หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา : ด้วยรัก ความตาย และหัวใจที่ไม่สลาย

นี่คือหนังสือที่ฉันเฝ้ารอที่สุดในรอบปีนี้ (ขออนุญาตลำเอียงกันโต้งๆ ในฐานะแฟนหนังสืออุรุดา) และเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนเฝ้ารอจะเห็นภาพชีวิตนักเขียนซีไรต์คนสำคัญ-ผู้จากไปก่อนกาล-อย่าง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผ่านตัวอักษรของ อุรุดา โควินท์ หญิงสาวคนรักที่เติบโตเป็นนักเขียนเต็มตัวแล้วในวันนี้

พูดกันตรงๆ ต่อให้ไม่รู้จักพวกเขาแม้แต่นิด พล็อตเรื่องผูกโยงเกี่ยวพันระหว่างความรักและความตายของชายหญิงคู่หนึ่ง ก็น่าดึงดูดพอแล้ว ทว่าครั้งนี้เราต่างรู้ดีว่าตัวอักษรที่บรรยายถึงบรรยากาศ ความสัมพันธ์ น้ำหวาน และน้ำตา ล้วนประกอบขึ้นจากความจริง… เธอชุบชีวิตมันขึ้นมาใหม่ ชีวิตของนักเขียนสองคนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วจึงกลับมาโลดแล่นบนหน้ากระดาษในรูปแบบนวนิยาย

เธอต้องกล้าแกร่งแค่ไหนกัน, ที่จะขุดคุ้ยหัวใจตัวเองเพื่อเขียนสิ่งเหล่านี้ ฉันได้แต่ถามตัวเองในฐานะคนทำงานเขียนและในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง

“พี่เชื่อว่าคนอ่านแล้วจะไม่ร้องไห้หรอก” อุรุดาเคยบอกไว้ เธอไม่ได้เขียนด้วยความรู้สึกเศร้าสร้อยที่สูญเสียคนรักให้ความตาย เธอเขียนอย่างคนที่ผ่านวันวัยนั้นมาแล้ว และเขียนด้วยใจที่อยากทำให้พี่กนกพงศ์ได้เกิดใหม่ในวรรณกรรม

แต่เชื่อฉัน คุณไม่จำเป็นต้องทำงานเขียน คุณก็น่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้สนุก เพราะมันคือนิยายรักดีๆ เรื่องหนึ่ง ผู้หญิงที่อยากเป็นนักเขียนได้มาพบรักกับนักเขียนหนุ่มคนดังแห่งยุค (ฟังดูกุ๊กกิ๊กใช่ไหม) ก่อนจะมาตั้งต้นชีวิตบทใหม่ในหุบเขาฝนโปรยไพร บ้านที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติเมืองใต้

ฉันใช้คำว่ามันคือ ‘นิยายรักดีๆ เรื่องหนึ่ง’ เพราะระหว่างอ่าน ฉันได้เฝ้ามองความสัมพันธ์ของสองนักเขียนที่มุ่งมั่นในเส้นทางสายนี้ ได้รู้จักตัวละครทั้งสองที่แสนมีเสน่ห์ ทั้งสองไม่ใช่คนแสนดี แสนจะเป็นมนุษย์ธรรมดาที่รักกัน ทะเลาะกัน อึมครึมใส่กัน คืนดีกัน ดูแลกัน ถ่ายทอดพลังงานแก่กัน (อย่างวาบหวาม) ประชดกัน วัดใจกัน และ…อยู่เคียงข้างกัน

ในความเชื่อที่แตกต่าง ทั้งคู่หลงรักงานเขียน ตั้งอกตั้งใจทำงานในบ้านหลังนั้น และสนับสนุนงานเขียนอีกฝ่ายด้วยวิธีการของแต่ละคน

ฟังดูโรแมนติก แต่ชีวิตไม่ง่ายและไม่เคยง่าย ฉันเห็นการดิ้นรนของทั้งสองในการจะดำรงชีวิตให้ดีที่สุด ฉันได้เห็นชีวิตชีวาที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนั้นที่ทั้งคู่ก่อร่างร่วมกัน ผ่านการตกแต่งบ้านด้วยสิ่งของละอันพันละน้อยสไตล์อุรุดา ผ่านอาหารการกินรสเข้มข้นของกนกพงศ์ (อ่านแล้วหิว) ผ่านการทำสวนเป็นกิจวัตร ผ่านเพื่อนฝูงมากหน้าหลายตา ผ่านต้นไม้ใบหญ้าและสายฝนในหุบเขาที่เป็นเพื่อนสนิท ชีวิตในสิ่งรอบข้างที่อุรดาฉายภาพให้เห็นคือฉากที่ฉันหลงรัก ไม่แพ้มวลความรู้สึกเข้มข้นของทั้งสอง

คล้ายจะเป็นภาพชีวิตประจำวันธรรมดาของคนคู่หนึ่ง แต่นัยที่สอดแทรกไว้นั้นมีความหมาย ทั้งเรื่องชีวิต ความรัก การงาน จิตวิญญาณ ความมุมานะ และความเป็นมนุษย์

ฉันเคยอ่านทั้งนิยายและเรื่องสั้นของอุรุดา ค่อนข้างชอบเรื่องสั้นจังหวะกระชับมากกว่านิยาย แต่จังหวะจะโคนของเรื่องนี้ต่างไปจากที่เคยได้อ่าน พอปรับตัวได้แล้วฉันก็เสพทีละบทอย่างกระหายรวดเดียวจบ นอกจากความจริงใจที่อุรุดามีให้คนอ่านทุกครั้ง (อ่านแล้วคุณจะรู้เอง) ครั้งนี้เธอทำให้ฉันเห็นการแตกดับและการเกิดใหม่ ผ่านช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ตัวละครทั้งสองได้ใช้ร่วมกัน ก่อนต้องจากกันตลอดกาล

รู้ตัวอีกที, น้ำตาฉันก็ไหล ไม่ไหลเป็นสาย หากยังเต็มตื้นอยู่ภายใน

ฉันนับถือหัวใจของนักเขียนหนุ่มที่ยึดการสร้างสรรค์งานชั้นดีเป็นสรณะของชีวิต ฉันยอมรับตรงนี้ว่าเคยได้ยินชื่อกนกพงศ์มาแสนนาน แต่ไม่เคยเปิดหนังสือของเขาอย่างจริงจัง เรื่องราวของเขาทำให้ฉันอยากเขียน-เขียนให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ฉันนับถือหัวใจของหญิงสาวคนรักอย่างเธอที่ทำทุกอย่างเพื่อดำรงชีวิตและเกื้อกูลกันและกัน นับถือที่เธอเลือกทางเดินนี้อย่างมุ่งมั่น ทั้งเรื่องความรักและการงาน ความทุ่มเทนั้นทำให้สุดท้ายแล้วจิตวิญญาณของเธอไม่ได้แหลกสลาย มันกลับแข็งแกร่ง หนังสือเล่มนี้คือหลักฐานนั้น มันคือผลงานชั้นดีที่ผลิดอกออกผลบนผืนดินชื่อประสบการณ์

ฉันไม่อาจรู้ ไม่อาจสัมผัสความรวดร้าวที่เธอเคยผ่าน แต่ฉันอยากเชื่อ ฉันเห็นวันเวลาที่เธอบอกเล่าตกตะกอนเป็นความทรงจำที่งดงาม

คำว่างดงามของฉันไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บปวด ชีวิตที่ผ่านพ้นม่านน้ำตาและกักเก็บความรู้สึกอันมีค่าไว้ได้ต่างหาก-ที่งดงามที่สุด เธอส่งต่อสิ่งนั้นมาสู่ใจคนอ่านผ่านตัวหนังสือได้หมดจด

ฉันหลงรักความรักที่ทั้งคู่มีต่อกัน หลงรักเพราะมันยังดูสดสวยแม้มีร่องรอยแหว่งวิ่น

และนั่นกระมัง สิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’

ความยากง่ายในการอ่าน: ถ้าคุ้นชินกับสำเนียงการเล่าของอุรุดาแล้วไม่มีอะไรยากเย็น ไม่ต้องปีนบันไดอ่าน แต่จะอ่านสนุกขึ้นถ้าคุณเคยอ่านเรื่องสั้นที่อุรุดาเขียนระหว่างใช้ชีวิตอยู่กับกนกพงศ์ ตามหาได้ในหนังสือของเธอชื่อ มีไว้เพื่อซาบ อีกเล่มที่ไม่แนะนำไม่ได้คือ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร หนังสือของกนกพงศ์ที่บันทึกถึงชีวิตการทำงานเขียน ณ ที่แห่งนั้น (เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช) ถือเป็นหนังสือสำคัญอีกเล่มของวงการทีเดียวล่ะ

AUTHOR