ซีเรียสยังไงให้ไม่น่าเบื่อ? เมื่อสำนักพิมพ์มติชนเปลี่ยนโฉมใหม่ให้ดูเด็กลงสิบปี

Highlights

  • สำนักพิมพ์มติชน คือสำนักพิมพ์ที่มีจุดแข็งเป็นหนังสือซีเรียส วิชาการ บางครั้งจึงเข้าถึงนักอ่านทั่วไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนโฉมใหม่ด้วยการดึงศิลปิน นักวาด มาร่วมงานตั้งแต่ออกแบบปก ไปจนถึงออกแบบบูทและของพรีเมียมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
  • โปรเจกต์สนุกๆ แบบนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมาศิลปินที่แวะเวียนมาโชว์ผลงานมีหลากหลาย เช่น ป๊อด โมเดิร์นด็อก,​ นักรบ มูลมานัส, ยุรี เกนสาคู หรือ SUNTUR ซึ่งเป็นผู้ออกแบบธีมบูทของมติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47
  • นอกจากการจับศิลปะกับหนังสือมาเจอกันแล้ว สำนักพิมพ์มติชนยังพยายามขยายฐานผู้อ่านด้วยการเปิดพื้นที่บูทส่วนหนึ่งให้สำนักพิมพ์อิสระมาวางขายหนังสือ รวมถึงยังไม่หยุดนิ่ง สร้างแนวทางหนังสือใหม่ๆ เช่น การดัดแปลงละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง เป็นวรรณกรรม

“มติชนอยู่ที่เดิมตรงโซนนี้มากี่ปีแล้วก็ไม่รู้ จริงๆ เราสามารถทำชั้นหนังสือหน้าตาเหมือนเดิมแบบที่ผ่านมา 15 ปีก็ได้ แต่เราอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องปรับเปลี่ยน เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเรามาแต่งหน้าทาปาก เปลี่ยนชุดกันใหม่ อย่างน้อยให้คนรู้สึกว่าวันหนึ่งเขาจะอ่านหนังสือของเราได้”

ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด นั่งพูดคุยกับเราถึงการปรับตัว ปรับเปลี่ยนทิศทางการบริหารสำนักพิมพ์อยู่ที่บูทโซนพลาซ่าภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ที่ผ่านมา

ระหว่างที่นั่งคุยกัน เราเห็นนักอ่านมากหน้าหลายตาแวะเข้ามาหยิบจับหนังสือ เลือกซื้อของที่ระลึกตลอดบทสนทนา แม้ว่าหนังสือชูโรงในปีนี้ของบูทจะยังคงมีเนื้อหาที่เข้มข้นตามสไตล์มติชน เช่น ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น โดย ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์ หรือ มาคิอาเวลลี การเมืองไทยของเจ้าผู้ปกครอง โดยกานต์ บุณยะกาญจน แต่ด้วยการออกแบบหน้าปกของศิลปินนักวาดภาพประกอบ ซันเต๋อ–ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล บวกกับการออกแบบธีมในงานหนังสือครั้งนี้ให้มติชน ตั้งแต่สินค้าพรีเมียมภายในงาน ไปจนถึงการตกแต่งบูท ก็ช่วยเปลี่ยนหน้าตาสำนักพิมพ์ที่โดดเด่นเรื่องหนังสือซีเรียส สายแข็ง ให้เป็นมิตรกับนักอ่านทั่วไปมากขึ้น

ด้วยความเชื่อว่าสุนทรียะในการอ่านและศิลปะเป็นเรื่องเดียวกัน ย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว ปานบัวจึงเริ่มเชื่อมต่อศิลปะกับโลกของหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ โดยเริ่มต้นจากการผลิตของที่ระลึกเป็นผลงาน abstract ของป๊อด โมเดิร์นด็อก ก่อนปีถัดมา มติชนจะหยิบศิลปะเข้ามาผสมอย่างเต็มตัวด้วยการชวน ตะวัน วัตุยา ศิลปินร่วมสมัยเจ้าของลายเส้นและเอกลักษณ์การวาดสีน้ำที่โดดเด่นให้มาร่วมงานเต็มรูปแบบ

“เราอยากลองดูด้วยว่าหนังสือที่อ่านจริงจัง งานวิจัยที่ซีเรียส ถ้าเราใช้ศิลปะเข้าไปช่วยเปลี่ยนรูปแบบแล้วมันจะเป็นอย่างไร” เธอหมายถึงการทดลองให้ตะวันออกแบบปกหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดย อาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร

“ปรากฏว่าเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีมากๆ เล่มหนึ่งเลยของมติชน ซึ่งถ้าหนังสือการเมืองแบบนี้ไปอยู่ที่อื่นน่าจะขายยาก แต่พอปกเราเป็นงานศิลปะ เป็นลายเส้นของตะวันมันก็ขายได้ นอกจากนั้นทุกอย่างในงานครั้งนั้นยังเป็นแพ็กเกจของตะวันหมด ไม่ว่าจะเป็น แก้ว กระเป๋า ถุงพลาสติก การตกแต่งบูท ถือได้ว่าเป็นต้นแบบการปรับเปลี่ยนการทำงานของที่นี่เลย”

นั่นจึงเป็นที่มาของการทำงานประเภท ‘MATICHON x ศิลปิน’ ในแต่ละปีถัดมา ตั้งแต่ ยุรี เกนสาคู, รักกิจ ควรหาเวช, นักรบ มูลมานัส, Alex Face ไปจนถึงซันเต๋อในปีนี้

ว่าแต่ทำไมต้องเป็นซันเต๋อ เราสงสัย

มติชนเล่นใหญ่มาตลอด เราไม่สามารถเล่นใหญ่กว่านี้ได้แล้วค่ะ” หัวเรือใหญ่ของสำนักพิมพ์หยุดหัวเราะ “ในปีที่ผ่านมาเราชวนศิลปินมาร่วมกันแบบจัดเต็มทุกปี มีทั้งงานคอลลาจ กราฟิกแรงๆ งานสตรีท ลายเส้น แต่เราไม่เคยมีงานแบบมินิมอลเลย แล้วเรามองว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ อุณหภูมิทุกอย่างรอบตัวไม่ว่าจะสังคม การเมือง เศรษฐกิจยังระอุอยู่ ฉะนั้นงานดีไซน์ปีนี้เยอะไม่ได้

“สิ่งนี้สื่อสารถึงวิธีคิดของมติชนเองด้วย เราคิดว่าในปีนี้ทุกอย่างต้องกระชับ ต้องโฟกัส เราถึงจะไปต่อได้ อะไรที่ยุ่งยากจะไปต่อลำบากเลยเลือกซันเต๋อมาร่วมงานเพราะชอบลายเส้นแบบน้อยๆ ดูแล้วสบายใจ แต่สื่อสารแล้วสร้างอิมแพกต์ให้คนคิดต่อได้”

การเปลี่ยนดีไซน์ เปลี่ยนลุคหนังสือโดยใช้ศิลปะเข้ามาช่วยให้เรื่องที่เข้าถึงยากน่าหยิบจับมากขึ้น เป็นทางรอดแรกของการปรับตัวของสำนักพิมพ์ ขณะที่แก่นของเนื้อหาภายในยังคงจุดแข็งของมติชนไว้อย่างเข้มข้นในการเป็นศูนย์กลางของการดึงผลงานเชิงวิชาการ ตั้งแต่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ การวิเคราะห์การเมือง งานแปลด้านวิทยาศาสตร์ มาให้คนทั่วไปอ่าน แม้ว่ามันจะเป็นงานที่อ่านยากก็เถอะ

“เราคิดว่าอย่างน้อยเราอยากทำให้คนรู้สึกว่าวันนี้หนังสือยากเกินไป ยังอ่านไม่ได้ก็ไม่เป็นไรนะ แต่วันหนึ่งต้องอ่านได้ ที่สำคัญเนื้อหาของเราต้องแข็งแรงเหมือนเดิม เพราะวิธีคิดของเราอยู่ที่บริบทในแต่ละปีว่าเราต้องให้ความรู้อะไรกับคนอ่าน หนังสืออ่านเพื่อความเพลิดเพลินก็ใช่ แต่ในขณะเดียวกันหนังสือมันเป็นทางรอดของชีวิตด้วย สาระของมันมีความสำคัญที่เราเองต้องขยายวิธีคิด ความคิด หรือมุมมองต่างๆ ให้รอบด้าน หนังสือพวกนี้ก็เป็นจุดแข็งอยู่”

นั่นคือที่มาของปีนี้ที่เป็นปีแห่งการบรมราชาภิเษก ทางมติชนได้ออกหนังสือคู่มือเพื่อให้ความรู้ในวาระนี้ถึง 3 เล่ม ได้แก่ เสวยราชสมบัติกษัตรา เขียนโดย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี และ ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์, ผ้าเขียนทอง : พระภูษาทรงบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์สยาม เขียนโดย ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ และ จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย เขียนโดย อเนก มากอนันต์ ซึ่งหนังสือดังกล่าวออกแบบหน้าปกด้วยฝีมือนักรบ มูลมานัส ให้กลายเป็นหนังสือที่ไม่ว่าจะคนรุ่นไหนเห็นแล้วต้องอยากสัมผัสและทรงคุณค่าต่อการสะสม

เมื่อสำนักพิมพ์ยังคงรักษาจุดแข็งในการผลิตหนังสือสาระวิชาการ สิ่งที่มติชนทำได้เพื่อขยายกลุ่มนักอ่านก็คือการให้พื้นที่ของบูทไปเลย 1 โซนแก่สำนักพิมพ์อินดี้ต่างๆ เพื่อขยายฐานนักอ่านกลุ่มมติชนไปสู่กลุ่มอินดี้ และให้กลุ่มอินดี้ได้อ่านหนังสือของมติชนบ้าง

“ปรากฏว่าหนังสือของเพื่อนๆ ขายดีกว่าของเรา” เธอหัวเราะ “แต่พอเราออกแบบบูทแบบนี้ ตัวเราเองก็สนุกมากกับการดูหนังสือของเพื่อนๆ ที่ออกแบบสวยกันหมด บางเล่มเรายังคิดเลยว่าเขานำเสนอออกมาได้เก่งจัง ถ้าเป็นของเรามันต้องออกมาซีเรียสจริงจังแน่เลย”

นอกจากเล่นกับจุดแข็งของหนังสือเชิงวิชาการแล้ว ในปีนี้มติชนก้าวมาจับนักอ่านกลุ่มใหม่ด้วยการทำงานร่วมกับทีมนาดาวบางกอก นำละครเรื่อง เลือดข้นคนจาง มาพิมพ์เป็นหนังสือ โดยได้อุรุดา โควินท์ นักเขียนสาวผู้หลงรักละครเรื่องนี้เช่นเดียวกันกับปานบัวทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการปรับวิธีการนำเสนอจากบทละครให้กลายเป็นวรรณกรรม

“โปรเจกต์นี้ไม่ได้เป็นการจับมือทำงานร่วมกันมาก่อน นาดาวก็ไม่ได้คิดจะทำหนังสือด้วยซ้ำ แต่เราดูละครแล้วชอบ สำหรับเราถ้าบทละครมันดีขนาดนี้มันคือวรรณกรรมชั้นดีเลย พล็อตขนาดนี้ ประโยคก็ติดปาก มันก็ทำให้เกิดมุมมองที่แชร์กันว่าละครที่ดีสามารถทำเป็นหนังสือได้นะ อีกทางหนึ่งหลายคนที่เขียนหนังสือ เขียนนิยายก็สามารถนำมาขายเป็นละครได้เหมือนกัน และหนังสือเล่มนี้ก็เรียกคนรุ่นใหม่ได้อย่างมหาศาล คนมาต่อแถวกันบูทแตก” เธอเล่าบรรยากาศ

“สำหรับคนทำคอนเทนต์อย่างเรา ถ้าไม่ปรับรูปแบบ ไม่เปลี่ยนอะไรเลยมันไปต่อยากมาก เพราะสิ่งที่เราต้องการสื่อสารมันไปไม่ถึงผู้อ่าน ตอนนี้เราเองยังไปถึงครึ่งทาง คือรูปแบบฮิตแล้ว คนซื้อกระเป๋าไปก่อน เนื้อหาค่อยเดินตามไป แต่เรามองว่าเนื้อหาของคนที่ทำหนังสือค่อนข้างเข้มข้นแบบมติชน คนที่เล่าเรื่องแบบนี้มาตลอดชีวิตมันเปลี่ยนไม่ได้หรอก คงต้องให้คนอีกรุ่นหนึ่งมาเล่า ต้องรอให้คนรุ่นนี้เล่าเรื่องนี้ให้เป็นภาษาเขาเอง ซึ่งสิ่งนั้นก็เป็นความท้าทายต่อไป

“ซึ่งตอนนี้ก็ท้าทายสุดๆ แล้ว ในการเปลี่ยนรูปแบบทำให้มันเข้าถึงง่าย ทำให้คนเข้าใจว่าหนังสือไม่ใช่เรื่องยาก หนังสือไม่ใช่รสนิยม หนังสือมันเป็นไลฟ์สไตล์ มันไปได้ทุกที่ อยู่ได้กับทุกคน” ปานบัวทิ้งท้าย

ส่วนปีหน้าสำนักพิมพ์มติชนจะเดินหน้าไปในทิศทางไหนต่อ อีกไม่นานเกินรอเราคงได้รู้กัน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก