Black Amber : คลับของสุภาพบุรุษผู้หลงใหลในทรงผมวินเทจ ซิการ์ และวิสกี้

Highlights

  • Black Amber Thonglor Social Club คือร้านใจกลางทองหล่อที่วางตัวเป็น Gentlemen's Club หรือคอมมิวนิตี้สำหรับชายหนุ่มให้ได้มาแลกเปลี่ยนบทสนทนาและความรู้กัน
  • ภายในมีทั้งร้านตัดผมสไตล์คลาสสิกที่นำเสนอบริการกรูมมิ่งสำหรับสุภาพบุรุษ บาร์วินเทจเรียงรายด้วยวิสกี้ชั้นเยี่ยมที่คัดสรรมาอย่างดี แถมมีรายชื่อซิการ์นำเข้ายาวเหยียดให้เลือกดื่มด่ำตามอารมณ์
  • พื้นที่บาร์เบอร์ที่นี่ถูกสงวนไว้สำหรับสุภาพบุรุษเท่านั้น ด้วยเหตุผลว่าชายหนุ่มหลายคนอาจไม่สะดวกใจจะให้ผู้หญิงได้เห็นตัวเองตอนผมยังไม่เป็นทรง แต่นอกจากส่วนร้านตัดผม Black Amber ก็ยินดีต้อนรับสุภาพสตรีเช่นกัน เพราะผู้หญิงสำคัญสำหรับ gentlemen เสมอ

คลับสำหรับสุภาพบุรุษ

กลิ่นเผาไหม้ของซิการ์ยังคงอวลอยู่ในห้องสีดำ แสงที่ส่องเข้ามาเพียงสลัวๆ ชวนให้นึกถึงฉากในนวนิยายกอทิกที่ให้ความรู้สึกลึกลับ หรูหรา และเป็นปริศนาในคราวเดียวกัน

แต่แน่ล่ะว่าเราไม่ได้บรรยายฉากในนวนิยายเล่มไหน เพราะสถานที่แห่งนี้มีอยู่จริง และซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบที่ด้านในสุดของทองหล่อซอย 6

Black Amber Thonglor Social Club คือสถานที่ที่ว่า แม้สโลแกน ‘SIP, SMOKE & SPOKE’ จะชวนให้คิดถึงคลับบาร์ธรรมดาทั่วไป แต่ร้านแห่งนี้เป็นมากกว่านั้น ด้วยผนวกทั้ง ‘บาร์’ และ ‘ร้านตัดผม’ เข้าไว้ด้วยกัน

แต่อย่าเพิ่งปรามาสว่า Black Amber Thonglor Social Club เป็นเพียงศูนย์รวมบาร์และร้านตัดผมแบบครึ่งๆ กลางๆ เพราะทั้งสองไปสุดทางในแบบของตัวเอง อย่างบาร์วินเทจนั้นเรียงรายด้วยวิสกี้ชั้นเยี่ยมที่คัดสรรมาอย่างดี แถมมีรายชื่อซิการ์นำเข้ายาวเหยียดให้เลือกดื่มด่ำตามอารมณ์ ส่วนร้านตัดผมสไตล์คลาสสิกก็นำเสนอบริการกรูมมิ่งสำหรับสุภาพบุรุษที่หาไม่ได้ในร้านตัดผมยุคปัจจุบัน เช่น การตัดเล็มหนวดเคราที่เปรียบดั่งการทำสปาของผู้หญิง

เจ้าบ้านอย่าง ขวัญ–ชวิน นันทเทิม นำทางเราเยี่ยมชมภายในร้านอย่างเป็นกันเอง พลางเล่าที่มาของร้านว่า หลังจากประสบความสำเร็จกับธุรกิจร้านตัดผมร้านแรกอย่าง Black Amber เขาศึกษาอย่างลงลึกเรื่องจุดกำเนิดดั้งเดิมของ Gentlemen’s Club จนเป็นที่มาของ Black Amber Thonglor Social Club

“ผมสนใจเรื่องลึกลับอย่างสมาคมลับ เลยทำการบ้านว่าถ้าเราอยากทำโซเชียลคลับขึ้นมา จะเป็นแบบไหนได้บ้าง สมัยก่อน Gentlemen’s Club เป็นคลับหรือสมาคมที่ไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยจะรวบรวมคนที่เป็นตัวท็อปหรือผู้นำของทุกสาขา อย่างนักการเมือง นายธนาคาร สถาปนิก ศิลปิน เชฟ ช่างฝีมือ ใครมีปัญหาหรือมีข้อมูลอะไรก็มาแลกเปลี่ยนกัน

“บางเรื่องที่เป็นความลับมากๆ ต้องใช้เวลาปรึกษาหารือกัน บางทีหายเข้าไปเป็นเดือนเพราะยังแก้ปัญหากันไม่ตก ในนั้นจึงจำเป็นต้องมีร้านอาหาร บาร์ ร้านตัดผม ห้องสมุด ห้องพักผ่อน ห้องสูบซิการ์” คำบอกเล่าของขวัญอธิบายเหตุผลที่เวลาเปิด-ปิดของร้านคือ 10:00-02:00 น. ไม่มีคำว่าเช้าไปสำหรับวิสกี้สักแก้ว หรือดึกไปสำหรับผมทรงใหม่

“ผมว่ามันสุดยอดกว่า Gentlemen’s Club ในสมัยนี้ที่ไปนั่งดูผู้หญิงเปลือยตั้งเยอะ เลยอยากให้บาร์ของเราเป็นแบบ Gentlemen’s Club แบบในยุคก่อน แต่มาดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ผมอยากให้ที่นี่เป็นที่ที่เด็กที่ยังไม่จบมหาวิทยาลัยสามารถมานั่งคุยกับคนแก่วัยเกษียณได้ ผู้บริหารสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกับบาร์เทนเดอร์ได้”

สุนทรีแห่งการร่ำสุราและกรุ่นกลิ่นซิการ์

นอกจากที่นี่จะเปิดบาร์เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างสุภาพบุรุษแล้ว ขวัญยังขยายปริมณฑลของความเป็นร้านตัดผมให้กว้างกว่าเก่า คือผู้ใช้บริการสามารถจิบเครื่องดื่มหรือสูบซิการ์ระหว่างตัดผมได้นั่นเอง

“มาตัดผมที่นี่เรามีเวลคัมดริงก์ให้สองดริงก์อยู่แล้ว จะสั่งชา กาแฟ หรือวิสกี้ก็ได้ ที่บาร์เราจะมี single malt whisky ให้เลือกค่อนข้างเยอะ ถ้าคนดื่มจะรู้ว่าวิสกี้นี้เป็นวิสกี้เกรดดี เพราะปลูกกันอยู่ฟาร์มเล็ก เป็นธุรกิจในครอบครัวที่สืบทอดกันมานาน และผลิตได้ปริมาณจำกัด

“นอกจากวิสกี้ เรามีคลาสสิกค็อกเทลด้วย อันไหนที่สูตรถูกดัดแปลงไปจากของดั้งเดิมหรือวัตถุดิบบางอย่างที่หาไม่ได้เราก็จะไม่ทำ และเราเขียนประวัติค็อกเทลแต่ละตัวไว้ในเมนูด้วยว่าค็อกเทลนี้เกิดขึ้นปีอะไร ใครคิดค้น” ขวัญเล่าว่าที่ต้องเขียนที่มาที่ไปของเครื่องดื่มแต่ละตัวก็เพราะต้องการให้ลูกค้าได้รู้จักสิ่งที่กำลังกินดื่มด้วย

ส่วนเรื่องศาสตร์แห่งยาสูบ ขวัญบอกว่าที่ร้านอนุญาตให้สูบซิการ์เท่านั้น “บุหรี่คือการเสพติดสารนิโคติน แต่ซิการ์คือความสำราญ คือความผ่อนคลาย คือศิลปะ ที่สำคัญคือกลิ่นทั้งสองอย่างแตกต่างกันมาก บางคนซื้อซิการ์เพื่อคาดหวังจะเอนจอยกับมันหนึ่งชั่วโมง ถ้ามีกลิ่นบุหรี่มารบกวนจะเสียบรรยากาศทันที อย่างคนสูบซิการ์กันเต็มห้องแล้วมีคนหนึ่งสูบบุหรี่ กลิ่นบุหรี่จะแหลมขึ้นมาเลย”

ขวัญชี้แจงเพิ่มว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือ เวลาที่กลิ่นซิการ์และบุหรี่ผสมกัน จะออกมาเป็นกลิ่นที่ไม่น่าอภิรมย์เท่าไรนัก เขาจึงจัดพื้นที่สำหรับคนสูบบุหรี่ไว้ที่โซนด้านนอกแทน

รู้ (ผม) เขา รู้เรา, ตัดร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง

สิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์อีกอย่างนอกจากวิสกี้ ค็อกเทล และซิการ์ ก็คือบาร์เบอร์ซึ่งเป็นธุรกิจตั้งต้นของร้าน การสื่อสารระหว่างช่างและลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับไหวพริบของช่าง การตัดผมไม่ได้หมายถึงการทำให้สั้นลงเท่านั้น แต่ขวัญยังให้ความสำคัญไปถึงการใช้ชีวิตของลูกค้าหลังตัดผม เพราะลูกค้าจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับทรงผมนี้ไปอีกเดือนหนึ่ง การออกแบบทรงผมจึงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับหน้าที่การงานและบุคลิกของลูกค้าด้วย

“เราพยายามทำบาร์เบอร์ให้เป็นโมเดิร์นคลาสสิก ไม่ได้ยึดว่าจะต้องเป็นตามทฤษฎี เราไม่ได้มีทรงที่ชัดเจนเป๊ะๆ ว่าออกจากร้านไปต้องเป็นทรงนี้เท่านั้น แต่เราจะยึดความเรียบง่ายเอาไว้ให้มากที่สุดเพราะใช้งานได้จริง ผมคิดว่าแฟชั่นหมุนเวียนตลอดเวลา ปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ช่างของเราจะใช้เวลาคุยกับลูกค้าก่อนตัด เป้าหมายคือต้องคอนเฟิร์มว่าลูกค้าต้องการอะไร และพยายามทำให้ใกล้เคียงสิ่งที่เขาต้องการมากที่สุด ต้องดูด้วยว่าเขาชอบแบบไหน ต้องเซตผมแบบไหน ลักษณะเส้นผมเป็นยังไง ลามไปถึงควรรู้ว่าเขาทำงานอะไร รายละเอียดเหล่านี้จะทำให้ทรงผมออกมาเหมาะกับไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากที่สุด

“เรามี senior barber กับ regular barber ราคาไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่เราจะดูภาพรวมของช่างคนนั้นๆ ว่าสามารถให้ความพึงพอใจกับลูกค้าได้มากขนาดไหน เราดูฟีดแบ็กจากลูกค้าง่ายๆ เลยคือดูว่าเขากลับมาร้านเราอีกหรือเปล่า ถ้าลูกค้ากลับมาแล้วรีเควสต์ช่างคนเดิม แสดงว่าช่างต้องทำอะไรถูกใจสักอย่าง”

หนวดเคราคือเงาของความเป็นชาย

ขวัญเท้าความถึงประวัติศาสตร์ของ ‘มนุษย์เพศชายกับหนวด’ ฉบับย่นย่อว่า “หนวดมีความหมายบางอย่างตั้งแต่มีผู้ชายกำเนิดขึ้นมา อย่างในสมัยอียิปต์ หนวดแสดงถึงความห้าวหาญ แข็งแกร่ง ส่วนในจีน หนวดแสดงถึงความเป็นผู้รู้”

สำหรับขวัญ บริการโกนหนวดสำหรับสุภาพบุรุษนั้น ไม่ต่างอะไรกับการเข้าสปาทำทรีตเมนต์ใบหน้าของสุภาพสตรี และปัจจุบันเทรนด์การไว้หนวดเคราเริ่มกับมาฮิตอีกครั้ง

“การโกนหนวดของที่นี่เราดูแลเหมือนการเข้าสปา อย่าง hot towel shave คุณจะได้นอนหลับตานิ่งๆ สัก 40 นาที มีผ้าร้อนๆ มีเครื่องหอม มีการนวด มันเป็นทรีตเมนต์ ความรู้สึกคงจะคล้ายๆ ที่ผู้หญิงไปนวดหน้า การโกนหนวดจึงเป็นพิธีกรรมพิเศษที่สืบทอดกันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว บาร์เบอร์ในสมัยก่อนเลยมีไว้สำหรับคนระดับสูง การโกนหนวดเลยเป็นการกรูมมิ่งแท้ๆ ของผู้ชายเลย”

ความเป็นส่วนตัวในร้านบาร์เบอร์

ขวัญเล่าว่าโซนบาร์เบอร์คล้ายกับเป็นลานประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ สงวนไว้สำหรับสุภาพบุรุษเท่านั้น เขาอธิบายให้ฟังว่าเคยเกิดเหตุการณ์ความไม่เข้าใจกันระหว่างช่างและลูกค้า ความแตกต่างระหว่างเพศในบาร์เบอร์ช็อปจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจอย่างขวัญต้องรับฟัง “ในห้องตัดผมหรือบาร์เบอร์ช็อปมันเหมือนห้องน้ำชาย เหมือนล็อกเกอร์ของผู้ชายเอาไว้ใช้เปลี่ยนเสื้อผ้า บางทีเขาอาจไม่ได้อยากให้ผู้หญิงเห็นตอนผมยุ่งๆ หรือผมที่ยังไม่ได้เซต หรือบางทีผู้ชายอาจจะอึดอัดที่มีผู้หญิงนั่งข้างๆ คอยกดดัน เช่น ลูกค้าบางคนไม่สะดวกใจให้ช่างผู้หญิงตัดผมให้ก็มี บาร์เบอร์ช็อปจึงเป็นพื้นที่ที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายจริงๆ” สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่ขวัญกำหนดขึ้นมาเอง แต่เป็นสิ่งที่ตกผลึกมาจากการทำงานและคอมเมนต์ของลูกค้า

นอกจากประเด็นความแตกต่างทางเพศในโซนบาร์เบอร์ช็อปแล้ว ขวัญเล่าประเด็นการถูกกีดกันของเพศหญิงใน Gentlemen’s Club ในสมัยก่อนให้ฟังว่า “Gentlemen’s Club จะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้า เหตุผลหลักๆ มีสองอย่างคือ ในนั้นมีผู้หญิงซึ่งไม่ใช่ภรรยาอยู่ด้วย อีกอย่างคือเรื่องข้อมูลที่เป็นความลับอาจรั่วไหล” แต่เมื่อบริบทของยุคสมัยเปลี่ยนไป ขวัญก็ทิ้งท้ายอย่างขี้เล่นว่า “แต่ที่นี่เราให้ผู้หญิงเข้าได้ครับ เพราะผู้หญิงสำคัญสำหรับ gentlemen เสมอ”

เมื่อยางไม้ตกผลึกเป็นอำพัน

ขวัญเฉลยเหตุผลที่ร้านมีชื่อว่า Black Amber ว่า เขาคลั่งไคล้และสะสมวัตถุหายากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ประกอบกับคำว่า amber หรือ ‘อำพัน’ มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับเขาไม่น้อย

“อำพันมาจากนามสกุลคุณแม่ผม เดิมอำพันคือยางไม้ แต่พอนานเข้า เมื่อผ่านเวลายาวนานก็กลายเป็นของแข็ง มันจะดูดซับสิ่งรอบๆ ตัวมันที่อยู่ใต้ดิน พร้อมๆ กับผลักสิ่งที่ทำให้ตัวมันนิ่มออก”

ในสายตาขวัญ อำพันเป็นเหมือนลักษณะของคนที่ตกผลึกจนแววใส และดูดซับประสบการณ์รอบๆ ตัวซึ่งทำให้คนคนนั้นแกร่ง เช่นในเวลานี้ที่ร้านของเขาเติบโตขึ้นมาเป็นลำดับ ก้าวต่อไปของเขาคือการรักษาของเดิมให้คงมาตรฐานและพัฒนาสิ่งที่กำลังคิดอยากต่อยอดให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

“สมัยก่อนที่ทำร้าน มันเหมือนเป็นตัวผมคนเดียว Black Amber คือผม แต่ตอนนี้ร้านมีชีวิตของมันเอง ผมก็มีชีวิตของผมเอง ผมเป็นแค่ผู้ดูแลให้มันเติบโตให้มากที่สุด ผมเลยมองร้านในฐานะคนนอกมองกลับเข้าไปที่แบรนด์บ้างว่าคนอื่นมองมันยังไง ผมอยากทำให้ที่นี่มีความมั่นคงด้านการบริการ เพราะคุณจะไม่เสียศรัทธาแน่นอนถ้าได้มาเยือน”

บาร์วินเทจ คลับสุภาพบุรุษ ร้านตัดผม ซิการ์ และวิสกี้ ได้เบลนด์จนเข้ากันอย่างกลมกล่อมไม่ต่างจากค็อกเทลสูตรพิเศษที่ใครได้จิบก็ต้องแวะเวียนกลับมาทุกครั้ง เราได้สัมผัสความพิเศษของบาร์แห่งนี้และมองเห็นจิตวิญญาณของศิลปินที่มุ่งหวังการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไว้ให้โลกใบนี้มากกว่าการค้ากำไร และรู้สึกได้ว่าขวัญกำลังเฝ้ารอที่จะเห็นวันที่อำพันก้อนนี้ค่อยๆ แกร่งขึ้น และใสขึ้นเรื่อยๆ ดังรอการตกตะกอนและผลึกของความสร้างสรรค์

ขอขอบคุณ ช่างเอก–ธนพล สุวรัตน์นพฉัตร

Black Amber
Address : ทองหล่อซอย 5-7
Hours : เปิดทุกวัน 10:00-02:00 น.
Phone : 092 276 2772
Facebook : Black Amber

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com