เกร็ดสนุกของขนส่งสาธารณะในภาพยนตร์ฮอลลีวูด

Highlights

  • กลุ่ม MAYDAY! ชวนสังเกตระบบขนส่งสาธารณะในภาพยนตร์เรื่องดัง ซึ่งไม่เพียงฉายภาพอดีตและปัจจุบัน แต่ยังฉายภาพอนาคตที่เราอยากให้เป็นได้อีกด้วย

ภายใน / โรงภาพยนตร์ / กลางวัน

ผู้คนนับร้อยกำลังจับจ้องไปยังจอภาพยนตร์ แสงสีบนจอขับเน้นอารมณ์ให้เข้มข้นไปทั่วทั้งบริเวณ เสียงจากลำโพงดังกระหึ่มชวนใจระทึก ร่วมรู้สึก ร่วมหัวเราะ ร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน

วัฒนธรรมการดูหนังอยู่คู่กับชีวิตของคนไทยมายาวนานเกือบร้อยปี บันทึกวิถีชีวิตของผู้คนไว้หลากหลายทศวรรษ เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อันแสนจะมีชีวิตชีวา เมื่อใดที่ขนส่งสาธารณะปรากฏตัวขึ้นในหนังก็จะมีความหมายอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์แห่งชนชั้นในสังคม ยังเป็นภาพสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละเมืองด้วย ทุกครั้งที่ดูหนังในฐานะชาว MAYDAY! เราจึงหมั่นสังเกตอยู่เสมอว่าผู้กำกับแต่ละคนมองขนส่งสาธารณะเป็นแบบไหน

ไม่ใช่เพียงความโรแมนติกบนรถไฟในเครือข่ายของ Eurail ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถเดินทางอย่างไม่จำกัดด้วยรถไฟจากบริษัทรถไฟที่เข้าร่วมจาก 28 ประเทศในยุโรป อันเป็นจุดเริ่มต้นที่พาให้ Jesse และ Célineใน Before Sunrise (1995) มาพบรักกัน แต่หนังสายลับอย่าง Bourne ซึ่งมีมาแล้วหลายภาคหลายตอน (The Bourne Identity (2002), The Bourne Supremacy (2004), The Bourne Ultimatum (2007), Bourne Legacy (2012) และ Jason Bourne (2016)) ก็ใช้เมืองทั่วยุโรปเป็นฉากในการไล่ล่าห้ำหั่นกัน ขนส่งสาธารณะจึงได้รับบทเป็นอีกตัวละครสำคัญของบรรดาฉากแอ็กชั่นในหนังด้วย ซึ่ง Tony Gilroy หนึ่งในทีมเขียนบท ใช้เวลานับสัปดาห์เดินสำรวจและใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเบอร์ลิน เพื่อนำโครงข่ายระบบการเดินทาง จุดเชื่อมต่อต่างๆ ในเมืองมาใช้ประโยชน์ในเรื่อง แม้จะยุ่งยากซับซ้อนมากแต่ก็ให้เสน่ห์ที่หนังเรื่องอื่นๆ ไม่กล้าเสี่ยงทำ อย่างที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีกับการได้เห็นตัวละครในหนังไม่ว่าจะในบ้านเราหรือหนังฮอลลีวูด ใช้รถยนต์สัญจรไปไหนมาไหนกันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากข้อจำกัดด้านโปรดักชั่น การขออนุญาตใช้รถสาธารณะซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอนสารพัด ค่าใช้จ่ายอีกเพียบ ไหนจะเกณฑ์ตัวประกอบมาเข้าฉาก ไหนจะต้องปิดถนนเส้นทางที่รถสาธารณะวิ่งผ่าน ไหนจะปัจจัยอื่นๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม ผู้กำกับหลายคนจึงตัดปัญหาด้วยการใช้รถยนต์แทน ซึ่งเป็นทางออกที่ให้ประโยชน์สองต่อ เพราะยังเปิดโอกาสให้หนังหรือซีรีส์เรื่องนั้นๆ ขายโฆษณาให้บริษัทรถยนต์ได้อีกด้วย

แต่กับหนังไซไฟที่ว่าด้วยโลกอนาคตหรือโลกในจินตนาการซึ่งเราสามารถออกแบบสาธารณูปโภคต่างๆ ได้ด้วยตัวเองก็อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ตัวอย่างที่นึกออกเร็วที่สุดก็คงหนีไม่พ้นรถจักรไอน้ำสไตล์วินเทจที่พาแฮร์รี่ พอตเตอร์ เดินทางจากชานชาลาที่ 9 ¾ ของสถานีรถไฟลอนดอนคิงส์ครอสสู่สถานีฮอกมี้ดส์ที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ แม้โลกเวทมนตร์จะมีรถเมล์อัศวินราตรี กุญแจนำทาง หรือเครือข่ายผงฟลู สำหรับบรรดาผู้วิเศษที่รวดเร็วฉับไวกว่าก็ตาม แต่หากพิจารณาแล้วก็คงต้องนับว่ารถไฟเป็นการเดินทางพื้นฐานอันปลอดภัยที่สุด สำหรับพ่อมดแม่มดน้อยมือใหม่ที่ยังไม่ได้เรียนรู้เวทมนตร์นั่นเอง (ซึ่งใน Pottermore ยังมีเพิ่มเติมข้อมูลว่านอกจากนี้ยังมี ชานชาลาที่ 7 ½ สำหรับรถไฟระยะไกลที่จะวิ่งไปยังหมู่บ้านผู้วิเศษทั่วยุโรปอีกด้วยนะ)

วากานด้าก็ให้ความสำคัญแก่ขนส่งสาธารณะเช่นกัน แม้จะเป็นประเทศสมมติในหนังเรื่อง Black Panther (2018) ก็ตาม ท่ามกลางท้องถนนของ Golden City ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นทรายและแผงลอย คนเดินเท้าเบียดเสียด แต่ก็มีรถรางดีไซน์ล้ำๆ วิ่งผ่ากลางถนนให้เห็นด้วย รวมถึงไฮเปอร์ลูปที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูงซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นพาหนะที่นำคนจากชานเมืองเข้ามากลางใจเมือง Ryan Coogler ผู้กำกับซึ่งเติบโตมาในเมืองโอ๊กแลนด์ แคลิเฟอร์เนีย จึงนำระบบของ BART (Bay Area Rapid Transit) มาไว้ในเรื่องด้วย Hannah Beachler โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของหนังเรื่องนี้เล่าว่า รถรางเปรียบเสมือนภาพตัวแทนของการเดินทางในเมืองในอนาคตนั่นเอง แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือฉากชนบทของวากานด้าก็ยังไม่มีขนส่งสาธารณะเหล่านี้แต่อย่างใด เหมือนกับที่ประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาที่มีเส้นทางรถไฟเลียบชายฝั่งทะเล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการขนส่งทรัพยากรมากกว่าจะเพื่อการเดินทางของประชาชน

ขยับเข้ามาใกล้กับชีวิตจริงอีกนิด สำหรับหนังที่ว่าด้วยโลกอนาคตอันใกล้อย่าง Her (2013) ซึ่งถ่ายทอด L.A. อีกหลายสิบปีข้างหน้าออกมาอย่างนุ่มละมุนชวนฝัน ที่สำคัญคือตัวละครเดินทางไปทั่วเมืองด้วยขนส่งสาธารณะระบบรางที่ทีมเขียนบทถึงกับทำแผนที่เส้นทางขึ้นมาจริงๆ โดยคาดการณ์สถานีจุดจอดในอนาคตว่าโซนไหนของเมืองที่จะเจริญขึ้น ถนนบางสายก็ถูกเปลี่ยนเป็นเส้นทางของรถไฟรางเบาแทน แถมยังลากเส้นทางที่ไม่เชื่อมต่อกับสนามบินสักทีให้มีจุดจอดที่สนามบินถึง 3 จุด เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพอนาคตที่ผู้คนในเมืองน่าจะมีค่านิยมในการใช้ขนส่งสาธารณะเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมรถยนต์อันแข็งแกร่งของสหรัฐฯ 

ขนส่งสาธารณะพาเราเข้าไปยังโลกแห่งจินตนาการและโลกอนาคตมาแล้ว ก็ยังพาเรากลับไปหาอดีตได้อีกด้วย เพราะขนส่งสาธารณะเป็นตัวประกอบฉากที่ไม่ต้องมีบทใดๆ ก็แย่งซีนได้เสมอ ในเมื่อมองปราดเดียวก็รู้ว่ารถเมล์คันนี้ รถไฟรุ่นนี้ใช้งานในยุคสมัยไหน London Bus Museum จึงไม่ได้ทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและรถเมล์แต่ละรุ่นที่ให้บริการเท่านั้น แต่ยังเก็บรักษารถเก่าแก่ในแต่ละยุคเป็นอย่างดี เมื่อใดที่หนัง ละครย้อนยุคต้องการสร้างความสมจริงบนท้องถนนของลอนดอนก็เรียกตัวรถเหล่านี้มาเข้าฉากได้แบบเป๊ะๆ ไม่มีโป๊ะ เช่น รถเมล์สีแดงสองชั้นที่ให้บริการใน ค.ศ. 1934 ก็ได้มาวิ่งประกอบฉากในหนังเรื่อง The King’s Speech (2010) นั่นเอง แถมทางพิพิธภัณฑ์ยังมีทีมงานที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวรถ บรรยากาศบนท้องถนนไปจนถึงเครื่องแบบของพนักงาน แสดงให้เห็นถึงมุมมอง และการให้คุณค่าต่อขนส่งสาธารณะของชาวอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยม

หากว่าโลกนี้คือละคร หนังก็คือภาพสะท้อนมุมมองที่เรามีต่อสรรพสิ่งที่ทั้งใกล้และไกลตัวเรา การนำเสนอภาพผู้คนใช้งานขนส่งสาธารณะไม่ว่าจะแน่นขนัด หรือปลอดโปร่งโล่งสบาย พาหนะสุดล้ำหรือแสนวินเทจ ล้วนทำหน้าที่ต่างกระจกเงาที่ชวนให้เราหมั่นสำรวจโลกที่เรามองเห็นและโลกที่เราอยากให้เป็นได้อย่างน่าติดตามและชวนขบคิดต่อแม้ end credit จะปรากฏขึ้นบนจอแล้วก็ตาม

อ้างอิง

citylab.com
citymetric.com
gizmodo.com
mobilitylab.org
pottermore.com
thestranger.com
wired.com

AUTHOR