วันที่ฉันร่วมเดินขบวนต่อต้านนโยบายรัฐบาลท้องถิ่นของนอร์เวย์

ในหมู่บ้านเล็กๆ
ทางภาคเหนือของประเทศนอร์เวย์ที่ฉันอาศัยอยู่
มีครอบครัวผู้ขอลี้ภัยถาวรชาวโซมาเลีย 3
ครอบครัว ครอบครัวที่หนึ่งมีลูก 8 คน
ครอบครัวที่สองมีลูกเล็กๆ 4 คน ครอบครัวที่สามมีลูกเล็กๆ 2 คน พวกเขาอยู่ในหมู่บ้านมาสองปีแล้ว และเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว
หมู่บ้านตั้งศูนย์ดูแลเยาวชนผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่อายุไม่เกิน 18 ปี ดูแลเด็กวัยรุ่นกำพร้าชาวอัฟกานิสถาน 4 คน

พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ
แห่งนี้อย่างมีความสุขๆ เด็กๆ ได้ไปโรงเรียน ร่วมชั้นเรียนหนังสือกับเด็กท้องถิ่น
ได้พัฒนาแนวคิดและการใช้ชีวิตเหมือนคนนอร์เวย์ ผู้ใหญ่เองก็ได้เรียนภาษา
ได้รู้หนังสือ ได้ไปฝึกงานตามสถานที่ต่างๆ กับบริษัทของคนนอร์เวย์

ผู้ลี้ภัยทั้งหมดเริ่มรู้สึกว่าที่แห่งนี้เป็นบ้านของตัวเอง
รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
รู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเป็นครั้งแรก หลังต้องเผชิญสงคราม เผชิญความทุกข์ทรมานจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ความสูญเสียและความยากลำบากในประเทศบ้านเกิดตัวเอง
คนในหมู่บ้านต่างก็ยินดีต้อนรับและเห็นอกเห็นใจพวกเขาในความเป็นมนุษย์ ไม่มีใครแสดงท่าทีรังเกียจใคร
เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนแห่งความแตกต่างได้อย่างลงตัวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

แต่แล้ววันหนึ่ง
หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นผู้กุมงบประมาณที่ใช้บริหารงานสาธารณะประจำเขต (ภาษานอร์ชเรียกว่า Kommune-คอมมูนเน่)
ออกนโยบายว่าจะตัดงบประมาณอุดหนุนกลุ่มผู้ลี้ภัยในหมู่บ้านเรา
โดยจะย้ายครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลียและเยาวชนอัฟกานิสถานทั้งหมดไปอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งที่ใหญ๋กว่าแต่ว่าห่างออกไป 45 กิโลเมตร มีสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์การศึกษาผู้ใหญ่สำหรับผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะ
เหมาะสมกว่าการกระจายงบประมาณความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไปหลายๆ หมู่บ้าน

พอชาวหมู่บ้านได้รับรู้การตัดสินใจของคอมมูเน่ก็รู้สึกไม่พอใจ ลงความเห็นกันว่าคอมมูเน่ทำเกินไป คิดแต่ตัดเรื่องงบประมาณ
แต่ไม่คิดถึงเรื่องการบริหารจัดการให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน
ทั้งยังไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน
ไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้ลี้ภัยที่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว
โดยเฉพาะเด็กๆ

พวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ
พวกเขาอยากอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่อยากย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ตามแต่ใจคอมมูเน่ และคอมมูเน่ไม่ควรจับเขาย้ายไปไหนก็ได้
เพียงเพราะต้องการตัดงบประมาณ

ในฐานะชาวบ้านผู้ทำงานเสียภาษีบำรุงคอมมูเน่
ขอเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายย้ายผู้ลี้ภัยออกจากหมู่บ้านนี้
โดยนัดหมายกันแถลงจุดยืนของคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน และจะจุดไฟเดินขบวนเรียกร้องในช่วงเย็นวันหนึ่งกลางเดือนมีนาคม
แกนนำชักชวนคนในหมู่บ้านให้ออกมาร่วมกันแสดงพลังเดินขบวนผ่านเฟซบุ๊ก

ตอนแรกที่ฉันเห็นแคมเปญในเฟซบุ๊กก็ยังงงๆ
อยู่ เพราะอ่านภาษานอร์ชไม่เข้าใจทั้งหมด ผ่านไปหลายวัน
เริ่มมีคนสนใจแคมเปญมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันเลยแปลข้อความอย่างละเอียดอีกครั้งแล้วถามรายละเอียดจากสามี ฟังดูแล้วก็น่าสนใจนะ
เพราะจากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนภาษากับกลุ่มผู้ลี้ภัยในหมู่บ้าน
ค้นพบว่าหมู่บ้านล้มเหลวเรื่องการให้ความรู้ที่ดีกับผู้ใหญ่จริงๆ ฉันเรียนภาษาได้ 2 เดือนรู้สึกว่าไม่ได้ความรู้อะไรเลย
จนต้องขอย้ายไปเรียนภาษาโรงเรียนอื่น

ฉันเห็นด้วยกับคอมมูเน่ว่าควรย้ายศูนย์เรียนภาษาและการศึกษาผู้ใหญ่ไปหมู่บ้านที่ใหญ่กว่า
ให้พวกผู้ใหญ่ได้เรียนในสถานที่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า นั่งรถบัสไปเรียนก็ได้
แต่ไม่จำเป็นต้องย้ายบ้านเขา การย้ายบ้านพวกเขาไปอยู่รวมกันในหมู่บ้านเดียว ฉันคิดว่าอาจจะเกิดปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ
เพราะยิ่งผู้ลี้ภัยจากประเทศเดียวกันไปอยู่รวมกันเยอะๆ เป็นร้อยคน
เขาจะไม่อยากทำความรู้จัก ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมคนนอร์เวย์ จะอยู่แต่กับคนภาษาเดียวกัน
หรืออาจมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเอง ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ
อาจรวมตัวกันก่อกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทำอะไรที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ คนยิ่งเยอะคอมมูเน่ยิ่งควบคุมได้ยาก

หลังจากคิดทบทวนแล้ว
ฉันจึงตัดสินใจไปร่วมเดินขบวนกับชาวนอร์เวย์ตามที่นัดหมายกัน
โดยแบกกล้องกับขาตั้งกล้องไปด้วย หวังไปเก็บภาพบรรยากาศ สังเกตสถานการณ์ทางการเมืองท้องถิ่น

การได้เข้าไปร่วมเดินขบวนกับเขาในครั้งนี้เปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตในประเทศนอร์เวย์ของฉันในฐานะคนต่างชาติ
เพราะเป็นครั้งแรกที่ฉันเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
เป็นคนของหมู่บ้าน มีสิทธิ์มีเสียงเรียกร้อง มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับคนในหมู่บ้าน
มีใจอยากพัฒนา กล้าท้าทายกดดันให้คอมมูเน่พิจารณานโยบายใหม่ แม้จะไม่ใช่นโยบายที่มีผลกระทบโดยตรงต่อตัวฉันก็ตาม

ย้อนกลับมาคิดถึงตอนที่ฉันอาศัยอยู่ที่เมืองไทย
ฉันไม่เคยไปร่วมเดินขบวนทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น แม้จะเป็นคนเชื้อชาติไทย
สัญชาติไทย ทำงานเสียภาษีให้รัฐบาลไทย ฝันอยากเห็นประเทศไทยพัฒนาก้าวไกล

เพราะวันๆ
ฉันเอาแต่ทำงาน คิดแค่เรื่องปากท้องตัวเองให้รอดเดือนชนเดือน ทำงานประจำบวกงานพิเศษรวมหกวันครึ่ง
หยุดพักแค่ครึ่งวันในหนึ่งสัปดาห์ ก็อยากจะอยู่คอนโดฯ สวยๆ
ที่อุตส่าห์บากบั่นทำงานเก็บเงินผ่อนธนาคาร ไม่อยากรับรู้ข่าวสารการเมืองหรือหาเรื่องอะไรเครียดๆ
ที่ห่างไกลตัวเราเหลือเกินมาใส่หัวอีกแล้ว

ใครอยากเล่าเรื่องวันเปลี่ยนชีวิตของตัวเองบ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR