บ้างคึกคัก 24 ชั่วโมง บ้างปิดตัวแล้วเปิดสาขาใหม่ อัพเดตข่าวสารวงการร้านหนังสือไต้หวัน

Highlights

  • ปีนี้วงการหนังสือไต้หวันดูจะเริ่มต้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะ Taipei International Book Exhibition ที่ปกติจัดทุกต้นปีต้องยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
  • Eslite Dunnan Store ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงแห่งแรกของโลก กำลังจะปิดตัวลงในไม่กี่วันนี้เพราะหมดสัญญาเช่า และย้ายไปเปิดที่สาขาซิ่นอี้ใกล้กับตึกไทเป 101 แทน
  • การเปิดตัวร้านหนังสือ Causeway Bay Books สาขาไทเป ของนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง Lam Wing-kee หลังจากสาขาดั้งเดิมในฮ่องกงต้องปิดตัวลงเพราะเผยแพร่หนังสือที่ถูกแบนจากพรรคคอมมิวนิสต์

ปีนี้วงการหนังสือไต้หวันดูจะเริ่มต้นไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะ Taipei International Book Exhibition ที่ปกติจัดทุกต้นปีต้องยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็เกิดการเคลื่อนไหวบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญต่อวงการหนังสือไต้หวัน

อย่างแรกคือร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงแห่งแรกของโลก Eslite Dunnan Store กำลังจะปิดตัวลงในไม่กี่วันนี้เพราะหมดสัญญาเช่า เดาว่าตอนที่บทความนี้เผยแพร่ก็คงปิดตัวไปแล้วทาง Eslite หรือภาษาจีนเรียกว่า เฉิงผิ่น (誠品) คัดเลือกสาขาที่จะมาเปิด 24 ชั่วโมงแทน คือ Eslite Xinyi Store สาขาใหญ่ใกล้กับตึกไทเป 101  

ทั้งสาขาตุ้นหนานที่กำลังจะปิดและสาขาซิ่นอี้ที่กำลังจะเปลี่ยนตัวเองเป็นร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงต่างก็เป็นสถานที่โปรดในไทเปของเรา เราชอบไปเดินเล่นเวลาอยากได้บรรยากาศร้านหนังสือ เพราะต่อให้อ่านภาษาจีนไม่ออก บรรยากาศในนั้นก็พาให้คนรักหนังสืออารมณ์ดีขึ้นได้ไม่ยากเลย

ว่าแล้วก็อยากบันทึกความรู้สึกของตัวเองต่อสาขาตุ้นหนานสักหน่อย สาขานี้ตั้งอยู่ในย่านการค้าที่คนไต้หวันเรียกกันว่า ตงชวี (東區) เดินไม่ไกลจาก MRT สถานีจงเซี่ยวตุ้นหัว ทางออก 6 ทุกครั้งที่เราใช้บริการทางออกนั้นจะมีจุดหมายแค่ที่เดียวคือ Eslite Dunnan Store นี่เอง ยังมีรถเข็นขายขนมไข่ไต้หวันที่เรียกว่า จีตั้นเกา (雞蛋糕) ส่งกลิ่นหอมแทบทุกครั้ง แน่นอนว่าวันไหนหิวๆ เราก็เสียเงิน 20 ดอลลาร์ไต้หวันให้กับรถเข็นเจ้านี้ก่อนเดินถึงเป้าหมายทุกที 

Eslite Dunnan Store เปิดให้บริการเป็นสาขาแรกตั้งแต่ปี 1989 แต่ไม่ได้อยู่บนที่ตั้งปัจจุบัน ร้านเพิ่งย้ายมาเมื่อปี 1995 และเปิดบริการ 24 ชั่วโมงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999 ทันทีที่เข้าไปชั้น G กับชั้น 1 จะเป็นพื้นที่เหมือนห้างสรรพสินค้าทั่วไปที่เน้นขายสินค้าครีเอทีฟแบรนด์ของศิลปินชาวไต้หวัน, ชั้น B1 เป็นศูนย์อาหาร และชั้น B2 เป็นแผนกเครื่องเขียน ดนตรี และศิลปะ สำหรับเราชั้นนี้ก็เดินสนุกมากไม่แพ้แผนกหนังสือเลยล่ะ

