จริงๆ แล้วผมอาจจะไม่ถึงขั้นโตมาในศาลเจ้าขนาดนั้นนะครับ เรียกว่าโตมากับการเข้าศาลเจ้าและคุ้นเคยกับประเพณีแบบจีนน่าจะถูกต้องกว่า
ครอบครัวฝั่งคุณแม่ผมเป็นชาวจีนไหหลำ คุณตาหรือก๋งของผมนั่งเรือสำเภาแบกเสือผืนหมอนใบตรงมาจากเกาะไหหลำ มาอยู่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ และได้สร้างครอบครัวเล็กๆ อยู่ที่นี่ ผมเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 รับเชื้อสายไหหลำมาจากฝั่งของคุณแม่
เมื่อพูดถึงจังหวัดนครสวรรค์ หลายคนคงรู้จักกันดีในเรื่องประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพหรือตรุษจีนนครสวรรค์ ดังนั้นเด็กนครสวรรค์มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์จึงผูกพันกับการไหว้เจ้า ดูแห่มังกร และความเป็นจีนไม่น้อย
จุดเริ่มต้นการเป็นเด็กศาลเจ้าของผม เริ่มต้นจากว่าทุกๆ ปี ทุกๆ เทศกาล ครอบครัวของเราจะหอบของไหว้ชุดใหญ่ไปไหว้เจ้ากัน ผมเติบโตมากับครอบครัวใหญ่ทั้งบ้านตัวเองและครอบครัวคุณป้าที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมผูกพันกับศาลเจ้าและประเพณีจีน เพราะคุณลุง (ผมเรียกท่านว่า ‘อาปา’ ที่แปลว่าพ่อ) ท่านเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่ค่อนข้างเป๊ะเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี และเป็นบุคคลสำคัญในสมาคมศาลเจ้าด้วย ท่านเป็นหนึ่งในผู้นำหลักที่บูรณะและก่อสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ เป็นคณะกรรมการจัดงานประจำปีของศาลเจ้าหรือที่เรียกกันว่า ‘เถ่านั้ง’ เป็นผู้บริจาคเงินและให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ในกิจกรรมของศาลเจ้า ผมคิดว่าผมซึมซับสิ่งเหล่านี้มาจากอาปาเยอะ เห็นท่านลงทั้งแรงทรัพย์และแรงกาย พาผมไปศาลเจ้าและสมาคมจีนบ่อยๆ และมักจะสอนผมเสมอว่า
“สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้อะไรกับเราเยอะ ทั้งเรื่องที่เราขอและไม่ได้ขอ นอกจากเทศกาลต่างๆ ที่เรานำของมาไหว้ท่านแล้ว เราต้องหาโอกาสนอกเหนือจากเทศกาลมาหาท่านบ้าง”
“อย่ามองว่าท่านเป็นเทพเจ้าเพียงอย่างเดียว ให้มองว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือด้วย เคารพท่านด้วยใจไม่ใช่หวังแต่ผลจากท่าน”
“อย่านำแต่เรื่องทุกข์ร้อนใจมาเล่าให้ท่านฟัง เวลามีความสุขก็ให้นึกถึงท่านบ้าง ท่านฟังแต่เรื่องทุกข์ใจของพวกเรามาเยอะ ให้อะไรดีๆ กับท่านบ้าง”
ประโยคเหล่านี้ทำให้ผมมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปศาลเจ้าและเดินเข้าเดินออกได้เหมือนไปบ้านญาติผู้ใหญ่ ผมเห็นพวกผู้ใหญ่เคารพและบูชาเทพเจ้าด้วยความรักและช่วยเหลือศาลเจ้าด้วยความศรัทธา ผมจึงมุ่งมั่นว่าหากมีโอกาส ผมจะต้องทำในสิ่งที่อาปาสอนผมให้ได้ แม้ว่าท่านจะจากผมไปตั้งแต่ผมอยู่ ป.4 แต่ผมก็สานต่อในสิ่งที่ท่านได้สอนผม และทำให้ผู้ใหญ่หลายท่านเอ่ยปากชมว่า “สมกับที่เกิดเป็นหลานของอาปา”
ย้อนไปตั้งแต่สมัยเด็ก ผมเป็นคนชอบเก็บรายละเอียด ถ้าหลงใหลหรือคลั่งไคล้อะไรมากๆ จะนั่งดูรายละเอียดของสิ่งนั้นทุกจุด ผมชอบเดินดูสถาปัตยกรรมจีน เสามังกร ภาพจิตรกรรม หลังคามังกรคู่ ตามวัดจีน ศาลเจ้า หรือพิพิธภัณฑ์ ชอบดูขบวนแห่เจ้า แห่มังกร ชอบวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและมีความหมายแบบจีน
สมัยนั้นผมยังไม่รู้จักการสเกตช์ภาพ ยังไม่มีกล้องถ่ายรูปเป็นของตัวเอง สิ่งที่ทำได้ก็คือบันทึกทุกอย่างลงหัวสมอง จำให้ได้มากที่สุด แล้วกลับมาวาดลงสมุดวาดรูปที่บ้าน วาดเหมือนเท่าที่จำมาได้บ้าง ใส่อินเนอร์ส่วนตัวลงไปบ้างปนๆ กันไป ที่น่าประทับใจอย่างหนึ่งก็คือถ้าใครได้ไปนครสวรรค์ ลองไปถามบ้านไหนดูก็ได้ว่า “มีอัลบั้มรูปถ่ายงานงิ้วไหม?” ผมมั่นใจว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทุกบ้านต้องมี เวลาผมไปบ้านเพื่อน หรือไปบ้านผู้ใหญ่ที่สนิท มุมโปรดของผมก็จะเป็นมุมที่เขาเก็บรูปนี่แหละ นั่งดูแต่รูปงานแห่เจ้า สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ ประกอบกันเป็นตัวผม
ผมเริ่มมีบทบาทในเส้นทางนี้จริงจังตอนเรียนปี 1 ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองพร้อมที่จะเข้าไปช่วยงานสังคมส่วนรวม ประสบการณ์ต่างๆ ที่เก็บเล็กผสมน้อยมาตั้งแต่เด็กๆ เริ่มอยากปลดปล่อยออกมาให้ทั้งตัวเองและคนอื่นๆ ได้เห็นแล้ว
ผลงานชิ้นแรกของผมเริ่มต้นจากการเป็นคนสังเกตนั่นแหละครับ ผมเห็นว่าเกี้ยวที่ประทับของเทพเจ้าเริ่มเก่า การเก็บรักษาก็ไม่ดี งานศิลป์ที่ประดับตกแต่งก็ดูไม่อ่อนช้อย ผมวางแผนอยู่หลายเดือน เก็บเงินส่วนตัวอยู่ประมาณ 4 – 5 พันบาท เพื่อจะมาบูรณะเกี้ยวแห่เจ้า 2 หลัง ด้วยความคิดเด็กๆ ที่คิดแค่ว่าใช้ของง่ายๆ หาซื้อได้ตามร้านขายศาลเจ้า สีที่ใช้ทาเป็นสีอะไรก็ได้ แค่นั้นก็พอ ผมปรึกษาคุณแม่ และให้คุณแม่ลองประสานงานกับผู้ใหญ่ดู จนในที่สุดเรื่องของผมก็ถูกเสนอเข้าที่ประชุม ผมเตรียมแผนการนำเสนอ พรินต์รูปติดบอร์ดอย่างดีแล้วพูดนำเสนออย่างมั่นใจ โชคดีมากๆ ที่ในปีนั้นผู้ใหญ่หลายท่านเป็นผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยกับครอบครัวผมและเห็นความตั้งใจในสิ่งที่ผมกำลังจะทำ จึงอนุญาตให้ผมทำได้โดยงบประมาณทั้งหมดคณะกรรมการจะเป็นผู้สนับสนุนให้
