จาก ‘Blowin’ in the Wind’ ถึงความย้อนแย้งของ ‘สู้เข้าไปอย่าได้ถอย’ บทเพลงแห่งการประท้วง

Blowin’ in the Wind

ช่วงปี 1960s เป็นห้วงเวลาแห่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา มีกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นหัวขบวนเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ทั้งสิทธิพลเมืองให้คนดำและสิทธิสตรี การลอบสังหารประธานาธิบดี John F. Kennedy อันอุกอาจ เรื่อยมาจนการต่อต้านสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ–ภายใต้การนำทัพของ Richard Nixon ที่กินเวลาจากปลายยุค 60s ขยับมาจนถึงยุค 70s อันเดือดดาล

Robert Allen Zimmerman เด็กหนุ่มจากย่านมินเนโซต้าเติบโตขึ้นมาโดยมีบรรยากาศเช่นนี้ล้อมรอบ พูดให้ถึงที่สุด เช่นเดียวกับเด็กชาวอเมริกันรุ่นเดียวกันอีกหลายคน เขาใช้เวลาในวัยเด็กแว่วเสียงเครื่องบิน ระเบิด และข่าวคราวผู้บาดเจ็บล้มตายหรือสูญหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสหรัฐฯ เดินหน้าเข้าร่วม และเป็นประจักษ์พยานความบอบช้ำของผู้คนภายหลังจากผ่านสงคราม ความพินาศในนามของความกล้าหาญภักดีที่ชาติมอบให้ ในอีกยี่สิบปีต่อมาเขาเติบโตเป็นชายหนุ่ม คว้ากีตาร์ติดมือมาหนึ่งตัว ออกเดินทางมายังนิวยอร์กแล้วเรียกตัวเองว่า Bob Dylan ออกอัลบั้มแรกในชีวิต Bob Dylan (1962) ที่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก

เป็นในปีเดียวกันนี้เอง ในบาร์เล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ชายหนุ่มก็ได้ทิ้งตัวนั่งลงแล้วเขียนเนื้อเพลงขยุกขยิกที่นึกได้ใส่กระดาษ คว้ากีตาร์ตัวหนึ่งเดินขึ้นบนเวที ขับร้องเพลงที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อให้เป็นมั่นเป็นเหมาะด้วยซ้ำไป

How many roads must a man walk down, before you call him a man?

How many seas must a white dove sail, before she sleeps in the sand?

Yes, and how many times must the cannonballs fly, before they’re forever banned?

The answer, my friend, is blowin’ in the wind. The answer is blowin’ in the wind”

จะเพราะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เนื้อเพลงที่ว่าด้วยการตั้งคำถามถึงสงคราม สันติภาพ และความเป็นมนุษย์เพลงนั้นกลายเป็นที่สนใจในทันที ภายหลังมันถูกตั้งชื่อตามท่อนหนึ่งของเนื้อเพลงว่า Blowin’ in the Wind และทางสตูดิโอก็ได้หยิบมันมาเป็นซิงเกิลของ The Freewheelin’ Bob Dylan (1963) อัลบั้มลำดับที่สองของดีแลน จนส่งให้มันเป็นเพลงที่สร้างปรากฏการณ์ระดับประเทศ แทรกซึมจนกลายเป็นจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวผู้แสวงหาสันติภาพ ตัวดีแลนเคยร้องเพลงนี้ในการประท้วงเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งให้คนผิวดำในกรีนวูด, มิสซิสซิปปี้ในฤดูใบไม้ผลิปี 1963 และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น วงดนตรีโฟล์ก Peter, Paul and Mary ก็ได้หยิบเอาเพลงของดีแลนไปขับร้องหน้าอนุสรณ์สถานลินคอล์น ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่ Martin Luther King, Jr. นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จะกล่าววาทะในตำนานอย่าง “I Have a Dream”

Blowin’ in the Wind กลายเป็นเพลงประจำการประท้วงเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในเวลานั้น สอดรับกับเจตนารมณ์เดิมของดีแลนซึ่งเคยเล่าที่มาของบทเพลงซึ่งถือกำเนิดขึ้นในบาร์เล็กๆ เพลงนั้นว่า “ผมเล่าอะไรเกี่ยวกับเพลงนี้ไม่ได้มากนัก เว้นเสียแต่ว่าคำตอบมันอยู่ในสายลม ไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ได้อยู่ในหนังหรือในโทรทัศน์หรือในวงเสวนาใดๆ หากแต่มันอยู่ในสายลม และโบยบินจากไปแล้ว พวกคนเท่ๆ มีคำตอบให้ผมหลากหลายอย่างแต่ผมไม่เชื่อเลย ผมยังคงเชื่อว่ามันอยู่ในสายลม มีล่องลอยไปราวกับเศษกระดาษซึ่งคงจะหล่นลงพื้นบ้างเป็นบางคราว แต่ปัญหาคือ เมื่อมันหล่นลงมาแล้วก็ไม่มีใครหยิบฉวยคำตอบนั้นขึ้นมาอีก คนอีกจำนวนมากเลยไม่ได้เห็นว่าคำตอบนั้นเป็นอย่างไร จนมันบินจากไปอีกครั้ง 

“ผมยังยืนกรานว่า อาชญากรรมที่รุนแรงที่สุดคือการที่คนพวกนั้นเบือนหน้าหนีจากสิ่งที่ผิด ซึ่งเขาก็รู้อยู่แก่ใจว่ามันผิด ผมอายุแค่ 21 ปียังรู้เลยว่าเรามีสงครามมากมายเหลือเกิน คุณอายุมากกว่า 21 คุณก็ควรจะฉลาดกว่าสิ”

บทเพลงของดีแลนก็ยังทำหน้าที่ปลุกระดมไปจนถึงปลอบโยนเหล่าคนหนุ่มสาวในอเมริกาที่ไขว่คว้าหาสันติภาพและแสวงหาคำตอบของชีวิตตลอดช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวที่กินเวลาลากยาวมาจนถึงยุค 70s จนมันกลายเป็นเพลงแห่งการประท้วง ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการบรรจุในหอเกียรติยศของแกรมมี่ในปี 2004 ในฐานะเพลงที่มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์และเปี่ยมคุณภาพมาอย่างยาวนาน

Blowin’ in the Wind ของดีแลนไม่ใช่บทเพลงเดียวที่ทำหน้าที่เป็นน้ำเสียงและเนื้อหาของการประท้วง อันที่จริงก็เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวหรือเจตนาอื่นๆ ที่สร้างความรู้สึกร่วมของผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาแบบ–ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม–คุณสมบัติอันทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งของดนตรีคือมันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ในทุกการประท้วงทั้งเล็กทั้งใหญ่ ด้านหนึ่งมันจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความรู้สึกหรือคำอธิบายห้วงอารมณ์ของผู้คนทางอ้อมในการชุมนุมแต่ละครั้ง อย่างที่เราเคยเห็นผู้ประท้วงจำนวนมากร่วมขับร้อง Do You Hear the People Sing? เพลงชาติแห่งการประท้วงที่ถือกำเนิดขึ้นจากละครเวที Les Misérables ในปี 1980

Les Misérables, 1980

Do You Hear the People Sing?

Les Misérables หรือ เหยื่ออธรรม วรรณกรรมอมตะของ วิกเตอร์ อูโก ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1862 และได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าที่สุดของศตวรรษที่ 19 โดยเล่าถึงชั่วชีวิตคนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศส หนึ่งในฉากสำคัญของเรื่องคือการรวมตัวกันลุกฮือขึ้นมาของประชาชนในองก์ที่หนึ่งเมื่อ เอ็นญอร่า และกลุ่มนักศึกษาก่อปฏิวัติขึ้นกลางถนนระหว่างขบวนแห่ศพของนายพล ฌ็อง มักซีมีเลียง ลามาร์ก พร้อมขับร้องเพลง Do You Hear the People Sing? หรือ À la Volonté du Peuple ในภาษาฝรั่งเศส โดยได้ เคลาด์-มิเชล โชนแบร์ก คอมโพเซอร์เพลงให้ ขณะที่เนื้อร้องภาษาฝรั่งเศสได้ อาแล็ง บูบิลล์ และฌ็อง-มาร์ก นาเตล ประพันธ์ให้ ส่วนภาษาอังกฤษเป็นเวอร์ชั่นของแฮร์เบิร์ต เครตซ์เมอร์ และพวกเขาเองไม่อาจนึกฝันเลยว่าในอีกหลายทศวรรษต่อมา มันจะกลายเป็นเพลงชาติในพื้นที่ของการประท้วงนับตั้งแต่โลกตะวันตก ไล่เรื่อยมาจนถึงตะวันออก

Do You Hear the People Sing? กลายเป็นบทเพลงในการประท้วงยุคหลังนับตั้งแต่การชุมนุมต่อต้านพระราชบัญญัติวิสคอนซินเมื่อปี 2011 ที่ผู้ประท้วงกว่าแสนคนรวมตัวกันยังที่ว่าการรัฐวิสคอนซิน และการขับร้องบทเพลงนี้ก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ต่อต้านการตรากฎหมายโดยมิชอบ, การประท้วงที่สวนสาธารณะทักซิม เกซีในตุรกีปี 2013 ที่ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านนโยบายของนายกฯ (ในเวลานั้น) ที่มุ่งมั่นจะเอาพื้นที่สาธารณะไปทำเป็นห้างสรรพสินค้า ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่รัฐใช้การปราบปรามรุนแรงเกินกว่าเหตุ จนการประท้วงบานปลายกินเวลาอีกหลายเดือน ตลอดจนเหตุการณ์ที่ฮ่องกง เมื่อช่วงปลายปี 2019 ในภาวะที่ฮ่องกงพยายามปลดแอกตัวเองจากการปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่ เหล่านักเรียนพากันขับร้องบทเพลงนี้กลบเสียงเพลงชาติก่อนเข้าชั้นเรียน จนมันส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงไปสู่การประท้วงใหญ่ด้านนอกอันส่งผลให้จีนลบเพลงนี้ออกจาก QQ Music บริการสตรีมมิงรายใหญ่ของจีน เช่นเดียวกันกับในไทยซึ่งภายหลังจากการประท้วงในปี 2020 ที่ผ่านมา Do You Hear the People Sing? เป็นเพลงที่ถูกขับร้องเพื่อใช้ต่อต้านรัฐบาลและชนชั้นนำของไทย

Do you hear the people sing?

Singing a song of angry men?

It is the music of the people

Who will not be slaves again!

เครตซ์เมอร์ เจ้าของเนื้อเพลงเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ พูดถึงการที่บทเพลงจากปลายปากกาของเขานั้นเป็นศูนย์รวมใจของผู้ถูกกดขี่จากทั่วโลกว่า “ผมเขียนเนื้อเพลง Do You Hear The People Sing? ตอนอายุได้ 60″ เขาเล่า “เขียนขึ้นมาก่อนที่ Nelson Mandela จะถูกปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำในปี 1990 และก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะพังทลายลงเสียอีก

“เวลามีคนมาถามว่า เหตุใดเพลงจึงเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนานขนาดนี้ ผมก็จะตอบเสมอว่าผมเพียงแต่พยายามเล่าประเด็นสำคัญตลอดกาลเท่านั้น นั่นคือความอยุติธรรม ซึ่งสามารถแปรเปลี่ยนให้ชายและหญิงทั้งหลายกลายเป็นทาส สร้างความโกรธแค้นและอับอายทั้งยังบดขยี้จิตวิญญาณมนุษย์ หากแต่ทุกสิ่งก็จะสิ้นสุดลงตามท่อนที่ว่า ‘When tomorrow comes’ เพราะผมเชื่อว่าความหวังนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจดับสูญไปได้” หลังจากนั้นเครตซ์เมอร์เสียชีวิตในปีต่อมาด้วยวัย 95 ปี

Bye Bye Badman

หากว่า Do You Hear the People Sing? เป็นบทเพลงที่ถือกำเนิดขึ้นก่อนแล้วจึงถูกหยิบไปใช้ในการประท้วง มุมกลับของมันคือ Bye Bye Badman ของวงจากแมนเชสเตอร์ The Stone Roses ที่ปล่อยออกมาในปี 1989 ท่วงทำนองเรียบเรื่อยทว่าเนื้อเพลงชวนเหวอ พร้อมปกอัลบั้มที่เป็นรูปซีกมะนาวฝานครึ่ง ใครจะไปเชื่อว่ามันได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประท้วงอันเดือดดาลที่ฝรั่งเศสในปี 1968

I’m throwing stones at you man

I want you black and blue and

I’m gonna make you bleed

Gonna bring you down to your knees

ต้นธารของเพลงที่พูดถึงการขว้างปาอิฐและก้อนหิน สบถสาบานถ่มถุย ‘เจ้าคนชั่ว’ เกิดขึ้นในสมัยที่ Ian Brown ฟรอนต์แมนตัวเอ้ของวงไปเจอเข้ากับชายชาวฝรั่งเศสที่โบกรถเพื่ออกเดินทางไปทั่วยุโรป และเริ่มต้นบทสนทนาในรถด้วยการเล่าถึงความเดือดดาลของการประท้วงในบ้านเกิดของตัวเอง” หมอนี่เพิ่งกลับมาจากการประท้วงแหม็บๆ” John Squire มือกีตาร์เล่า “แล้วเขาก็เล่าให้เอียนฟังเป็นฉากๆ เลยว่าในการประท้วงนั่น มะนาวมันถูกเอามาใช้ประโยชน์ในฐานะสารล้างแก๊สน้ำตาได้ยังไงบ้าง”

ส่วนเอียนผู้ตื่นตาตื่นใจกับเรื่องเล่า พบว่าสหายร่วมทางหน้าใหม่พกมะนาวตลอดจนสารพัดของจุกจิกที่ต้องใช้ในม็อบติดตัวไว้อยู่เกือบตลอดเวลา “เขาบอกเราว่าน้ำมะนาวมันไปลดความรุนแรงของแก๊สน้ำตา แล้วก็ระแวงว่าสักวันรัฐบาลคงโยนเอาแก๊สน้ำตาใส่ฝูงชนอีกแน่ๆ เลยต้องพกมะนาวติดตัวไว้เสมอ จะได้บุกไปช่วยพวกแนวหน้าในการชุมนุมได้”

Paris Revolution, 1968

การประท้วงในปารีสปี 1968 นั้นเป็นหนึ่งในการประท้วงที่ได้รับการจดจำมากที่สุด เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ฝรั่งเศสเองก็รับเอาบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงและต่อต้านของประชาชนต่อรัฐในช่วงเวลาที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่สงครามเย็นอย่างเต็มตัว ประกอบกับความล้มเหลวของรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลานั้นที่ไม่อาจรองรับความต้องการหรือคำเรียกร้องของคนหนุ่มสาว จนพวกเขารู้สึกถูกทอดทิ้งและไร้อนาคต นำมาสู่การก่อหวอดประท้วงในเดือนพฤษภาคมที่รั้วมหาวิทยาลัย และพบว่ารัฐโต้ตอบพวกเขาด้วยการพยายามจะปิดมหาวิทยาลัยซึ่งทำให้ฝั่งมวลชนไม่พอใจ จนเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ลงท้ายที่เหล่านักศึกษาถูกจับกุมนับร้อยชีวิต 

เช่นเดียวกันกับการประท้วงอื่นๆ เพราะการจับกุมนั้นไม่ได้แปลว่าเหล่าผู้ชุมนุมจะสงบยอม ตรงกันข้าม มันเทียบเท่ากับการโหมน้ำมันเข้ากองไฟ สหภาพนักเรียนมัธยมร่วมกันกับคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมการประท้วงนี้ในวันที่ 6 พฤษภาคมบริเวณประตูชัยฝรั่งเศส พร้อมข้อเรียกร้องสามข้อคือ ต้องปล่อยตัวนักศึกษาทุกคนที่ถูกจับกุมในทันที, เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกจากมหาวิทยาลัย และให้มีการเปิดมหาวิทยาลัยดังเดิม ซึ่งการเจรจาผ่านไปได้ด้วยดี เจ้าหน้าที่รับปากว่าจะเดินหน้าทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ เหล่าผู้ชุมนุมค่อยๆ ทยอยกลับโรงเรียนเพื่อจะพบว่า สิ่งที่ตำรวจรับปากในการประท้วงเมื่อวันที่ 6 นั้นไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย! (ฟังดูคุ้นๆ ยังไงไม่รู้) นำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่กว่าเดิมในวันที่ 10 พฤษภาคม โดยผู้ประท้วงยึดครองฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนใจกลางปารีส ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งกำบังไม่ให้พวกเขาข้ามแม่น้ำมายังอีกฝั่งได้ ฝูงชนจึงเริ่มปาข้าวของใส่กันวุ่นวายและปักหลักค้างคืนแถบนั้น ก่อนจะถูกตำรวจลอบโจมตีกลางดึกตอนตีสอง เกิดเป็นจลาจลนองเลือดครั้งใหญ่ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมจำนวนมาก

สถานีวิทยุและสื่อมวลชนหลายแห่งรายงานการปะทะกันในครั้งนี้ ทำให้คนดังทั้งนักร้องและกวีหลายคนเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้เพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงเกินความจำเป็นของตำรวจ บวกกันกับเหล่าแรงงานที่นัดหยุดงานครั้งใหญ่เพื่อมาร่วมลงถนนเดินขบวนในปารีสเรือนแสน ทำเอา จอร์จ ปงปีดู นายกรัฐมนตรีภายใต้การบริหารของชาร์ลส เดอ โกล ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสในเวลานั้นประกาศปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับกุมอย่างเร่งด่วน ทั้งยังอนุญาตให้เปิดมหาวิทยาลัยอีกหนหลังปิดมาตั้งแต่ต้นเดือน แต่ปรากฏว่าช้าไปแล้ว มวลชนยิ่งโหมความโกรธเคืองและรู้สึกว่าปงปีดูไม่จริงใจ ทั้งยังทอดทิ้งผู้คนจนเกิดจลาจลครั้งใหญ่ และเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ชายฝรั่งเศสที่เอียนเจอในคราวนั้นเข้าร่วมและเรียนรู้จะพกลูกมะนาวติดตัวไว้ตลอดเวลาเผื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะปาแก๊สน้ำตาข้ามมายังฝั่งประชาชน (ทั้งนี้ เหตุการณ์ในปี 1968 ลงเอยที่เดอ โกลขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด)

สู้ไม่ถอย

ตัดภาพกลับมาที่บริบทประเทศไทย เราอาจต้องพูดกันตรงๆ ว่าเพลงประท้วงในความหมายแบบไทยด้านหนึ่งมันหมายถึงเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่น่าสนใจว่ายุคเรืองรองของเพลงเพื่อชีวิตไทยนั้นเกิดขึ้นในยุค 14 ตุลา 2516 ที่ดัดแปลงจากเพลงลูกทุ่ง พูดถึงคนชนชั้นแรงงาน ปากกัดตีนถีบในสังคมอันไม่เป็นธรรม มาสู่เพลงที่เสียดสีรัฐบาล เรียกร้องความเท่าเทียมและการต่อสู้

สู้เข้าไปอย่าได้ถอย

มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่

รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู

พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม

เพลง สู้ไม่ถอย เขียนขึ้นโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นับเป็นบทเพลงที่ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ ของยุค 14 ตุลา ภายหลังจากเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี นำมาสู่การขุดคุ้ยหาความจริงว่าเหตุใดเฮลิคอปเตอร์ลำยักษ์พร้อมอาวุธสงครามล่าสัตว์จึงไปตกอยู่กลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามมาด้วยการเปิดโปงข้อเท็จจริงครั้งใหญ่ว่าในการออกเดินทางไปยังค่ายพักแรมในทุ่งนเรศวรนั้น เป็นการออกเดินทางไปล่าสัตว์อย่างที่เห็นได้จากซากกระทิงและซากสัตว์ป่าจำนวนมากในเฮลิคอปเตอร์ 

เหตุการณ์นี้ทำให้นักศึกษาและประชาชนหลายฝ่ายไม่พอใจจนจอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีต้องออกมาให้สัมภาษณ์แก้ต่างว่าเป็นการออกเดินทางเพื่อไปสืบราชการลับ (!!) ของเหล่าเจ้าหน้าที่ชั้นสูงในป่าใหญ่ ค้านกันกับหลักฐานที่นักข่าวและนักศึกษาตามไปขุดคุ้ยถึงท้องที่ และเพื่อจะโต้กลับคำตอบของถนอม นักศึกษาจึงรวมตัวกันพิมพ์หนังสือชื่อ บันทึกลับจากทุ่งใหญ่ ออกมาราวกลางปี 2516 ไล่เลี่ยกันกับที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 9 คน ตีพิมพ์หนังสือ มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ เพื่อตำหนิรัฐบาลต่อการคอร์รัปชั่นและตั้งคำถามต่อสถาบันการศึกษาที่ไม่อาจให้คำตอบใดๆ ต่อความบิดเบี้ยวของสังคมได้ 

ภายหลังตีพิมพ์หนังสือได้ไม่นาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในเวลานั้นจัดการออกคำสั่งปลดนักศึกษาทั้ง 9 คนออกจากรายชื่อบัญชีนักศึกษาทันที และกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ทำให้เพื่อนนักศึกษาทั้งร่วมสถาบันและต่างสถาบัน ตลอดจนประชาชนหลากหลายฝ่ายไม่พอใจกับท่าทีเช่นนี้ของอธิการบดี ออกมารวมตัวกดดันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยให้รับนักศึกษาทั้ง 9 คนกลับเข้าเรียนอีกครั้ง และช่วงเวลานี้เองที่ก่อกำเนิดบทเพลง สู้ไม่ถอย ขึ้นมาเพื่อให้กำลังใจมวลชนในการต่อสู้กับอำนาจรัฐอันแสนไม่ชอบธรรม พร้อมกันกับที่การประท้วงนั้นเดินหน้าไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาในอีกหลายเดือนต่อมาในที่สุด

น่าสนใจว่า เพลง สู้ไม่ถอย นั้นถูกนำมาใช้ในบริบทหลากหลายของการประท้วงเสมอ โดยเฉพาะในปี 2557 ที่กลุ่มผู้ประท้วง กปปส.นำมาใช้เป็นเพลงปลุกใจระหว่างเดินขบวนชัตดาวน์กรุงเทพฯ และมันได้เปลี่ยนบริบทของตัวเพลงในทันที กล่าวคือหากว่าเมื่อ 48 ปีก่อน เพลงนี้เคยรับใช้ประชาชนในฐานะการต่อสู้กับเผด็จการ มาสู่การใช้เป็นเครื่องมือในการกวักมือเรียกกองทัพให้เข้าแทรกแซงทางการเมืองในอีกหลายปีต่อมาได้อย่างน่าประหลาด และนับเป็นปรากฏการณ์อันแสนลักลั่นย้อนแย้งที่แสนจะชินตาในหน้าการเมืองไทยไปแล้ว

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที