Blue Basket : เว็บไซต์ที่จะทำให้เราเข้าถึงสินค้าสุขภาพได้ง่ายขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากออกกำลังกาย หนทางที่จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีหนีไม่พ้นเรื่องของกินของใช้ ถ้าเราเข้าถึงสินค้าปลอดภัยและดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น ก็เท่ากับเราได้ลงทุนในการดูแลร่างกายในอนาคตมากขึ้น แต่ในแวดวงสินค้าเพื่อสุขภาพมีปัญหาคลาสสิกอยู่ เพราะพอผลิตในตลาดเล็กจิ๋ว ผู้บริโภคทั่วไปก็ไม่รู้จะหาซื้อที่ไหน และไม่มีแหล่งรวบรวมข้อมูล

เว็บไซต์ Blue Basket แหล่งซื้อขายสินค้าเพื่อสุขภาพ เกิดขึ้นด้วยฝีมือของคนทำงานสายเทคโนโลยีแห่งบริษัท Boonmee Lab ได้แก่ โจ้-ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ และ รพี สุวีรานนท์ พวกเขาเป็นคนทั่วไปที่ไม่ใช่ไทป์สุขภาพสายแข็ง แต่มองว่าคงจะดีถ้ามี ‘ตลาด’ รวมรวบสินค้าเพื่อสุขภาพที่เข้าถึงง่ายขึ้น คนจะได้มีทางเลือกมากขึ้นในชีวิตประจำวัน และนำมาสู่ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ไม่ใช่แค่กับตัวเราเอง แต่กับสังคมสิ่งแวดล้อมด้วย

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ตอนนี้แพลตฟอร์มพวกเขาเติบโตและมีร้านค้าเพื่อสุขภาพให้เลือกสรรเกือบ 90 ร้าน เช่น ไข่เค็มหมักซีอิ๊วบ้านตลาดน้อย, Craft Bread, Sa-ard Jai ฯลฯ หรือที่กำลังจะเปิดในอนาคตอย่าง Harmony Life และ ไร่กำนันจุล ครบครันทั้งของกินของใช้ แถมมีระบบส่งตรงถึงบ้าน แต่ก่อนคลิกไปช็อปปิ้ง ลองมาฟังแนวคิดเบื้องหลังจากโจ้และรพีกันสักหน่อย แล้วจะรู้ว่านี่เป็นธุรกิจที่น่าเอาใจช่วยและจับตามองแค่ไหน

เริ่มต้นด้วยไอเดียว่าทุกคนควรได้เข้าถึงสินค้าที่ดี

รพี: มีช่วงหนึ่งพวกเราอยู่ออฟฟิศเดียวกับร้าน Veggiology ซึ่งทำน้ำผักสกัดเย็น ใช้ของออร์แกนิก คนที่ไม่ค่อยมีวิถีชีวิตได้เลือกของดีๆ อย่างเราได้เห็นคนที่คิดตลอดว่า ‘ของที่ดีคืออะไร’ ผมกับพี่โจ้ซึ่งทำบริษัทเทคโนโลยีกำลังคิดไอเดียโปรเจกต์ใหม่เลยมองว่าตลาดนี้น่าสนใจ ตลาดสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนควรไปถึงจุดนั้นรึเปล่า การบริโภคของดีมีประโยชน์ไม่ควรหาซื้อยาก ราคาแพงกว่าปกติ แต่ควรเป็นของที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันไหม

โจ้: เราอยากซื้อของถูก ของดี แต่ตอนนี้ตลาดออร์แกนิกมัน niche เลยอยากทำให้ตลาดกว้างขึ้น ถ้าทุกคนระดมมาซื้อออร์แกนิก คนจะปลูกเยอะขึ้น ของจะถูกลง เราเลยเลือกเอา e-commerce เข้ามาช่วย เพราะปัญหาคือผู้ผลิตรายย่อยเขาไม่มีต้นทุน การที่จะมาทำระบบเว็บไซต์ แก้ปัญหาอะไรทุกอย่างด้วยตัวเอง เป็นการลงทุนค่อนข้างสูง ถ้าขายผ่านเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ในเชิงคนซื้อก็ต้องไปไล่ดูหมด แต่เราอยากได้อะไรที่มาเสิร์ฟเราเลย จ่ายตังค์แบบเดียว จ่ายบัตรเครดิตได้ ไม่ต้องสั่งสิบเจ้า จ่ายเงินสิบเจ้า ส่งสิบเจ้า

แพลตฟอร์มนี้ยังมีข้อดีเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะถ้าทำเองแล้วอยากขายใน modern trade ก็ต้องเสียค่าเข้าไปวางหลายหมื่น โดนหักค่า GP (Gross Profit) อีก 30-40 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าถ้าทุนไม่หนาก็เข้าไปในตลาดปกติไม่ได้ อีกอย่างคือต้องเปิดโรงงานเพื่อให้ supply เขาได้ ในช่วงวัดผลถ้าขายไม่ดีก็ต้องบ๊ายบาย มันไม่มีตรงกลางระหว่างร้าน modern trade และเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แต่ Blue Basket จะอยู่ตรงนั้น รายได้ของ Blue Basket จะมาจาก 7 เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ไม่มีค่าแรกเข้า ไม่มีอย่างอื่นซ่อนเร้นเลย

ออกแบบตัวตนให้น่าจดจำ

โจ้: เหตุผลที่เลือกใช้คำว่า Blue Basket มี 2 อย่าง ในเชิงแบรนด์ดิ้ง เรามองว่าสินค้าสุขภาพใช้คำว่ากรีนจนเฝือ เราขอทำโดยไม่มีคำว่าออร์แกนิก กรีน หรือเขียว จะได้แตกต่าง ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าเข้าถึงยากหรือซีเรียส อีกอย่างคือเราไม่ใช่ผู้ผลิต ไม่ใช่เกษตรกร แตน-เจ้าของร้าน Veggieology เลยเสนอให้เราเป็นสีฟ้า เหมือนท้องฟ้า น้ำ อากาศ ระบบนิเวศใดๆ ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวเติบโตขึ้นมา ส่วนคำว่า Basket ก็มาจากตะกร้าเวลาเราไปซื้อของ

สร้างชุมชนผู้ผลิตที่แข็งแรง

โจ้: ตอนแรกที่เปิดเว็บไซต์ก็ไม่มีผู้ผลิตคนไหนอยากมาขายกับเรา เพราะเหมือนเรามีที่ว่างจะทำตลาด แต่ยังไม่มีสักเจ้า นั่นคือความยากของการทำตลาด แต่เราก็ทำต่อ ตอนเริ่มทำก็ชวนคนใกล้ชิดที่รู้จักกันมาขาย เช่นร้าน Veggiology หรือ ร้าน Craft Bread แล้วพอมีร้านก็เริ่มชวนต่อง่ายขึ้น ช่วงหลังเขาจะมาเอง

รพี: ทีมงานลองไปเดินตามงานกรีนมาร์เก็ต ทั้งในกรุงเทพฯ หรือนครปฐม แจกนามบัตร เปิดเว็บไซต์ให้ดู ร้านแรกๆ เราจะไปดูถึงโรงงานว่าผลิตยังไง เจอตัวเพื่อสร้างความไว้วางใจกันและกัน ช่วงหลังพอเริ่มมีร้านเยอะขึ้น เราทำ Google Form ให้เขาแนะนำตัวเป็นการเริ่มสร้างความสัมพันธ์ ให้ส่งสินค้าตัวอย่างมา ซึ่งเราจะดูทั้งคุณภาพสินค้าและวิธีการส่งของซึ่งเป็นสิ่งเดียวกันที่ลูกค้าจะเจอ ถัดจากนั้นมีอะไรก็โทรพูดคุยกันได้ เมื่อต้นเดือนตุลาคมก็มีการจัดงาน Blue Basket Day ให้ผู้ผลิตตั้งแต่รุ่นแรกจนถึงล่าสุดมาเจอกัน เพราะเราไม่ได้แค่อยากเอาของเขามาวางขาย แต่อยากสร้างชุมชนของผู้ผลิต

สร้างแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์สินค้าเพื่อสุขภาพ

โจ้: เราพยายามออกแบบให้หน้าเว็บไซต์เรียบง่ายเอื้อให้สินค้าของเขาโดนเด่นส่องแสงออกมา เราไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มสำเร็จ แต่เขียนขึ้นมาใหม่เพื่อให้ปรับเปลี่ยนได้ตามต้องการในอนาคต ตอนแรกที่เปิดเราออกแบบให้ยืดหยุ่นมากในการสั่งสินค้า เพราะเรามีผู้ผลิตเจ้าที่ทำสินค้าสด ต้องมีระบบสั่งแล้วให้ผู้ผลิตเช็คสินค้าว่ามีของไหม แล้วค่อยคอนเฟิร์มว่าส่งหรือไม่ได้ นอกจากนี้ก็มีให้เลือกเวลาส่งด้วย พอเว็บไซต์เริ่มโตขึ้น จากร้านเดียวเป็นเกือบร้อยร้าน เราคอยมองตัวผู้ผลิตไปเรื่อยๆ ว่าเขาเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง แล้วออกแบบให้สอดคล้องต่อไปเรื่อยๆ

รพี: เวลาเราซื้อของพวกนี้ เราไม่ได้ซื้อของอย่างเดียว แต่เกิดจากความเชื่อใจกันว่าผู้ผลิตตัวเล็กๆ เขาตั้งใจทำจริงๆ นะ ฉะนั้นต้องสื่อเรื่องราวเหล่านั้นให้ได้ ในเว็บไซต์ เราจะเล่าถึง story ของคนๆ นั้นด้วยว่าทำไมเขาถึงหันมาสนใจการทำขนมปังออร์แกนิก ทำน้ำออร์แกนิก บางคนอาจจะป่วยมา พอได้ยินแล้วเราก็จะมีความเชื่อบางอย่าง เราพยายามเป็นตัวกลางสร้างชุมชนให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคมาเจอกัน ผ่านเฟซบุ๊กหรือการรวบรวมบทความหรือเนื้อหาที่น่าสนใจบนเว็บไซต์

โจ้: อนาคตเรายังอยากสร้างระบบที่คนซื้อกับคนขาย approve กันเอง ยกตัวอย่างเช่น เรามีผู้ผลิตอยากขายสินค้า ผมจะเอาสินค้าทั้งหมดนี้ส่งไปให้ผู้ผลิตในระบบและคนซื้อ ถามว่าคุณอยากให้มีสินค้านี้อยู่ใน Blue Basket ไหม ถ้าเจ้าไหนสินค้าคุณภาพต่ำลง ส่งไม่ตรงเวลา เราก็ยกเขาออกได้ด้วย

สร้างโอกาสเติบโตให้คนในชุมชนเดียวกัน

โจ้: อุปสรรคของการทำให้สินค้าเพื่อสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปยิ่งใหญ่อยู่แล้ว เพราะมันไม่ใช่ของตามกระแส เทรนด์สุขภาพในความเข้าใจของคนทั่วไปคือการผสมเวย์ลงในนมแล้วขายในร้านสะดวกซื้อ แต่อันนี้ไม่ใช่ สินค้าเพื่อสุขภาพจริงๆ ยังเป็นตลาด niche อยู่ ร้านค้าก็มีมามีเลิกไป บางร้านทำแล้วท้อก็มี ไม่ใช่ทุกคนจะสำเร็จในตอนนี้ เป็นธรรมชาติของตลาด แต่มันก็กำลังเติบโตอยู่ แม้ไม่ใช่ด้วยเปอร์เซ็นต์หวือหวา เรายังมองเห็นการเติบโตที่น่าสนใจ

รพี: เราอยากให้ Blue Basket เป็นที่ที่ผู้ผลิตมาเติบโตไปด้วยกัน เป็นที่ลองตลาดของเขา ถ้าขายดีก็อาจจะมีกำลังผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ได้มองตัวเองว่าต้องเป็นวงเล็กหรือคนตัวเล็กเสมอไป ถ้าเขาเป็นบริษัทใหญ่ ผลิตของคุณภาพดีได้ในปริมาณมาก เราก็ยินดีที่จะหล่อเลี้ยงเติบโตไปด้วยกัน ในระบบของเราก็มีคนที่มาจากบริษัทใหญ่ บางคนขายในเว็บไซต์อยู่ก่อนแล้วขยับไปขายใน Tops ก็มี เหมือนเราเป็นพี่เลี้ยง เป็นค่ายฟูมฟักสตาร์ทอัพให้ธุรกิจเขาเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งเรามองว่าสินค้าแบบนี้ควรจะมีหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าสะดวกทางไหนก็มีสินค้ารออยู่ในราคาที่โอเค

เรียนรู้จากชีวิตตัวเอง

โจ้: เรื่องแรกที่คนมักนึกถึงเกี่ยวกับสินค้าสุขภาพคือราคาแพง แต่เราไม่อยากใช้คำว่า ‘แพง’ กับทุกอย่าง ที่มาของราคาที่สูงกว่าเป็นเพราะวัตถุดิบผลิตได้ปริมาณน้อย เมื่อผลิตได้น้อย ราคาก็สูงหน่อย แต่เวลาคนมองอาจจะไม่ได้มองในรายละเอียด ผลกระทบที่เกิดกับตัวเองคือที่ห้องเราตอนนี้ ของเกี่ยวกับการทำความสะอาดเป็นออร์แกนิกหมดแล้ว มีทั้งราคาสูงและต่ำ พวกน้ำยาล้างจานซักผ้านี่คนทั่วไปจะคิดว่าแค่ซักเสื้อเราสะอาดแล้วจบไป แต่จริงๆ นั่นคือจุดเริ่มต้นของน้ำเสียนอกบ้าน ถ้าใช้พวกออร์แกนิกซึ่งเป็นจุลินทรีย์ มันก็กลับไปช่วยรักษาแหล่งน้ำ มันขึ้นกับความคิดด้วยว่าเราจะคิดยาวหรือให้ราคากับของพวกนี้แค่ไหน

รพี: ตั้งแต่แรกที่ทำมา มันเป็นสิ่งที่นึกไม่ออกว่าจะหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าท้อแล้วเลิกคงจะหายไป แต่อดทนทำมา พอเล่าไอเดียให้คนอื่นฟัง มันก็ทำให้คนหลายคนที่มีความคิดเดียวกัน เชื่อในสิ่งเดียวกัน ได้มาร่วมงานกัน ในทีมหลายคนก็มาจอยกันเพราะเชื่อว่าตลาดที่จะเกิดขึ้นมันจะมีประโยชน์ มีอะไรดีๆ สุดท้ายเราก็ชอบนะ เพราะอยากทำงานที่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ใครๆ มองเข้ามาก็รู้สึกว่าสินค้าเพื่อสุขภาพมันน่าตื่นเต้นขึ้น

โจ้: อนาคตเราอยากทำให้ตลาดเป็นที่รู้จัก ตั้งใจจะเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านที่มีหน้าร้าน เอาสินค้าทดลองไปวาง ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าเหล่านี้มากขึ้น อีกด้านคือจะเน้นเรื่องคอนเทนต์ความรู้สุขภาพ สินค้าออร์แกนิก เพราะคนจะตัดสินใจซื้อก็จากความน่าสนใจของสินค้า หลายคนมักเบลมคนซื้อว่าต้อง educate กันอีกเยอะ แต่เราเป็นคนซื้อ เรารู้ว่าบางครั้งสินค้าเพื่อสุขภาพก็ไม่พูดกับลูกค้า แต่ถ้าเขารู้ว่ามันมี เขาก็อยากลอง อยากใช้ หน้าที่เราคือทำอย่างไรให้ทั้งสองฝั่งเบลนด์เข้าหากันได้มากขึ้น ลูกค้าก็ต้องทำการบ้านด้วย

เราไม่ใช่เว็บขายสินค้าสุขภาพแรกในโลกหรือในไทย แต่เว็บอื่นเขาเลิกทำกันไปแล้ว เพราะตลาดนี้ในระยะเริ่มต้นรายได้อาจจะหมุนไม่ทัน สุดท้ายก็ต้องเลิกไปอย่างรวดเร็ว มันไม่ใช่ธุรกิจที่จะไปขายไอเดียแล้วมีผู้ลงทุนมาร้อยล้านให้คุณทำเว็บไซต์เพื่อออร์แกนิก เราทำอย่างอื่นไปด้วย ใช้วิธีค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ถ้ามองระยะใกล้มันก็เหนื่อย แต่เราไม่ได้มองแค่ปีนี้หรือปีหน้า ถ้าอีกสัก 20 ปี 30 ปี ผมอายุ 60 ปี ถ้าไม่มีบริการนี้อยู่ก็น่าเสียดาย เราอยากจะทำให้มันเกิดขึ้น ไม่อยากแก่ไปแล้วคิดว่ามันน่าจะมีอย่างนี้ว่ะ แล้วใครจะทำวะ ปล่อยให้คนรุ่นหลังมาทำกันเถอะ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น

อย่าลืมติดตามเรื่องราวของผู้ผลิตทั้ง 10 เจ้าที่ a day คัดสรรมาเล่าสู่กันฟังได้ในคอลัมน์ Blue Basket ซึ่งจะมาพบกันทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน และถ้าใครสนใจอยากลองซื้อหาสินค้า ลองคลิกไปดูที่ www.bluebasket.market แล้วมามีสุขภาพที่ดีไปด้วยกันนะ!

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ และ Blue Basket

AUTHOR