“ผมพูดภาษาไทยได้นะ แต่อาจสลับเป็นภาษาอังกฤษบ้างนิดหน่อย” ปีเตอร์ ชาน ตอบเราด้วยภาษาไทยชัดเจนทุกถ้อยคำหลังจากที่เราถามเขาว่า อยากจะให้บทสนทนาดำเนินไปด้วยภาษาอะไร
หลายคนคงรู้จักปีเตอร์ในฐานะผู้กำกับชื่อดังชาวฮ่องกงผ่านภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ของเขา ไม่ว่าจะเป็น Comrades, Almost a Love Story (1996), The Warlords (2007), American Dreams in China (2013) และ Leap (2020) แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าแม้ว่าปีเตอร์จะเกิดและเติบโตที่เกาะฮ่องกง ทว่าจริงๆ แล้วพ่อกับแม่ของเขาเป็นคนไทยโดยกำเนิด ซึ่งปีเตอร์เคยกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยช่วงใหญ่ๆ ขณะที่อายุได้ 11 ปี จนกระทั่งเดินทางไปเรียนภาพยนตร์ในระดับมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา
Chinese diaspora แปลว่า จีนโพ้นทะเล ซึ่งชีวิตที่ผ่านมาของปีเตอร์ที่โยกย้ายอยู่เรื่อยๆ ก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตนี้ เขาคือคนฮ่องกงที่เติบโตในเมืองไทย ก่อนจะไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ จากนั้นจึงกลับมาทำหนังในอุตสาหกรรมฮ่องกง และปัจจุบันก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับคนสำคัญในวงการภาพยนตร์จีน
ในวาระที่ Comrades, Almost a Love Story หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ เถียนมีมี่ 3,650 วัน…รักเธอคนเดียว ใกล้จะครบรอบ 25 ปี และในจังหวะที่ปีเตอร์เดินทางกลับมาที่ประเทศไทยพอดิบพอดี นับว่าเป็นโชคดีที่เราได้รับโอกาสในการสนทนากับผู้กำกับชาวฮ่องกงคนนี้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ในวันที่หนังเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตของเขากำลังจะเดินทางเข้าสู่ขวบปีที่ 25 ในวันที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงไม่ได้รุ่งเรืองเทียบเท่ากับยุคทองวันวาน และในวันที่บริการสตรีมมิงกลายเป็นอีกโฉมหน้าหนึ่งของวงการภาพยนตร์ บทสัมภาษณ์ที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้บรรจุความคิดและทัศนคติของปีเตอร์ต่อประเด็นเหล่านี้
ด้วยความที่เรื่องราวของ Comrades, Almost a Love Story เกิดขึ้นในยุค 90s คุณมองว่าฮ่องกงในช่วงเวลานั้นส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องยังไงบ้าง
ผมคิดว่าความเป็นจีนกับความเป็นฮ่องกงในช่วงเวลานั้นเป็นอะไรที่สับสน นั่นเพราะคนฮ่องกงส่วนใหญ่มาจากจีน มีแค่ส่วนน้อยมากๆ ที่เป็นคนฮ่องกงดั้งเดิมและอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้มาแล้วหลายเจเนอเรชั่น นั่นจึงเท่ากับว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนในฮ่องกงมาจากภายนอกแทบทั้งนั้น อีกประเด็นคือฮ่องกงเป็นพื้นที่แรกสำหรับผู้คนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่จะมาอยู่ก่อนที่พวกเขาจะโยกย้ายไปที่อื่น น้อยคนมากๆ ที่จะถือว่าฮ่องกงเป็นบ้านจริงๆ
ในช่วงปี 1996 ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย คือช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่ฮ่องกงจะกลับไปอยู่กับจีน เพราะฉะนั้นจิตใจของคนฮ่องกงในช่วงนี้จึงสับสนมากๆ ซึ่งผมเองก็พยายามจะนำเสนอความรู้สึกของคนฮ่องกงในช่วงเวลานี้โดยจัดวางมันในตัวละครหลักที่เดินทางมาจากเมืองจีนทั้งคู่ และแม้ว่าผมจะเกิดที่ฮ่องกง โตที่ฮ่องกง ไม่ได้มาจากเมืองจีน แต่รอบๆ ตัวผมกลับเต็มไปด้วยผู้คนที่เหมือนกับตัวละครหลักในเรื่องนี้อยู่เยอะมาก ผมคิดว่าหนึ่งในคุณลักษณะสำคัญของฮ่องกงที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องคือ ความเป็นเมืองของฮ่องกงที่ไม่มีต่างจังหวัด แต่เป็นพื้นที่ซึ่งคนจากเมืองจีนอพยพเข้ามา ภายใต้สถานะของผู้คนเหล่านี้ที่มักจะเป็นคนรากหญ้าและมีสถานะต่ำที่สุดในสังคม ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่คล้ายๆ กัน ความรักจึงเป็นหนึ่งในความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้
ตอนที่ Comrades, Almost a Love Story ออกฉาย ผลลัพธ์ของมันเป็นยังไงบ้าง
ครั้งแรกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายน่ะ เครือหนังต่างๆ ในเอเชียไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เกาหลี หรือไทย เขาดูแล้วชอบกันมากๆ เลยนะ ซึ่งตอนนั้นทุกคนพยายามช่วยเราโปรโมตกันหมด แต่ด้วยความที่ Comrades, Almost a Love Story ต่างไปจากหนังฮ่องกงทั่วไป คือไม่ใช่ทั้งหนังแอ็กชั่นและหนังตลก คนที่เป็นแฟนหนังฮ่องกงก็จะไม่ดูหนังเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันคนที่ชอบหนังดราม่าก็ไม่ดูหนังฮ่องกงอีก สุดท้ายพอหนังฉายเลยไม่ฮิต เรียกได้ว่าหนังเจ๊งด้วยซ้ำ และถึงแม้ว่าบรรดาเครือหนังจะชอบกันมาก แต่ทุกคนขาดทุนหมดเลย เพียงแต่พอเวลาผ่านไปเรื่อยๆ หนังเรื่องนี้กลับมีคนที่ได้ดูจากวิดีโอ วีซีดี ดีวีดีมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่า หนังกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จากคำพูดปากต่อปาก ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้เป็นอะไรที่แปลกมาก คิดดูว่าทุกวันนี้อายุของมันก็ยี่สิบกว่าปีแล้ว แต่ยังมีการฉายหนังเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ
เรียกได้ว่าเป็นหนังที่มีช่วงอายุยาวมาก
ใช่ ยาวมาก แปลกมาก มันมีคนขุดมาดูอยู่เรื่อยๆ จนสุดท้ายมันอาจเป็นหนังที่สำคัญที่สุดในชีวิตการทำงานของผมเลยก็ว่าได้ ทั้งๆ ที่ตอนฉายมันแทบจะไม่ทำเงินเลยด้วยซ้ำ
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ คนไทยดูจะชื่นชอบและผูกพันกับภาพยนตร์เรื่องนี้มากเป็นพิเศษ คุณมองประเด็นนี้ยังไง
เอาจริงๆ ผมก็ไม่เข้าใจนะ หรือเพราะมันเป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวความรักของคนยากจนจากต่างจังหวัด คนก็เลยยิ่งอินได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันผมพบว่า แฟนของหนังเรื่องนี้กลุ่มหนึ่งคือบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าปี 2001-2002 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี และไทย เริ่มมีผู้กำกับนิวเวฟมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปี 1996 ที่ Comrades, Almost a Love Story ออกฉายก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้กำกับภาพยนตร์เหล่านี้กำลังเรียนอยู่ในมหา’ลัย ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พวกเขาศึกษาด้วย
ในวันที่ Comrades, Almost a Love Story กำลังจะมีอายุครบ 25 ปี ความรู้สึกของคุณต่อภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นยังไงบ้าง มุมมองที่คุณมีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม
ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปนะ อย่างในปี 2015 ที่หนังเรื่องนี้ได้ไปฉายในเทศกาลหนังเวนิซ ซึ่งผมได้กลับไปทำการบูรณะ (restoration) มันอีกครั้ง ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยนะ ไม่ได้ตัดหนังใหม่เลยแม้แต่นิดเดียว แน่นอนว่ารสนิยมของผมทุกวันนี้ย่อมเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อก่อน แต่สุดท้ายผมก็ตัดสินใจว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเดียว เพราะว่าหนังเรื่องนี้คือภาพสะท้อนของตัวผมในอดีต ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงอะไรใดๆ จากมุมมองของผมทุกวันนี้ย่อมทำให้หนังเรื่องนี้สูญเสียความจริงแท้ของมันไป
ชาวจีนโพ้นทะเลคือหนึ่งในประเด็นที่มักจะปรากฏในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องของคุณ ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับตัวตนของคุณยังไง
คนจีนในช่วงร้อยปีนี้อพยพอยู่ตลอดเวลา ผมก็เหมือนกัน อย่างคุณพ่อคุณแม่ผมก็เกิดที่เมืองไทย โตที่เมืองไทย แล้วกลับไปจีนช่วง 50s เพราะกระแส new china ที่ทุกคนเชื่อว่าจีนจะก้าวเข้าสู่ยุคพัฒนา แต่สุดท้ายก่อนจะเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม พวกท่านก็หนีออกมาก่อนและไปอยู่ฮ่องกง ผมเลยกลายเป็นคนฮ่องกง ซึ่งถ้าเขาอยู่เมืองไทยผมก็เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าพวกเขาปักหลักอยู่ปักกิ่งผมก็คงเป็นคนจีน ทีนี้พออายุได้ 11-12 ปี ทั้งครอบครัวก็ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทย จากนั้นผมก็เดินทางไปเรียนมหา’ลัยที่สหรัฐอเมริกา ตลอดชีวิตของผมจึงเกี่ยวกับการเป็นคนจีนโพ้นทะเลอยู่เสมอ
อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงในช่วงที่ Comrades, Almost a Love Story ออกฉายเป็นอย่างไร ทำไมอยู่ๆ อุตสาหกรรมหนังฮ่องกงที่เคยเฟื่องฟูก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
จริงๆ แล้วอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงเริ่มตกต่ำลงในช่วงปี 1995 ไม่ใช่เพราะฮ่องกงจะกลับไปหาจีนแผ่นดินใหญ่นะ แต่เป็นเพราะตลาดมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีประชากรแค่ 7 ล้านคน ซึ่งผมคิดว่าในโลกนี้ไม่มีที่ไหนที่มีประชากรเพียงแค่นี้แล้วสามารถเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ เพราะการทำหนังมันแพงมาก แต่คำถามคือทำไมฮ่องกงถึงสามารถเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ล่ะ ก็เพราะว่าชาวจีนโพ้นทะเลมีอยู่ทั่วโลกไง ตั้งแต่ปี 1949 มีคนจีนที่หนีออกจากเมืองจีนไปฮ่องกง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ไทย ซึ่งผู้คนเหล่านี้ล้วนเป็นคนจีนโพ้นทะเลเจเนอเรชั่นแรกที่ยังต้องการความบันเทิงเป็นภาษาจีนอยู่ ซึ่งฮ่องกงก็เป็นสถานที่เดียวที่ผลิตคอนเทนต์บันเทิงที่เป็นภาษาจีนโดยไม่มีการเซนเซอร์ เพราะอย่างจีนก็เป็นประเทศปิดอยู่ช่วงใหญ่ๆ ส่วนไต้หวันก็ยังมีประเด็นการเมืองที่ยังต้องจัดการ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงเลยสามารถยืนอยู่ได้เรื่อยๆ กระทั่งปี 1995 เมื่อไต้หวันเริ่มเปิดประเทศ และค่ายหนังจากสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็น Warner Bros., Fox, Disney และ Universal ต่างก็ถาโถมเข้าสู่ไต้หวันพร้อมกันในปีเดียว ปรากฏว่าในปีนั้นส่วนแบ่งทางการตลาดหนังจีนร่วงลงจาก 70 เปอร์เซ็นต์เหลือแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ตลาดหนังจีนในไต้หวันล้มเลย หลังจากนั้นอุตสาหกรรมหนังฮ่องกงก็เริ่มตกต่ำลงเรื่อยๆ
จนปี 2004 จีนก็เริ่มเปิดให้มีการ co-production กับฮ่องกง หมายความว่าหนังฮ่องกงที่ผลิตร่วมกับจีนจะสามารถฉายในเมืองจีนได้ ผู้กำกับฮ่องกงเลยไปทำหนังที่จีนกันหมด ทำไมออสเตรเลียถึงไม่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะคนที่ทำหนังดีๆ เล่นหนังดีๆ และพูดภาษาอังกฤษ เขาก็ไปฮอลลีวูดกันหมด ส่วนถ้าคุณพูดภาษาจีน ก็แน่นอนว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งทุกคนก็อยากจะไปทำหนังที่นั่นกันหมดเพราะทุนมันเยอะกว่า แม้ว่าพอไปทำหนังที่จีนจะต้องเจอกับเซนเซอร์เยอะก็จริง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เปิดโลกให้กับผู้กำกับหนังฮ่องกงอีกเยอะมาก เพราะอย่างหนังฮ่องกงเมื่อก่อนหากไม่เป็นหนังบู๊ก็ต้องเป็นหนังตลก แต่ถ้าคุณไปเมืองจีนคุณสามารถทำหนังประวัติศาสตร์ได้ ทำหนังเกี่ยวกับสังคมได้ อย่าง American Dreams in China (2013) กับ Dearest (2014) ก็ไม่ใช่หนังที่สามารถทำได้ที่ฮ่องกงนะ การไปทำหนังที่จีนมันเลยเปิดโอกาสเยอะมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดเยอะมากเช่นกัน
ในบทสัมภาษณ์กับบางกอกโพสต์ คุณบอกว่าคุณชื่นชอบหนังเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ แต่หนังในช่วงหลังๆ ของคุณดูจะเป็นหนังใหญ่ ต้นทุนสูง คุณคิดอยากจะกลับไปทำหนังเล็กๆ แบบที่ชื่นชอบอีกไหม
จริงๆ สองปีก่อนผมก็มี Dearest ที่เป็นหนังเล็กๆ และละเอียดอ่อนนะ แต่ผมคิดว่าผู้กำกับในทุกยุคสมัยต่างก็ทำหนังที่สะท้อนถึงตัวตนและสังคมที่เขาอยู่ พูดให้เจาะจงหน่อยผมคิดว่า ในสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ผมทำหนังที่ตั้งคำถามถึงชีวิตและสังคมที่ผมอยู่ ถึงสิ่งที่ผมอยากหาคำตอบ แต่ว่าในชีวิตจริงผมหาคำตอบไม่ได้ ผมเลยทำหนังเพื่อที่จะหาคำตอบเหล่านี้ เพียงแต่มันก็ไม่ได้แปลว่าพอทำหนังแล้วเราจะหาคำตอบได้เสมอไปนะ เพราะไม่ใช่ว่าทุกปัญหาในชีวิตจะมีคำตอบรออยู่เสียหน่อย ซึ่งการทำหนังในแง่หนึ่งมันก็เหมือนการบำบัดนั่นแหละ
ผมคิดว่าแม้ว่าผมจะทำหนังในตลาดจีนที่ต้องการหนังใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องมองหาจุดที่จะสามารถบาลานซ์ประเด็นส่วนตัวของผมและความละเอียดอ่อนต่อชีวิตกับความเป็นหนังเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งหากพิจารณาจากหนังเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา ผมคิดว่าตัวเองทำตรงนี้ได้ดีนะ ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนเลยที่ผมรู้สึกเสียใจที่ต้องทำ ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนเลยที่ผมรู้สึกว่าสูญเสียตัวตนไป หนังของผมจะอยู่ระหว่างความเป็นหนังเชิงพาณิชย์กับความเป็นหนังส่วนตัวอยู่เสมอ
ในฐานะที่คุณเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์มานาน คุณมองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคนี้มีความท้าทายกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคก่อนไหม มีอะไรที่คุณอยากจะบอกผู้กำกับรุ่นใหม่ไหม
ผมคิดว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคใหม่ยากก็จริง แต่ในแง่หนึ่งมันก็ง่ายขึ้นนะ เพราะการถ่ายหนังเดี๋ยวนี้ถูกกว่าเมื่อก่อนมาก คุณใช้ไอโฟนก็ถ่ายหนังเรื่องหนึ่งได้แล้ว อีกอย่างคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคนี้ไม่ได้แข็งแรงเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ในขณะเดียวกันคุณก็จะพบว่า มีบริษัทสตรีมมิงยักษ์ใหญ่อยู่แค่ไม่กี่เจ้าที่ควบคุมธุรกิจสตรีมมิงอยู่ ซึ่งมันก็อาจจะแย่พอๆ กับระบบสตูดิโอสมัยก่อนนั่นแหละ
แต่ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วคนที่มีความเชื่อมั่นก็ยังมีโอกาสเยอะอยู่นะ คำแนะนำเดียวที่ผมมีคือยังไงคุณก็ต้องทำหนังที่ตัวเองเชื่อ เพราะถ้าคุณไม่เชื่อ พอทำออกมามันก็จะยิ่งแย่ ยิ่งเป็นผู้กำกับใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้เรียนรู้เทคนิคอะไรอีกเยอะแยะที่จะสามารถทำหนังให้ดีขึ้นได้ เทคนิคเดียวที่คุณมีแน่ๆ คือความเชื่อมั่น เชื่อมั่นในบทของคุณ เชื่อมั่นในตัวคุณเอง นี่แหละคือคำแนะนำเดียวที่ผมมอบให้คุณได้จริงๆ