Everyday Sunday Social Hostel และ Cat on the Roof : ส่วนผสมที่ลงตัวของโฮสเทลมินิมอลและบาร์ลอฟต์ประดับนีออน

แม้การเมืองและเศรษฐกิจบ้านเราจะไม่นิ่งสักที แต่จากผลโหวตและการจัดอันดับของสื่อหลายสำนักทั่วโลกยังคงยกให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองน่าเที่ยวลำดับต้นๆ แถมสถิติในแต่ละไตรมาสมีชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยมากถึง 22 ล้านคน เศรษฐกิจบ้านเราส่วนใหญ่จึงยึดโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างแนบแน่น

ถึงช่วงหลังจะเห็นกันว่าเศรษฐกิจแย่ การทำธุรกิจที่พักไม่ง่าย ทว่าจำนวนโฮสเทลในไทยกลับผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายแบ็กแพ็ก โดยเฉพาะโฮสเทลแถบข้าวสาร เยาวราช สีลม และเอกมัย ซึ่งได้รับความนิยมมาก จำนวนโฮสเทลกว่า 600 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้รับการคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ 10 ท่ามกลางทางเลือกจำนวนมากนั้น ทำให้เรามองหาโฮสเทลที่แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมๆ ในตลาด

ไม่นานนี้เราค้นพบโฮสเทลทีเด็ดที่ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินซึ่งไม่ได้เป็นย่านฮิตสำหรับชาวต่างชาตินัก อย่าง Everyday Sunday Social Hostel แม้ไม่ใช่เจ้าแรกที่มาเปิดให้บริการบนย่านอารีย์และสะพานควาย แต่เรามองเห็นดีเอ็นเอของคนทำที่ไม่ได้คำนึงถึงแค่การนอนพักของแขก เพราะวางเป้าหมายจับกลุ่มลูกค้าที่นิยมสไตล์เก๋และเท่ ซึ่งที่นี่ตอบโจทย์คนเมืองที่รักงานตกแต่งภายในได้เป็นอย่างดี

นอกจากห้องพักราคาเบาที่ฉาบด้วยสไตล์นอร์ดิก มินิมอลโทนขาว ผสานลอฟต์และอินดัสเทรียลให้เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่น่าหลงใหล โฮสเทลแห่งนี้ยังมีบาร์ลับอย่าง Cat on the Roof ที่ตกแต่งแบบลอฟต์และไฟนีออนดัดโทนสีชมพูม่วงเคล้าด้วยเพลงสากลอินดี้หาฟังยากบนชั้นดาดฟ้า แถมช่วงกลางวันถ้าผู้พักว่าง ยังเดินมาจิบกาแฟและละเลียดอาหารแบบ All Day Dining ที่ร้าน Seek Cafe และลิ้มลองอาหารญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยมบุฟเฟ่ต์อย่าง SUKU SUKU ที่อยู่ติดกันทั้งหมด ในแง่การอุปโภคและบริโภค สถานนี้แห่งนี้ถือเป็นโมเดลธุรกิจที่ครบครันและส่งเสริมกันได้อย่างดี และแม้ภาพภายนอกนั้นจะชวนตื่นตา แต่เมื่อเราได้เข้าไปสำรวจและพูดคุยเกี่ยวกับองค์ประกอบภายใน เราพบว่าไอเดียการสร้างและออกแบบของผู้ก่อตั้งถือว่าน่าสนใจจนต้องบอกต่อ

มอบชุดประสบการณ์ที่ทำให้ทุกวันที่เข้าพักเป็นวันอาทิตย์

จุดเริ่มต้นของการสร้างโฮสเทลแห่งนี้เริ่มจากการวางคอนเซปต์ให้เป็นห้องพักที่เข้ามาแล้วเหมือนกำลังอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว โดยตั้งใจสร้างบรรยากาศให้คล้ายกับได้เข้ามานอนในคาเฟ่เก๋ๆ สักแห่ง

Everyday Sunday Social Hostel คือชื่อที่สะท้อนว่าทุกวันเป็นวันพักผ่อน โดยตั้งชื่อห้องพักเป็นวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์ตั้งแต่ Friday, Saturday ไปจนถึง Sunday โดยผู้ก่อตั้งต้องการให้ผู้เข้าพักตื่นขึ้นมาอย่างชิลล์ๆ มีลำแสงสวยๆ ลอดเข้ามาในอาคารอย่างทั่วถึง ซึ่งเหมาะกับการนั่งจิบกาแฟและอ่านหนังสือเงียบๆ นอกจากการบริการขั้นพื้นฐานที่ครบวงจร ภาพลักษณ์ด้านดีไซน์ของที่พักยังถูกเน้นให้ชัดเจนและช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้มาเยือนด้วย

เปลี่ยนตึกแถวอับทึบให้กลายเป็นที่พักแบบมินิมอล

รูปแบบการลุกขึ้นมาทำโฮสเทลที่เห็นบ่อยครั้ง คือการเปลี่ยนอาคารที่พักอาศัยธรรมดาๆ ให้กลายเป็นห้องพักแบบรายวัน การทำโฮสเทลเป็นไอเดียที่ไทยรับมาจากตะวันตก แน่นอนว่ามาตรฐานที่โฮสเทลทั่วโลกต้องมีคือทำเลที่ดี ความสะอาด ความปลอดภัย บริการครบ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าและแหล่งท่องเที่ยวเด็ด ที่สำคัญทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้ราคาที่ประหยัด ซึ่ง Everyday Sunday Social Hostel เข้าข่ายนั้น

แต่หัวข้อที่เราสนใจคือสไตล์การตกแต่งภายในที่แตกต่าง ซึ่ง โอ๋-อรุจิตร เลิศกิจจา มัณฑนากรด้านการตกแต่งภายใน หนึ่งในหุ้นส่วนเล่าให้เราฟังว่าการเนรมิตตึกเก่าแก่อายุหลายสิบปีที่ทรุดโทรมทั้ง 3 คูหาให้กลับมามีชีวิตชีวาเป็นเรื่องยาก ด้วยข้อจำกัดของอาคารผุพังไม่สมประกอบ ไม่สามารถสืบต้นตอโครงสร้างของตึกว่าใช้วัสดุอะไรและรองรับน้ำหนักได้เท่าไหร่ ประกอบกับความอับและทึบ ทำให้ภายในอาคารทั้งชื้นและมืด

ข้อเสียเหล่านี้เป็นโจทย์ใหญ่ของการรีโนเวตให้คลุมโทนคอนเซปต์ Less is more ด้วยรูปแบบนอร์ดิก มินิมอล เน้นโทนสีขาว และมีบ้างที่ใช้สีเทาและดำเพื่อเพิ่มระดับให้กับมุมมองเห็น โอ๋เลือกใช้เรเฟอร์เรนซ์จากโรงแรมสไตล์มินิมอลยอดฮิตในโซล ประเทศเกาหลีใต้ ผสานเข้ากับโรงแรมในสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่เธอชอบโดยส่วนตัว โอ๋ตัดสินใจเจาะอาคารที่มืด อับชื้น สกปรก และดูหลอน ให้โปร่งและติดกระจกให้แสงและลมลอดผ่านได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำให้การบริหารพื้นที่ 5 ชั้นสามารถใช้สอยได้อย่างคุ้มค่าและชาญฉลาด กลายเป็นห้องพักที่ทั้งโปร่ง โล่ง เก็บเสียง และสบาย จนนึกไม่ถึงเลยว่าที่นี่เคยถูกทิ้งมาแสนนาน

งานยากขั้นต่อมาคือโจทย์ที่ต้องการประหยัดต้นทุนแต่ใช้ของที่มีคุณภาพ เมื่อพื้นพังจนไม่เหลือชิ้นดี โอ๋จึงต้องรื้อพื้นทั้งหมดใหม่ ทุบส่วนเสีย ผูกโครงสร้างเหล็ก หลอมปูนใหม่ให้อาคารแข็งแรง โดยคงสภาพเสาของอาคารดิบๆ ไว้บางส่วน ปรับปรุงและเพิ่มเติมห้องน้ำ เดินระบบน้ำกับไฟทั้งตึกใหม่ เพื่อให้อาคารทุกชั้นรองรับน้ำหนักของห้องและผู้มาเยือนได้ และปรับชั้นลอยเพดานเตี้ยที่ไม่สามารถทำเป็นห้องพักได้ให้กลายเป็น Public Area เก๋ๆ กลายเป็นลายเซ็นโดดเด่นของ Everyday Sunday Social Hostel ที่คนเข้าพักชอบขึ้นไปถ่ายภาพอวดเพื่อน ขณะที่ของเก่าในตึกที่ยังมีสภาพดีอยู่จะถูกนำมาประยุกต์ให้เข้ากับของใหม่ที่ดูเนี้ยบ เช่น พื้นปูนเก่าขัดมันดิบๆ ที่คอนทราสต์กับรายละเอียดกริบๆ ของเพดาน โต๊ะ และเก้าอี้ไม้ทำมือจากเมืองเชียงใหม่ที่ให้บรรยากาศแบบโคซี่ แถมมีของกระจุกกระจิกอย่างปิ่นโตเล็กแบบไทยที่มองเห็นเป็นต้องอมยิ้ม ประกอบกับจุดเด่นของการเลือกใช้ชุดประโยคน่ารักนับสิบที่ติดอยู่บนผนังทุกห้องทำให้คนที่อาศัยอยู่ข้างในผ่อนคลาย และจดจำรายละเอียดได้ดี เช่น

“Calories don’t count on the weekend.”

“Sunday. Take it slow and give your soul a chance to catch up with your body.”

“A girl & her bed on sundays are an endless love affair.”

การแบ่งโซนทั้ง 6 ชั้นอย่างคุ้มค่า

ชั้น 1 ถูกแปลงร่างให้กลายเป็นล็อบบี้ที่เปิดทำการ 8:00 – 20:00 น. ในกรณีที่ลูกค้าต้องการเข้าพักหรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับห้องพักติดต่อได้ที่เบอร์ตรงของโฮสเทล นอกจากจะจองผ่านเว็บไซต์จองที่พักต่างๆ ได้แล้ว ยังเดินเข้ามาจองห้องพักได้ด้วยตนเองตราบใดที่ยังว่าง โดยบริเวณคูหาข้างๆ เปิดให้เช่าเป็นคาเฟ่ที่มีประตูเปิดเดินไปมาหาสู่กันได้ ทำให้แขกเข้าไปนั่งจิบกาแฟ ขนม และทานอาหารได้ตลอดเวลาที่ร้านเปิดในช่วงเวลากลางวัน

จุดเด่นของชั้น 1 คือไฟนีออนดัดโลโก้โฮสเทลสีขาวและชั้นวางเหล็กดิบๆ ราคาไม่แพงที่สูงตั้งแต่พื้นจรดชั้นลอย โดยแบ่งให้มุมเล็กๆ มุมหนึ่งเป็นโซนจำหน่ายของที่ระลึกอย่างปลอกหมอนแบรนด์เดียวกับโฮสเทล ชุดนอนแบรนด์ Lazy Sunday ซึ่งทอจากผ้าคอตตอนญี่ปุ่น และสินค้าประทินผิวออร์แกนิกที่โอ๋พัฒนาและผลิตด้วยตัวเอง รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ผ้าคลุมไหล่ และผ้าพันคอทอมือย้อมครามที่เอ๊ะนำเข้ามา re-packaging และขายในแบรนด์ของตัวเองชื่อ Sirisuda by Wichita เพื่อเป็นของฝากแบบไทยๆ ให้กับแขกผู้เข้าพักซื้อติดมือกลับไป

ชั้นลอย เป็นพื้นที่สาธารณะให้ผู้เข้าพักได้ผ่อนคลาย โดยมีโซฟาที่เหมาะกับการนั่งๆ นอนๆ และมีมุมอาหารเช้าที่มีของกินบริการยามเช้าจนถึงสายตั้งแต่ 8 โมงถึง 10 โมง พร้อมน้ำดื่มกับกาแฟและบอร์ดเกมให้บริการตลอดวัน

ชั้น 3 – 5 เป็นโซนห้องเดี่ยวและห้องรวมแบบเตียงสองชั้น ความพิเศษของห้องเดี่ยวคือหน้าต่างแบบพาโนรามาที่รับแสงยามเช้าและกลางวัน มองเห็นทิวทัศน์ถนนพหลโยธินที่พลุกพล่าน ส่วนคนที่นอนชั้น 5 หากกังวลว่าจะได้ยินเสียงดังจากบาร์บนดาดฟ้าก็ไม่ต้องกลัวเพราะวิศวกรใส่ insulation สำหรับกันเสียงรอบห้อง และประตูกระจกกันโซนทางขึ้นไปยังบาร์บนดาดฟ้าอย่างแน่นหนา

