Doomscrolling อาการไถจอเสพข่าวร้ายรอวันโลกล่มสลายลงต่อหน้า

Highlights

  • ‘Doomscrolling’ (n.) มาจาก doom หายนะ บวกกับคำว่า scrolling รวมแปลว่า อาการไถเลื่อนหน้าจอ ผสมกันได้พฤติกรรมการไถจอดูว่าพวกเราจะฉิบหายวายป่วงขนาดไหนอย่างกังวลและหมกมุ่น
  • คำว่า Doomscrolling คือพฤติกรรมการเสพอินเทอร์เน็ตจนหลุดร่วงเข้าไปในหลุมดำแห่งเนื้อหาที่ชวนให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ กับความไม่แน่นอนในสถานการณ์ที่ไม่เห็นทางออก
  • สิ่งที่อันตรายจากพฤติกรรม Doomscrolling คือการที่เราติดลงไปในหลุมข่าวร้ายจนสิ้นหวังและทำให้สุขภาพจิตพังไปก่อน เมื่อเราเสพข่าวอย่างเข้มข้นรุนแรงติดต่อกันนานๆ ทุกๆ วัน อาจทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตไปเลย

หากผู้คนในอนาคตได้ย้อนกลับมาดูปี 2020 แน่นอนว่าไม่ใช่ปีที่ดีที่สุดของมนุษยชาติ 

เราต่างรู้สึกว่าปี 2020 ช่างเป็นปีที่น่าหวั่นใจ เต็มไปด้วยสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยาก แม้ในประเทศไทยจะมีสถานการณ์ไวรัสที่ดีขึ้นเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ แต่เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบในโลกนี้ที่ไม่รู้ว่ากำลังเคลื่อนไปทางไหน ชวนให้สิ้นหวังเหลือเกิน

หลายคนอาจตกอยู่ในสภาวะกังวลและใช้เวลาจำนวนมากในแต่ละวันไถหน้าจออ่านข่าวร้าย หยุดส่องดูตัวเลขที่น่าหวั่นใจไม่ได้ เราจึงขอชวนไปทำความรู้จักกับพฤติกรรมที่เรามีร่วมกันคือ Doomscrolling

Doomscrolling การไถหน้าจออ่านข่าวร้ายในโลก

‘Doomscrolling’ (n.) มาจาก doom หายนะ บวกกับคำว่า scrolling รวมแปลว่า อาการไถเลื่อนหน้าจอ ผสมกันได้พฤติกรรมการไถจอดูว่าพวกเราจะฉิบหายวายป่วงขนาดไหนอย่างกังวลและหมกมุ่น แม้รู้ว่าการอ่านข่าวแย่ๆ จะทำให้เรายิ่งเศร้า กังวล วุ่นวายใจ หงุดหงิด โกรธแค้นสุมไฟเข้าไปอีก 

คำว่า Doomscrolling เคียงคู่มากับคำว่า Doomsurfing คือพฤติกรรมการเสพอินเทอร์เน็ตจนหลุดร่วงเข้าไปในหลุมดำแห่งเนื้อหาเกี่ยวกับไวรัสโควิดและสถานการณ์โลก ชวนให้ไม่สบายกาย ไม่สบายใจจนอาจนอนไม่หลับกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์ที่ไม่เห็นทางออก และสายธารแห่งข้อมูลก็ทะลักล้นไม่มีหยุดนิ่งตลอดเวลาเช่นนี้

คำว่า Doom ถูกใช้ในบริบทของ ‘วันพิพากษาในวันสิ้นโลก’ หรือ Doomsday แสดงให้เห็นถึงความตระหนกต่อสถานการณ์ที่มากกว่าปกติ สะท้อนความกังวลในชีวิตประจำวันซึ่งลามไปถึงความหวั่นไหวในประเทศหรือโลกที่ล้วนอยู่เหนือการควบคุมของเรา

 

ระวังสุขภาพจิตเราจะพังก่อนโลกสลาย

ผู้เขียนเองก็สังเกตว่าปริมาณเวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตของตัวเองเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกไปจากข่าวร้าย เราได้สัมผัสบรรยากาศฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดบนโซเชียลมีเดียไปพร้อมๆ กัน ทุกๆ วันเราหมดเวลาหลายชั่วโมงเวียนว่ายไปในวัฏจักรข่าวที่น่าหงุดหงิด ความรู้สึกแง่ลบเข้มข้นต่อเนื่องจนอาจกระทบต่อสุขภาพจิต รวมทั้ง ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ดูขัดแย้งเปลี่ยนแปลงไม่รู้จบ ใน news feed มีข้อมูลมากมายเกินกว่าสมองของมนุษย์คนหนึ่งจะประมวลได้ทั้งหมด

สิ่งที่อันตรายจากพฤติกรรม Doomscrolling คือการที่เราติดลงไปในหลุมข่าวร้ายจนสิ้นหวังและทำให้สุขภาพจิตพังไปก่อน เพราะเมื่อเราเสพข่าวอย่างเข้มข้นรุนแรงติดต่อกันนานๆ ทุกๆ วัน เราอาจสรุปได้ว่าตัวเองช่างไร้อำนาจ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข อาจทำให้รู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตไปเลย

นิสัยชอบเสพข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ จนมีคำศัพท์ Mean World Syndrome’ ไว้เรียกอคติที่คนมักรับรู้ว่าโลกนั้นอันตรายกว่าที่เป็นจริงๆ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดจากการเสพข่าวร้ายและความรุนแรงผ่านสื่อเป็นระยะเวลานาน แต่เราต้องสนใจข้อมูลที่เป็นภัยต่อชีวิต เพื่อระวังภัย วางแผน และเตรียมตัว ยิ่งในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน ในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ การตื่นตระหนกอาจดีกว่าไม่เตรียมตัวอะไรเลย

นอกจากนี้ ในช่วงกักตัวทำให้หลายคนต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น ไม่ได้พบปะหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนรอบตัว ยิ่งทำให้สะสมความกังวลขุ่นเคืองใจและความโกรธนี้ไว้คนเดียว การได้แลกเปลี่ยนกับคนรอบตัวอาจช่วยบรรเทาความกังวลลงได้ หรืออย่างน้อยก็มีความสิ้นหวังร่วมกัน ยังดีกว่ารู้สึกสิ้นหวังอย่างโดดเดี่ยว

 

การรู้ข่าวร้ายช่วยให้เรามองเห็นจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข

เท่าที่ได้อ่านบทความเกี่ยวกับพฤติกรรม Doomscrolling ในบทความมักแนะให้เราหลุดออกจากวงจรของความหมกมุ่นเพราะสุขภาพจิตอาจพังในสถานการณ์แบบนี้แถมไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร บทความแนะนำให้รักษาสุขภาพจิต​ไว้ก่อนดีกว่า ห้ามตัวเองไม่ให้เสพเรื่องร้ายไม่ว่าจะด้วยการนั่งสมาธิ กำหนดชั่วโมงการใช้มือถือและเสพข่าว พักผ่อนจากการติดตามข่าวบ้างเป็นช่วง ไม่ต้องตามตลอดเวลา ออกไปเดินเล่น ฯลฯ ส่วนบทความอีกจำนวนหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่าโลกยังไม่แตก ยังไม่ต้องวิตกกังวลเกินเหตุ

ข่าวร้ายอาจช่วยให้เราเห็นความห่วยที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ชวนให้เราไปอ่านหนังสือ ดูหนัง เข้าใจสถานการณ์ ทำให้เราได้ครุ่นคิดสงสัย ชวนให้เกิดบทสนทนาและพิจารณาว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร ปัญหาบางอย่างใหญ่กว่าตัวเรามาก แม้จะนั่งสมาธิ เดินเล่น ปลูกผักสวนครัว หลับให้ลืมๆ ไปก็ไม่หาย การให้เลิกอ่านข่าวและหันมามองโลกในแง่ดีมันก็ไม่จบ เพราะปลายทางเราอาจทำได้มากกว่านั่งไถมือถือดูโลกนี้ล่มสลายลงต่อหน้า นอนหลับไป แล้วตื่นขึ้นมาใหม่ 

แม้ข่าวร้ายที่น่าหัวร้อนจะทำให้เราไม่สบายใจ อ่านแล้วทำให้ข่มตานอนหลับได้ยาก แต่ข่าวร้ายเหล่านั้นก็เป็นประตูบานแรกที่ทำให้เราได้เห็นปัญหาของโลก สถานการณ์คับขันและมีแต่ความไม่แน่นอนช่วยเผยให้เห็นระบบที่อ่อนไหว เห็นจุดบกพร่องที่อาจแก้ไขได้ เห็นอนาคตที่ริบหรี่จนน่าหวั่นใจ เห็นโอกาสที่เราเสียไปร่วมกัน จนทำให้อยากเปลี่ยนแปลงแก้ไข ชวนคนรอบตัวพูดคุยเพื่อร่วมกันหวังถึงระบบที่ดีกว่า เรียกร้องในสิ่งที่ควรจะได้ เรียกร้องเผื่อคนในอนาคตที่ยังไม่เกิด เผื่อพวกเราที่ยังไม่ตาย ยังต้องมีลมหายใจต่อไปในโลกนี้ เผื่อคนที่ไม่มีโอกาสเรียกร้องเพื่อตัวเอง คนที่กำลังลำบากและเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ยากเย็นเหลือเกิน

ข่าวร้ายอาจไม่น่ารัก ไม่ดีต่อใจ แต่ช่วยให้เราสงสัย อย่ารีบตัดสินว่ารู้ไปก็ทำอะไรไม่ได้ ไม่เกิดประโยชน์ แต่ข่าวร้ายนั้นอาจนำมาซึ่งความตื่นรู้ ความสงสัย และการเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน อย่าเพิ่งหมดหวังนะ 🙂

 

อ้างอิง

Doomscrolling Is Slowly Eroding Your Mental Health

Doomsurfing and Doomscrolling Meaning

Fighting “Mean World Syndrome” | WIRED

AUTHOR

ILLUSTRATOR

erdy

นักวาดภาพประกอบคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันว่าจะรวย จะรวย จะรวย