อุปกรณ์คู่ใจของผมในช่วงนั้นเลยมีตั้งแต่สมุดสเกตช์ ดินสอ ตลับเมตร ไม้บรรทัด สีสำหรับงานสเกตช์ นึกอะไรได้ก็จดลงสมุด อยากเห็นภาพว่าขนาดจะเป็นยังไงก็ดึงตลับเมตรออกมา บางครั้งก็ทำในคลาสเรียนเลย (เพราะกลัวไม่ทัน) อาจารย์ก็ออกจะงงๆ ว่าเรียนวิชาสังคมเอาตลับเมตรออกมาทำไม
หลังจากนั้นผมจึงนั่งวางแผนการทำงานใหม่ ในเมื่อมีงบสนับสนุน สิ่งของทุกอย่างที่จะนำมาทำต้องดีขึ้น ทนทานและสวยงามขึ้น เริ่มตั้งแต่หาซัพพลายเออร์แกะสลักไม้เพื่อนำมาตกแต่งเกี้ยว หาซัพพลายเออร์ที่รับวาดภาพฝาผนังศาลเจ้าและอื่นๆ อีกมากมาย จากเงินเก็บก้อนเล็กๆ แค่ 4 – 5 พันบาทกับความคิดง่ายๆ ว่าเอาอะไรมาทำก็ได้ กลายเป็นของตกแต่งไม้สักทองแกะสลักและปิดทองคำแท้อย่างดี ทาด้วยสีที่ผลิตเพื่องานศาลเจ้าโดยเฉพาะส่งตรงจากประเทศจีน ส่วนผลงานประติมากรรมก็เกิดจากฝีมือช่างศิลป์ที่ละเอียดอ่อน สรุปค่าใช้จ่ายบูรณะเกี้ยว 2 หลังครั้งนั้นอยู่ที่ประมาณหนึ่งแสนกว่าบาท เป็นผลงานที่ผมภูมิใจมากๆ เมื่อมองย้อนกลับไปก็ไม่คิดว่าเด็กผู้ชายปี 1 คนนั้นจะมีพลังเหลือเฟือในการทำอะไรที่ใหญ่โตได้ขนาดนี้
ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ได้รับโอกาสดีๆ ในการทำงานให้ศาลเจ้าตามมาอีกมากมาย ผมเป็นผู้ริเริ่มประเพณีการเปลี่ยนเครื่องทรงเทพเจ้า ซึ่งไอเดียนี้เกิดจากการที่ผมไปไหว้เจ้าตามศาลเจ้าต่างๆ แล้วเห็นว่าเทพเจ้ามีเครื่องทรง น่าจะนำมาทำกับเทพเจ้าที่อำเภอเราบ้าง ผมหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตจนรู้ว่าชื่อทางการของชุดนี้เรียกว่า ‘ชุดกิมซิ้น’ ประกอบด้วยชุดคลุมและหมวก เจอร้านที่นำเข้าชุดจากไต้หวัน เป็นงานเกรด AA แรกๆก็ซื้อชุดสำเร็จรูปมาใช้ จนปีหลังๆ ผมก็ตกแต่งเพิ่มไปจนถึงตัดเย็บเอง กลายเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลายคนถามว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมด…ผมได้อะไร ผมรวยขึ้นมั้ย หน้าที่การงานดีขึ้นหรือเปล่า ชีวิตโดยรวมผมเป็นอย่างไร
ชีวิตโดยรวมของผมก็ยังสุขบ้างทุกข์บ้างสลับกันไปเป็นเรื่องปกติ ผมเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเอง
แล้วถ้าผมไม่ได้หวังให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมเข้ามาทำตรงนี้ทำไม
ผมก็ไม่รู้ ตอนทำผมไม่รู้เลยว่าจะขอพรอะไร ผมรู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ผมทำทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดีต่อส่วนรวม เป็นสิ่งที่ดีต่อองค์กร เป็นสิ่งที่ดีครอบครัวและเป็นสิ่งที่ดีต่อจิตใจของผม
ผมเชื่อเสมอว่า “เพราะเราคือคนที่ถูกเลือกไว้แล้ว”