เมื่อ Bangkok Art Book Fair แปลงร่างเป็นสหกรณ์ออนไลน์ดีไซน์เก๋นาม BKKABF CO-OP

Highlights

  • BKKABF CO-OP คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาในรูปแบบสหกรณ์ชุมชนคนรักงานศิลปะ ที่ไม่ได้มีปันผลเป็นเงิน แต่มาในรูปแบบองค์ความรู้และไอเดียสำหรับต่อยอดเป็นผลงานชิ้นใหม่ๆ ในอนาคต
  • “เราว่าความสนุกของปีนี้คือพอเราไม่มีอาร์ตบุ๊กแฟร์แบบเดิม เลยกลายเป็นว่าอาร์ตบุ๊กแฟร์มันกระจายตัวไปอยู่ทุกที่เลย ทั้งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ที่เนเธอร์แลนด์ มีการจัดทอล์กต่างๆ เหมือนเราได้แยกร่างไปอยู่ในหลายที่”
  • “ความน่าสนใจของโคออปคือ มันสามารถพูดถึงเรื่องกระบวนการ หรือขั้นตอนที่อาจจะยังไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ และยังพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ” นัทอธิบายถึงเสน่ห์ของการทำงานกับโปรเจกต์มากมายที่ทุกงานล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งบางครั้งพวกเขาอาจผันตัวจากการเป็นที่ปรึกษา ไปทำหน้าที่จับคู่ให้กับคนที่ควรได้มาร่วมงานกัน เช่น นักเขียนกับวาดภาพประกอบ หรือช่างภาพกับผู้เชี่ยวชาญด้านโฟโต้บุ๊ก เป็นต้น

‘…เราขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เราจำเป็นต้องยกเลิกการจัดเทศกาล BANGKOK ART BOOK FAIR 2020 ที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในเดือนกันยายน 2563 นี้’

ในปี 2020 ที่บรรดางานเทศกาลและอีเวนต์ต่างๆ จากทั่วโลกต้องออกมาประกาศยกเลิกหรือเลื่อนอย่างไม่มีกำหนด Bangkok Art Book Fair เทศกาลหนังสือศิลปะซึ่งเดินทางมาถึงขวบปีที่ 4 เองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

แต่เหล่าผู้จัดงานเองก็ไม่คิดจะปล่อยให้เดือนกันยายนของเราต้องเงียบเหงาจนเกินไป เมื่อพวกเขาตัดสินใจผุดไอเดีย BKKABF CO-OP แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มาในรูปแบบสหกรณ์ชุมชนคนรักงานศิลปะ ที่ไม่ได้มีปันผลเป็นเงิน แต่มาในรูปแบบองค์ความรู้และไอเดียสำหรับต่อยอดเป็นผลงานชิ้นใหม่ๆ ในอนาคต

แพลตฟอร์มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ขัดในช่วงเวลาที่เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคมเท่านั้น เพราะนี่คือการวางแผนระยะยาว เพื่อขยายเครือข่ายของคนทำงานสร้างสรรค์ทั่วโลกให้ทั่วถึงและแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม

ก่อนที่จะคลิกเข้าไปชมผลงานของบรรดาศิลปินในโคออป เราขอแวะมาที่บ้านเก่าของงานนี้อย่าง Bangkok CityCity Gallery สถานที่นัดพบของเรากับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง พัด–พัชร ลัดดาพันธุ์ และ เป้–ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช จาก STUDIO150 ผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok Art Book Fair วิว–วิมลพร รัชตกนก แห่ง Spacebar Zine ผู้ควบตำแหน่ง collaborator และ ณัฐา อิสระพิทักษ์กุล Project Coordinator และ Community Manager เพื่อย้อนกลับไปพูดคุยถึงพัฒนาการของวงการหนังสือศิลปะในไทยตลอดสามปีที่ผ่านมา และความสนุกจากไอเดียการเปิดสหกรณ์ของพวกเขาในคราวนี้

 

นิยามของคำว่าหนังสือศิลปะ

นอกจากความตั้งใจแรกเริ่มที่อยากจะสร้างที่ทางให้กับหนังสือศิลปะในประเทศไทยแล้วนั้น ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา Bangkok Art Book Fair ยังมีบทบาทในการพาผู้คนไปทำความรู้จักสิ่งพิมพ์อิสระอีกต่างหาก

“ในการนิยามว่าอาร์ตบุ๊กคืออะไร ถ้าเราใช้คำพูดมานิยามมันก็คงไม่ครอบคลุม แต่พอเกิดแฟร์ตรงนี้ขึ้น ตัวอย่างคือคำตอบ ว่าเขาสามารถหยิบจับอะไร เดินไปสู่รูปแบบไหนของอาร์ตบุ๊กได้บ้าง ซึ่งทำให้จำนวนของผู้ผลิตมันมีมากขึ้น เพราะเขาได้เห็นแล้วว่ามันไม่ได้ยากเย็นขนาดนั้น ความเป็นไปได้จึงสูงขึ้นทั้งในแง่การผลิตและการนำเสนอ” เป้อธิบายถึงความเชื่อมโยงของงานกับการเพิ่มจำนวนผู้ผลิตหนังสือศิลปะ

แต่การเปลี่ยนแปลงที่ Bangkok Art Book Fair สร้างขึ้นมานั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ​ เพราะเบื้องหลังงานนี้คือการคิดและวางแผนของทีมงานทุกคน

“ย้อนไปเกือบๆ 4 ปีที่แล้ว สมัยจัดงานปีแรกเราตั้งใจจะพูดถึงเลนด์สเคปของอาร์ตบุ๊กในเมืองไทย ดังนั้น exhibitor กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นคนไทย มีต่างประเทศแค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น” พัดอธิบายถึงหมุดหมายของพวกเขาในก้าวแรกของการจัดงาน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเริ่มสนใจผลิตผลงานแนวนี้ร่วมกัน

ในปีที่สอง ทีมตั้งใจบอกเล่าถึงประเด็น distribution จัดทอล์กเกี่ยวกับประเด็นนี้ และชวนสปีกเกอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ศิลปะมาพูดโดยเฉพาะ ส่วนจำนวน exhibitor ที่เข้าร่วมนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่ต้องพูดถึงผู้เข้าชมงานที่แห่มากันอย่างล้นหลาม

“พอปีที่สาม ธีมของเราคือคอมมิวนิตี้ เพราะสิ่งเหล่านี้มันต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำอยู่แค่ทีเดียวแล้วหยุดไป ดังนั้นเราก็อยากกระตุ้นให้คนเข้าใจ และให้สิ่งนี้มันเกิดขึ้น” เป้เล่า และนั่นทำให้พระเอกของงานเมื่อปีก่อนคือเหล่าผู้คนเบื้องหลัง independent magazine ที่คอยผลิตผลงานอย่างสม่ำเสมอ

ภาพบรรยากาศงาน Bangkok Art Book Fair 2019

 

จุดศูนย์กลางของวงกลม

ในสายตาของวิว หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Spacebar Zine ที่อยู่คู่ Bangkok Art Book Fair มาตั้งแต่ปีแรก วิวสังเกตว่าเครือข่ายของคนที่ชื่นชอบหนังสือศิลปะนั้นดูจะขยับขยายขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเทศกาลนี้เป็นจุดศูนย์กลางของวงกลม 

“ถ้าเราไปอาร์ตบุ๊กแฟร์ที่ญี่ปุ่นจะเห็นว่า เฮ้ย ซาลารี่แมนเขาก็มาเดินอาร์ตบุ๊กแฟร์ด้วย เพราะแวดวงของคนในงานที่นั่นมันใหญ่และหลากหลายมาก แต่กับที่ไทยในปีแรกๆ วงมันยังเล็กอยู่ ส่วนใหญ่เป็นคนที่คุ้นหน้ากันอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นเรารู้สึกว่าไอ้แวดวงตรงนี้มันขยายขึ้นทุกปี

“เมื่อก่อนบ้านเราจะเข้าใจว่าสื่อสิ่งพิมพ์มันมีแค่หนังสือเล่มกับนิตยสาร ไม่มีหนังสือศิลปะ หรือหนังสือที่พิมพ์เอง แต่งานนี้มันทำให้เขาได้มาทำความรู้จักว่าสิ่งพิมพ์มันไม่ได้มีแค่นั้น อย่างปีก่อนเราจะเห็นว่าเริ่มมีเด็กๆ หรือมีนักวาดภาพประกอบที่ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยทำซีนเลย แต่เขาก็เริ่มหันมาทำมากขึ้น สนใจหนังสือศิลปะมากขึ้น” วิวอธิบายถึงการเติบโตของเทศกาลนี้ในมุมมองของเธอ

ในปีนี้ เมื่อทั้งโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคโควิด-19 อย่างเลี่ยงไม่ได้ วิวเองก็ไม่ต่างจากแฟนคลับ Bangkok Art Book Fair อย่างเราๆ ที่รู้สึกหวั่นใจ และแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายได้ก่อนเดือนกันยายนที่เป็นกำหนดการจัดงาน แต่อย่างหนึ่งที่เราอาจคาดไม่ถึงก็คือ การตัดสินใจของผู้จัดเทศกาลในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดขึ้นของ Bangkok Art Book Fair 2020 เช่นกัน

“เพราะว่าอาร์ตบุ๊กแฟร์ในประเทศแถบนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน exhibitor จากตะวันตกหรือประเทศไกลๆ เขาก็จะมาแล้วหมุนเวียนไปตามงานต่างๆ ได้ภายในทริปเดียว เพราะฉะนั้นถ้ามีหลายที่ที่ไม่จัด เขาก็อาจไม่คุ้มกับการมา” เป้อธิบายถึงปัจจัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

ท้ายที่สุดเหล่าทีมงานจึงตัดสินใจยกเลิกการจัดงานในปีนี้ แต่โจทย์ต่อไปที่พวกเขาต้องช่วยกันคิดก็คือ แล้วจะทำอะไรต่อเพื่อทดแทนงานในปีนี้ 

 

สหกรณ์ของดีไซเนอร์

“สิ่งแรกที่เราคุยกันก็คือ ถ้าจะจัด มันต้องไม่ใช่งานแฟร์ออนไลน์ และไม่ใช่ร้านหนังสือออนไลน์ เพราะในเมื่อคนซื้อเองเขาก็สามารถติดต่อกับครีเอเตอร์ได้โดยตรงอยู่แล้ว แล้วเขาต้องมาผ่านเราอีกทำไม” พัดเริ่มเปิดประเด็นได้อย่างน่าสนใจ

เมื่อมองย้อนกลับไปตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา พวกเขาพบว่า Bangkok Art Book Fair ไม่ใช่พื้นที่เพื่อการซื้อขายสินค้าอย่างเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือเครือข่ายของคนทำงาน การสร้างแรงบันดาลใจ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตผลงาน

จากคุณสมบัติที่ว่ามาทั้งหมด พวกเขาจึงตัดสินใจทำ BKKABF CO-OP แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต่อยอดมาจากงานเทศกาลในแบบเดิม ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนทำงานที่จะได้เห็นหน้าค่าตากันตลอดปี

“โคออปก็คือสหกรณ์ เป็นการรวบรวมกลุ่มคนมาทำอะไรบางอย่าง โดยที่ปันผลของสหกรณ์นี้มันไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นการแชร์ความรู้และทักษะระหว่างเมมเบอร์ด้วยกัน” เป้อธิบายถึงไอเดียของแพลตฟอร์มนี้

คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ สหกรณ์แห่งนี้ควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง พวกเขาจึงเริ่มต้นหาคำตอบจากการร่อนแบบสอบถามสั้นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหมดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหาคำตอบว่าคนส่วนใหญ่อยากเห็น อยากทำ หรืออยากได้อะไรจาก BKKABF CO-OP

เมื่อแบบสอบถามทั้งหมดถูกส่งกลับมาจากบรรดาคนรักศิลปะและงานดีไซน์ ซึ่งทุกคนต่างก็ติดอยู่ในบ้านพร้อมกันทั่วโลกในช่วงล็อกดาวน์ ความต้องการส่วนใหญ่จึงหนีไม่พ้น 3 คำตอบนี้

  1. อยากพบปะ พูดคุย และเชื่อมต่อกับผู้คน (social connection)
  2. อยากแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ (knowledge sharing)
  3. อยากพาตัวเองออกไปสู่สายตาของคนอื่น (self exposure)

