เสียงเพลง วัฒนธรรม และเรื่องราวเบื้องหลังเพลงประจำสถานีรถไฟในญี่ปุ่น

Highlights

  • ใครเคยโดยสารรถไฟใต้ดินญี่ปุ่นน่าจะคุ้นกับเสียงเพลงสั้นๆ ระหว่างรถไฟเข้าจอดในแต่ละสถานี เสียงเพลงเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นในปี 1844 ที่ Charles-Valentin Alkan นักเปียโนชาวฝรั่งเศสประพันธ์เพลงเพื่ออวยพรผู้โดยสารรถไฟให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย บริษัทเดินรถของเอกชน Keihan Electric Railway ของญี่ปุ่นจึงหยิบไอเดียที่ว่ามาออกแบบเพลงสั้นๆ เพื่อสายรถไฟของตัวเองบ้าง
  • ต่อมา บริษัทรถไฟแต่ละเจ้าจึงตั้งอกตั้งใจออกแบบเมโลดี้สั้นๆ ความยาวไม่เกิน 7 วินาที (jingle) เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับสายรถไฟของตัวเอง โดยแต่ละสถานีมักมีเพลงประจำของตัวเองโดยเฉพาะ และมักบ่งบอกถึงความเป็นท้องที่หรือมีความสำคัญกับสถานที่นั้นๆ
  • นอกจากเสียงเพลงจะเป็นกิมมิกที่น่ารัก มันยังสะท้อนหัวใจการให้บริการของญี่ปุ่น เพราะทำให้ผู้โดยสารรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนได้โดยไม่ต้องละสายตาจากกิจกรรมส่วนตัว แถมยังเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับชาวต่างชาติเพราะดนตรีเป็นภาษาสากล

ใครเคยโดยสารรถไฟใต้ดินญี่ปุ่นน่าจะคุ้นเสียงเพลงสั้นๆ ระหว่างรถไฟเข้าจอดในแต่ละสถานี เพียงช่วงเวลาไม่กี่วินาที เสียงเหล่านี้ทำหน้าที่เตือนผู้โดยสารให้รู้ว่ารถไฟกำลังเข้า (และออกจาก) ชานชาลา บางคนอาจคิดว่าเสียงเพลงประจำสถานีถูกเลือกมาแบบไม่ได้ตั้งใจ เชื่อเถอะว่าในวัฒนธรรมญี่ปุ่นไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องบังเอิญ

ย้อนกลับไปไกลในปี 1844 Charles-Valentin Alkan นักเปียโนชาวฝรั่งเศสประพันธ์เพลง Le chemin de fer (‘The Railroad’) เพื่ออวยพรผู้โดยสารรถไฟ ให้ถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและมีความสุขกับการเดินทาง

Le chemin de fer ถือเป็นเพลงแรกที่มีความหมายโดยตรงเกี่ยวกับการโดยสารรถไฟ แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางเมื่อบริษัทเดินรถของเอกชน Keihan Electric Railway ของญี่ปุ่น จับไอเดียที่ว่ามาเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบเสียงเพลงสั้นๆ เพื่อใช้ในสายรถไฟของตัวเองเป็นครั้งแรกในปี 1971

ก่อนหน้านั้นสายรถไฟในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังอยู่ในความดูแลของรัฐ (Japanese National Railways (JNR)) และนิยมใช้เสียงกระดิ่งเพื่อส่งสัญญาณ ต่อมาเมื่อรัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในระบบขนส่งรถไฟ การใช้เมโลดี้สั้นๆ ความยาวไม่เกิน 7 วินาที (jingle) แต่มีเอกลักษณ์จึงกลายเป็นความท้าทายใหม่ของแต่ละบริษัทเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับสายรถไฟของตัวเอง

รถไฟ ญี่ปุ่น

credit: pixabay.com

โดยปกติแล้ว การพัฒนาเมโลดี้ประจำสถานี  (หรือที่เรียกกันตามแบบญี่ปุ่นว่า eki-melo, 発車メロディ) มักเป็นการแต่งเมโลดี้ขึ้นใหม่เพื่อมอบให้สถานีโดยเฉพาะ แต่ก็มีเหมือนกับที่ถูกตัดตอนมาจากเพลงที่มีอยู่ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สถานี Takadanobaba ใช้เมโลดี้จาก Astro Boy การ์ตูนชื่อดัง เพราะเป็นสถานีที่อยู่ของอาจารย์ Tezuka Osamu นักวาดการ์ตูนดังเจ้าของผลงาน หรือสถานี Ebisu ใช้เมโลดี้ที่มาจากเพลงประกอบหนังดัง The Third Man (1949) เพลงนี้เคยใช้ในโฆษณาดังทางโทรทัศน์ของบริษัท Ebisu beer มาก่อน

Tokyo Metro เคยให้คำตอบเกี่ยวกับการออกแบบเสียงเมโลดี้ประจำสถานีว่า “ต้องการให้ผู้โดยสารมีความรู้สึกร่วมกับการโดยสารรถไฟ และมีความผูกพันกับสถานีที่เป็นทั้งทางผ่านและจุดหมายปลายทางจึงเลือกเพลงที่บ่งบอกความเป็นท้องที่หรือมีความสำคัญกับสถานีนั้นๆ”

เว็บไซต์ Japan Experience เล่าอีกเหมือนกันว่าเมโลดี้ประจำสถานีเป็นหนึ่งใน ‘หัวใจการบริการของญี่ปุ่น’ (Sense of service – Omotenashi) เพราะทำให้ผู้โดยสารรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนได้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องละสายตาจากกิจกรรมส่วนตัว การใช้เสียงเพลงนอกจากจะทำให้ผู้โดยสารมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น ยังเป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับชาวต่างชาติเพราะดนตรีเป็นภาษาสากล

eki-melo เป็นส่วนประกอบสำคัญของวัฒนธรรมเสียงในญี่ปุ่น (Japanese soundscape) เห็นได้ว่าญี่ปุ่นมักใช้เสียงเพลงเพื่อประกอบใช้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เสียงนกร้อง (birdsong) ที่เล่นระหว่างเปิดไฟเขียวบนทางม้าลาย สื่อถึงความสงบท่ามกลางเมืองที่วุ่นวาย การใช้เสียงเพื่อส่งความหมายยังเป็นที่นิยมกันมากในห้างร้านและธุรกิจต่างๆ เพราะเป็นจุดขายที่สามารถสร้างภาพจำให้แบรนด์ของตัวเองได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

รถไฟ ญี่ปุ่น

credit: Condé Nast Traveler

น่าสนใจว่าเสียงเพลงพวกนี้ไม่ใช่ว่าแต่งกันเองได้ง่ายๆ แต่มักได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทที่เชี่ยวชาญงานด้านนี้โดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น เพลงประกอบเส้นทางรถไฟสาย Tozai line ได้รับการออกแบบโดย Minoru Mukaiya อดีตมือคีย์บอร์ด จากวงดนตรี jazz fusion ชื่อดัง Casiopea

รถไฟ ญี่ปุ่น

credit: straitstimes.com

ปัจจุบัน eki-melo ไม่ใช่แค่คำอวยพรให้โชคดีแต่เป็นสีสันสำคัญของประเทศญี่ปุ่น เจ้าสิ่งนี้ได้รับความนิยมมากถึงขนาดมีเว็บไซต์ที่เก็บรวบรวมเพลงของแต่ละสถานี (ยกตัวอย่างเช่น eki.weebly.com/yamanote-line.html ของรถไฟสาย Yamanote Line)

นอกจากนี้ eki-melo ยังถูกนำมาประยุกต์และบรรจุลงในของที่ระลึกต่างๆ ทั้งพวงกุญแจและนาฬิกาปลุก สำหรับชาวญี่ปุ่นที่นึกถึงบ้านหรือชาวต่างชาติที่อยากเก็บความทรงจำไว้ในรูปของเสียงเพลงอีกด้วย

 

อ้างอิง

contemporarystandard.com
japan-experience.com

AUTHOR