วันที่ผมเกิดคำถามกับชีวิต

1.

มี ‘วันธรรมดา’ วันหนึ่ง
ที่แม้แต่ผมเองก็นึกไม่ถึงว่ามันจะกลายเป็น ‘วันสำคัญ’
ที่เปลี่ยนชีวิตของผม

แม้ว่าผมจะชื่อ สมดุลย์ แต่ชีวิตของผมกลับไม่ค่อยสมดุลสักเท่าไร สิบกว่าปีก่อน
ผมเป็นหมอรักษารากฟัน
ที่ใช้ชีวิตหลังเลิกงานเพื่อบำบัดอาการออฟฟิศซินโดรมขั้นรุนแรง
ซึ่งเป็นผลจากการนั่งทำฟันแบบไม่มีวันหยุด

บ้านหลังใหม่ เจ้าของคลินิก รถยนต์ป้ายแดง
คือรางวัลที่ต้องบั่นและทอนสุขภาพของตัวเองไปแลกมา แล้ววันหนึ่งต้องกลับเอารายได้นั้นมาซื้อสุขภาพของผมคืน
และนับวันสุขภาพก็ยิ่งจ่ายแพงขึ้นเรื่อยๆ

มองย้อนกลับไป
ความเจ็บปวดบนคอบ่าไหล่นี้น่าจะเริ่มจากวันที่นักเรียนสายวิทย์จากโรงเรียนมัธยมอันดับหนึ่งของประเทศคนนั้นต้องแบกความคาดหวังของคนรอบข้างไว้เต็มบ่า
มันหนักเสียจนไม่กล้าที่จะยืดอกอย่างผึ่งผายเลือกเข้าคณะนิเทศศาสตร์ตามความฝัน

บนเตียงกายภาพบำบัด ในวันที่แสนธรรมดาวันนั้น
ขณะที่สายสลิงซึ่งผูกติดกับเครื่องยืดกระดูกคอกำลังค่อยๆ บำบัดอาการปวดคอเหมือนเคย
กลับเป็นวันพิเศษ เมื่อได้ยินเสียงหนึ่งดังก้องในความคิดของตัวเองว่า ‘กูเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้จริงๆ เหรอ’

‘วันนั้น’เอง ที่เป็นวัน ‘เปลี่ยน’ ชีวิตของผม

2.

สิ่งที่พอชดเชยความฝันที่ถูกทิ้งไว้กลางทาง
คือการเก็บหน่วยกิตตามเทศกาลหนัง โรงละครมหรสพ คอนเสิร์ต
หรือแม้แต่การเรียงร้อยเพลงอัดเป็นอัลบั้มลงม้วนเทป
ซึ่งต่อมากลับกลายเป็นต้นทุนทางความคิดที่แม้แต่ผมเองก็คาดไม่ถึง

ผมมีความสุขเล็กๆ ที่ได้สนับสนุนคนที่กล้าเดินออกจากกรอบไปตามความฝันแบบที่เราไม่กล้า

หนึ่งในนั้นคือผู้ชายคนนึงที่ให้กำเนิดนิตยสารที่เนื้อหาในเล่มมีแนวคิดสร้างสรรค์เชิงบวกผสานกับอารมณ์ถวิลหาอดีตอย่างลงตัว

มันคือ..นิตยสารที่เกิดมาเพื่อเรา
และเขาอาจจะเป็นร่างทรงของความฝันที่คงไม่มีวันเป็นจริงของผม
ด้วยความที่กลัวจะไม่มีฉบับที่สองให้อ่าน ผมไม่รอช้าที่จะ ‘ลงขัน’ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความฝันนั้น

นิตยสาร a day ‘ของเรา’ แต่ละฉบับ
ทำให้ผมกลับมามองเห็นคุณค่าของ ‘แต่ละวัน’ ที่เป็นอยู่

“บางครั้งแค่ความรักมันอาจจะไม่พอ อยู่ที่ว่าคุณถ่องแท้กับสิ่งนั้นแค่ไหน”

ถ้อยคำจากพี่โหน่ง ไม่เพียงกระตุ้นความคิดให้เดินออกจากกรอบ
แต่เนื้อหาที่ ‘ถ่องแท้’ ใน main course แต่ละฉบับ ยังเป็นสติฉุดรั้งไม่ให้ผมผลีผลามลาออกจากงานไปไล่จับความฝันด้วยมือเปล่า

3.

ความเจ็บปวดแบบไม่รู้จบทำให้ผมหันมาใส่ใจกับสุขภาพและตกหลุมรักกับการฝึกโยคะ

วันหนึ่งที่ตัดสินใจปิดคลินิก
ผมไม่รู้สึกถึงความล้มเหลว แต่กลับสัมผัสถึงอิสระจากกรอบชีวิตเดิมๆ
และยิ่งทำให้มีเวลา ‘ถ่องแท้’ กับสิ่งที่รักมากขึ้นโดยนำความรู้สายแพทย์มาประยุกต์กับประสบการณ์ฝึก
จนเป็นครูสอนกายวิภาคศาสตร์เพื่อการฝึกโยคะ (Yoga Anatomy) ที่มีชั้นเรียนโยคะเป็นเหมือนพื้นที่ปล่อยของซึ่งสร้างสรรค์จากต้นทุนทางความคิด

ผมแปลงโฉมวิชาที่ซับซ้อนเป็นเรื่องเล่าผ่านคลิปหรือหนังสั้นที่ตัดต่อเอง
เปล่งเสียงของความคิดออกมาดังๆ ผ่านบทความหรือบทเพลงที่แต่งขึ้น
เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนได้รับคัดเลือกให้เป็นนักการศึกษาผู้ใช้ Apple
Technology เป็นสื่อการสอนอย่างโดดเด่นจาก Apple

เป็นวันที่ความฝันมาบรรจบกับความจริงอย่างเปี่ยมสุข
เกินกว่าจะเก็บมันไว้เพียงผู้เดียว

ครั้งหนึ่งที่ทำเวิร์กช็อป Yoga Anatomy เพื่อหาทุนช่วยผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผมพบชายชราผมหงอกขาวโพลนทั้งศีรษะ ด้วยข้อจำกัดร่างกายที่ไม่เอื้อให้ฝึกโยคะ (สักท่า)
ได้แต่นั่งฟังและระดมยิงคำถามป่วนขัดจังหวะที่สอนอยู่ตลอด

จนช่วงสุดท้ายที่ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
ท่านเดินเข้ามาหาผม ตบบ่าเบาๆ อย่างเมตตา พร้อมบอกกับผมว่า

“ผมเป็นอาจารย์แพทย์ ผมดีใจที่คนในวิชาชีพเราได้นำความรู้ไปทำประโยชน์ให้กับคนอื่น”
ความรู้สึกปีติเต็มตื้นในใจ จนน้ำตารื้นขึ้นมาคลอเบ้าโดยไม่รู้ตัว

จากวันที่เริ่มสอนจนทุกวันนี้
ผมนำรายได้จากการสอนโยคะตั้งเป็นกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเติมเต็มรอยยิ้มให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่

สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้อย่างชัดเจน
คือเราไม่ได้เป็นเพียงหมอรักษารากฟัน แต่เรากำลังรักษา ‘รากชีวิต’ ของตัวเอง พอชีวิตเราเข้มแข็ง รากเรามั่นคง
เราก็หยิบยื่นและทำตัวให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้
มันทำให้เรากลับมามองเห็นคุณค่าในตัวเอง

วันนั้น…ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตผมให้เป็น ‘หมอสมดุลย์’
คนใหม่ แต่ทำให้ได้พบกับ ‘สมดุลใหม่’ ในชีวิต

a day (เล่มนั้น) that changed my life .. เปลี่ยน ‘มุม’ ที่ผมใช้ ‘มอง’ ชีวิต

แต่ละวันเราถ่องแท้กับสิ่งที่กำลังทำอยู่สักแค่ไหน

ใครอยากเล่าเรื่องวันเปลี่ยนชีวิตของตัวเองบ้าง คลิกที่นี่เลย

AUTHOR