ถ้าจะทำหนังต่างจังหวัด ต้องให้ความสำคัญกับภาษาของเขา Carlo Manatad ผู้กำกับฟิลิปปินส์รุ่นใหม่

หากคุณถามผู้คนในวงการภาพยนตร์อิสระของฟิลิปปินส์ว่า ใครคือผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้ พนันได้ว่าแทบร้อยทั้งร้อยจะตอบว่า Carlo Manatad

ปัจจุบันคาร์โลอายุ 33 ปี และกำลังจะมีผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก ถึงอย่างนั้นชื่อของเขาก็โลดแล่นอยู่ในวงการภาพยนตร์มานานกว่านั้น เขาทำหนังสั้นมาแล้ว 8 เรื่อง และเกือบจะทุกเรื่องได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Busan International Film Festival, Locarno Film Festival ไปจนถึง Cannes Film Festival ชีวิตของชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์คือประเด็นที่คาร์โลสนใจ แต่มากไปกว่านั้นคือเรื่องราวของศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่คล้ายจะปรากฏอยู่ในหนังสั้นของเขาอยู่เสมอ โดยที่ประเด็นต่างๆ นี้ก็ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างแน่นิ่งน่าเบื่อ แต่กลับแฝงไปด้วยอารมณ์ขันร้ายๆ และความกวนตีนลึกๆ จนเรียกได้ว่าเป็นลายเซ็นของเขาไปแล้ว

เครดิตการทำหนังสั้นว่าน่าทึ่งแล้ว แต่เครดิตการตัดต่อภาพยนตร์ดูจะน่าทึ่งกว่า เพราะถ้าคุณไปเสิร์ชชื่อเขาใน IMDb จะพบว่า จำนวนภาพยนตร์ที่คาร์โลเคยตัดต่อนั้นมีมากกว่า 80 เรื่อง ไม่แปลกเลยที่ชื่อของเขาจะเป็นหนึ่งในผู้กำกับฟิลิปปินส์รุ่นใหม่ที่กำลังโดดเด่นที่สุดของนาทีนี้

ในวันที่เรานัดคุยกันผ่าน Zoom คาร์โลเพิ่งจะเดินทางกลับมาจากฝรั่งเศสได้ไม่นานเพราะหนังของเขาต้องไปทำ post production ที่นั่น กักตัวหลักจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศอยู่แล้วสักพัก แต่พอมาถึงห้องก็ไม่สามารถออกไปไหนได้อีกเพราะสถานการณ์โควิด-19 ของฟิลิปปินส์ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการระบาดครั้งใหม่ “สถานการณ์ของฟิลิปปินส์ตอนนี้น่ากลัวมากทีเดียว ตั้งแต่กลับมาจากฝรั่งเศสผมแทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลย” คาร์โลเล่าให้ฟัง “ประเทศไทยก็เหมือนกัน” เราตอบกลับ คาร์โลส่งยิ้มให้อย่างรู้กัน เห็นๆ กันอยู่ว่าสถานการณ์ในอาเซียนตอนนี้เป็นยังไง

แต่เราไม่ได้จะมาพูดคุยกันถึงเรื่องไวรัส เราไม่ได้จะมาถามว่าประเทศคุณจะได้วัคซีนคุณภาพสูงเมื่อไหร่ นี่คือบทสนทนากับคนทำหนังในอีกประเทศหนึ่ง ประเทศที่แม้ว่าเราจะได้ยินชื่ออยู่บ่อยครั้งแต่กลับไม่ค่อยมีโอกาสได้ดูหนังจากประเทศนี้สักเท่าไหร่ เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ว่า ชีวิตของคนทำหนังในฟิลิปปินส์เป็นยังไง ต่อยอดไปจนถึงความท้าทายของการทำหนังในประเทศที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งในแง่ของภูมิประเทศ ภาษา และวัฒนธรรม นี่คือเรื่องราวของคาร์โล มานาทัด ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่ของฟิลิปปินส์

คุณเริ่มเข้าสู่วงการภาพยนตร์ได้ยังไง

จริงๆ ช่วงที่ผมเริ่มเข้ามหา’ลัย ผมเรียนคณะบริหารฯ เหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัว ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากจะทำอะไร จนพอปี 3 ผมก็เริ่มคิดว่า ผมสามารถเรียนจบคณะบริหารฯ ได้นะ แต่ผมมองไม่เห็นภาพตัวเองทำงานในออฟฟิศเลย สุดท้ายผมเลยตัดสินใจย้ายไปเรียนคณะวิศวะซึ่งผมคิดว่าตัวเองน่าจะชอบแทน แต่พอเรียนไป 2 ปีผมก็เริ่มคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเรียนจบแน่ๆ ผมเลยมานั่งคิดว่า อะไรคือส่ิงที่เราน่าจะอินกับมันจริงๆ 

ตอนที่ผมยังเด็ก พ่อของผมชอบดูหนังมาก ซึ่งผมก็มักจะนั่งดูกับเขาแม้ว่าผมจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าเรื่องราวในหนังเกี่ยวกับอะไร อีกอย่างคือพ่อผมเคยให้กล้องวิดีโอเล็กๆ เป็นของขวัญวันเกิดซึ่งผมก็มักจะถ่ายโน่นนี่ไปเรื่อยๆ ผมเลยคิดว่า หนังนี่แหละน่าจะเป็นสิ่งที่ผมชอบ ก็เลยตัดสินใจย้ายคณะอีกครั้ง คราวนี้ไปอยู่คณะภาพยนตร์ 

พ่อแม่รู้ไหมที่อยู่ๆ คุณก็ตัดสินใจย้ายคณะเป็นรอบที่สาม

ไม่รู้ ผมไม่กล้าบอกหรอก ระหว่างที่เรียนผมก็ทำงานพิเศษอื่นๆ ไปด้วยเพราะผมจำเป็นต้องใช้เงินสำหรับค่าอุปกรณ์ต่างๆ ในการเรียน ผมสอนภาษาอังกฤษบ้าง ทำงานที่ McDonald’s บ้าง พยายามเก็บเงินให้มากที่สุดเพื่อใช้ถ่ายหนังทีสิสเพราะมหา’ลัยไม่ได้มีทุนอะไรให้เลย แต่พอถึงเวลาต้องถ่ายหนังจริงๆ ผมก็ยังมีเงินไม่พออยู่ดี เป็นตอนนั้นแหละที่ผมต้องสารภาพพ่อกับแม่ว่า ‘ผมกำลังเรียนภาพยนตร์อยู่นะ’ (หัวเราะ) พวกเขาตกใจแหละ แต่ผมว่าประเด็นจริงๆ คือพวกเขาไม่เข้าใจมากกว่าว่าหลังจากเรียนจบแล้วผมจะไปทำอะไรต่อ พวกเขาไม่ได้เข้าใจว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นยังไง

แล้วหลังจากเรียนจบคุณไปทำอะไร

หลังจากที่เรียนจบผมไปทำงานเป็นนักตัดต่อ ต้องบอกก่อนว่าในคณะภาพยนตร์ที่ผมเรียนน่ะมันไม่ได้มีการแยกชัดอย่างจริงๆ จังๆ ว่า คุณอยากจะเน้นไปทางด้านไหน พูดง่ายๆ คือเราต้องเรียนแทบจะทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อ การถ่ายภาพ การกำกับ ซึ่งตอนนั้นเพื่อนร่วมคณะของผมแทบจะทุกคนอยากเป็นผู้กำกับกันหมด ผมเองก็ด้วยนะ เพียงแต่ผมก็อยากมีอาชีพที่มั่นคงด้วย ทีนี้การตัดต่อเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำซึ่งเพื่อนของผมก็มักจะมาขอให้ผมช่วยตัดต่อหนังให้อยู่เรื่อยๆ จนผมพอจะมีทักษะในเรื่องนี้อยู่บ้าง 

ในช่วงที่ผมเรียนจบ อยู่ๆ ก็มีคนติดต่อผมมาว่าอยากตัดต่อหนังยาวสักเรื่องดูไหม แน่นอนว่าผมตอบรับทันที เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้จะหลุดมาถึงมือเด็กจบใหม่ง่ายๆ นั่นถือเป็นก้าวแรกที่ผมได้ทำงานในวงการภาพยนตร์จริงๆ 

ตอนนั้นคุณยังไม่มีความคิดอยากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เหรอ

อยากสิ มันอยู่ในสมองผมมาตลอด แต่ปัญหาคือผมกลัวมากกว่าว่าถ้าสมมติผมเกิดไปกำกับภาพยนตร์สักเรื่องแล้วมันล้มเหลวไม่เป็นท่าล่ะจะทำยังไง แล้วงานของผมในฐานะนักตัดต่อก็ค่อนข้างจะไปได้สวย ผมก็เลยไม่อยากเสียงานตรงนี้ไป กระทั่งปี 2015 ช่วงนั้นผมกำลังว่างพอดี อยู่ๆ ผมก็นึกสนุกไปชวนเพื่อนๆ ว่า ทุกสัปดาห์เรามาถ่ายอะไรเล่นๆ กันไหม จากนั้นเราก็นัดกันเรื่อยๆ ผมไม่มีแม้แผนอะไรเลยด้วยซ้ำ ไม่เวิร์กก็ช่างเพราะถึงที่สุดแล้วมันก็แค่งานที่ผมชวนเพื่อนถ่ายกันเล่นๆ ขำๆ ถึงยังไงผมก็ยังมีงานในฐานะนักตัดต่ออยู่ดี ซึ่งผลลัพธ์ของโปรเจกต์นี้ก็ออกมาเป็น Junilyn Has (2015) หนังสั้นเรื่องแรกของผม

Junilyn Has (2015)

คุณได้ส่งหนังสั้นเรื่องนี้ไปประกวดในเทศกาลไหนบ้างไหม แล้วหนังสั้นเรื่องแรกในชีวิตพาคุณไปที่ไหนบ้าง

หลังจากที่เราถ่ายหนังเรื่องนี้เสร็จ ผมกับเพื่อนๆ ก็มานั่งดูด้วยกัน ปรากฏว่าเราค่อนข้างชอบมัน แต่หลังจากนี้จะยังไงต่อล่ะ เป้าหมายของพวกเราตอนนั้นคือส่งหนังเรื่องนี้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์สักแห่งหนึ่ง ผมเลยลองส่งหนังเรื่องนี้ไปที่ Cinemalaya ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์อิสระที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ แน่นอนว่าหนังของพวกเราถูกปฏิเสธ (หัวเราะ) แต่บังเอิญว่าอยู่ๆ เพื่อนของผมคนหนึ่งที่เป็นโปรดิวเซอร์เขาถามผมว่าพอจะมีหนังสั้นที่อยากจะลองส่งไปเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างประเทศดูบ้างไหม ผมก็เลยลองส่งไปที่ Locarno ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่สวิตเซอร์แลนด์ดูเล่นๆ ผมไม่คาดหวังหรอกว่าเทศกาลใหญ่ระดับนั้นจะตอบรับผลงานของผม แต่ปรากฏว่าสองสัปดาห์หลังจากนั้น Locarno ก็ตอบรับหนังสั้นของผม มันน่าเหลือเชื่อมากๆ นะ เพราะหนังสั้นเรื่องแรกนี้แม่งทุนโคตรต่ำ (หัวเราะ)

พูดได้ไหมว่าการที่ Locarno ตอบรับหนังสั้นของคุณถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเลย

ใช่ การที่หนังของผมได้ไปฉายที่ Locarno มันเป็นเหมือนฝันน่ะ แล้วมันก็ช่วยผลักดันความคิดของผมที่อยากจะเป็นผู้กำกับให้ชัดเจนขึ้นมากๆ แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีความกดดันว่า โอ้ หนังของผมได้ไปฉายเทศกาลใหญ่ๆ อย่าง Locarno แล้วหลังจากนี้ยังไงต่อล่ะ ถ้าหากว่าผมเป็นผู้กำกับประเภทที่ทำหนังดังอยู่เรื่องเดียว (one hit wonder) ล่ะ ยิ่งพอผมไปถึงเทศกาลแล้วเห็นบรรดาผู้กำกับและคนในวงการดูจะสนิทสนมกันเป็นอย่างดีผมก็ยิ่งสติแตกไปกันใหญ่ ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ผู้กำกับภาพยนตร์ตัวเล็กๆ จากฟิลิปปินส์ที่โชคดีถูกลอตเตอรี่จนได้ไป Locarno แต่ปรากฏว่าไม่รู้จักใครสักคน (หัวเราะ) มันเศร้านะ แล้วมันก็น่าอึดอัดเอามากๆ จนผมแทบจะไม่อยากออกไปเดินเล่นในเทศกาลด้วยซ้ำ ผมไม่ใช่คนช่างพูดเลย แต่หลังจาก 2-3 วันที่ผมอุดอู้อยู่แต่ในโรงแรมผมก็ตัดสินใจว่าช่างแม่งเหอะ อุตส่าห์ได้มาสวิตเซอร์แลนด์ทั้งทีจะขังตัวเองอยู่กับห้องไปทำไมวะ นั่นเป็นจุดที่ทำให้ผมเข้าใจว่า การไม่ต้องสนห่าอะไรเลยมันก็สนุกเหมือนกันนะ หลังจากนั้นผมก็ตัดสินใจได้ว่าผมจะเป็นผู้กำกับไปพร้อมๆ กับเป็นนักตัดต่อไปด้วย พอบินกลับมาถึงฟิลิปปินส์ผมก็พัฒนาหนังสั้นเรื่องที่สองต่อทันที

พ้นไปจากหนังสั้นเรื่องแรกของคุณแล้ว หนังสั้นเรื่องอื่นๆ ก็ได้พาคุณไปยังเทศกาลภาพยนตร์หลายๆ แห่งทั่วโลก อยากรู้ว่าผู้คนส่วนใหญ่พูดถึงหนังสั้นของคุณยังไงกันบ้าง

มันน่าสนใจมากนะเพราะหลายๆ คนบอกว่า เขาไม่รู้สึกว่าหนังสั้นของผมเป็นหนังฟิลิปปินส์เลย ซึ่งผมก็มักจะสงสัยว่าทำไมกันวะ เพราะผมเป็นคนฟิลิปปินส์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วหนังพวกนี้ก็ถ่ายในฟิลิปปินส์ด้วย แต่หลังจากนั้นผมถึงค่อยๆ รู้ว่า เพราะหนังของผมไม่ค่อยจะพูดถึงประเด็นความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และประเด็นทางสังคม ผมเข้าใจว่า ผู้คนในเทศกาลหนังมักจะมีภาพว่าหนังจากฟิลิปปินส์ต้องนำเสนอประเด็นเหล่านี้

คุณรู้สึกไม่พอใจบ้างไหมกับคอมเมนต์พวกนี้

ผมไม่ได้รู้สึกไม่พอใจนะ มันทำให้ผมตั้งคำถามกับตัวเองมากกว่าว่าตกลงมันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีกันนะ แต่สุดท้ายแล้วผมก็ไม่แคร์อะไรหรอก

คุณคิดว่าอะไรคือประเด็นที่เป็นจุดร่วมในหนังสั้นแต่ละเรื่องของคุณ

ผมคิดว่าประเด็นที่ผมสนใจคือเรื่องราวของชนชั้นกลาง ตัวละครเอกในหนังสั้นของผมมักจะมีเรื่องราวเบื้องหลังที่โคตรจะธรรมดาและน่าเบื่อที่สุด เพราะผมอยากจะสร้างประสบการณ์ที่คนดูจะสามารถเชื่อมโยงด้วยได้ แล้วผมก็อยากจะสะท้อนมุมมองของชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์ว่าพวกเขามองสังคมรอบๆ ตัวยังไง 

สำหรับคุณ ข้อดีของการทำหนังสั้นคืออะไร 

หลายคนอาจมองว่าหนังสั้นเป็นแค่อะไรโง่ๆ เพราะเมื่อพูดถึงนักทำหนัง พวกเขามักจะเห็นภาพของผู้กำกับภาพยนตร์ขนาดยาว แต่สำหรับผม การทำหนังสั้นช่วยให้เรารู้ว่าเราอยากจะทำหนังยาวแบบไหน แล้วประสบการณ์ที่ผมได้จากการทำหนังสั้นก็ช่วยให้ผมพัฒนาทักษะต่างๆ ในการทำภาพยนตร์ให้แม่นยำขึ้นด้วย การทำหนังสั้นคือกระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งนั่นแหละ

รู้มาว่าตอนนี้คุณกำลังทำหนังยาวเรื่องแรกอยู่ด้วยใช่ไหม 

ใช่ ตอนนี้เสร็จไปประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์แล้วล่ะ เรื่องราวของมันเกี่ยวกับบ้านเกิดของผมที่ถูกพายุไต้ฝุ่นถล่ม ผมเริ่มถ่ายหนังเรื่องนี้ช่วงปลายปี 2019 ก่อนจะมาถ่ายเสร็จจริงๆ ราวสองสัปดาห์ก่อนหน้าวิกฤตการณ์โควิด-19 ในฟิลิปปินส์ รวมๆ ก็ประมาณ 2 ปีได้ 

ทำไมถึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับไต้ฝุ่นล่ะ

ต้องบอกก่อนว่าเรื่องราวของหนังเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับครอบครัว ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างจะมีความสัมพันธ์ที่แปลกๆ อยู่สักหน่อย ผมไม่ค่อยจะได้กลับไปที่บ้านเกิดของผมนัก แต่ช่วงเวลาที่ผมกลับไปคือช่วงเวลาที่เกิดไต้ฝุ่นครั้งนี้พอดี เหตุการณ์ต่างๆ ที่ผมเห็นในตอนนั้นทำให้ผมคิดอะไรหลายอย่างเลยนะ มันคือการพยายามเอาชีวิตรอดของผู้คนที่นั่นหลังจากพายุถล่ม ผู้คนเข่นฆ่ากันเพื่อจะได้มาซึ่งอาหาร ผมไม่เคยเห็นภาพแบบนี้มาก่อนเลยอยากจะนำเสนอภาพของภัยพิบัติระดับชาติในมุมมองที่แตกต่างออกไป คุณอาจคุ้นเคยกับภาพยนตร์เกี่ยวกับภัยพิบัติที่ถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงดราม่า แต่ในความเป็นจริงแล้วมันประหลาดกว่านั้นมาก ผมคิดว่าถ้าคุณได้สัมผัสภัยธรรมชาติที่รุนแรงสุดๆ แบบนี้ เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับจินตนาการมันจะพร่าเลือนมากๆ คุณจะไม่มีเวลากระทั่งมานั่งทำความเข้าใจด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ รู้ตัวอีกทีคุณก็อยู่ที่นั่นท่ามกลางเศษซากปรักหักพังแล้ว

Whether the Weather Is Fine ภาพยนตร์เรื่องแรกของคาร์โล

ทุกวันนี้ความสัมพันธ์ระหว่างวงการภาพยนตร์อิสระของฟิลิปปินส์กับรัฐบาลฟิลิปปินส์เป็นยังไงบ้าง รัฐบาลมองวงการภาพยนตร์อิสระยังไง พวกเขาให้การสนับสนุนบ้างไหม

มันเป็นคำถามที่ตอบยากเหมือนกันนะ โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าสภาพัฒนาภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ (Film Development Council of the Philippines–FDCP) ก็ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพประมาณหนึ่ง ต้องเข้าใจด้วยว่าประธานของ FDCP จะถูกแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีมันจึงมีความเป็นการเมืองสูงมาก เพียงแต่ผมกลับรู้สึกว่าประธานคนปัจจุบันของ FDCP ค่อนข้างจะให้การสนับสนุนวงการภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์พอสมควรเพราะก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยจะเห็นว่า FDCP ให้การช่วยเหลือพวกเราเท่าไหร่ ในแง่หนึ่งผมก็ภูมิใจนะเพราะตอนนี้มันมีทุนสำหรับสายงานต่างๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพิ่มขึ้นเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นทุนสำหรับคนเขียนบทและโปรดักชั่น อีกอย่างคือ FDCP ยังพยายามจะให้ทุนสนับสนุนประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ซึ่งมันฟังดูดี เพียงแต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุณไปให้เงินสนับสนุนประเทศอื่นทำไม คุณควรจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ก่อนสิ

แต่ถ้าคุณจะถามว่า รัฐบาลปัจจุบันเป็นยังไงนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งเลย ผมเกลียดรัฐบาลมากๆ แต่นั่นแหละ ผมแค่รู้สึกว่าประธานของ FDCP คนปัจจุบันค่อนข้างจะวางตัวเป็นกลาง กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือสารคดีเรื่อง Aswang (2019) ซึ่งเป็นผลงานของเพื่อนผมที่เนื้อหาพุ่งเป้าโจมตีนโยบายกวาดล้างยาเสพติดของ Rodrigo Duterte อย่างชัดเจน ไม่มีใครคิดว่า FDCP จะช่วยโปรโมตสารคดีเรื่องนี้ ทว่าสุดท้ายพวกเขาก็ช่วยโปรโมตเพียงแต่ FDCP ไม่ได้เอ่ยชื่อของดูเตร์เต้ออกมา ผมว่าลึกๆ แล้วมันก็มีนัยของความก้าวหน้าของวงการภาพยนตร์อยู่บ้างแหละ

ด้วยความที่ภูมิประเทศของฟิลิปปินส์เป็นเกาะน้อยใหญ่มากมาย มันมีความยากหรือความท้าทายบ้างไหมในแง่ของการรวมกลุ่มกันระหว่างผู้กำกับภาพยนตร์ในพื้นที่ต่างๆ 

นี่ก็เป็นคำถามที่ตอบยากอีกเหมือนกัน เพราะภาพยนตร์ฟิลิปปินส์จำนวนมากถูกผลิตในมะนิลา แต่มันก็มีผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีความสามารถอีกหลายคนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดของฟิลิปปินส์ ไม่ใช่ส่วนกลาง ตอนนี้มันเลยยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้กำกับจากมะนิลากับกลุ่มผู้กำกับจากต่างจังหวัดอยู่บ้าง ซึ่งหากลองพิจารณาไปยังจังหวัดต่างๆ คุณก็จะเห็นว่ามีองค์กรภาพยนตร์ท้องถิ่นมากมายที่พยายามจะสนับสนุนและผลักดันภาพยนตร์จากพื้นที่ของพวกเขา ในแง่หนึ่งคุณอาจรู้สึกว่า แล้วจะทะเลาะกันไปทำไมเพราะพวกเราต่างก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เหมือนกันไม่ใช่เหรอ แต่จริงๆ แล้วมันมีประเด็นทำนองว่า บรรดาภาพยนตร์ทุนสูงและภาพยนตร์เพื่อการค้าก็ยังคงถูกผลิตในมะนิลามากกว่าในต่างจังหวัดอยู่ดี หรือมันก็จะมีเรื่องของภาษาอีก เพราะภาพยนตร์ที่ผลิตในมะนิลาจะใช้ภาษาตากาล็อก แต่ประเด็นคือ ไม่ใช่ทุกๆ พื้นที่จะใช้ภาษาตากาล็อกเหมือนกันหมด เขาก็มีภาษาท้องถิ่นที่ใช้กันอยู่แล้ว คุณเลยจะไม่ค่อยเห็นภาพยนตร์ทุนสูงที่เป็นมิตรกับผู้ชมในต่างจังหวัดสักเท่าไหร่ 

ผมคิดว่าปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยเหมือนกันนะ อย่างการทำหนังสักเรื่องหนึ่งที่แม้ว่าจะถ่ายในจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่ผู้คนในจังหวัดนั้นก็พูดภาษากลางเหมือนอย่างคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เคารพวัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือภาษาของผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นจริงๆ ปัญหานี้เกิดขึ้นกับผมเหมือนกันเพราะผมเป็นคนต่างจังหวัดแต่ปัจจุบันทำงานเป็นผู้กำกับอยู่ในมะนิลา คำถามคือเราจะนำเสนอความเป็นต่างจังหวัดอย่างแท้จริงได้ยังไงกัน ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญกับความเป็นภาพยนตร์ของมันเพียงอย่างเดียว หรืออย่างภาพยนตร์ของผม ผมก็ให้ตัวละครในเรื่องพูดภาษาท้องถิ่นที่พวกเขาใช้กันจริงๆ ในชีวิตประจำวัน จริงๆ ก็มีคนถามผมเหมือนกันว่า ทำไมผมถึงใช้ภาษาท้องถิ่นล่ะ ผมก็ตอบไปว่า หากคุณอยากนำเสนอชีวิตจริงๆ ของผู้คนในต่างจังหวัดน่ะ คุณก็ต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุดกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขา ภาษาคือเรื่องพื้นฐานที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำหนังเกี่ยวกับต่างจังหวัดแต่ไม่ให้ความสำคัญกับภาษาของพวกเขา นั่นก็เท่ากับว่าหนังของคุณปราศจากความจริง

คุณมองว่าอนาคตของวงการภาพยนตร์อิสระของฟิลิปปินส์จะเป็นยังไงต่อไป

ผมคิดว่าก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ผู้กำกับหลายๆ คนพยายามจะช่วยผลักดันวงการภาพยนตร์อิสระอย่างเต็มที่นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อประเด็นที่ว่า การจะพัฒนาภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งควรจะเป็นยังไง อีกอย่างคือผมรู้สึกว่าเรื่องการร่วมงานกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้นด้วย ผมค่อนข้างจะเชื่อนะว่าหลังจากโควิด-19 ผ่านไปวงการภาพยนตร์ฟิลิปปินส์น่าจะไปได้ดีทีเดียว

3 ภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่คาร์โลอยากแนะนำ

Maynila: sa mga Kuko ng Liwanag (1975)

หนึ่งในภาพยนตร์ฟิลิปปินส์ที่ได้ชื่อว่าคลาสสิก กำกับโดย Lino Brocka ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นตำนานของฟิลิปปินส์ Maynila: sa mga Kuko ng Liwanag บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มชาวประมงจากต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางเข้ามายังมะนิลาเพื่อตามหาคนรักของเขาที่ถูกกักขังอยู่ในโรงแรมม่านรูด นี่คือภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นชีวิตของแรงงานต่างจังหวัดที่ต้องทอดทิ้งบ้านเกิดเพื่อเข้ามาพบเจอกับการขูดรีด การถูกเอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรมของชีวิตในเมืองหลวง

Norte, The End of History (2013)

ภาพยนตร์ความยาวสี่ชั่วโมงที่กำกับโดย Lav Diaz หนึ่งในผู้กำกับฟิลิปปินส์ที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือการบอกเล่าเรื่องราวของวรรณกรรม Crime and Punishment ของ Fyodor Dostoevsky ใหม่ภายใต้บริบทสังคมฟิลิปปินส์ ว่าด้วยชะตากรรมของนักเรียนกฎหมายคนหนึ่งที่เผลอไปฆ่าเจ้าหนี้ของเขาทิ้ง ก่อนที่เขาจะค่อยๆ จมดิ่งไปในความโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง นี่คือภาพยนตร์ที่ไม่เพียงจะสะท้อนให้เห็นการล่มสลายของคนคนหนึ่งที่ควรจะมีอนาคตที่สดใส แต่เพราะความเหลื่อมล้ำและโหดร้ายของโครงสร้างสังคมกลับส่งให้เขากลายเป็นอาชญากรไปในท้ายที่สุด

Balangiga: Howling Wilderness (2017)

ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก QCinema International Film Festival หนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ Balangiga: Howling Wilderness พาเราย้อนกลับไปในปี 1901 เพื่อดูเรื่องราวของเด็กชายอายุ 8 ขวบที่ต้องหลบหนีออกจากหมู่บ้านพร้อมกับปู่ของเขากับควายและไก่อย่างละตัว ด้วยเพราะหมู่บ้านของเขากำลังถูกทหารอเมริกันกลุ่มหนึ่งกวาดล้างและเผาทำลาย หนังบอกเล่าผ่านสายตาของเด็ก 8 ขวบที่จ้องมองไปยังการล่มสลายของชีวิตและความตายที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา

AUTHOR