ทำไมคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมจะสนุกไม่ได้ คุยกับก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ จากช่อง Konggreengreen

เมื่อพูดถึงคอนเทนต์สิ่งแวดล้อม เชื่อว่าบางคนคงจะรู้สึกว่าเนื้อหาแบบนี้มีวิธีเล่าเรื่องที่ไม่หลากหลายนัก

กระทั่งเราได้รู้จักกับ Konggreengreen รายการทาง YouTube และ TikTok ของ ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการโปรดักชั่น ที่อยู่ๆ ก็ผันตัวมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ยืนยันได้จากรางวัล The Best Green Change Maker Influencer จากเวที Thailand Influencer Awards เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

แม้ว่าชื่อเสียงและรางวัลจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราอยากพูดคุยกับก้อง แต่ควบคู่ไปด้วยกัน คือความสงสัยที่ว่า อะไรคือแรงผลักดันให้ชายหนุ่มคนนี้ตัดสินใจผันตัวเองมาเป็นนักสร้างสรรค์คอนเทนต์สายสิ่งแวดล้อม

“เราคิดว่าคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมมันก็สนุกได้นะ” ก้องเอ่ยประโยคนี้กับเราในระหว่างการสัมภาษณ์

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สงสัยเหมือนกับเราว่า คอนเทนต์สิ่งแวดล้อมมันจะสนุกได้ยังไง แล้วการแยกขยะมันช่วยโลกได้จริงมั้ย เราอยากชวนคุณอ่านบทสนทนาระหว่างเรากับ Konggreengreen ด้านล่างนี้

ทราบมาว่าคุณกำลังทำรายการ Greenative ซึ่งเป็นรายการพอดแคสต์ที่พูดเรื่อง creativity กับ sustainable อยากให้คุณช่วยแนะนำรายการนี้สักหน่อย

Greenative มาจากคำว่า Green + Creative โดยเราจะพูดเรื่องราวของความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยให้โลกยั่งยืนขึ้น เพราะทีมงานเชื่อว่า การที่โลกจะดีขึ้นได้ไม่ใช่เกิดจากผู้บริโภคและจิตสำนักเพียงเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากต้นทางด้วย นั่นคือ ‘ผู้ผลิต’ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตสินค้าหรือบริการ เพราะถ้าเราสามารถแก้หรือคิดระบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้ตั้งแต่ต้นทาง มันก็น่าจะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงผู้บริโภค มันก็มักจะเป็นเรื่องของปลายทางมากกว่า รายการ Greenative เลยพยายามชักชวนผู้คนในวงการออกแบบมาพูดคุยกันว่า เราจะสามารถปรับใช้ความคิดสร้างสรรค์ยังไงให้มีความรักษ์โลกมากขึ้น

เรียกได้ว่าเป็นคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมนั่นแหละเพียงแต่เจาะไปในเรื่อง environmental design ซึ่งเป็นเทรนด์โลกในตอนนี้

ใช่ เราหวังว่ามันจะกลายเป็นไอเดียและแรงบันดาลใจให้กับบรรดาผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ๆ หรือ SME ขนาดเล็ก เพื่อให้พวกเขาได้ลองคิดและลองปรับสักนิด เช่น แทนที่จะออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้เตะตาไว้ก่อน เขาก็อาจคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

จำได้ว่าเมื่อก่อนคุณไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของคุณมันเกิดขึ้นได้อย่างไร

เราไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่เรารู้ว่าตัวเองเป็นคนแยกขยะมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สิ่งหนึ่งที่เราทำมาตลอดคือการเอาหนังสือพิมพ์ที่บ้านไปขายที่ร้านรับซื้อขยะ ซึ่งพอไปที่นั่นปุ๊บ เราก็จะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ของเรามันเปลี่ยนเป็นเงินกลับมา แล้วเราก็เห็นอีกด้วยว่าที่ร้านนั้นยังมีขยะอื่นๆ อีกที่มีคนเอามาขาย ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก หรือกระดาษลัง เราก็เลยคิดว่า สิ่งเหล่านี้ถ้ามันขายได้ก็แปลว่ามันมีประโยชน์สินะ แล้วสิ่งที่เราไม่ได้แยกไปขายล่ะ มันไปไหน นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากแยกขยะ ยังไม่ได้คิดไปถึงเรื่องโลกร้อนอะไรหรอก

จุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งเกิดขึ้นตอนที่เราได้มีโอกาสไปอยู่อเมริกาช่วงสั้นๆ ซึ่งเจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่นั่นเขาบังคับให้เราต้องแยกขยะ กล่องนม กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ซึ่งถ้าห้องไหนไม่แยกก็จะโดนปรับ แล้วข้างล่างอพาร์ตเมนต์มันก็มีถังแยกไว้ชัดเจน เรารู้สึกว่า มันก็ดีนะที่ใช้วิธีการบังคับแยกขยะกันแบบนี้ เพราะมันเกิดขึ้นได้จริง แล้วคิดดูว่า จากคนที่มาจากประเทศที่ทิ้งยังไงก็ได้อย่างเรา ต้องมาอยู่ในสังคมที่ต้องทิ้งขยะอย่างถูกต้อง ซึ่งพอโดนบังคับเราก็ทำได้ พอกลับมาเมืองไทยเราก็เลยอยากแยกขยะ

บางครั้งเวลาไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน เราก็มักจะติดนิสัยของคนประเทศนั้นๆ มา สักพักนิสัยเหล่านั้นจะหายไป แต่ทำไมพอคุณกลับมาไทยแล้วนิสัยการแยกขยะกลับไม่หายไปล่ะ

คนไทยมักจะบอกว่าประเทศอื่นดี แต่เราก็ไม่ทำ ซึ่งมันก็ถูกนะที่เขาบอกว่า ประเทศจะดีขึ้นได้ก็ต้องดีขึ้นด้วยระบบ เพราะฉะนั้นคนออกแบบระบบก็ต้องทำระบบให้ดี ตรงนี้เราเห็นด้วยเลย เพียงแต่บางทีระบบของเรามันก็แก้ยากนะ บางทีคนออกแบบระบบเขาก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะต้องออกแบบระบบยังไง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ช่วยทุเลาไปได้ก่อนก็มาจากการกระทำของเรานี่แหละ เผลอๆ บางทีต้องทำก่อนระบบด้วยซ้ำ อย่างตอนนี้ที่คนหันมาแยกขยะกันเยอะๆ เราเชื่อนะว่าอีกไม่นานจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบขึ้น เห็นเลยว่าคนเริ่มออกเงินค่าส่งขยะกันเอง สั่งจุดนัดรับขยะกันเอง เอกชนมีตู้นัดรับขยะตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งประเทศอื่นเขาไม่มี เพราะระบบจัดการขยะของเขาคือรัฐจัดการ แต่ประเทศเราคือประชาชนทำกันเองล้วนๆ เราเลยรู้สึกว่า ถ้าเราไม่ทำมันก็ไม่เปลี่ยน ซึ่งถ้าเราอยากจะเห็นประเทศดีขึ้นเราก็ต้องทำเพื่อให้คนที่ออกแบบระบบเขาเห็น 

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ส่งผลกับเรามากคือการได้ทำรายการชื่อ The Green Diary ซึ่งเป็นรายการที่จะพูดเรื่องวิธีการรักษ์โลกผ่านแขกรับเชิญต่างๆ ที่เขามีเทคนิคแตกต่างกันไป มีร้านกาแฟที่สามารถลดแก้วและลดหลอดได้ มีแม่บ้านที่สามารถแยกขยะได้เป็นสิบๆ ชนิด เรารู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้เก็บเกี่ยวความรู้จากการทำรายการนี้ เพียงแต่พอมาคิดว่าเราเป็นคนทำรายการที่กำลังบอกกับคุณผู้ชมว่าต้องรักษ์โลกนะ แต่เรากลับไม่ทำเสียเอง มันรู้สึกอาย เราก็เลยเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองตั้งแต่นั้น เริ่มบังคับคนในออฟฟิศมากขึ้น เช่น บอกให้คนในออฟฟิศเลิกใช้หลอด เตรียมปิ่นโต กล่องข้าว กระบอกน้ำเตรียมไว้ให้น้องๆ ในออฟฟิศใช้ จนลามไปถึงกองถ่ายเพราะเราทำงานสายโปรดักชั่น เช่น แทนที่จะแจกขวดน้ำให้กับทีมไฟ เราก็แจกเป็นกระติกน้ำให้แทน มีโซนแยกขยะ และโซนแยกขยะจากกล่องข้าว รวมถึงการไม่ใช้ช้อนส้อมพลาสติก เพราะเราอยากทดลองด้วยตัวเอง ถามว่ายากขึ้นมั้ย มันก็ยากขึ้นนะ แต่ถามว่ามันเป็นไปได้มั้ย มันก็เป็นไปได้ 

คุณเองก็มีอาชีพเป็นพิธีกรมานาน หลายคนอาจมองว่าอาชีพนี้แค่พูดไปตามสคริปต์ที่คนอื่นเตรียมให้ แต่เหมือนคุณจะเชื่อเรื่องการลงมือทำด้วย ทำไมการลงมือทำถึงมีพลังกับการเล่าเรื่องมากกว่าการพูดเฉยๆ  

อาจเป็นเพราะเราโตมากับรายการสารคดี ไม่ใช่พิธีกรรายการบันเทิงวาไรตี้ ซึ่งทีวีบูรพาที่เป็นเสมือนโรงเรียนที่สอนเราในเรื่องนี้ เขาจะสอนให้โฮสต์ทุกคนต้องเข้าใจการเล่าจริงๆ ไม่ใช่การยื่นสคริปต์ให้พิธีกรพูด แต่จะให้พิธีกรทำข้อมูลเอง คุยกับผู้ใหญ่บ้าน อบต. และชาวไร่ชาวนาด้วยตัวเอง เพื่อที่พิธีกรจะได้อินและมีคำถามที่มาจากความอยากรู้ของพิธีกรเอง เราน่าจะเรียนมาแบบนั้น พอมันถูกสอนให้เล่าเรื่องด้วยความเชื่อจริงๆ มันก็เลยบ่มเพาะว่า พอเราเชื่อ เราก็ต้องทำ เราไม่อยากเป็นคนที่พูดอะไรแบบนกแก้วนกขุนทองน่ะ 

ตอนแรกที่เริ่มบอกใครๆ ให้แยกขยะ คนรอบตัวคุณงงกันมั้ยทำไมคุณถึงสนใจเรื่องนี้

อาจเพราะเราไม่ได้มีแฟนคลับอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ก็เลยไม่มีใครสงสัยอะไร เพียงแต่เป็นเราเองต่างหากที่กังวล เพราะตอนแรกที่เราจะใช้ชื่อ Konggreengreen น่ะ มันดูเป็นคำที่ง่ายมากเลยนะ แต่จำได้ว่าเรานั่งคุยกับน้องคนหนึ่งแล้วเขาก็บอกว่า เราเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงเหมือนกันนะ เขาบอกว่า พี่แม่งโคตรมั่นหน้าเลยที่ใช้ชื่อนี้ พี่กรีนแค่ไหนวะ (หัวเราะ) เรามั่นใจแค่ไหนว่าเรากรีนวะ แล้วถ้าวันหนึ่งเราเดินถือถุงพลาสติกล่ะ คนจะเดินมาชี้หน้าเรามั้ยว่า Konggreengreen ใช้พลาสติก เพียงแต่เราก็รู้สึกว่า ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลยนี่ เราไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นพระเจ้าหรือศาสดา เพราะเรารู้สึกว่าเราจะเป็นคนที่ฝึกไปพร้อมๆ กับคนดู เรามีโอกาสที่จะตอบคนว่าไม่รู้ด้วยซ้ำ อย่างทุกวันนี้มีคน inbox เข้ามา ก็มีนะที่เราตอบไปตรงๆ ว่า เรื่องนี้ผมไม่มีข้อมูลเลยครับ หรือ เดี๋ยวผมจะไปหาข้อมูลมาให้นะครับ หรืออย่างข้อมูลทุกวันนี้ที่เราแนะนำไป มันก็อาจมีวิธีที่ดีกว่าเพียงแต่เรายังไม่รู้ เราก็เลยมองว่า โอเค เราไม่ได้ตั้งตัวว่าตัวเองเป็นคนกรีน 100% แต่เราแค่พยายามที่จะกรีนเพื่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับคนที่ทำงานในสายโปรดักชั่นอย่างเข้มข้นมานาน คุณเรียนรู้อะไรจาก TikTok บ้าง

เราได้เรียนรู้ว่าสำหรับ TikTok แล้ว หัวใจคือเมสเสจ ถ้าไปดู TikTok ของเราในช่วงแรกๆ จะเห็นความคราฟต์นะ เพราะเราทำอะไรที่คิดว่าดีจากที่เคยร่ำเรียนมา เพียงแต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกันนะว่าเพราะอะไร เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นอยู่หรือเปล่า หรือเพราะคนเข้ามาใน TikTok เขาอยากเห็นอะไรที่มันเรียลๆ แล้วยิ่งเรากำลังจะทำให้คนเชื่อว่า เราสามารถแยกขยะในชีวิตประจำวันได้นะ แต่เรากลับไปปรุงแต่งวิธีการนำเสนอ มันก็ยิ่งจะทำให้เรายิ่งห่างจากคนดูหรือเปล่า 

เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราลองมองข้ามวิธีการแต่งตัวแต่งหน้าไป แต่เมสเสจยังคงอยู่ ทำให้มันง่ายที่สุด แกะสูตรว่าอะไรคือสาเหตุที่คนดูยังอยู่กับเราต่อในวินาทีแรกๆ อะไรที่ทำให้เขาอยากแชร์ต่อ อยากกดไลก์ อยากที่จะคอมเมนต์พูดคุยกับเราต่อ หัวข้อแบบไหนที่คนอยากรู้คำตอบ เรารู้สึกว่าโล่งขึ้นมากเลยนะพอยกขนบต่างๆ ออกไป ลดอคติที่เคยดูแคลนคนทำคอนเทนต์ในแพลตฟอร์มอื่นๆ ว่าเขาไม่คราฟต์ พอลบอคติเหล่านั้นออกไปเราเลยรู้สึกว่า คุณค่ามันมีอยู่นะ เราเลยลงทุนกับการทำคลิปที่ใช้ทั้ง budget ของลูกค้าและทีมงานเพื่อจะบอกเมสเสจหนึ่งออกไป แต่กับ TikTok เราใช้ทรัพยากรน้อยมาก ใช้แค่ตัวเองคนเดียวในการคิด พรีเซนต์ เมสเสจเดียวกันเลย แต่คนอาจดู TikTok มากกว่าคลิปนั้นด้วยซ้ำ แล้วคนก็ส่งต่อไปทางไลน์ แชร์กันในครอบครัว ซึ่งก็ช่วยให้เขาทิ้งขยะได้อย่างถูกต้อง เรารู้สึกว่าผลลัพธ์มันดีกว่าด้วยวิธีการที่ไม่เหมือนกัน แต่มันเป็นไปตามจุดประสงค์เดียวกัน เรารู้สึกว่ามันโล่งขึ้นเยอะเลย เราไม่ได้จะบอกว่า TikTok จะมาแทนที่แพลตฟอร์มอื่นๆ นะ แต่เรารู้สึกว่ามันมีหลายวิธีที่ไม่ต้องไปยึดติด โลกมันไปไวมาก ทุกวันคือการทดลอง คลิปหนึ่งอาจเคยได้ผลในวันนี้ แต่พอเป็นอีกวันมันก็อาจไม่ได้ผลแล้ว

ความโล่งที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ย้อนกลับไปนิดนึงคือทุกวันนี้เรายังคงทำงานโปรดักชั่นอยู่นะ ยังผลิตโฆษณาและยังคงใช้วิธีการทำงานแบบเดิมอยู่ ซึ่งเราก็รู้สึกว่ามันยังคงต้องมีอยู่ มันมีค่า การถ่ายทอดคอนเทนต์ออกมาด้วยคุณภาพระดับที่ยังต้องมีทีมงานอยู่มันมีเสน่ห์ที่ต่างกับ TikTok ซึ่งเราก็ไม่ได้บอกว่าTikTok มีคุณค่าน้อยกว่าโปรดักชั่นใหญ่ๆ แล้วเราก็ไม่ได้บอกว่าโปรดักชั่นใหญ่ๆ มีประสิทธิภาพน้อยกว่า TikTok มันแค่ใช้งานต่างกัน แต่ที่บอกว่าโล่งคือเราหาวิธีมานาน ซึ่งพอเราเป็นคนทำคอนเทนต์ เราก็อยากให้คนเข้าถึงมัน มันเหมือนเราเจออาวุธอีกอันหนึ่งที่มันเวิร์กน่ะ เรามีอาวุธหลากหลายขึ้น เพราะ TikTok ก็ไม่ใช่อาวุธที่เหมาะกับทุกคอนเทนต์ คำว่าโล่งของเราคือ เมื่อก่อนเราจะหมดไปกับการแต่งหน้าแต่งตัวน่ะ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้สึกว่ามีทางเลือกมากขึ้น สำหรับคนเล่าเรื่องน่ะ สิ่งสำคัญคือคนฟัง ต่อให้เราเล่าดีแค่ไหนแต่ถ้าไม่มีคนฟังมันก็เหนื่อย

จะว่าไปแล้วคำว่า greengreen มันก็ทำให้เรานำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมได้หลายมุม แต่ทำไมคุณถึงยังโฟกัสแค่เรื่องขยะล่ะ

เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำจากชีวิตประจำวันจริงๆ เราเริ่มต้นจากเรื่องขยะจริงๆ ส่วนเรื่องอื่น เช่น การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ พลังงาน เสื้อผ้า เราก็พูดถึงบ้าง แต่ก็พยายามศึกษาอยู่ ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งเราทำเรื่องอื่นๆ ได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะเหมือนการแยกขยะ เราก็คงพูดถึงมันมากขึ้น เราคิดว่าจะเบสออนสิ่งที่เราทำจริงๆ มากกว่า

แต่จริงๆ ก็มีคนแย้งเราเยอะนะ อย่างบางคนที่เขาอาจยังไม่พร้อมที่จะปรับเขาก็จะรู้สึกว่าเรากำลังนำความลำบากไปให้ชีวิตเขา อย่างคำถามที่เจอบ่อยคือ แยกทำไม เดี๋ยวเขาก็ไปเทรวมกันอยู่ดี ไปจนถึงคนที่เชื่อว่าโลกร้อนไม่มีอยู่จริงน่ะ คิดว่าเป็นเรื่องแต่งขึ้น เราตกใจมากเหมือนกันที่ได้รู้ว่ามีคนคิดแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่หาข้อมูลดีๆ เราก็จะ convince คนยาก สิ่งที่เรากำลังทำคือการเชิญชวนคนน่ะ ไม่ได้สร้างความบันเทิงสุนทรี เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พิสูจน์ว่ามันเวิร์กและส่งผลกระทบต่อโลกจริงๆ มันก็พูดยากนะ

คุณคิดว่าการทำคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมให้สนุกมันช่วยโลกยังไง

มันก็ท้าทายนะ สมมติว่าเราย้อนไปสัก 5 ปีแล้วตอนนั้นเราคิดว่า มาทำรายการสิ่งแวดล้อมกันเถอะ ภาพในหัวจะเป็นยังไงล่ะ ต้นไม้ ขี่จักรยาน เพลงจะต้องเรียบร้อยๆ หน่อย ใช่มั้ย แต่เราก็จะคิดว่า มันสนุกได้ปะวะ ขยะมันก็เป็นเรื่องในชีวิตประจำวัน เราไม่ต้องมาเรียบร้อยใส่กันก็ได้ อย่างโลโก้เราก็เอาหน้าตัวเองไปใส่ในถังขยะ หรือเพื่อนเราก็ไม่ใช่แค่ต้นไม้ แต่เป็นหนู แมลงสาบ (หัวเราะ) มันก็สนุกได้ หรือบางทีเราก็เต้นบ้าง เพียงแต่เราจะเอาขยะมาอยู่ในการเต้นยังไง คนมาดูเราเพราะเราเต้นไปด้วย บอกเรื่องขยะไปด้วย ซึ่งมันก็ได้ทั้งความสนุกไปด้วย ได้ความรู้ไปด้วย ถามว่ามันมีประโยชน์ต่อโลกมั้ย เราคิดว่าอะไรก็ตามที่มันเป็นเมสเสจที่มีประโยชน์แล้วคนฟัง เราว่ามันก็มีประโยชน์ต่อโลกแหละ

คุณเพิ่งได้รางวัล The Best Green Change Maker Influencer จากเวที Thailand Influencer Awards รางวัลนี้มีความหมายกับคุณยังไง

เราไม่คิดว่าคำว่าอินฟลูเอนเซอร์จะมาผูกกับชีวิตเราเหมือนกัน แล้วเอาจริงๆ แค่คนที่ทำสื่อเรื่องสิ่งแวดล้อม มันมีคนเก่งๆ อยู่มากเลย มีคนที่เหมาะสมที่จะได้มากมาย เราเลยรู้สึกว่า ไม่ว่าใครจะได้รางวัลมันก็ดีหมดแหละ เพียงแต่สิ่งที่มันมีความหมายกับเรามากๆ คือ มันดีจังที่คอนเทนต์แบบนี้มีคนฟังแล้ว มันไม่ใช่ว่าคนเพิ่งจะเริ่มมาทำรายการสิ่งแวดล้อมนะ รายการสิ่งแวดล้อมมันมีมานานมากแล้วแต่ไม่มีใครจดจำได้เลย ไม่มีใครให้รางวัล แต่ตอนนี้มันมีพื้นที่ตรงนี้แล้ว เรารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่สำคัญสำหรับเรา

มันอาจเป็นเพราะจำนวนคนที่สนใจเรื่องนี้มันกว้างขึ้นด้วยหรือเปล่า สมัยก่อนคอนเทนต์สิ่งแวดล้อมจะมีพื้นที่ของเขา เมื่อเราอยากสื่อสารเรื่องนี้กับคนหมู่มาก มันเหมือนจะมีกำแพงใหญ่ๆ ที่คนทำเรื่องสิ่งแวดล้อมจะต้องก้าวข้ามไป แต่ยุคนี้มันเหมือนกำแพงตรงนี้หายไป

ถูกต้องเลย เมื่อก่อนถ้าเราพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็จะนึกถึง activist กลุ่มคนที่มารณรงค์กันจริงจัง แต่จริงๆ แล้วมันไม่จำเป็นต้องถึงขั้นนั้นเลย มันมีหลายดีกรีของการขับเคลื่อนน่ะ อาจเป็นเพื่อนมานั่งจับเข่าคุยกันก็ได้ กำแพงมันบางลงแล้ว คนพร้อมจะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้นแล้วจริงๆ

เชื่อว่าคุณคงรู้จักคนในสายสิ่งแวดล้อมมาพักใหญ่ๆ เลยอยากรู้ว่าเฉพาะเรื่องขยะในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวอะไรที่น่าสนใจสำหรับคุณบ้าง

ในเชิงระบบใหญ่เราขอพูดว่ายังไม่มีข้อมูลแล้วกัน แต่ถ้าในภาคปฏิบัติของประชาชนและเอกชนน่ะ เราเห็นการขับเคลื่อนที่โตไวมากๆ มันมีเพจนัดรวมกันเพื่อเอาขยะไปทิ้ง เช่น ขยะกำพร้า คือขยะที่ไม่มีใครรับไปรีไซเคิล ขายไม่ได้ แต่เป็นขยะที่มีเกิดขึ้นในชีวิตเยอะมาก เช่น ถุงแกง ถุงขนม ซองเครื่องปรุง แต่เดี๋ยวนี้มันมีคนที่ทำความสะอาดคร่าวๆ รวบรวมไว้ แล้วก็นัดวันรับกันเป็นจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพื่อจะเอาขยะพวกนี้ไปเผา RDF คือการเผาเพื่อสร้างพลังงาน ซึ่งมันช่วยเซฟขยะที่จะไปกองที่บ่อขยะได้หลายตันเลยนะ เรารู้สึกว่ามันมีกิจกรรมแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ซึ่งก็มาจากการลงขันกันเองนี่แหละ นอกจากนี้ก็เริ่มมีเอกชนมาตั้งตู้รับบริจาคขยะประเทศต่างๆ ซึ่งเขาก็จะช่วยหาวิธีไปจัดการต่อ เรารู้สึกว่าประเทศไทยของเรากำลังจะสะอาดขึ้นจากภาคประชาชน รอแค่ระบบที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายกว่านี้ ที่เราจะไม่ต้องออกทุนกันเอง ลำบากกันเอง ถ้าระบบการจัดการขยะมันง่ายกว่านี้ มันก็คงจะเห็นผลในเชิงรูปธรรม

ฟังเรื่องของก้องเต็มๆ ได้ทาง a day talk EP.01
.
YouTube : youtu.be/tWLlaosbugQ
Spotify : spoti.fi/3BOkEsF
Apple Podcasts : apple.co/3k4sOYe
SoundCloud : bit.ly/3BKiydp
Podbean : bit.ly/3EMtb18
Website : adaymagazine.com/a-day-takk-ep1-konggreengreen

AUTHOR