บ้านนกดิน : น้ำมันมะรุมหีบมือจากครอบครัวน้อยๆ ผู้ใช้ชีวิตตามฤดูกาล

คนคุ้นเคยกับพืชชื่อ ‘มะรุม’ ในฐานะของอร่อยน่าเอามาใส่แกงส้ม ต่อท้ายด้วยสรรพคุณยาวเหยียด แต่ใครจะรู้ว่าพอฝักมะรุมแห้ง เมล็ดในนั้นก็หมดค่า

แต่มีครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง ฝ่ายชาย แชมป์-ชูเกียรติ วงศ์สุวรรณ เป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายหญิง ณัฐ-ณัฐพรรณ แย้มแขไข เป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะตกหลุมรักกันและกัน พวกเขาก็ตกหลุมรักน้ำมันมะรุม ของสกัดเรียบง่ายจากเมล็ดมะรุมแห้งที่คนอื่นมองข้าม เมื่อใช้เองแล้วชอบก็เริ่มอยากทำเอง จนเกิดเป็นแบรนด์เล็กๆ ชื่อน่ารักว่า บ้านนกดิน หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ Blue Basket

ทุกหน้าร้อนจนตลอดฤดูฝน พวกเขาทำน้ำมันมะรุมทีละเล็กละน้อยด้วยเครื่องหีบมือ วิธีการเรียบง่ายแต่คงความสะอาดและสดใหม่ได้ดี ทำให้ได้น้ำมันคุณภาพมาใช้บำรุงผิว เยียวยาบาดแผลในราคาที่เป็นมิตรต่อคนทั่วไป

ถ้าเป็นนก พวกเขาคงเปรียบเหมือนครอบครัวนกที่ทำรังแต่พอตัว ใช้ชีวิตตามฤดูกาล พึ่งพิงประโยชน์จากธรรมชาติ แต่ไม่ลืมนำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันต่อคนรอบตัวด้วย

ความเรียบง่ายมัดใจ

ณัฐ: แรกเริ่มคือเมื่อก่อนเพื่อนอยู่กับเรา เขาทำสบู่แล้วต้องมีวัตถุดิบหลายอย่าง น้ำมันมะรุมเป็นหนึ่งในนั้น เขาแนะนำให้ลอง พอพวกเราใช้แล้วก็ชอบ เราใช้ทาหน้าเป็นมอยเจอไรเซอร์ เมื่อก่อนใช้เครื่องสำอางเยอะ แต่จริงๆ แล้วเป็นคนขี้เกียจ ทาบ้างไม่ทาบ้าง พอเป็นน้ำมันมะรุมเราใช้แค่นี้ได้เลย พอใช้ก็รู้สึกว่ามันไม่ต่างจากของที่เสียเงินซื้อแพงๆ มันชุ่มชื่น รู้สึกหน้านิ่มขึ้น ไม่เหนอะหนะ เหมือนค่อยๆ ปรับสมดุลผิวให้พอดี หลังล้างหน้าตอนหน้าหมาดๆ ชื้นๆ ก็ทาลงไป มันจะซึมได้ดี เมื่อก่อนหน้ามันกว่านี้ พอใช้น้ำมันมะรุมมา 3-4 ปี เราว่าหน้าเราแห้งขึ้น เราพอใจกับความเรียบง่าย ประยุกต์ได้หลายอย่าง ได้ผล และไม่แพง

แชมป์: ส่วนเราชอบทำนู่นทำนี่ ทำบ้านเองอะไรเอง ก็จะได้แผลเยอะ เลยใช้ใส่พวกแผลสด เช่น เวลาหกล้ม มีดบาด ถ้าใช้เบตาดีนมันรักษาแค่ภายนอก แต่สำหรับแผลที่ปวดหรือช้ำข้างในต้องกินยา ซึ่งเราไม่ชอบกิน ก็เลยใช้น้ำมันมะรุมที่ช่วยสมานแผลได้

ความสัมพันธ์ระหว่างเราต้องสนุก

ณัฐ: แชมป์เริ่มคิดว่าถ้าทำน้ำมันมะรุมใช้เองจะทำได้ยังไง พอไปเสิร์ชก็เจอเครื่องหีบน้ำมันด้วยมือของฮอลแลนด์ ราคาไม่แพงมากเลยสั่งมาลองใช้ เพราะแถวบ้านแชมป์ที่กาญจนบุรีนี่ทุกคนปลูกมะรุมอยู่คนละสองสามต้น มะรุมเป็นพืชเติบโตง่าย ขึ้นในที่แห้งได้ ไม่ต้องดูแลรดน้ำ พอฝักแห้งคนก็ทิ้งเพราะคิดว่าไม่มีประโยชน์ แต่แชมป์คิดว่าในเมื่อเรามีวัตถุดิบก็ลองทำดู

แชมป์: เราเป็นฟรีแลนซ์ มีเวลาว่าง เลยพยายามหางานตามฤดูกาล การทำน้ำมันมะรุมทั้งสนุกและได้รายได้เสริมด้วย ความสนุกเริ่มตั้งแต่กระบวนการเก็บเลย หน้าร้อนจะเป็นฤดูเก็บมะรุม เมล็ดดีจะดีที่สุดช่วงนั้นเพราะมันแห้ง เราจะขี่มอเตอร์ไซค์ตามเก็บมะรุม มีอุปกรณ์เก็บอย่างบันไดและผ้าใบติดตัวไปด้วย ตอนนี้ก็อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตรจากบ้านในอำเภอท่ามะกา พอเก็บแล้วเราจะหีบน้ำมันไปด้วย พอถึงหน้าฝนก็จะมีงานทำ แล้วถึงหน้าหนาวก็จะขายดี

ละเอียดอ่อนเพราะทำมือ

ณัฐ: วิธีทำน้ำมันคือพอเก็บมาเป็นฝัก แกะแล้วจะเจอเมล็ดข้างใน เราก็เอามาฝัดและผึ่ง มันอาจมีมดหรือมอดที่ต้องร่อนออกบ้าง เพราะมะรุมโตในบ้านไม่มีใครใส่ปุ๋ยหรือฉีดยาอยู่แล้ว น้ำมันของเราอาจไม่มีมาตรฐานอินทรีย์อะไรรับรอง แต่เราเก็บเราก็รู้เพราะเราเจอแมลงในวัตถุดิบของเรา

การใช้เครื่องหมุนมือมีข้อแม้คือต้องปอกเปลือกมะรุมก่อน เราจะให้คนแกะเปลือกสีดำออกก่อนเพื่อเบาแรง แล้วใช้แค่ส่วนสีขาวข้างใน มันเป็นการคัดคุณภาพเมล็ดและความสะอาดไปด้วย ถ้าใช้เครื่องใหญ่ที่เป็นไฟฟ้าจะมีราคาแพง ไม่เหมาะกับการทำเองในบ้าน และพอทำได้ทีละเยอะๆ ก็ไม่มีใครมานั่งแกะเปลือกก่อนอยู่แล้ว

เมื่อหมุนแกน ร่องจะค่อยๆ ตื้นขึ้น บีบให้น้ำมันไหลออกมาที่รู ตัวเครื่องจะมีตะเกียงที่เอาไว้จุดวอร์มเครื่อง ทำให้กากนิ่มและระบายออกมา แต่อุณหภูมิน้ำมันที่ออกมาจะไม่เกิน 45 องศา จึงถือว่าเป็นสกัดเย็นอยู่ ถ้าไม่ใช้ความร้อนเลยเราต้องพึ่งสารเคมีในการสกัด ตัวตะเกียงแชมป์ดัดแปลงเอาขวดยาหอมมาใช้กับหัวตะเกียงที่ปรับระดับขึ้นลงได้ ทำให้ปรับความร้อนได้ ที่จริงเมล็ดที่มีน้ำมันอื่นๆ ก็ใช้กับเครื่องนี้ได้ แต่มะรุมมีสารในตัวที่ทำให้หืนยาก ทำให้ได้น้ำมัน virgin ที่ใช้สองปีก็ยังไม่หืน

พอทำเสร็จเราจะใส่ในโหล กรรมวิธีทำให้น้ำมันใสแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนอาจใช้กระดาษกรอง แต่เราจะรอให้ตกตะกอนเองสัก 10 วัน ก่อนจะใช้ไซริ้งก์ดูดบรรจุใส่ขวด เราอยากทำแล้วค่อยๆ ขายไปเพราะของจะสด ไม่ตกค้าง ครั้งแรกที่เอาไปขายที่ตลาด Little Tree ก็ขายหมด ให้คนที่บ้านและเพื่อนใช้ก็ชอบ

ประโยชน์ที่เผื่อแผ่คนรอบข้างตั้งแต่ต้นทาง

แชมป์: เราชอบงานนี้ที่มันทำมือและได้ใช้แรงตัวเอง ตอนหลังก็พัฒนาเป็นการจ้างแรงงานชาวบ้าน เขาทำงานโรงงาน ตอนกลางคืนก็มาช่วยได้ ซึ่งเราให้ค่าจ้างในราคาสูงเหมือนกัน ค่าหีบชั่วโมงละ 100-120 บาท มะรุมแห้งเราก็รับซื้อกิโลละ 200-250 บาท ต้นหนึ่งเก็บได้เกือบ 2 กิโลกรัม ถ้าคนเห็นค่า วันหนึ่งเก็บสองต้นก็มีรายได้แล้ว เราอยากได้เมล็ดจากแถวบ้านเรามากกว่าจะไปเอาจากที่อื่นเพราะอยากให้งานมันเกิด ให้เงินไปหมุนเวียนในหมู่บ้านเยอะๆ”

ณัฐ: ส่วนมากเราเก็บกันเอง แต่สมมติว่าไปเก็บที่บ้านคุณยายคนนี้ เราจะชั่งและแบ่งเงินให้คุณยายตามปริมาณ หรือไม่อาจจะเหมาค่าเก็บต้นละร้อย เพราะเราอยากให้เขาเอามาขายด้วย นี่ก็เป็นช่วงคิดอยู่ว่าหรือจะเพิ่มราคาให้เขาดี

นกที่เลือกอยู่กับธรรมชาติ

แชมป์: เราเป็นคนชอบทดลอง งานนี้ทำให้เราเข้าใจเรื่องโครงสร้างเมล็ดพืชว่าทำไมมันมีน้ำมัน น้ำมันในเมล็ดพืชคือสิ่งที่เอาไว้ใช้ดูแลลูกของมัน เป็นอาหารเพื่อประวิงเวลาจากหน้าแล้ง รอให้ถึงหน้าฝนเพื่อให้ลูกโตได้ ถ้าเมล็ดพืชไม่มีน้ำมัน น้ำจะระเหยไปหมด เมล็ดนั้นจะแห้งและตายไป เราได้เข้าใจว่าเมล็ดพืชอย่างอื่นก็น่าจะมีน้ำมันให้เราหีบได้

ณัฐ: เราอยู่เชียงใหม่ในเมือง ยังเป็นคนเมือง ถ้าไม่ได้ทำงานตรงนี้ก็จะไม่รู้ว่าฤดูกาลมีผลมากๆ พอฝนตกนอกฤดูกาลก็ทำไม่ได้แล้ว ตอนนี้เหมือนผู้คนพยายามทำอะไรที่ไม่ต้องอิงธรรมชาติ แต่ในงานแบบนี้ ยังไงธรรมชาติก็เป็นคนกำหนด ส่วนแชมป์จะโตมาในต่างจังหวัด อินเรื่องเกษตร ปลูกต้นไม้นู่นนี่เพราะเมืองกาญจน์มันร้อน

แชมป์: การทำงานนี้วิถีชีวิตเราไม่ได้เปลี่ยน การจะเปลี่ยนวิถีชีวิตมันยาก อะไรที่ทำแล้วสนุกและมีประโยชน์กับคนอื่นและธรรมชาติบ้างมันน่าทำมากกว่า พวกเราไม่ได้คิดใหญ่ เราแค่ทำสิ่งนี้เพราะสนุก ถ้าเราไม่สนุกกับมะรุม เราจะมองว่ามันเป็นงานและไม่อยากทำ จริงๆ แล้วเราอาจอยากให้คนปลูกต้นไม้นู่นนี่ แต่เราพูดกับเขาผ่านมะรุม ผ่านสิ่งที่เราทำได้ ทำให้คนเข้าใจธรรมชาติอย่างอื่นได้ บางคนสนใจว่าอยากเอาเมล็ดไปปลูกเราก็แจกฟรี มันปลูกโคตรง่ายเลย ถ้าปลูกไม่ขึ้นให้เตะ (หัวเราะ)

ถ้าให้เลือกแนะนำสินค้าได้หนึ่งอย่างจะแนะนำอะไร

“พวกเรามีแต่น้ำมันมะรุม แบ่งเป็น 3 ไซส์ ที่จริงมะรุมมีสรรพคุณเป็น 20-30 อย่างเลย องค์การอนามัยโลกก็บอกว่ามะรุมเป็นต้นไม้มหัศจรรย์ สินค้าเราส่วนมากคนเอาไปทาหน้า แต่ผู้ชายหลายคนก็จะพกขวดเล็กไว้ สมมติว่าเข้าป่าเจอแมลงหรือมีแผลนิดหน่อยก็ใช้ได้เพราะน้ำมันจากเมล็ดมีสรรพคุณช่วยแก้อักเสบอยู่แล้ว เคยมีน้องที่เป็นสะเก็ดเงินเอาไปทาก็ช่วยบรรเทาอาการได้”

ผลิตภัณฑ์จาก บ้านนกดิน มีให้ซื้อหาที่เว็บไซต์ Blue Basket ตะกร้าสุขภาพของคนช่างเลือก แหล่งรวมสินค้าเพื่อสุขภาพ ถ้าชอบใจ ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพน่าสนใจอย่างนี้ได้ทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ที่คอลัมน์ Blue Basket นะ : )

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ: Hip Incy Farm

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย