แม้จะเป็นที่คุ้นเคยในฐานะผู้บุกเบิกคราฟต์เบียร์ในเชียงใหม่ผ่านแบรนด์ My BEER Friend แต่ถ้าคุณยังไม่รู้จักเขาและลองไปเสิร์ชชื่อของ ธีรวุฒิ แก้วฟอง คุณจะพบว่าชายผู้นี้ยังเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทำงานอยู่ศาลากลางเชียงใหม่ และเป็นผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของรองผู้ว่าฯ ตกเมื่อปลายปีที่แล้ว
แน่นอน การรอดชีวิตจากเฮลิคอปเตอร์ตกไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไร กระนั้นเมื่อพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจซึ่งกำลังขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ จากแง่มุมของตัวเองในปัจจุบัน ชื่อแรกที่ผมนึกถึงคือ ‘พี่เหมา’ ชายวัย 44 ที่ทุกคนจดจำจากบุคลิกความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่ม เป็นมิตร เปิดกว้าง ตรงไปตรงมา และมีอารมณ์ขัน
เหมาเกิดที่อำเภอสันกำแพง จบปริญญาตรีและโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มรับราชการอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องมา 20 ปี ทั้งนี้เมื่อราว 8 ปีที่แล้วเขาเริ่มทำธุรกิจต้มเหล้าในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนที่บ้านเกิด ก่อนจะขยับขยายไปทำคราฟต์เบียร์เป็นเจ้าแรกของเมือง ต่อยอดสู่แบรนด์อันเข้มแข็ง และสร้างแฟรนไชส์ที่มีเฉพาะแค่ในเชียงใหม่จนเป็นเอกลักษณ์
ยังไงก็ดี บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เราไม่ได้คุยกันเรื่องของมึนเมา เช่นเดียวกับเรื่องสถานะข้าราชการระดับซีเนียร์ของเขา เพราะล่าสุดหลังจากที่เหมากับเพื่อนก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อ ‘เชียงใหม่กว่า’ เขากำลังจะโบกมือลางานการอันมั่นคงที่เลี้ยงชีวิตมาตั้งแต่เรียนจบ เพื่อลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในนามกลุ่มที่ว่านี้
นอกจากเคยได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานเชียร์สมัยเรียนมัธยม เหมาก็ไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองในความหมายของการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการมาก่อน–เขาไม่ใช่ทายาทของตระกูลที่ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น และแน่นอน ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใหญ่ที่มีฐานเสียงอย่างเฟื่องฟูในเมืองเชียงใหม่ ใครได้ยินก็อาจสงสัยว่าเขาเอาความมั่นใจมาจากไหน
ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวทางประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงการที่คนเชียงใหม่อยู่กับนายกเทศมนตรีคนเดิมมาถึง 12 ปีแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นปลายเดือนมีนาคมนี้ช่างน่าสนใจ
ทั้งๆ ที่งานราชการและธุรกิจคุณก็ไปได้ดีอยู่แล้ว อะไรทำให้คุณตัดสินใจทิ้งทั้งสองอย่างมาเล่นการเมือง
เราสนใจการเมืองในแง่ของเครื่องมือพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว ที่เลือกทำงานราชการก็เพราะเชื่อว่าบทบาทของเรามีส่วนในการยกระดับเมืองและประเทศได้ พอทำงานไปได้สักพักก็พบว่าอาชีพข้าราชการคือการทำงานตามนโยบายและระบบที่มีอยู่ ซึ่งกับสิ่งที่เราคิดไว้มันอาจทำได้จริงก็ต่อเมื่อเราเติบโตจนเป็นข้าราชการระดับสูงแล้ว แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเราอยู่ตรงจุดนั้นตอนอายุห้าสิบกว่าๆ เราจะยังมีความคิดเหมือนเดิมหรือจะยังมีไฟอยู่ไหม ก็พอดีว่าได้ไปรู้จักกับเพื่อนๆ และเครือข่ายที่สนใจในประเด็นการพัฒนาเมือง นั่นเป็นช่วงก่อนหน้าที่จะมีการประกาศรับสมัครนายกเทศมนตรีไม่นาน เราก็เลยคุยว่าถ้าอย่างนั้นลองกันไหม
กลุ่ม ‘เชียงใหม่กว่า’ เกิดขึ้นได้ยังไง
เกิดจากการคุยกันในร้านเบียร์ของเรานี่แหละ เริ่มจากเรารู้จักน้ำตาล (ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร) จากการเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนปริญญาโทด้วยกัน น้ำตาลเป็นแอ็กทิวิสต์ที่ทำงานกับโครงการและกลุ่มต่างๆ ของเชียงใหม่อยู่เดิม ด้วยความที่เราเป็นคนสนใจสังคมการเมืองอยู่แล้ว น้ำตาลจึงมักเอาประเด็นเกี่ยวกับเมืองมาแลกเปลี่ยนที่ร้านบ่อยๆ จากที่คุยกันสนุกๆ ก็เริ่มชวนคนที่ทำงานในแวดวงต่างๆ มาร่วมถกเถียงกันด้วย เพื่อนคนนั้นชวนเพื่อนคนนี้มา ไปๆ มาๆ ก็ได้กลุ่มที่คุยกันเป็นประจำคือเรา น้ำตาล บอย (กิตติคุณ พูลสวัสดิ์) ฟ้า (ณัฐวดี ยืนธรรม) และแป้ง (อาคิรา ศิริวัฒนานุกุล)
พวกเราต่างเห็นตรงกันว่าเชียงใหม่มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง มีบุคลากรในด้านต่างๆ พร้อมหมดแล้ว ครอบคลุมตั้งแต่การอนุรักษ์พัฒนา ไปจนถึงในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ในภาพรวมของเมืองกลับไม่ได้มีพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนกับถูกแช่แข็งมาหลายปี เลยคิดว่าถ้าเรามีกลุ่มที่ประสานการทำงานของภาคประชาสังคมเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อทำให้ผลประโยชน์ทั้งหมดไปตกอยู่ที่เมืองอย่างทั่วถึงน่าจะเป็นการดี เพียงแต่สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดซึ่งกระบวนการทางการเมือง เราเลยตั้งกลุ่ม ‘เชียงใหม่กว่า’ ขึ้นมาในฐานะกลุ่มการเมืองโดยตรง มี agenda ในการแสวงหานโยบายที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม NGO และเครือข่ายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเมืองร่วมกัน
หัวใจสำคัญคือเรามองตรงกันว่าทุกวันนี้เชียงใหม่เป็นเมืองที่ดีอยู่แล้ว มันน่าอยู่จะตาย ไม่งั้นเราคงไม่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ที่นี่กันหรอก เราตั้งชื่อกลุ่มว่า ‘เชียงใหม่กว่า’ ด้วยแนวคิดพื้นฐานเลยคือ เราสามารถทำให้เมืองมันดีกว่าที่คิดได้
คุณมองเห็นปัญหาอะไรในเมืองเชียงใหม่บ้าง
เราทำทีมสำรวจความเห็นของชาวบ้านในเขตเทศบาลไว้แล้ว ซึ่งพบว่าทีมของเราต่างเห็นปัญหาไม่ต่างจากที่คนในชุมชนเห็นเลย เรามองว่าการพัฒนาเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาให้มูลค่ากับคุณค่าที่ไม่สมดุลกัน โดยเฉพาะกับการประเมินผ่านเม็ดเงินที่มาจากรายได้ของการท่องเที่ยว นั่นทำให้ทุกภาคส่วนทุ่มสรรพกำลังทุกอย่างเพื่อหาวิธีเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่ก็อย่างที่เห็นกันว่าพอโควิด-19 มาแล้วการท่องเที่ยวพัง เศรษฐกิจของเมืองมันไปต่อไม่ได้
เรามองเรื่องการสร้างสมดุลตรงนี้คือธุรกิจการท่องเที่ยวก็สำคัญ แต่คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของคนในชุมชนก็สำคัญไม่แพ้กัน ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวมากกว่าการคำนึงถึงวิถีของผู้คนในเมืองว่าเขาจะอยู่กันยังไง เรายอมที่จะให้รถทัวร์ขนส่งนักท่องเที่ยวมาจอดขวางหนึ่งช่องทางจราจรในเขตเมืองเก่า เรายอมให้มีตึกหน้าตาประหลาดๆ ขึ้นมาในเมืองเต็มไปหมด เรายอมให้ร้านเหล้าเปิดดึกๆ ดื่นๆ โดยไม่สนใจว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่เขาจะหลับจะนอนได้ไหม ทุกอย่างในเมืองมันเชื่อมโยงกันหมด การจราจร มลภาวะ ทัศนวิสัย และอื่นๆ นักท่องเที่ยวน่ะเขามาแล้วก็ไป แต่กับคนที่อยู่จริงๆ ล่ะ เขามีความสุขหรือเปล่า แล้วเราจะสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในชุมชนเองได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ ซึ่งด้วยงบประมาณหรือทรัพยากรที่เรามีอยู่มันทำได้ มันอยู่ที่การวางนโยบายและการบริหารจัดการเลย
คนส่วนใหญ่มักคิดว่านายกเทศมนตรีก็ไม่ต่างจากพนักงานราชการตำแหน่งอื่นๆ คือไม่ว่าจะเป็นใคร สุดท้ายก็มาทำหน้าที่ที่ถูกวางไว้แล้วเหมือนๆ กัน คุณมองเรื่องนี้ยังไง
งานเทศบาลคือการทำให้เมืองมันขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการดูแลภูมิทัศน์ ทางเท้า หรือเก็บขยะ รวมไปถึงงานด้านส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นเรื่องจริงว่าใครทำก็ได้ เพราะใครได้เป็นนายกเทศมนตรีก็ต้องทำตามข้อกำหนดที่มี ไม่งั้นเมืองมันก็คงไม่รอดมาถึงทุกวันนี้หรอก แต่อย่างที่บอก สิ่งสำคัญคือเราจะมีวิธีจัดสรรยังไงให้มีประสิทธิภาพหรือตอบโจทย์กับผู้คนในเมืองมากที่สุด
ยกตัวอย่างเรื่องการจัดการขยะ ทุกวันนี้ขยะในเมืองเราไม่ล้น แต่ลองมาดูงบประมาณที่เทศบาลต้องใช้กับกระบวนการนี้ ซึ่งมันเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดต่อปี ปีหนึ่งเทศบาลมีงบ 1,600 ล้านบาท ใช้ไป 270 ล้านในการจัดเก็บและนำขยะไปกำจัด ทีนี้เรามาลองดูกันว่าถ้าเราหาวิธีลดงบให้มากกว่านี้ได้ไหม อาจจะลดจากงบเดิมลงมาสัก 10 เปอร์เซ็นต์ เราก็จะมีเงินเหลืออยู่ที่ 27 ล้านบาท ซึ่งมันเอาไปใช้อะไรได้อีกตั้งเยอะ แต่ถ้าทำแบบนั้นแล้วเราก็ต้องมาดูกันว่าจะหาวิธีลดปริมาณขยะได้ไหม เราแยกขยะหรือรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมได้หรือเปล่า
อย่างที่บอก หลักการของเราคือต่อยอดจากทุนที่มี จัดสรรให้มีประสิทธิภาพ พิจารณากันว่าโครงการใดบ้างที่เราลงทุนกับมันมากไป ลดเพื่อเอามาเพิ่มกับโครงการอื่นได้ไหม นอกจากการท่องเที่ยวแล้วเราเคยคำนึงไหมว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลมันเพียงพอหรือยัง แล้วคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนในเขตเทศบาลมันได้มาตรฐานหรือไม่ เราจะรับมือกับปัญหาฝุ่นควันเรื้อรังยังไงที่ไม่ใช่แค่การฉีดน้ำ หรือเราดูแลสวัสดิภาพของคนในบ้านเราดีและครอบคลุมหรือยัง
ถ้าเกิดคุณได้รับเลือกจริงๆ มองว่าในระยะยาว แผนการของคุณจะขัดแย้งกับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวไหม
เราว่าไม่นะ ที่ผ่านมานี้เชียงใหม่พัฒนาโดยภาคเอกชนซึ่งรวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว ฝ่ายราชการชอบคิดว่าตัวเองเป็นผู้นำ แต่ไม่ใช่เลย สิ่งที่ราชการทำได้ดีคือการเป็นแบ็กให้ภาคเอกชน เราช่วยเขาได้ด้วยการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนหรือเงื่อนไขที่ยุ่งยาก เราสามารถสร้างระบบนิเวศ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเมืองเพื่อเอื้อต่อการท่องเที่ยวได้ ซึ่งสภาวะที่ว่ามันอาจไม่ใช่การจัดมหกรรมใหญ่โตเอิกเกริกก็เป็นได้ แค่ทำให้เมืองมันพร้อม การสัญจรคล่องตัว การค้าขายดี สะอาดและสวยงาม เราอย่าไปคิดว่าการท่องเที่ยวมันต้องมีมิติเดียว การทำให้เมืองน่าอยู่ก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวไปพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมืองได้เช่นกัน
สองสามวันก่อนหลังจากที่เทศบาลนครเชียงใหม่ชุดปัจจุบันปิดป้ายประกาศห้ามให้คนเล่นสเก็ตบอร์ดบริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ด้วยเหตุผลเรื่องความเสียหายของพื้นที่จนเกิดเป็นดราม่าเล็กๆ ขึ้น และวันต่อมาคุณก็ถ่ายรูปเล่นสเก็ตในเมือง พร้อมตั้งคำถามถึงประเด็นพื้นที่สาธารณะลงในเพจของกลุ่ม อยากรู้ว่าถ้าลองสลับมุมให้คุณเป็นฝ่ายเทศบาลในเหตุการณ์นี้ คุณจะรับมือกับเรื่องนี้ยังไง
เราเป็นข้าราชการอยู่แล้ว และก็รู้ระเบียบดี เข้าใจเลยว่าถ้าข้างบนสั่งมา ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิด ยังไงก็ตามเราหา solution ให้เรื่องนี้ได้ คือไม่ใช่แค่การติดป้ายห้ามเล่น แต่เราอาจบอกเขาได้ว่ามีที่ตรงไหนในเมืองที่เหมาะสมให้เล่นบ้าง จากนั้นก็มาดูกันที่ลานสาธารณะที่อื่นๆ ว่าปัจจุบันเรามีเพียงพอหรือยัง
เราคิดว่าการสร้างลานสเก็ตบอร์ดอาจยังไม่พอ เพราะถ้าสร้างลานสเก็ตบอร์ดก็จะถูกใช้แค่เล่นสเก็ตบอร์ด เช่นเดียวกับถ้าสร้างสนามตะกร้อ พื้นที่มันก็ถูกใช้แค่ฟังก์ชั่นเดียว เรามองไปถึงการสร้างพื้นที่อเนกประสงค์ให้คนในเมืองได้ครีเอตกิจกรรม แล้วทุกคนแชร์ร่วมกันได้ บางช่วงอาจเป็นที่ใช้ซ้อมเต้นคัฟเวอร์ ฟ้อนเล็บ เล่นสเก็ตบอร์ด หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ที่สำคัญคือพื้นที่สาธารณะดีๆ และใช้งานได้จริงยังต้องมีมากกว่านี้ และไม่ควรจำกัดการใช้งานแค่ด้านใดด้านหนึ่ง
คิดว่าคงมีคนได้ถามคุณไปบ้างแล้ว แต่ความที่คุณไม่ใช่คนรวย ไม่ใช่ทายาทผู้มีอิทธิพล และก็ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใหญ่ที่มีฐานเสียงในเมืองนี้มากมาย คุณเอาความมั่นใจมาจากไหนในการลงสมัคร
เราไม่ได้มองการเมืองเป็นการลงทุน พอมีคนรู้จักรู้ว่าเราจะสมัครเลือกตั้งก็มักถามว่ามีเงินเท่าไหร่ เราก็ตอบว่ามีเงินน้อยมาก เราคิดว่าการทำงานด้านการเมืองเดี๋ยวนี้มันอาจไม่ต้องใช้เงินมหาศาลแล้ว เรามีเทคโนโลยีและคนส่วนใหญ่ก็เข้าถึงโซเชียลมีเดียแล้วด้วย อยู่ที่ว่าเราจะสร้างสรรค์วิธีการสื่อสารกับคนในเมืองยังไง รวมถึงเรายังมีเครื่องมือและเครือข่ายอันหลากหลายที่ช่วยขับเคลื่อนการสื่อสารของเราได้
จริงๆ เราเองก็อาจโลกสวยด้วยมั้ง เพราะเราไม่ได้คิดถึงฐานคะแนนหรือการดึงคนที่มีฐานคะแนนอยู่แล้วมาแลกเปลี่ยนกับตำแหน่งเลย แต่เรามองซื่อๆ แบบคนรุ่นใหม่มอง เราอยากเห็นเมืองมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือมีความน่าอยู่มากขึ้น และกระบวนการการเมืองคือกลไกสำคัญ จริงอยู่ที่การเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ แต่มันก็ไม่จำเป็นต้องสกปรกหรือน่ากลัว เรามองว่าการเมืองคือวิถีชีวิต มันเชื่อมโยงกับทุกคนจริงๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงได้
ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มเชียงใหม่กว่า ได้ที่ facebook.com/ChiangmaiMore