พระเอกของเราตั้งอยู่บนชั้น 2 ซึ่ง Eslite อุทิศพื้นที่ทั้งชั้นให้กับแผนกหนังสือ เมื่อเดินเข้าไปจะเจอโซนหนังสือแนะนำทั้งภาษาจีนและภาษาต่างประเทศก่อน มองไปทางซ้ายมือเป็นแผนกนิตยสารที่ยังคงเรียกได้ว่าคึกคัก ตลาดนิตยสารไต้หวันยังเต็มไปด้วยนิตยสารท้องถิ่นและนิตยสารหัวนอกที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแปล และมีทั้งนิตยสารสอนภาษาสำหรับเด็ก แฟชั่น ข่าวสาร ศิลปะ ฯลฯ ต่อให้คนไต้หวันจะบอกว่าวงการนิตยสารไม่ได้บูมเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่คนไทยอย่างเราก็ยังขอยืนยันว่านี่ก็น่าอิจฉามากแล้วอยู่ดี

ขวามือจากทางเข้าแผนกหนังสือลึกเข้าไปเป็นทางเดินตรงกลาง ขนาบข้างด้วยชั้นหนังสือซ้าย-ขวา และมีทางเดินยกระดับอยู่ด้านนอกสุดของทั้งสองด้าน มีแผนกหนังสือศิลปะและหนังสือทำอาหารแยกออกไปต่างหาก ขนาดของแผนกหนังสือนี้น่าจะใหญ่ว่าร้านคิโนะคูนิยะ สาขาสยามพารากอน อยู่หน่อย แต่พิเศษตรงที่เปิด 24 ชั่วโมง จะฝังตัวอยู่ในร้านนานแค่ไหนก็ไม่มีใครว่า เราเองก็เคยลองมาเปิดๆ หนังสือสอนภาษาจีนอยู่จนถึงตี 3 เสร็จแล้วต้องเรียกแท็กซี่กลับบ้าน แค่เพราะอยากลองสัมผัสการอยู่ในร้านหนังสือจนดึกดื่น ถือเป็นประสบการณ์ที่คุ้มอยู่นะ 

ยิ่งพอเห็นข่าวว่าสาขานี้กำลังจะปิด ยิ่งรู้สึกดีใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ลองฝังตัวอยู่ในร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงแห่งแรกของโลกมาแล้ว

ส่วนสาขาซิ่นอี้ที่จะเป็นร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงแห่งใหม่ของไทเปมีจุดเด่นคือ ตั้งอยู่ในย่านการค้าเหมือนกัน แต่เป็นโลเคชั่นที่ในช่วงปกติจะพลุกพล่านไปด้วยคนไต้หวันและต่างชาติ ช่วงกลางวันก็มีทั้งไทเป 101 และห้างสรรพสินค้ารอบๆ พอตกกลางคืนก็มีผับบาร์กระจายตัวอยู่เต็มไปหมดในย่านนี้

แผนกหนังสือที่นี่ใหญ่กว่าสาขาตุ้นหนานเสียอีก ชั้น 2 เป็นโซนนิตยสารและหนังสือแนะนำ แซมด้วยเครื่องเขียนและครีเอทีฟแบรนด์นิดหน่อย ส่วนชั้น 3 เป็นแผนกหนังสือจริงจัง หนังสือแต่ละประเภทเหมือนมีห้องของตัวเอง ห้องถัดไปเป็นหนังสือประเภทต่างๆ กัน ที่สำคัญชั้นนี้ทั้งกว้างทั้งใหญ่ มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยหนังสือจนเดินหลงหาทางออกไม่เจอได้ง่ายๆ เลย และโซนชั้น 3 นี่เองที่ทาง Eslite จะเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

31 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายที่สาขาตุ้นหนานเปิดทำการถึงเที่ยงคืนวันที่ 1 มิถุนายน วันนั้นที่สาขาตุ้นหนานมีอีเวนต์มากมาย ทั้งลดราคา แจกลายเซ็นนักเขียน ขายของที่ระลึก เสวนา มินิคอนเสิร์ต ฯลฯ จนครึ่งชั่วโมงสุดท้ายก็มีสุนทรพจน์จากผู้บริหารที่จบท้ายด้วยการบอก “ฝันดีนะเฉิงผิ่นตุ้นหนาน” ก่อนจะปิดไฟร้านหนังสือที่ไม่เคยหยุดพักเลยกว่า 20 ปีมานี้ และย้ายไปสาขาซิ่นอี้ที่เปิด 24 ชั่วโมงต่อเนื่องทันทีหลังจากไฟของสาขาตุ้นหนานดับลง 

การเคลื่อนไหวอีกอย่างของวงการร้านหนังสือไต้หวันเมื่อปลายเดือนเมษายนคือ การเปิดตัวร้านหนังสือ Causeway Bay Books สาขาไทเป ของนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง Lam Wing-kee หลังจากสาขาดั้งเดิมในฮ่องกงต้องปิดตัวลงเพราะมีการเผยแพร่หนังสือที่ถูกแบนจากพรรคคอมมิวนิสต์

ร้าน Causeway Bay Books เปิดตัวหลังจากวิงคีย้ายมาไต้หวันได้ 1 ปี และได้รับเงินจากการ crowdfunding สูงกว่า 6 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน สูงกว่าที่ตั้งใจไว้กว่าเท่าตัว ในวันเปิดร้านวันแรกมีนักการเมืองไต้หวันหลายคนเข้าเยี่ยมชมและยังได้รับดอกไม้แสดงความยินดีจาก Tsai Ing-wen ประธานาธิบดีไต้หวัน แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น เพราะในช่วงที่อาศัยอยู่ไต้หวัน วิงคีก็ถูกข่มขู่คุกคามจากผู้ไม่เห็นด้วยหลายครั้ง รวมถึงถูกโจมตีด้วยการสาดสีแดงใส่ไม่กี่วันก่อนวันเปิดร้าน วิธีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับนักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงคนอื่นในไต้หวัน

ที่ไทเปร้านหนังสือของวิงคีตั้งอยู่ที่ MRT สถานีจงซาน ทางออก 3 อาคารเลขที่ 5-1 ชั้น 10 พื้นที่กะทัดรัดแค่พอให้ผู้ที่สนใจได้เลือกดูหนังสือต่างๆ ส่วนเคาน์เตอร์จ่ายเงินที่ดูแลโดยเจ้าของร้านชื่อดังตั้งอยู่อีกมุม บางครั้งเขาก็จะเซ็นหนังสือหรือถ่ายรูปคู่กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นภาพแปลกตาทีเดียวที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนขายหนังสือ

ความเคลื่อนไหวของร้านหนังสือทั้งสองได้รับความสนใจจากคนไต้หวันอย่างมาก ช่วงก่อนที่ Eslite สาขาตุ้นหนาน จะปิด ประธานาธิบดีไช่ก็เดินสายเยี่ยมชมทั้ง Eslite และ Causeway Bay Books พร้อมทั้งโพสต์ถึงร้านทั้งสองในโซเชียลมีเดียของเธอด้วย อาจเพราะหนังสือและการอ่านเป็นวัฒนธรรมของคนไต้หวัน เราตั้งข้อสังเกตนี้จากพิธีเปิดงาน Taipei International Book Exhibition ปี 2017 ที่ตอนนั้นมีโอกาสเข้าร่วมในฐานะสื่อมวลชน เลยได้เห็นว่าคนที่มาเปิดงานเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อการอ่านเป็นวัฒนธรรม ไม่ได้ผูกอยู่กับการศึกษาเพียงอย่างเดียว มันจึงไม่ใช่แค่เครื่องมือการเรียนการสอน แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม

นอกจากนั้นเรายังสังเกตว่าทั้งไทเปและเมืองอื่น นอกจากร้านหนังสือเชนสโตร์ใหญ่ๆ และร้านโลคอลเล็กๆ ที่ยืนหยัดอยู่ได้แล้ว ร้านหนังสือนอกกระแสหรือหนังสือเฉพาะทางก็ยังมีที่ทางของมัน อย่าง Causeway Bay Books ก็ดี หรือ moom bookshop ที่ขายโฟโต้บุ๊กโดยเฉพาะก็ดี หรือจะ Brilliant Time ร้านหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจระหว่างชาวไต้หวันกับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ดี

แม้ปีนี้จะไม่มี Taipei International Book Exhibition แต่วงการหนังสือและร้านหนังสือไต้หวันก็ยังถือว่าคึกคักทีเดียว

AUTHOR

ILLUSTRATOR

Jen.two

เจินเจิน นักออกแบบกราฟิกเเละนักวาดภาพประกอบ