านฐานอะไรมาบ้าง บุ๊น–เกียรติยศ พานิชปรีชา ผู้ก่อตั้ง Bit.Playground จะพาเราย้อนไปสำรวจเส้นทางกัน

ฐานที่ 1 : วิ่งตามความฝันของโปรแกรมเมอร์

ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน ความรักภาพยนตร์ทำให้บัณฑิตวิศวะฯ คอมพิวเตอร์อย่างบุ๊นลงทุนบินไปเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกอย่างเอาจริงเอาจัง จนได้มีชื่อในเอนด์เครดิตหนังฮอลลีวูดแบบเกินฝัน เพราะหนังเรื่องสุดท้ายที่เขามีส่วนร่วมก่อนกลับเมืองไทย คือ Gravity ซึ่งกวาดรางวัลจากเวทีออสการ์ไปถึง 7 รางวัล

“พอทำตามความฝันเรื่องภาพยนตร์ได้เราก็เลยกลับมาเมืองไทยเพื่อทำตามความฝันอันถัดไป​ คือเราอยากจะสร้างแหล่งเรียนรู้ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์โดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวเสริม เราเลยเปิดออฟฟิศเมื่อปี 2012 และใช้เวลา 6 ปีสร้างที่แห่งนี้ขึ้นมา

“เพราะเราเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ชอบงานอาร์ต เราเลยอยากให้งานครีเอทีฟ ศิลปะ และดีไซน์ เดินไปพร้อมเทคโนโลยีและงานโปรแกรมมิ่งได้ ที่ผ่านมา ในสายเทคโนโลยีมันไม่มีใครเอางานรีเสิร์ชยากๆ มาปรับใช้ เราเลยอยากจะเอาเทคโนโลยีที่ดูยากๆ มาแปลงให้เข้าถึงง่าย อยากเอาดีไซน์มาผนวกกับเทคโนโลยี

“ตอนเราไปทำงานที่ต่างประเทศ เราเห็นคนไทยเก่งๆ มากมายทำงานที่ Amazon, แอปเปิล, ไมโครซอฟต์, กูเกิล แต่เขามองว่ากลับมาเมืองไทยจะไม่มีงาน อย่างเราเองตอนกลับมาเรากะจะสมัครงานในบริษัทที่ทำงานประเภทนี้แต่มันไม่มี เราก็เลยคิดว่าถ้าไม่มีใครเริ่มนับหนึ่งให้ เราก็เป็นคนที่นับหนึ่งแล้วกัน เราก็เลยเปิดบริษัทนี้ขึ้นมาเพื่อรวบรวมคนเก่งๆ อีกหน่อย ใครเรียนจบสายเทคโนโลยีหรือไปทำงานเมืองนอกมา กลับมาเมืองไทยจะได้มีงานทำ”

ฐานที่ 2 : เลือกกลุ่มเป้าหมายที่จริงใจที่สุด

ที่ผ่านมา งานอินเทอแร็กทีฟของพวกเขามักจะไปปรากฏในอีเวนต์ (เช่น ครั้งหนึ่งที่พวกเขาสร้างระบบซึ่งสามารถแปลงเงาจากมือเราที่หน้าตาคล้ายสัตว์ชนิดต่างๆ ให้เป็นกราฟิกสัตว์ตัวนั้นที่กระโดดออกไปไปมีชีวิตในป่าใหญ่) และซุกซ่อนอยู่ในอุปกรณ์อินเทอแร็กทีฟในมิวเซียม อย่างนิทรรศรัตนโกสินทร์ พิพิธบางลำภู ฯลฯ​ รวมถึงยังส่งออกงาน Computational Art ไปยังเมืองนอกอีกด้วย แต่เมื่อเลือกจะเปิดอินเทอแร็กทีฟสเปซของตัวเองครั้งแรก พวกเขากลับเลือกทาร์เก็ตเป็นเด็กๆ เสียอย่างนั้น

“จริงๆ แล้วเราอยากทำงานกับทาร์เก็ตทุกกลุ่มเลย แต่เราเริ่มจากพ่อแม่และเด็กก่อนเพราะเวลาเราทำอะไรให้เด็กเล่น สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือเด็กไม่เคยโกหก เขารู้สึกยังไงเขาจะแสดงออกมาทันที ไม่มีฟิลเตอร์ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นทันทีว่าของชิ้นไหนเวิร์ก ของชิ้นไหนไม่เวิร์ก ทำให้เราพิสูจน์ได้ว่าของที่เราทำมันเวิร์กจริงๆ

“อีกอย่างเราเห็นว่าบนโลกนี้มันยังไม่ค่อยมีพื้นที่แบบนี้ เหมือนเครื่องมือปัจจุบัน เช่น ดินน้ำมัน ปั้นแล้วมันก็จบแค่นั้น แต่เราคิดว่าความเชี่ยวชาญของเราสามารถขยายประสบการณ์หรือการเรียนรู้เพิ่มจากกิจกรรมเหล่านั้นได้ คือกิจกรรมเดิมมันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเอามาเสริม เพิ่มจากสิ่งที่ของเหล่านั้นทำไม่ได้ เราคิดว่าเราน่าจะมอบประสบการณ์ได้มากกว่าของ physical ธรรมดา”

ฐานที่ 3 : หยิบกิจกรรมที่เด็กๆ รักมาต่อยอดด้วยเทคโนโลยี

จริงอยู่ที่ Bit.Playground คือพื้นที่ที่เน้นเทคโนโลยีอินเทอแร็กทีฟ แต่วิธีคิดตั้งต้นของพวกเขาไม่ใช่การเลือกเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดหรือล้ำที่สุดมาโชว์เคส แต่กลับเริ่มจากการย้อนไปคิดถึงกิจกรรมวัยเด็กที่ติดอยู่ในใจ ก่อนจะเลือกเทคโนโลยีมาต่อยอดให้เหมาะสม ฐานทั้งสิบด้านในสวนสนุกจึงมีหน้าตาแบบที่เห็นปุ๊บแล้วเข้าใจปั๊บว่ามีที่มาจากกิจกรรมอะไร

“แรกสุด เราเริ่มต้นคิดว่าเด็กอนุบาลถึงประถมหกเขาเรียนอะไรกันบ้าง ทำกิจกรรมอะไรบ้าง เพราะเราอยากเริ่มด้วยกิจกรรมที่เขาทำกันอยู่แล้ว แล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามาเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ตอนแรกสุดเราก็คิดว่าทักษะมันมีแค่เรื่องไอคิว แต่พอรีเสิร์ชเพิ่มเติมแล้วเราก็เจองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ Harvard ซึ่งบอกว่าความฉลาดไม่ได้มีแกนไอคิว แต่มีอยู่แปดแกนด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการเข้าสังคม เรื่องมิติและพื้นที่ เรื่องเกี่ยวกับภาษา เรื่องเกี่ยวกับเพลง เราก็เลยอยากแฝงการเรียนรู้ทักษะผ่านฐานโดยที่เด็กๆ ไม่รู้ตัว”

เพราะอย่างนี้ ถ้าพลิกเบื้องหลังของฐานทั้ง 10 ออกมาดู เราจะเห็นวิธีคิดที่พยายามทำให้การเรียนรู้และพัฒนาทักษะของเด็กๆ เป็นไปอย่างสนุกสนาน เช่น ฐานเหล่านี้ที่เราประทับใจเป็นพิเศษ

  • 3D Grand Prix : ใครเคยแต่งรถของเล่นทามิย่าต้องรักฐานนี้เพราะเราสามารถปั้นดินน้ำมันให้เป็นรถยนต์ทรงไหนก็ได้ที่เราชอบ (มีบางคนปั้นเป็นรูปเทพเจ้ามังกรจากดราก้อนบอล!) แล้วนำไปสแกนด้วยเครื่องสแกนสามมิติ เท่านี้ รถของเราก็เข้าไปอยู่ในจอ พร้อมแข่งกับคนอื่นๆ ได้ ที่น่าทึ่งคือรถจะวิ่งเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับดีไซน์ คือถ้ารถสูงและเทอะทะก็อาจวิ่งช้า ส่วนรถคันเล็กอาจวิ่งแซงหน้าได้ แต่ก็โดนชนตกไหล่ทางได้ง่ายๆ เหมือนกัน เท่านี้เด็กๆ ก็เข้าใจเรื่องกฎ aerodynamic แล้ว

  • Land&Sea : ตอนเด็กๆ เราต่างต้องเคยก่อทรายเป็นภูเขาสูงและขุดร่องแล้วสมมติว่าเป็นแม่น้ำกันทั้งนั้น แต่บ่อทรายอัจริยะนี้คือสิ่งที่ทำให้จินตนาการของเรามีชีวิต เพราะตรงไหนที่ทรายถมกันสูงๆ โปรเจกเตอร์ก็จะฉายภาพภูเขาเขียวชอุ่ม ส่วนทรายตรงไหนที่ถูกขุดจนลึก ภาพที่ปรากฏก็จะเป็นผืนน้ำเย็นฉ่ำ เพื่อให้เข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์ แถมเด็กๆ ยังสามารถวางชิปเพื่อสร้างสัตว์ให้เกิดบนบกและในน้ำได้อีกด้วย โดยสัตว์ที่ปรากฏขึ้นมาก็คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสภาพพื้นที่แบบนั้นจริงๆ ซะด้วย

  • Magical Kite : มองผ่านๆ นี่อาจเหมือนเป็นฐานวาดรูประบายสีว่าวธรรมดาๆ แต่เมื่อนำแผ่นกระดาษไปสแกนให้ว่าวของตัวเองเข้าไปอยู่ในจอแล้ว เด็กๆ สามารถเป่าลมเข้าอุปกรณ์เพื่อให้ว่าวของตัวเองขยับได้ ซึ่งว่าวจะลอยสูงหรือไม่ก็แล้วแต่แรงลมที่เป่าเข้าไปนั่นเอง เท่านี้ เด็กๆ ก็เล่นว่าวได้โดยไม่ต้องไปสนามหลวงแล้ว

ฐาน 4 : เปิดกว้างให้เด็กทุกเพศ ทุกภาษา

ถ้าสังเกตให้ดี ที่ Bit.Playground แห่งนี้ไม่มีป้ายบอกวิธีการเล่นเพื่อเปิดกว้างให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ (แต่จะมีสตาฟคอยสอนวิธีใช้อุปกรณ์อย่างใกล้ชิด) และไม่มีเครื่องเล่นที่บอกว่าเป็นของผู้หญิงหรือผู้ชาย บุ๊นบอกว่าเป็นความตั้งใจที่อยากให้เด็กๆ ไม่ว่าชาติไหน เพศอะไร ก็สนุกได้กับทุกฐานอย่างเท่าเทียม

“คอนเซปต์เราคือไม่มี instructions คือไม่มีถูก ไม่มีผิด เราอยากให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เต็มที่เลย อย่างฐาน Shadow Forest เราก็ไม่จำกัดว่าต้องทำมือแบบนี้เท่านั้นถึงจะเป็นสัตว์ เขาจะใช้มือ ใช้หัว ใช้แขนขา ใช้อุปกรณ์อะไรก็ได้ให้เงาหน้าตาคล้ายกับสัตว์ที่ต้องการมากที่สุด แล้วเครื่องของเราก็จะแปลงเงาเป็นสัตว์ตัวนั้นๆ เอง

“เราไม่ได้บอกว่าในนี้มีสัตว์กี่ประเภทเพราะอยากให้คนมาสำรวจเอง ก่อนหน้านี้เราเคยนำเทคโนโลยีนี้ไปจัด ก็มีคุณแม่พาลูกอุ้มตุ๊กตาหมามา ด้วยความที่เขาเด็กเลยยังทำมือเป็นเงาสัตว์ไม่เป็น เขาก็เลยยกตุ๊กตาหมาขึ้นมา แล้วเงาหมาของตุ๊กตาก็กลายเป็นหมาจริงๆ ที่วิ่งออกไป มันก็เป็น magical moment ของคนที่มาเล่นงานของเรา และกิจกรรมทั้งหมดเราดีไซน์ให้ผู้ปกครองเล่นกับลูก ดังนั้นสัตว์บางอย่างเด็กจะทำคนเดียวไม่ได้ อย่างเช่นช้าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะทำงวงให้ แล้วลูกทำหูหรือทำตัวช้าง มันถึงจะออกมาเป็นช้าง เพื่อให้พ่อ แม่ ลูกได้สัมพันธ์กัน”

นอกจากเรื่องความเปิดกว้างทางความคิด แต่ละฐานยังถูกออกแบบมาให้มีความ unisex ที่สุด แม้แต่ฐาน Live Puppet  ที่ให้เด็กๆ ออกแบบชุดที่อยากใส่ซึ่งได้ไอเดียมาจากการเล่นตุ๊กตากระดาษ​ ก็ยังเปิดกว้างให้เด็กผู้ชายมาเล่นได้​ แถมเด็กผู้ชายยังชอบเสียด้วย

“ฐาน live puppet ตอนแรกๆ จะมีเด็กผู้หญิงวิ่งเข้ามาก่อน แต่พอมีเด็กผู้ชายสักคนวาดชุดซูเปอร์ฮีโร่ก็กลายเป็นว่ามีเด็กผู้ชายมาวาดชุดเป็นแก๊งซูเปอร์ฮีโร่ แก๊งสัตว์ประหลาด จริงๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับว่าเด็กๆ สร้างสรรค์อะไรออกมาด้วยเพราะเด็กจะพยายามมองว่าคนอื่นทำยังไงแล้วก็จะทำตามหรือว่าทำเพิ่มเติมขึ้นไป มีการเรียนรู้เป็นกลุ่ม”

ฐาน 5 : ดีไซน์สเปซเพื่อประสบการณ์และความปลอดภัยของเด็ก

พ่อแม่ที่เดินเข้าไปใน Bit.Playground อาจรู้สึกตัวใหญ่ขึ้นมาอีกนิดเพราะทุกอย่างที่นี่ถูกออกแบบมาเพื่อเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไซส์มินิและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในระดับที่เด็กเอื้อมถึง แต่ที่บุ๊นคิดมากกว่าเรื่องขนาด คือเรื่องที่สำคัญกว่าอย่างความปลอดภัย

“เวลาเราทำของให้เด็ก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัย ในพื้นที่ของเราเราเอาปลั๊กไฟออกหมด ไม่เหลือให้เด็กเอานิ้วไปแหย่ได้อีกเลย สอง คือหลายคนถามว่าทำไมเราไม่กั้นห้องเพื่อทำให้สเปซมันดูใหญ่ขึ้น แต่เรามองว่ามันอันตรายสำหรับเด็ก เพราะพอเด็กมาถึงเขาก็จะวิ่งเล่น เราเลยลบเหลี่ยมมุมของห้องหมดเลย เฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดก็ลบมุมออกทั้งหมด”

นอกจากด้านในจะมีการออกแบบอย่างละเอียด ผนังฝั่งที่ติดกับตัวห้างยังผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วน โดยบุ๊นเลือกใช้ลูกบอลสีขาวร้อยเรียงเป็นกำแพง เมื่อลูกบอลขัดกันก็จะเกิดช่องว่างให้คนมาแอบดูข้างในได้แบบไม่หวง

“เราใช้ลูกบอลมาสื่อ ให้คนที่เดินผ่านเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ร้านขายของ คุณเข้ามาเล่นได้ ตรงนี้เราดีไซน์ด้วยว่าเวลาลูกบอลมันขัดกันมันจะเกิดช่องว่าง อันนี้เราตั้งใจให้คนมาแอบดูได้ จะได้เห็นว่าข้างในคืออะไร”

ฐานที่ 6 : เพราะเทคโนโลยีไม่ได้มีแค่หน้าจอ

สำหรับพ่อแม่บางคน เทคโนโลยีดูจะเป็นวายร้ายที่ต้องกำจัดให้ไกลจากตัวลูก แต่ฐานทั้งสิบของ Bit.Playground คล้ายจะบอกเราว่าเทคโนโลยีก็เป็นเพื่อนที่แสนดีได้ ขอแค่ใช้ให้ถูกวิธี

“ทุกอย่างมันก็เป็นดาบสองคม เราไม่อยากให้เหมารวมว่าเทคโนโลยีมันเป็นของไม่ดี แต่อยากให้คิดว่าเราจะเอาเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้มันดี กิจกรรมแต่ละฐานเราจะเน้นเรื่อง physical interaction หมด เแล้วใช้เทคโนโลยีเป็นแค่ตัวเสริมเอง ระหว่างที่เด็กเข้าไปเล่นเขาจะซึมซับโดยไม่รู้ตัวว่านี่คือเครื่อง 3D scanning มันทำงานอย่างนี้ ในอนาคตเขาจะได้เชื่อมโยงเทคโนโลยีที่เขาเห็นกับสิ่งที่เขาเคยสัมผัสที่นี่ เขาอาจจะมีไอเดียที่จะต่อยอดของพวกนี้ก็ได้ หรือมีไอเดียที่จะเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้ในอนาคตได้เหมือนกัน เราอยากจะเน้นสิ่งนี้และบอกว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีแค่จอ”

Bit.Playground ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้า EmQuartier ชั้น 2 โซน The Helix Quartier  เปิดให้บริการทุกวัน 10:00-22:00 น. ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม – 31 มกราคม 2562 ค่าเข้า 490 บาท / คน / รอบ เข้าได้รอบละ 1 ชั่วโมง

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก