แก่แล้วไปไหน? เกษียณมาร์เก็ต ตลาดที่รุ่นใหม่ชวนรุ่นใหญ่มาขายของและแฮงเอาต์กันอีกครั้ง

Highlights

  • เกษียณมาร์เก็ต คือตลาดนัดแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่จัดขึ้นทุกสุดสัปดาห์แรกของเดือน ณ ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (โอลด์ เชียงใหม่)
  • เหตุที่เกษียณมาร์เก็ตมีบรรยากาศอบอุ่นไม่เหมือนตลาดใดๆ เพราะพ่อค้าแม่ขายที่นี่มีอายุเกิน 60 ปีทุกคน
  • นี่คือความพยายามของทีมโอลด์ เชียงใหม่ ที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้ผู้สูงอายุได้ออกมาแสดงศักยภาพ ทั้งยังเป็นพื้นที่ให้พวกเขาพบปะเพื่อนเก่า ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ๆ และเชื่อมคนรุ่นใหม่ให้ได้ทำความรู้จักกับคนรุ่นใหญ่อีกด้วย
  • ภายในเกษียณมาร์เก็ตมีร้านค้าจากคุณลุงคุณป้าทั้งหมด 60 ร้าน โดยทีมงานคัดเลือกสินค้ามาอย่างดีไม่ให้ทับไลน์กัน แถมหลายๆ ร้านยังมีสินค้าน่าสนใจจากการร่วมมือร่วมใจของคนรุ่นยาย รุ่นแม่ และรุ่นลูก

พูดถึงคนชรา หลายคนคงนึกภาพคุณตาคุณยายที่คอยอยู่บ้าน แต่นั่นคือภาพจำที่ต่อจากนี้เป็นต้นไปจะถูกลบให้หายโดยตลาดเกิดใหม่ในเชียงใหม่ที่มีชื่อว่า เกษียณมาร์เก็ต

สถิติจำนวนผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากถึง 310,000 คน จากประชากรในจังหวัดทั้งหมด 1,700,000 คน ถือว่ามากเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา 

ด้วยเหตุนี้ เกษียณมาร์เก็ต หรือตลาดนัดทุกสุดสัปดาห์แรกของเดือนจึงเกิดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (โอลด์ เชียงใหม่) เพื่อขายของกินของใช้สารพัด ตั้งแต่อาหารเมืองแต๊ๆ และเมืองฟิวชั่น งานคราฟต์ เสื้อผ้า ตลอดจนมีดนตรีสดเล่นคลออยู่บนเวทีด้วย แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ความพิเศษที่สุดของที่นี่

เพราะสิ่งที่ทำให้ตลาดแห่งนี้พิเศษกว่าที่ไหนๆ คือพ่อค้าแม่ขายซึ่งล้วนมีอายุมากกว่า 60 ปีทั้งสิ้น

เกษียณมาร์เก็ต

นี่คือความพยายามของทีมโอลด์ เชียงใหม่ ที่ต้องการจะสร้าง ‘พื้นที่’ ให้กลุ่มผู้สูงอายุในจังหวัดได้แสดงศักยภาพอีกครั้ง ทั้งยังเป็นพื้นที่ตรงกลางเชื่อมโยงคนรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ให้รู้จักกันมากขึ้นจนเกิดเรื่องราวอบอุ่นนับไม่ถ้วน

อย่ามัวชักช้าจนแพ้คุณตาคุณยายแล้วรีบตามสองตัวแทนจากโอลด์ เชียงใหม่ มิโกะ–ไอลดา ฟองเกตุ Content Manager และ เล็ก–พรนภา แตงแก้ว ครีเอทีฟ เข้าไปเที่ยวและทำความรู้จักกับเกษียณมาร์เก็ตกันเลยดีกว่า

เกษียณมาร์เก็ต

 

60 ยังแจ๋ว

“เกษียณมาร์เก็ตเริ่มต้นขึ้นจากการที่ทีมงานของเราชอบเมาท์มอยเรื่องคุณพ่อคุณแม่กัน เช่น เมื่อวานนี้พี่พาคุณแม่กับพวกเพื่อนๆ แม่ไปเที่ยวม่อนแจ่มแล้วคุณแม่ขอให้ถ่ายรูปให้ พอยกกล้องขึ้นปุ๊บ กลุ่มคุณแม่และเพื่อนก็หันข้างพร้อมกันทั้งสามคน เ​ฮ้ย แม่ไปรู้มาจากไหนว่าต้องทำท่านี้” มิโกะเริ่มต้นพร้อมเสียงหัวเราะ

“เล็กเพิ่งย้ายกลับมาอยู่เชียงใหม่ ได้กลับมาอยู่กับพ่อในรอบหลายปี พอได้มาอยู่ด้วยกันเราก็อยากลองฟัง ลองคุยกับคุณพ่อเลยทำให้เพิ่งรู้ว่าพ่อเราไม่ธรรมดาเลย” เล็ก ครีเอทีฟสาวของโอลด์ เชียงใหม่ ขอเล่าบ้าง

“อย่างช่วงนี้พ่อชอบทำกับข้าวมาก อยู่ดีๆ ที่บ้านก็มีหม้อ Le Creuset เต็มบ้านเลย พอเขาเริ่มทำกับข้าวก็ต้องมีการล้าง พ่อก็ไปอ่านในกรุ๊ปของเขานะว่าฝอยขัดหม้อสำหรับหม้อ Le Creuset เนี่ย มันต้องเป็นสีฟ้าอันนี้เท่านั้น เรานี่งงเลย ไปรู้มาจากไหน เล่ามาสิเผื่อเราต้องล้างบ้าง

เกษียณมาร์เก็ต

เกษียณมาร์เก็ต

“ทุกอย่างมันเริ่มมาจากการลองหันมาใส่ใจคนในครอบครัว ลองสังเกต ลองสงสัยว่า เอ๊ะ ทำไมคุณแม่ถึงต้องยืนหันข้างถ่ายรูป หรือมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาถึงเสิร์ชเรื่องฝอยขัดหม้อ ทีมงานของเราบางคนต้องคอยทำกราฟิกรูปสวัสดีวันต่างๆ ให้พ่อแม่นำไปแชร์กันในเฟซบุ๊กเพื่อนๆ เขาก็จะมาคอมเมนต์กันว่า ‘อนุโมทนาบุญนะคะ’ มีคนกดไลก์เยอะกว่าสิ่งที่เราโพสต์อีก เรารู้สึกเลยว่าพวกเขาไม่ธรรมดา พวกเราเลยคิดว่าถึงเวลาแล้วล่ะที่เราต้องทำอะไรสักอย่างให้กลุ่มคนวัยเกษียณรู้สึกว่าตัวเองยังมีของ ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านอย่างเดียว”

“เรื่องเล่าเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกว่าวัยชราไม่ใช่วัยที่ต้องอยู่ติดบ้านเลี้ยงหลานเฉยๆ แต่คำว่าอยู่ติดบ้านหมายความว่าเขามีเวลา 24 ชั่วโมงที่จะหาข้อมูลจากทั่วโลกมาไว้ในตัวเขาได้” มิโกะสรุปให้

เกษียณมาร์เก็ต

 

รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ โตไปด้วยกัน

“ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่หรือ​โอลด์ เชียงใหม่เป็นศูนย์วัฒนธรรมแห่งแรกของประเทศไทยและที่แรกที่มีการจัดงานกินเลี้ยงขันโตก ดังนั้นถ้าถามคนเชียงใหม่ที่มีอายุ 50 ขึ้นไปเกี่ยวกับขันโตกหรือสถานที่ท่องเที่ยวในอดีตเขาก็จะนึกถึงเราก่อน เรียกว่าเติบโตมาพร้อมกัน ผูกพันกันมาอยู่แล้ว

“ปีหน้าที่จะถึงนี้โอลด์ เชียงใหม่จะมีอายุครบ 50 ปี พอดี พอเวลาผ่านมา 50 ปีวัฒนธรรมก็เปลี่ยนแปลง ไลฟ์สไตล์ของคนก็เปลี่ยนไป ผู้บริหารรุ่นที่สามและทีมของเราจึงพยายามเปลี่ยนแบรนด์ให้มีภาพลักษณ์ที่สดใสและสดใหม่ยิ่งขึ้น เช่น การเปลี่ยนตัวเองเป็น innovative cultural community ที่ช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมเชียงใหม่ไปสู่วันข้างหน้าผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่คิดขึ้นมาใหม่ อันดับแรกก็คือ เกษียณมาร์เก็ต” มิโกะเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น 

“การทำเกษียณมาร์เก็ตทำให้เราเติบโตขึ้น จากที่ไม่เคยรู้เรื่องของผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่เลย เมื่อได้ไอเดียทำตลาดเราจึงต้องศึกษาข้อมูลจำนวนมาก เริ่มจากการสัมภาษณ์คนสูงอายุก่อนเพื่อที่จะได้รู้ว่าไลฟ์สไตล์ของพวกเขาเป็นยังไง เขาอยากจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านจริงๆ ไหม พ่อแม่ของเราก็ช่วยแนะนำเพื่อนๆ จำนวนห้าสิบกว่าคนให้ ซึ่งเราค้นพบว่าคนสูงอายุกว่า 80 เปอร์เซ็นต์อยากให้มีพื้นที่แบบเกษียณมาร์เก็ต นั่นคือพื้นที่ส่วนกลางที่ให้พวกเขาได้มาใช้ชีวิตและพบปะกัน” เล็กเข้ามาช่วยเสริมเรื่องกระบวนการสร้างเกษียณมาร์เก็ต

“หลังจากนั้นเราก็มาดูว่าเขาต้องการอะไรภายในพื้นที่นี้บ้าง เช่น ความปลอดภัย ความสงบ สะอาด ความร่มเย็น รวมไปถึงเรื่องของทางลาดหรือโต๊ะนั่งกินข้าวให้เขาได้ใช้เวลานั่งพบปะเพื่อนฝูง รายละเอียดทุกอย่างในตลาดล้วนมาจากข้อมูลที่เราศึกษาและค่อยๆ ปรับตามความต้องการของคุณลุงคุณป้าเรื่อยๆ”

 

พลังกรุ๊ปไลน์คุณแม่

“ตอนที่ศึกษากลุ่มผู้สูงอายุ เราศึกษาไปถึงวิธีการใช้สื่อโซเชียลของพวกเขาด้วย ต้องยอมรับเลยว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้เกษียณมาร์เก็ตครั้งแรกและต่อๆ มาเป็นที่รู้จักและประสบผลสำเร็จก็เพราะกรุ๊ปไลน์ของกลุ่มแม่ๆ” เล็กเล่าก่อนมิโกะจะช่วยเสริม

เกษียณมาร์เก็ต

ทีมงานเกษียณมาร์เก็ต

“การใช้ไลน์ของพวกเขาทรงพลังมากๆ เลยค่ะ ได้ผลถึงขนาดที่กลุ่มไลน์ของทีมเกษียณมาร์เก็ตระเบิด” เธอหยุดหัวเราะก่อนเล่าต่อ “ตอนที่เปิดตัวตลาด คุณพ่อคุณแม่เขาก็แชร์ต่อๆ กันไปในกลุ่มไลน์ที่พวกเขาอยู่ ซึ่งกลุ่มวัยเกษียณแต่ละกลุ่มก็มีสมาชิกประมาณ 200-300 คนเข้าไปแล้ว พอคนแชร์ต่อกันมันก็ยิ่งไปไกลจนมีคนติดต่อมาหาเราว่าป้าเห็นข่าวตลาดจากไลน์กลุ่มหมู่บ้านของเขา ซึ่งหมู่บ้านนั้นอยู่ไกลมาก

“ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราศึกษาพวกเขาและนำอินไซต์มาปรับใช้ เวลาคิดคอนเทนต์แต่ละเรื่อง เราจะคำนึงว่าคุณลุงคุณป้าต้องนำไปสื่อสารต่อได้ง่ายมากที่สุด คือใช้ภาษาเข้าใจง่าย ใส่อีโมจิใหญ่ๆ ตู้มๆ ให้เขาเห็นชัด แชร์ต่อง่าย พูดต่อได้

“ต้องขอบคุณคุณลุงคุณป้าทุกคนมากเลยค่ะ” เล็กยิ้มหวาน

 

60 ปี 60 ร้าน 60 เรื่องราวน่ารัก

“ทุกครั้งที่จัดเกษียณมาร์เก็ต เราจะหมุนเวียนพ่อค้าแม่ค้าในตลาด โดยคัดร้านค้าจากที่สมัครเข้ามาทั้งหมดให้เหลือ 60 ร้าน” เล็กเริ่มวาดภาพตลาดของพวกเธอให้เราฟังด้วยคำพูด

“เกณฑ์คือเจ้าของร้านต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเราพยายามเลือกสินค้าให้ไม่ซ้ำกัน โดยแบ่งหมวดไว้คร่าวๆ คือของกิน งานคราฟต์ ของใช้ และเสื้อผ้า นอกจากนี้เรายังสัมภาษณ์ร้านค้าที่สมัครเข้ามา และจะชอบมากเลยเวลาที่เห็นลูกคอยผลักดันพ่อแม่ให้มาขาย มันเป็นเรื่องราวที่น่ารักมาก 

“ในเกษียณมาร์เก็ตจะมีร้านเบอร์เกอร์ลาบเมืองซึ่งหลานสาวของเจ้าของร้านเป็นคนสมัครให้ พอเราไปสัมภาษณ์เพื่อนำไปเขียนคอนเทนต์ หลานเขาก็คุยว่าที่จริงคุณยายทำอาหารเมืองอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกษียณ พอเขาเจอตลาดนี้ก็เลยเข้ามาช่วยคิด ชวนคุณยายลองทำให้ลาบเมืองกินง่ายและน่าสนใจขึ้นอย่างการลองเอาข้าวเหนียวโปะแล้วทำเป็นเบอร์เกอร์ลาบ โห เราชอบไอเดียนี้มากเลย เพราะนอกจากมันจะทำให้อาหารเมืองดูน่าตื่นเต้นมากขึ้นเขายังมีใจอยากช่วยผลักดันวัฒนธรรมเชียงใหม่ที่ดีอยู่แล้วให้ไปต่อได้เรื่อยๆ

“ตอนที่เปิดตลาดครั้งแรกมันว้าวมาก เพราะสิ่งที่เราเห็นคือทั้ง 60 ร้านที่มาออกงานคุยกันแบบ คุณพี่สวัสดีค่ะ อ้าว นี่รุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่านี่นา อ้าว คนนี้ป้าข้างบ้าน คนขายเขารู้จักกันเองเฉยเลย และจากตอนแรกที่รู้จักเพราะเป็นญาติกัน วันที่สองก็รู้จักกันเพราะเป็นเพื่อนนั่งแผงข้างกัน เมาท์กัน แลกนู่นนี่นั่น ได้เพื่อนเพิ่มอีก คนรุ่นลูกเอง พอได้มาเดินตลาดก็จะเจอว่า อ้าว คนนี้แม่เพื่อนเรา มันจะมีโมเมนต์คนรู้จักกันเต็มไปหมดเลย

“คนที่มาเดินตลาดรุ่นใหญ่ก็ได้เจอเพื่อนเหมือนกัน เราเห็นคนอายุหกสิบกว่ามาเจอกันในงานโดยบังเอิญจนเหมือนกลายเป็นงานคืนสู่เหย้าไปเลย บางกลุ่มก็นัดเจอกันที่งานเกษียณมาร์เก็ต มานั่งฟังเพลงเพราะเรามีวงดนตรีเล่นสดด้วย บางวงก็ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยเขาเป็นนักเรียนและกลับมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่องานนี้ ก่อนเขาจะร้องแต่ละเพลงก็จะมีการรำลึกว่าเพลงนี้เคยร้องตอนสมัยอยู่ ม.6 หรืออะไรประมาณนี้ เรียกความทรงจำดีๆ กลับคืนมา

“จะมีวงของคุณลุงคนหนึ่งที่ฮอตมากกกกกก” เล็กลากเสียง “ลุงแกเคยฟอร์มวงเล่นที่โรงเรียนและต่อมาก็เล่นตามร้านต่างๆ พอถึงช่วงที่ลุงนิรันดร์เล่น กลุ่มคุณป้าที่มาเดินตลาดเขาจะไปนั่งติดหน้าเวทีเลย บางคนก็ยกมือถือขึ้นมาถ่าย พอลุงนิรันดร์เล่นเสร็จก็มีการไปขอถ่ายรูป ไม่ใช่แค่คนเดียวนะคะ แต่ต่อแถวขอถ่ายรูปกันเป็นสิบ มีการยกนิ้วมินิฮาร์ต ซารังเฮต่างๆ เขาตามมากรี๊ดรุ่นพี่ที่เคยเจอตอนสมัยเรียน ภายในตลาดจะมีโมเมนต์ที่อบอุ่นและน่ารักแบบนี้เยอะมาก”

 

รุ่นใหญ่จุดไฟให้รุ่นใหม่

“โมเมนต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเกษียณมาร์เก็ตคือความพยายามของเราในการสร้างพื้นที่ให้เกิด active aging หรือการชราภาพที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนวัยเกษียณเกิดความรู้สึกอยากที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สดใส ได้สนุก ได้เจอเพื่อนฝูง และมีคุณค่าอีกครั้ง

“เราคิดว่าถ้าเขาทำได้ในระดับนั้นเขาจะเริ่มอยากเปลี่ยนแปลงเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนในเจเนอเรชั่นเดียวกันลุกขึ้นมาทำอะไรเหมือนเขา หรือแม้กระทั่งสร้างแรงบันดาลใจให้คนทุกวัยที่มาเดินตลาด อย่างพวกเราที่เป็นคนจัดงาน เมื่อเห็นกลุ่มคุณลุงคุณป้าก็รู้สึกว่าเจ๋งมากจนอยากจะแก่ไปเป็นเหมือนคุณลุงคุณป้าเหล่านี้ให้ได้” เล็กปิดท้ายด้วยแววตาเป็นประกาย


ใครสนใจอยากไปเกษมที่เกษียณมาร์เก็ต สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้ทางเพจเฟซบุ๊กซึ่งนอกจากจะบอกกำหนดการของตลาดในครั้งหน้า ยังนำเสนอเรื่องราวของคุณลุงคุณป้าเจ้าของร้านในตลาดให้เราได้ทำความรู้จักก่อนที่จะได้ไปพบตัวจริงทุกเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 08:00-14:00 น. ที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ (โอลด์ เชียงใหม่)

AUTHOR