ชั้นดาดฟ้า คือบาร์เล็กๆ ที่เอาไว้กินดื่มในบรรยากาศเหมือนไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่ตกแต่งด้วยสไตล์ลอฟต์และประดับด้วยนีออนหลากสีสัน

การเติมเต็มด้านบริการจากหุ้นส่วนที่ทำงานโรงแรมมาทั้งชีวิต

เอ๊ะ-วิชิตา สุนทรพิพิธ หนึ่งในหุ้นส่วนโฮสเทล เล่าให้ฟังว่าเธอเข้ามารับหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหารในโรงแรมทั้งหมดเพราะมีประสบการณ์ทำงานด้านการโรงแรมเกือบ 10 ปี เอ๊ะเล่าว่าก่อนจะเปิดให้บริการ เธอและหุ้นส่วนต้องทดลองนอนเองทุกห้องเพื่อให้รับรู้ปัญหาทั้งหมดและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าโจทย์สำคัญของหุ้นส่วนทุกคนคือการพยายามประหยัดงบประมาณการสร้าง แต่เรื่องชุดเครื่องนอนต้องมีคุณภาพและนอนสบาย บนปลอกหมอนมีโล้โก้ Everyday Sunday Social Hostel ปักอย่างน่ารัก พวกเธอเลือกใช้ผ้าปูโทนสีขาว เทา และดำ ให้เข้ากับสีของอาคาร ห้องน้ำเน้นเรื่องความสะอาด ซึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจคือทางโฮสเทลแยกส่วนแห้งและส่วนเปียกในห้องน้ำแต่ละห้องเพื่อแก้ปัญหาร่วมของโฮลเทลหลายแห่งที่เป็นห้องน้ำเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีโซนแต่งตัว ดังนั้นเท้าจึงเปียกและทำให้แต่งตัวได้ยาก แต่ที่ Everyday Sunday Social Hostel ทำให้ปัญหาตรงนี้หมดไป

นอกจากนี้หุ้นส่วนทุกคนยังคำนึงถึงคนที่นอนห้องเดี่ยวที่อยากดูโทรทัศน์จึงมีไว้ให้บริการในห้อง รวมไปถึงโต๊ะทำงานสำหรับคนที่พกงานส่วนตัวมาทำด้วย สำหรับคนที่เข้าพักไม่ต้องกังวลเรื่องราคาเพราะราคาเริ่มต้นตั้งแต่คืนละ 500 บาทไปจนถึง 1,800 บาท (สำหรับพัก 3 ท่าน)

บาร์ลับบนดาดฟ้าของเหล่าแมวที่ออกมาเที่ยวยามราตรี

หากใครมองหาบาร์บนชั้นดาดฟ้าบรรยากาศดีๆ ที่มีอาหารเครื่องดื่มครบครันและราคาไม่แพง Cat on the Roof น่าจะเป็นตัวเลือกที่วัยรุ่นและคนวัยทำงานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งถูกและดี ด้วยการเล็งเห็นของหุ้นส่วนโฮสเทลคนหนึ่งที่รับหน้าที่ดูแลบาร์มองว่าบนดาดฟ้านี้มีทำเลที่ดี ทั้งทิวทัศน์ที่สวยและเป็นส่วนตัว ประกอบกับความชื่นชอบกินดื่มและทำอาหารของหุ้นส่วนร้านทุกคน ไอเดียการทำบาร์จึงเกิดขึ้นและสร้างขึ้นภายในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากที่เปิดให้คนหลงรักเวลากลางคืนเข้ามากินดื่มได้ไม่นาน ร้านที่ไม่มีแม้แต่ป้ายบอกด้านล่างแห่งนี้ก็ได้รับการบอกปากต่อปากจนกระทั่งคนแน่นร้านทุกวัน

บี-อิศราภรณ์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ หนึ่งในหุ้นส่วนเล่าให้เราฟังว่าก่อนหน้าที่จะกลายมาเป็นร้านนี้ หุ้นส่วนรุ่นพี่บางคนทำร้าน Sway Day สำหรับดื่มย่านเสาชิงช้าที่คอกลางคืนรู้จักกันดีมาก่อน เมื่อร้านปิดตัวลงจึงเปิดร้านใหม่ที่นี่ และด้วยภาพจินตนาการที่มักเห็นแมวเดินเที่ยวเล่น ไต่หลังคาในยามค่ำคืน ทุกคนจึงยกให้ชื่อ Cat on the Roof เป็นชื่อร้านอย่างเอกฉันท์ ซึ่งบาร์แห่งนี้ก่อตั้งและขับเคลื่อนด้วยไอเดียที่ว่าดนตรีต้องดีและอาหารต้องถูกปาก

ภายในร้านถูกแบ่งเป็นโซนโต๊ะด้านในที่จัดแสงสลัวๆ และโซนโต๊ะด้านนอกไว้ให้นั่งรับลม ซึ่งลูกค้าจะได้เห็นวิวของตึกและรถไฟฟ้าวิ่งไปมาระหว่างสถานีอารีย์และสะพานควาย จุดเด่นของร้านนี้คือเรื่องดนตรีที่ถูกพูดถึงกันมากในหมู่ลูกค้าเพราะเปิดเพลงอินดี้จากต่างประเทศล้วนๆ ซึ่งในกรุงเทพฯ หาร้านที่เปิดเพลงแนวดิสโก้ ซินธ์ป๊อป ดรีมป๊อป และอินดี้ป๊อปได้ยากมาก แถมด้วยวงดนตรีสดที่เล่นทั้งเพลงไทยและสากลที่แสดงกันอย่างละครึ่งต่อครึ่ง ถ้าโอกาสเหมาะเจาะคุณอาจจะได้ฟังเพลงโฟล์กหรืออัลเทอร์เนทีฟโฟล์ก ซึ่งองค์ประกอบด้านดนตรีที่แข็งแรงของร้านนี้ ส่วนหนึ่งมาจากหุ้นส่วนคนหนึ่งที่เป็นนักดนตรี

แถมด้วยการตกแต่งสไตล์ลอฟต์ที่บีและหุ้นส่วนลงมือฉาบและก่อกันด้วยมือตัวเอง หลังจากนั้นก็เลือกติดโปสเตอร์สวยๆ เก๋ๆ ที่เห็นเป็นต้องหยุดคิดว่านี่คืออะไรกันแน่ และเติมแต่งด้วยไฟนีออนดัดสลัวๆ หลายๆ จุดในร้านที่ทั้งเท่และให้อารมณ์สนุกได้พร้อมๆ กัน โดยไฟดัดประโยคคำถามที่ว่า “Alice, why would you leave Wonderland?”

นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารต่างๆ โดยเฉพาะเมนูทานเล่นที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้านอย่าง Cat’s favourite ซึ่งมีปลาและของทอดหลายๆ อย่าง รวมถึงเมนูบาร์บีคิว ข้าวคลุกกะเพราสันคอหมูย่าง เนื้อย่างจิ้มแจ่ว ยำเนื้อย่าง ยำแซลม่อน ข้าวหน้าไข่ออนเซ็นรสชาติจัดจ้าน และเมนูพาสต้า สำหรับคอเบียร์ไม่ต้องห่วง ที่นี่มีคราฟต์เบียร์ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาตามฤดูกาลมีให้เลือกดื่มกันได้ไม่เบื่อ เร็วๆ นี้ทางร้านเพิ่งเปิดโซน Catslane โซนขายเบียร์แท็บทั้งหมดที่นั่งดื่มกันและเหมาะกับการพบปะสังสรรค์ได้อย่างเป็นกันเอง

ทั้ง Everyday Sunday Social Hostel และ Cat on the Roof ทำให้เราเห็นว่าโมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงกันทั้งที่พักและบาร์ในตัว ทำให้ทั้งสองธุรกิจสนับสนุนและสร้างจุดเด่น รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับ Seek Cafe และ SUKU SUKU ที่ช่วยให้ผู้เข้าพักมีทางเลือกที่สะดวกและง่าย โดยยังไม่มีโฮสเทลไหนในไทยที่มีตัวตนที่ชัดเจนในรูปแบบนี้มาก่อน

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์, ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR