เป็นคนตลกต้องชงมุข เป็นชาวเก๋ต้องชงกาแฟดริป แต่ถ้าเป็นลูกคนจีนต้อง ‘แก้ชง’
คนไทยมีความเชื่อเรื่องเบญจเพส คนจีนมีความเชื่อเรื่องปีชง ปีชงกับเบญจเพสเหมือนกันตรงที่มันยิ้มเยาะหัวเราะหึบอกเราว่า “ปีนี้เอ็งเตรียมเจอความซวยได้เลย ข้ารอเอ็งอยู่” แต่ที่ต่างกันคือคนไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมรองรับความอาจจะซวยของชีวิตที่ชัดเจน ขณะที่คนจีนเขาคิดมาแล้วว่าจั่งซี้มันต้องถอน!
ประเทศไทยมีประชากรไทยเชื้อสายจีนอยู่มากกว่า 8 ล้านคน คำนวณเล่นว่าน่าจะมีจำนวน ‘ประชาชง’ หลายล้านคนต่อปี การล้างซวยล่วงหน้าด้วยพิธีกรรมแก้ชงจึงเป็นที่รู้จักและแพร่กระจายประชากรไทยเชื้อสายจีนไปสู่เชื้อสายอื่นอย่างว่องไว แถมนิสัยคนไทยยังเป็นพวกขี้ตามกระแส อะไรที่คิดว่าทำแล้วดี ทำแล้วช่วยให้พ้นเคราะห์ได้ก็ทำหมด ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแก้ชงเลยติดอันดับป๊อปคัลเจอร์ของคนไทยแทบทุกเชื้อสาย แมสและติดตลาดยิ่งกว่าวัฒนธรรมการชงกาแฟดริป
ในฐานะลูกสาวคนจีนที่รู้จัก verb to ชง มาตั้งแต่อายุ 13 ตามติดหม่าม้าจนค้นพบความสนุกของการแก้ชง (รู้สึกราวกับกำลังเล่นไฟนอลแฟนตาซีผสม T25) ประกอบกับอยากเปิดปฐมบทของคอลัมน์ด้วยความไม่โชคร้าย จึงเขียนถึงความสนุกในการแก้ชงเป็นเรื่องแรก เพื่อเป็นการแก้ชงให้ตัวเองมา ณ ที่นี้
ปูยืดยาวหลายบรรทัด ชงสักทีเถอะ
สูตร 1: คิดเสียว่าการชงนั้นเฉกเช่นงานศิลปะที่จัดแบบ Triannale
คนเราเบญจเพสได้เพียงครั้งเดียวในชีวิต แต่วาระของปีชงนั้นเกิดได้ทุก 3 ปีราวกับจัดงานศิลปะ
ถ้าลองเสิร์ชดูตารางปีชง อาจจะงงว่าทำไมปีหนึ่งถึงมีปีที่ชงมากกว่าหนึ่ง ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความหมายของคำว่า ชง ในภาษาจีนหมายถึงการปะทะหรือชน ส่วนความเชื่อเรื่องการชงนั้นมาจากลัทธิเต๋าที่เชื่อว่าสรรพสิ่งอันประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง จะมีความสัมพันธ์ต่อกันทั้งในแง่ดีและทำลายล้าง เช่น ไฟทำลายไม้ แต่ก็ถูกทำลายได้ด้วยน้ำ ดังนั้น ปีนักษัตรทั้ง 12 (ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน) ก็มีปีที่เป็นขั้วตรงข้ามของตัวเองซึ่งเรียกว่าปีชง ถ้าวาดเป็นแผนภาพวงกลมแล้วลากเส้นตรงข้ามก็จะร้องอ๋อว่า ปีขั้วตรงข้ามก็คือปีนักษัตรที่ห่างกัน 6 ปี (ครึ่งหนึ่งของ 12) นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ปีนี้ (พ.ศ. 2559) คือปีลิงหรือวอก ขั้วตรงข้ามของปีวอกก็คือปีขาล คนที่เจอปีชงในปีนี้คือคนที่เกิดปีขาล แต่นอกจากปีชงหลักก็ยังจะมีปีชงร่วม ซึ่งแปลว่าอาจจะซวยเหมือนกันแต่ในระดับที่น้อยกว่า ซึ่งได้แก่ ปีนักษัตรนั้นเอง (คนจีนเรียกว่า ปีคัก) ก็คือปีวอก ปีที่นับจากปีที่ชงไปอีก 3 (คนจีนเรียกว่า ปีเฮ้ง) คือปีมะเส็ง และปีตรงข้ามของปีนั้น (คนจีนเรียกว่า ปีผั่ว) คือปีกุน สรุปง่ายๆ ว่าคนหนึ่งคนจะมีโอกาสเจอปีชงได้ทุก 3 ปีนั่นแหละ
ถ้ามองจากมุมคนทั่วไปคงสบถว่า โอ๊ย ปีหนึ่งจะมีคนชงคนซวยคนทุกข์อะไรกันมากมาย แต่ถ้ามองโลกอย่างศิลปินผู้ครุ่นคิดเรื่องชีวิต เราจะรู้จักแปรรูปความทุกข์และความซวยของชีวิตให้เป็นงานศิลปะชั้นเลิศ เมื่อปีชงเวียนมาอีกครั้งก็จะรู้สึกราวกับได้เป็นส่วนหนึ่งของวาระสำคัญประจำ 3 ปีที่จะได้สร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลก นั่นก็คือการแก้ชง ไม่ลืมที่จะชักชวนป่าป๊า หม่าม้า อากง อาม่า และเพื่อนผอง ไปแก้ชงด้วยกันอย่างอบอุ่นราวกับปาร์ตี้เปิดตัวงานศิลปะ โอ้ ชีวิตช่างมีความหมาย
สูตร 2: คิดเสียว่าวัดเล่งเน่ยยี่ก็คือชงเซลิเซ
ชงแล้วไปไหน เพื่อความสบายใจของตนก็ต้องไปแก้ชงด้วยการไหว้เทพเจ้าที่คุ้มครองดวงชะตาของมนุษย์ หรือที่คนจีนเรียกว่า ไท้ส่วยเอี๊ยะ ความคิดเบื้องต้นของคนทั่วไปคือการต้องไปเบียดเสียดต่อสู้กับผู้คนมหาศาล (รวมทั้งธูปหลายสิบดอกในกำมือของพวกเขา) ในวัดจีนที่มีควันโขมงราวกับทะเลหมอกที่ภูชี้ฟ้า เราคิดแบบนั้นโดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นความคิดที่ตื้นเขินเสียเหลือเกิน เพราะศักยภาพของวัดจีนที่เป็นอันดับหนึ่งแห่งการแก้ชงอย่างวัดเล่งเน่ยยี่ ถนนมังกร ย่านเยาวราช นั้นเป็นได้มากกว่าวัดดาษดื่นธรรมดา แต่เทียบได้กับถนนชื่อดังอย่างช็องเซลิเซที่ปารีส!
ถ้าช็องเซลิเซคือถนนสวยงามอันอุดมด้วยร้านรวงที่คนใฝ่ฝันไปท่องเที่ยวและทำเงินให้ฝรั่งเศสได้มหาศาล แล้วเยาวราชของเราทำไมจะสู้ไม่ได้ ถ้าตัดความเชื่อเชิงวัฒนธรรมและมองกันใหม่ในเชิงพาณิชย์ เยาวราชซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเล่งเน่ยยี่ก็คือ ‘ชงเซลิเซ’ ดีๆ นี่เอง มีซุ้มประตูวัดที่เทียบได้กับซุ้มประตูจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล ร้านค้าโดยรอบเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวัฒนธรรมการไหว้เจ้าแก้ชง มีการจัดชุดไหว้ขายให้คนมาแก้ชงแบบเสร็จสรรพ เทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะของที่นี่ก็ศักดิ์สิทธิ์และดึงดูดนักท่องเที่ยว ทำรายได้และเม็ดเงินที่มหาศาล การไปแก้ชงของเราจึงไม่ได้แค่ซื้อความสบายใจส่วนตัว แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รู้สึกมีคุณค่าในรูปแบบที่วัดเป็นมูลค่าแน่นอนได้ ว่อ ไม่ธรรมดานะคะ
ปัจจุบัน ชงเซลิเซเริ่มกระจายตัวไปยังวัดจีนตามหัวเมืองจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัดเล่งเน่ยยี่สาขา 2 ย่านบางบัวทอง วัดเล่งฮกยี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศาลเจ้าไต้ฮงกง จังหวัดสมุทรปราการ วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี เหล่านี้เป็นต้น เพื่อแบ่งเบาความแออัดควันโขมง
สูตร 3: คิดเสียว่าขั้นตอนแก้ชงประหนึ่งการเล่นเกมตะลุยด่านแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ
ที่บอกว่าเหมือนไฟนอลแฟนตาซีผสม T25 มันเป็นอย่างนี้
ขั้นตอนของเกมแก้ชงเหมือนเกมตะลุยด่านเท่ๆ อย่างไฟนอลแฟนตาซี ด่านแรกของเกมคือการแลกอาวุธมาใช้ อาวุธของการแก้ชงคือชุดอั่งเถียบ แลกมาด้วยราคา 100 บาท หน้าตาเป็นกระดาษสีแดงที่มีตัวอักษรจีนพับหลายทบคู่กับกระดาษเงินกระดาษทอง สิ่งแรกที่เราต้องทำคือคลี่มันออกมากรอกข้อมูลส่วนตัวที่มีทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและอังกฤษให้เลือก ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เวลาตกฟาก โดยมีสูตรลัดสำหรับช่องไหนที่ไม่รู้จริงๆ (เช่น ลืมถามเวลาตกฟากจากแม่) ให้เขียนลงไปว่า ‘ดี’
ด่านต่อมาคือนำกระดาษอั่งเถียบทั้งชุดไปอธิษฐานต่อหน้าเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะ แล้วก็ถึงจุดที่ต้องใช้ทักษะในการเคลื่อนไหวของแต่ละคนราวกับเล่น T25 นั่นก็คือการ ‘ปัดตัว’ หลักการคือต้องยกมือปัดตัวจากบนลงล่างออกไปนอกตัว จะตามเข็มหรือทวนเข็มนาฬิกาก็ได้ ทั้งหมด 12 ครั้ง มีทริกเล็กน้อยว่าเวลาคนอื่นปัดตัวอยู่ห้ามไปเดินผ่านหน้าเขา ไม่งั้นเราอาจจะรับเอาความซวยที่เขาปัดออกมาแทน นอกจากจะใช้ทักษะและกล้ามเนื้อแขนที่แข็งแรง ยังต้องช่างสังเกตและรู้จักหลบหลีกชาวบ้านอีกด้วย ปัดตัวเสร็จนี่ทำเอาเหงื่อตกไม่แพ้เล่นยิมเลย
ด่านสุดท้ายคือขั้นตอนของทางวัดที่จะรับเอาชุดอั่งเถียบของเราไปเก็บ เพื่อเตรียมไปเข้ากระบวนการสวดมนต์เพื่อให้โชคดีต่อไป เป็นอันจบสิ้นเกมแก้ชง ทั้งหมดอาจฟังดูไม่เห็นสนุกตรงไหน แต่อยากให้ลองนึกภาพคนหลายๆ คนยืนปัดตัวพร้อมกัน เชื่อเถอะว่าคุณจะค้นพบความสนุกได้ไม่ยาก
สูตร 4: คิดเสียว่าศิลปะการแก้ชงไม่ต่างอะไรกับการชงมุข โปรดมีรสนิยม
ปีชงมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกใช้ชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน สุขภาพ ความรัก หลายคนที่เจอปีชงมักจะไม่นิยมทำกิจกรรมอันเป็นมงคลทั้งหลาย ไม่แต่งงานหรือเริ่มต้นชีวิตคู่ ไม่ลงทุนทำกิจการใหม่ๆ เพราะเชื่อว่าจังหวะชีวิตของคนที่เกิดปีชงนั้นทำอะไรก็จะมีอุปสรรคและปัญหา จึงเกิดพิธีกรรมแก้ชงที่ทำเพื่อความสบายใจ ไม่อย่างนั้นชีวิตก็คงไม่เป็นอันทำอะไรในทุกๆ 3 ปีแน่นอน
แต่ตามหลักโหราศาสตร์จีนดั้งเดิมนั้นมีรสนิยมที่ฟังดูดีกว่าความเชื่อของคนยุคนี้ ในอดีตนั้นไม่ได้แก้ชงด้วยวิธีการเสียเงินทำบุญปัดตัวแบบเบ็ดเสร็จ อย่างมากก็แค่ออกไปทำบุญเล็กน้อย เพราะกุศโลบายของปีชงที่แท้จริงนั้นไม่ต่างกับเบญจเพสของไทย คือการเตือนใจให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ หากเกิดเรื่องเลวร้ายขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะมาในปีชงหรือไม่ชง เราก็จะได้รับมือกับปัญหาและความทุกข์ได้ด้วยสติ
ไม่มีใครอยากเจอเรื่องโชคร้าย เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครอยากชงมุขเละเทะไม่เป็นท่า ฉะนั้น ไม่ว่าจะปีชงหรือชงมุขล้วนต้องใช้รสนิยมและวิจารณญาณ อย่าสักแต่ว่าชงหรือแก้ชง แต่ต้องคิดก่อนชงด้วย ไม่งั้นแป้ก! แนะนำให้ไปชงกาแฟดริปน่าจะดีกว่า
ที่เขียนเรื่องชงๆ มาทั้งหมดก็แค่อยากปู ชง ตบ เท่านี้แหละ เขินจัง