เมื่อโจทย์ในการทำงานคราวนี้ต่างออกไปจากการจัดอาร์ตบุ๊กแฟร์แบบเดิม บรรดาทีมงานเบื้องหลังจึงต้องทำงานหนักกว่าเดิม และใกล้ชิดกับทุกโปรเจกต์มากกว่าเดิม

 

โชว์ได้แม้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

“หน้าที่ของเราคือการช่วยสโคป เสนอแนะ หรือแสดงความคิดเห็นกับโปรเจกต์ต่างๆ บางคนอาจจะอยากทำนิทรรศการหรือเวิร์กช็อป แต่มีข้อจำกัดด้านเวลาและต้นทุน เราก็ช่วยเสนอว่า คุณลองทำเป็นหนังสือเพื่อเล่ากระบวนการทำงานของคุณแทนไหม เพราะเราว่าสิ่งที่น่าสนใจจริงๆ คือกระบวนการทำงานของเขาทั้งหมด 

“ตรงนี้คือความน่าสนใจของโคออป เพราะสามารถพูดถึงเรื่องกระบวนการ หรือขั้นตอนที่อาจจะยังไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ และยังพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ” นัทอธิบายถึงเสน่ห์ของการทำงานกับโปรเจกต์มากมายที่ทุกงานล้วนแต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งบางครั้งพวกเขาอาจผันตัวจากการเป็นที่ปรึกษา ไปทำหน้าที่จับคู่ให้กับคนที่ควรได้มาร่วมงานกัน เช่น นักเขียนกับนักวาดภาพประกอบ หรือช่างภาพกับผู้เชี่ยวชาญด้านโฟโต้บุ๊ก เป็นต้น

“เมื่อเครือข่ายนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีอิสระในการทำงานมากขึ้น ภาพรวมของการเตรียมงานในครั้งนี้สนุกหรือท้าทายขึ้นอย่างไรบ้าง”​ เราถาม

“พอเราไม่มีอาร์ตบุ๊กแฟร์แบบเดิม เลยกลายเป็นว่าอาร์ตบุ๊กแฟร์มันกระจายตัวไปอยู่ทุกที่เลย ทั้งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ที่เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ก็มีการจัดทอล์กต่างๆ เหมือนเราได้แยกร่างไปอยู่ในหลายที่” พัดเล่า 

“อย่างเมื่อวันก่อน Meantime Magazine เขาจัดอีเวนต์ book launch ในรูปแบบ virtual tour ที่สิงคโปร์ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การเซฟรูปในกูเกิลมา แต่เขาขึ้นรถและพาเราไปที่ต่างๆ จริงๆ เหมือนเราได้ตามเขานั่งรถไปด้วย” นัทเสริมต่อด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

นอกจากจะช่วยดูแลโปรเจกต์ของสมาชิกทุกคนในโคออปแล้ว บรรดาทีมงานเบื้องหลังเองก็ไม่พลาดที่จะทำโปรเจกต์ของพวกเขาเองด้วยเช่นกัน

“ในเว็บไซต์ของเราจะมีเมนู resource เป็นแผนที่ที่คนสามารถมาปักหมุดสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น โรงพิมพ์ ร้านหนังสือ หรือสตูดิโอริโซกราฟในกรุงเทพฯ และประเทศต่างๆ เพื่อสร้างเครือข่ายของผู้คนทั่วโลกที่สนใจงานประเภทนี้” เป้อธิบายถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ในหน้าเว็บไซต์ ที่ทุกคนสามารถเข้าไปปักหมุดเพิ่มได้เรื่อยๆ เพื่อช่วยเหลือคนทำงานสร้างสรรค์ทั่วโลกให้มีทางเลือกมากขึ้น และสะดวกมากขึ้น 

อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าเริ่มสนใจอยากไปท่องเว็บไซต์ BKKABF CO-OP แต่ยังไม่รู้จะเริ่มจากงานไหน เราขอชวนไปดู 5 ผลงานสนุกๆ ฝีมือของเหล่าสมาชิกสหกรณ์ ที่มีให้เราติดตามได้ทั้งบนออนไลน์และออฟไลน์

 

1. ปากะยาตรา PAKAYATRA

ศิลปิน : สำรับสำหรับไทย

หลังจากที่ได้ร่วมงานกันในฐานะ collaborator ผู้ดูแลมุมอาหารในงานมาถึงสามปีซ้อน คราวนี้สำรับสำหรับไทยขอย้ายมาเป็น exhibitor ผลิตผลงานประเภท research-based ว่าด้วยผืชผักชื่อแปลก ที่เป็นวัตถุดิบในสูตรอาหารไทยโบราณ ซึ่งปัจจุบันใกล้จะหายสาบสูญเต็มทีอย่างมะตูมซาอุ กาหยู หรือเร่วหอม โดยผลลัพธ์ของงานนี้จะถูกจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อ ‘ชุดวัตถุดิบที่ถูกลืม’ ประกอบไปด้วยเสื้อยืด โปสต์การ์ด และเมนูอาหารจากวัตถุดิบที่ถูกลืม 

 


2. อะ คราย ไคน์ คลาย คาย – a cry kind /kɹaɪ̯//kɹaɪ̯/ project

ศิลปิน : Buttercry

ผลงานซีนที่ทั้งซีรีส์จะว่าด้วยคำพ้องเสียงอย่างคราย ไคน์ คลาย และ คาย โดยมีพระเอกคือ butterclay zine ซีนสอนปั้นดินสีสันสดใส ที่เมื่อกดสั่งซื้อแล้วจะได้ดินเหนียว 500 กรัมเป็นของแถมไปให้ลองปั้นกันถึงที่ เท่านั้นยังไม่พอ! เพราะปั้นเสร็จแล้วเขายังชวนเอาผลงานไปจัดแสดงร่วมกันที่ Aclay Gallery อีกต่างหาก

 


3. Nostalgia Zines Project

ศิลปิน : Spacebar Zine

เมื่อผู้ผลิตซีนมืออาชีพอย่าง Spacebar Zine เปิดรับต้นฉบับซีนหรือผลงานภายใต้ธีม ‘NOSTALGIA’ ซึ่งผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 15 เล่มก็มีตั้งแต่เรื่องสั้น ผลงานภาพประกอบวาดมือ ภาพถ่ายเก่า ไปจนถึงงานคอลลาจของสะสม ซึ่ง Spacebar เองก็รู้ดีว่าคนรักซีนต้องคิดถึงการสัมผัส ลูบๆ คลำๆ เล่มซีนกันอย่างแน่นอน จึงตั้งใจจัด pop-up display ที่กตัญญูแลป ถนนบรรทัดทอง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมทอล์ก ว่าด้วยกระบวนการผลิตสิ่งพิมพ์อิสระ และการนำออกไปจำหน่ายอีกด้วย

 


4. ก-ฮ ในยุคนิวนอร์มอล ๒๐๒๐

ศิลปิน : YOYEA studio

นี่คือหนังสือภาษาไทยหน้าตาวินเทจ แต่มีการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยเหมาะกับโลกในยุคนิวนอร์มอลแบบสุดๆ ภายในมีตั้งแต่ ก ไก่ไปจนถึง ฮ นกฮูก แถมภาพประกอบเข้าคู่กับเนื้อหา และแบบฝึกหัดออกเสียงที่อ่านไปขำไปเพราะนี่มันชีวิตของเราในช่วงกักตัวชัดๆ

 


5. Samun Phrai Thai (สมุนไพรไทย)

ศิลปิน : Dohee Kwon, William Le Masurier และนท พนายางกูร

ซีนศิลปะเกี่ยวกับสมุนไพรและพืชพรรณที่ได้จากบันทึกการเดินป่า ณ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจของ Dohee Kwon นักวาดภาพประกอบชาวเกาหลี, William Le Masurier จาก Dek Doi เชียงดาว และนท พนายางกูร ที่อยากจะเก็บบันทึกองค์ความรู้เกี่ยวกับเกี่ยวกับพืชสมุนไพรในการแพทย์แผนไทยเอาไว้ ก่อนที่ความรู้เหล่านั้นจะสูญหายไป โดยทั้งสามได้รับความช่วยเหลือจากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ที่ช่วยพาเดินป่าและให้ข้อมูลเกี่ยวกับพืชพรรณและสัตว์ต่างๆ 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย