คุยกับ มาดามอลิซาเบธ ยูทูบเบอร์ไทยที่ดังในไต้หวันจากคลิป “ผัดกะเพราห้ามใส่ใบโหระพา!”

ช่วงปีหลังๆ มานี้มีคนไทยที่มาเรียนและทำงานในไต้หวันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าพูดถึงคนไทยที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไต้หวันคงมีอยู่ไม่กี่คน และคนที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้คงหนีไม่พ้น เต่า–ก้องเกียรติ ลิ่มพงศธร ที่คนไต้หวันรู้จักกันในชื่อ Alizabeth 娘娘 หรือ มาดามอลิซาเบธ

ชื่อของ ‘มาดามอลิซาเบธ’ เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ต้นปี 2020 จากคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่พูดถึงผัดกะเพราในไต้หวันที่ใส่ใบโหระพากับมะเขือเทศ มันกลายเป็นไวรัลในหมู่คนไต้หวันที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ากะเพราเป็นชื่อของพืชที่ใช้ในเมนูอาหารนี้ ไม่ใช่แค่ชื่อเมนูอย่างเดียว

หลังจากนั้นในช่อง Alizabeth 娘娘 ก็มีคอนเทนต์วิดีโอตามมาอีกมากมาย จากเริ่มแรกที่ถ่ายในห้องของตัวเองจนถึงมีสตูดิโอถ่ายเป็นกิจจะลักษณะ จุดเด่นที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือความง่ายของคอนเทนต์ที่มีเพียงมาดามอลิซาเบธนั่งพูดถึงหัวข้อต่างๆ อยู่หน้ากล้อง เช่น อาหารไทยที่ไม่มีอยู่จริงในประเทศไทย ทดลองชิมอาหารไต้หวันประเภทต่างๆ ไปจนถึงรีวิวนิสัยแปลกๆ ของคนไต้หวันที่คนต่างชาติไม่เข้าใจ แม้น้ำเสียงเหมือนจะโมโหอยู่ตลอดเวลาแต่เพราะสลับกับเสียงหัวเราะคนดูเลยเข้าใจว่าเป็นการแสดงกึ่งจริงจังกึ่งล้อเล่น และเป็นอารมณ์ขันแบบไทยๆ ที่ขึ้นชื่อในหมู่คนไต้หวันที่สนใจในวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว

ในระยะเวลาแค่ปีกว่าๆ มาดามอลิซาเบธกลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์ชาวต่างชาติที่คนไต้หวันรู้จักและติดตาม ได้ร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ๆ ในไต้หวัน ออกพ็อกเก็ตบุ๊ก ไปจนถึงได้ถ่ายรูปร่วมเฟรมกับประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน

วันนี้เราเลยอยากชวนคนไทยมาทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น ในฐานะอดีตคนทำงานสื่อที่มีทักษะภาษาจีนเป็นอย่างดี สู่นักศึกษาปริญญาโท คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) ผู้วางแผนอยากเรียนต่อปริญญาเอกและทำงานสายวิชาการ แต่กลับจับพลัดจับผลูมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์คนดังในต่างแดน

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเริ่มทำคลิปแรก

เราเรียนจบปริญญาโทช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 ใช้เวลาเรียนอยู่ 3 ปีครึ่ง ตอนแรกอยากเรียนต่อปริญญาเอก แต่ตอนที่เรียนจบมันเลยช่วงที่รับสมัครปริญญาเอกมาแล้วเลยคิดว่าจะกลับไทยก่อนเพื่อไปเป็นอาจารย์ แต่พอเดือนเมษายนปุ๊บ โควิด-19 ระบาดหนักมากจนกลับไทยไม่ได้ เงินก็จะหมด เราเลยคิดว่าต้องหางานที่ไต้หวัน

ตอนแรกก็ยื่นสมัครงานหมดเลยทั้งนักข่าว ผู้จัดการดารา ซึ่งเป็นงานที่เราเคยทำมาก่อนแต่ไม่มีใครรับเลย สุดท้ายอาจารย์ของเราบอกว่าเราเคยเป็นนักข่าว ตัดต่อเป็น จบงานเองได้หมด เขาเลยแนะนำว่าทำไมไม่ทำงานคอนเทนต์ด้วยตัวเองล่ะ มันก็เป็นอาชีพ ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ไม่ได้ต้องกลับไปสู่วงจรอุตสาหกรรมสื่อที่ต้องผลิตไปเรื่อยๆ ตามสั่ง เราก็เลยเริ่มถ่ายคลิป

กระบวนการทำงานในแต่ละคลิปเป็นยังไงบ้าง

งานตอนนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการทำแพลตฟอร์มของตัวเอง คือทำวิดีโอที่ลงในยูทูบ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมของเรา เป็นงานที่ต้องทำตลอดเพื่อเพิ่มคนดู เพิ่มเอนเกจเมนต์ งานอีกส่วนจะเป็นงานนอกแพลตฟอร์ม คือการออกโทรทัศน์ ให้สัมภาษณ์ และไปอีเวนต์ต่างๆ 

ถ้าการอัดคลิปของเราเอง ต้องยอมรับว่างานของเราเป็นงานทุนต่ำ เพราะเราเชื่อว่าคนดูต้องการอะไรเร็วๆ คลิปเราก็จะตัดเร็วๆ ฉับๆๆๆ แล้วเอาฟุตเทจมาต่อๆ กัน สัปดาห์หนึ่งอาจจะถ่ายครั้งหนึ่ง ครั้งละประมาณ 3 คลิป 

ส่วนไอเดียการทำคลิปเราก็คิดเอง ยกเว้นบางคลิปเท่านั้นที่มีคนช่วย สิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือคอนเทนต์ต้องเป็นสิ่งที่เราชอบ เราเป็นคนไม่ดูฟีดแบ็กคนดูเพราะไม่อยากให้มันมากระทบกับคอนเทนต์เรา เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ที่เราจะทำต้องเป็นสิ่งที่เราชอบหรือสร้างคุณค่า สร้างโอกาสให้กับเรา 

คิดว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนไต้หวันชอบดูคลิปของคุณ

ที่ไต้หวันมียูทูบเบอร์ชาวต่างชาติเยอะมากและทุกคนจะแสดงออกว่าเลิฟไต้หวัน แต่เราไม่เหมือนกัน คอนเทนต์เราจะออกแนววิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไต้หวันดีอยู่อย่างหนึ่งตรงที่มี freedom of speech คนไต้หวันยอมรับข้อมูลได้ทุกด้าน หลายคนเขาก็รู้สึกโอเคกับการที่มีคนมาแซวในสิ่งที่คนไต้หวันเป็นจริงๆ น่าจะเป็นจุดนี้ที่ทำให้คนไต้หวันมาติดตามเรา

พูดตรงๆ แบบไม่โลกสวย คนไต้หวันก็เหมือนคนไทย ดีใจเวลาได้รับการยอมรับจากต่างชาติ ยิ่งถ้าเวลาคนในประเทศที่พัฒนากว่ามาชมก็ยิ่งดีใจ ถ้าประเทศที่เรารู้สึกว่าด้อยกว่ามาชมก็อาจจะเฉยๆ แต่เมื่อไหร่ที่ประเทศที่เรามองว่าด้อยกว่ามาวิจารณ์เราเนี่ย เราจะรู้สึกว่า เอ๊ะ เธอเป็นใคร?

ต้องยอมรับก่อนว่าภาพคนไทยของคนไต้หวันส่วนมากคือเป็นภาพแรงงานที่มาทำงานในประเทศเขา ถ้าเราชมคนไต้หวันเขาก็จะรู้สึกว่า ใช่ไง ไอดีกว่ายูอยู่แล้ว ไม่เหมือนเวลาคนญี่ปุ่น คนเกาหลี หรือคนอเมริกาชม เราคนไทยไปชมเขามันธรรมดามาก พอเราซึ่งเป็นคนไทยทำคอนเทนต์ที่วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไต้หวันเขาเลยรู้สึกว่าเราแตกต่าง

ในมุมมองของคุณ ความเป็นไต้หวันคืออะไร

ความเป็นไต้หวันคือความงงแต่ไม่งง อย่างคำว่าไทยมันมีภาพชัดเจน มีวัดพระแก้ว ต้มยำกุ้ง แต่ภาพไต้หวันจะมีความงงๆ ซึ่งไม่แปลกเลยที่จะงงเพราะเขามีความหลากหลายทางเชื้อชาติมาก ประวัติศาสตร์เขาหลากหลาย มีทั้งโปรตุเกส ญี่ปุ่น จีนแคะ หมิ่นหนาน แล้วก็ชนพื้นเมือง ไม่มีความเป็นกลุ่มก้อนชัดเจนที่เราสามารถอธิบายได้ว่าคืออะไร 

ไต้หวันอาจจะมีจุดที่เหมือนญี่ปุ่นแต่ก็มีความขงจื๊อ มีความเมืองโปรตุเกส บ้านเมืองใช้ภาษาจีนแต่ก็ดูเป็นญี่ปุ่นเหลือเกิน ตอบไม่ค่อยได้ว่าความเป็นไต้หวันคืออะไร มันเห็นเป็นก้อนกลมๆ แต่ไม่ชัดเจนว่าในนั้นมีอะไรอยู่บ้าง

ตอนนี้มีคนไทยอยากย้ายมาเรียนต่อหรือทำงานในไต้หวันเพิ่มขึ้นมาก รู้สึกยังไงกับเทรนด์นี้

มีสุภาษิตจีนหนึ่งพูดไว้ว่า “น้ำไหลลงข้างล่างแต่คนพยายามขึ้นข้างบน” มันบอกว่าโดยสัญชาตญาณแล้วไม่ว่ายังไงคนก็จะพยายามพาตัวเองไปสู่ที่ดีๆ เทรนด์นี้มันเลยเดาได้ว่าเกิดขึ้นเพราะคนไทยอยากย้ายไปสู่ที่ที่ดีกว่าเดิม ตัดเรื่องความรักชาติออกไปนะ

ทุกคนอยากมาเราก็เข้าใจ แต่ต้องมองความจริงด้วยว่ามันโหดร้ายกว่าที่เห็น ไม่ได้ง่ายแบบที่พูดกัน ถ้าตัดงานแบบที่เราทำออกไป พวกงานบริษัทมันก็มีโควตาอยู่ว่าในหนึ่งบริษัทจะต้องมีคนไต้หวันจำนวนเท่าไหร่ถึงจะรับคนต่างชาติได้ ต้องมีใบอนุญาตทำงาน มีการค้ำประกัน มีอะไรหลายอย่างมากกว่าแค่แพสชั่น โจทย์คือมีคนตั้งเยอะแยะ ทำไมต้องเป็นเราที่บริษัทเลือกและยอมทำใบอนุญาตทำงานให้ มันไม่ง่ายเลย คนไทยในไต้หวันหางานยากจะตาย มันไม่ใช่แค่คุณเก่งอย่างเดียวหรือตรงสายงานอย่างเดียว แต่มีปัจจัยและรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ต้องรู้

เราเองไม่สามารถพูดได้ว่า “คนไทยมาเลย หางานได้อยู่แล้ว” เพราะตัวเราก็ยังหางานไม่ได้เหมือนกันเลยมาทำคอนเทนต์อยู่แบบนี้ ยอมรับเลยว่าคนที่หางานได้คือคนที่เก่งมากๆ

หลายครั้งคอนเทนต์ในช่องของคุณพูดถึงประสบการณ์ไม่ดีในไต้หวัน ในความเป็นจริงแล้วคุณมีประสบการณ์ที่ดีหรือไม่ดีในไต้หวันมากกว่ากัน

จริงๆ ประสบการณ์ไม่ดีของเราไม่ได้เยอะขนาดนั้น ยอมรับว่าบางเรื่องที่เราเล่าไม่ได้เกิดกับเราโดยตรงแต่ได้ฟังมาอีกทีหนึ่ง ที่ประสบการณ์ไม่ดีของเราน้อยเพราะเราอยู่ในสังคมของคนมาเรียนต่อ จบมาทำงานวงการบันเทิง มันยากมากที่เราจะไปเจอคนที่ไม่สุภาพ จริงๆ สิ่งที่เราพูดในคลิปมันไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ด้วยนะแต่เราแอ็กชั่นให้มันดูใหญ่ (หัวเราะ)

ถ้าเรื่องที่ประทับใจที่สุดตั้งแต่มาอยู่คงเป็นเรื่องที่ทีมโซเชียลมีเดียของไช่-อิงเหวิน ชวนให้ไปถ่ายรูป หรือช่วงที่เขาลงรูปโปรโมตหนังสือให้เราในอินสตาแกรมของเขา เราดีใจเพราะเราเป็นผู้อพยพใหม่ เป็นคนต่างชาติ เป็น LGBTQ+ การที่เขามาหาเราแปลว่าเขามองเห็นคนกลุ่มนี้ ได้ยินเสียงของคนกลุ่มนี้ รู้สึกว่าเขาเป็นประธานาธิบดีที่มองเห็นคนทุกกลุ่มจริงๆ โอเค ส่วนหนึ่งมันอาจเป็นเรื่องของการเมืองเพราะฐานเสียงของเขาอาจจะตรงกับกลุ่มคนดูของเรา แต่นั่นก็แสดงว่าเขาอยากจะเข้าถึงกลุ่มพวกเรา พยายามสื่อสารว่าเขามองเห็นเรา มันเลยน่าประทับใจ

ส่วนที่ไม่ประทับใจที่สุดก็เป็นอาหารไทยแหละมั้ง (หัวเราะ) อาหารไทยที่ทำโดยคนไต้หวันเป็นอะไรที่ไม่ประทับใจอย่างแรง คอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารไทยที่เราทำมันเป็นเรื่องที่คนไทยในไต้หวันคุยกันอยู่แล้วว่าทำไมกะเพราใส่มะเขือเทศ ใส่ใบโหระพา ทำไมต้มยำใส่ผักอะไรไม่รู้เยอะไปหมด แล้วไหนจะเจียวหมาจี (泰式椒麻雞 เมนูไก่ทอดราดน้ำยำที่คนไต้หวันเข้าใจว่าเป็นอาหารไทย) นี่คืออะไร ไม่ใช่อาหารไทยสักหน่อย เราคุยกันตลอดแต่มันแค่ไม่มีใครพูดออกมาเป็นภาษาจีนให้คนไต้หวันฟัง

ช่วงหลังๆ คุณหยิบเรื่องของกินมาพูดถึงบ่อย ทำไมถึงเลือกของกิน

คนจะคิดว่าเราทำคอนเทนต์เรื่องของกินเพราะอยากขายของกิน แต่จริงๆ ที่สำคัญเลยคือช่วงโควิด-19 คนออกไปไหนไม่ได้ คนที่ทำคอนเทนต์อย่างเรายิ่งต้องทำคอนเทนต์ให้มากที่สุด เพราะพอคนอยู่บ้านแล้วไม่มีอะไรทำเขาก็จะมาดูเรา แต่คอนเทนต์ที่ออกไปกินไปเที่ยวเราก็ทำไม่ได้ ฉะนั้นโจทย์คือเราต้องทำคอนเทนต์ออกมาให้เร็วที่สุดในขณะที่ตัวเราก็ออกไปข้างนอกไม่ได้เหมือนกัน ซึ่งคอนเทนต์ที่ตรงกับโจทย์นี้แล้วยังตัดต่อได้เร็วก็คือคอนเทนต์ของกิน

เกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างทาง กว่าจะมีผู้ติดตามหลักแสนในไต้หวัน

จริงๆ สถานการณ์ของเรามันงงๆ ตอนแรกเราเคยคิดว่าจะต้องจริงจังถึงขั้นซื้อกล้องใหม่เลยไหม แต่มาคิดว่าเราเป็นคนขี้เกียจ ก็ถ่ายโดยที่นั่งเฉยๆ อยู่ในห้องนั่นแหละ และด้วยความที่เราเรียนสื่อสารมวลชนมา เรารู้ว่าคนดูให้เวลาแค่ 3 วินาทีต่อคลิป เพราะฉะนั้นคลิปสวย ภาพสวย ไม่จำเป็น มันดึงคนดูไม่ทัน คลิปแรกๆ ของเราเลยมีแค่เราพูดๆๆๆ ยาวแค่ประมาณ 40 วินาทีแล้วตัดจบเลย

ตอนนั้นเราแค่อัดคลิปบ่นผัดกะเพราในไต้หวัน อยู่ๆ ก็มีนักข่าว มีสื่อโทรมาสัมภาษณ์เต็มไปหมด ยอดคนดูก็เพิ่มขึ้นมา อยู่ๆ มันก็เกิดขึ้นเอง จะบอกว่าไม่ยากมันก็อาจจะฟังดูน่าหมั่นไส้ แต่ทุกอย่างมันก็เป็นแบบนี้ด้วยตัวของมันเองเลย

เราไม่คิดเลยว่าจะมาถึงจุดนี้ เราถ่ายคลิปเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็มีทีมงานของไช่-อิงเหวิน มาติดต่อว่าประธานาธิบดีของเขาอยากเจอ อยากมาถ่ายรูปด้วย มี Marie Claire, Burger King, Pizza Hut มาร่วมงานจนงงไปหมด เราไม่รู้ว่าอะไรทำให้เรามาอยู่ตรงนี้

อนาคตมีแพลนปรับเปลี่ยนอะไรในด้านการงานอีกไหม

ถ้าเปลี่ยนเรายังไม่รู้ แต่เราอยากต่อยอด เพราะโลกสมัยนี้มันไวมาก คนไปไวมาไว เราต้องสร้างคุณค่าให้ตัวเองมากขึ้น เราไม่ได้หวังว่าจะไปสุดขอบฟ้าเป็นแบบหลินจื้อหลิง (นางแบบและนักแสดงชาวไต้หวัน) แต่เราก็อยากอยู่ตรงนี้นานๆ แล้วใช้โอกาสที่มีไปต่อยอดทำธุรกิจ ตอนนี้เราต้องสร้างยอดวิว สร้างฐานคนดูให้แน่นก่อนแล้วค่อยไปคิดขยายเพิ่มเติม

ตอนแรกเราไม่ค่อยเชื่อคำนี้แต่ตอนนี้เชื่อแล้วว่าอะไรที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ คือเราไม่ได้ปลื้มกับการที่มีคนมาชอบ เพราะเรารู้ว่าเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป แต่ที่เราแฮปปี้คือเงินเพราะมันเป็นกอบเป็นกำดี (หัวเราะ) พูดตรงๆ ว่าเราเคยเป็นหมาในระบอบทุนนิยมมาก่อน แต่งานนี้เงินมันเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไปดูเงินอาจารย์ไทยได้ 30,000 ต้นๆ เราไม่ได้ดูหมิ่นเงินน้อยนะเพราะงานอาจารย์ก็เป็นงานที่เราอยากทำ แต่ตอนนี้งานของเราเงินมันเยอะกว่ามาก ก็รู้สึกว่าหาเงินในสังคมทุนนิยมก่อนก็ได้ (หัวเราะ)

ถ้าทำได้ตอนนี้ก็ยังมีแพลนกลับไปเรียนปริญญาเอกอยู่เพราะชอบเรียนหนังสือ ชอบวิจัย อยากทำควบคู่กันไปเลยระหว่างนักวิชาการกับงานคอนเทนต์

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