‘Beyond Autism’ นิทรรศการที่พี่สาวเชื่อมั่นว่าน้องชายของเธอเป็นเด็กที่พิเศษ

Highlights

  • ‘Beyond Autism’ คือนิทรรศการที่จัดขึ้นโดยสองศรีพี่น้องเจ้าของเพจ Yaipoeng & Naipran Art Therapy Studio หรือ ยายเพิ้ง–จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ และ นายพราน–ธณัฐ สุวรรณภัฏ น้องชายผู้มีอาการออทิสติก
  • งานของทั้งคู่จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ที่ kinjai contemporary ซังฮี้ สะพานกรุงธนบุรี
  • แต่หากใครไปไม่ทัน เราเก็บเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการ การทำศิลปะบำบัด และการดูแลน้องชายของยายเพิ้งมาฝาก

ลายเส้นรูปสัตว์สีสันสดใสที่ถูกแต่งแต้มไว้บนประตูกระจกบานใหญ่ของ kinjai contemporary เป็นเอกลักษณ์จนทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าไม่ได้มาผิดที่อย่างแน่นอน

รู้ตั้งแต่สายตายังเหลือบไปไม่ทันเห็นชื่องานที่เขียนเอาไว้ข้างกันว่า ‘Beyond Autism’ ด้วยซ้ำ

นิทรรศการที่ว่าคือ นิทรรศการที่คู่พี่น้องอย่าง ยายเพิ้ง–จิตตกานต์ สุวรรณภัฏ และ นายพราน–ธณัฐ สุวรรณภัฏ ร่วมกันจัดแสดงขึ้น ภายในอาคารสี่ชั้นของสถานที่จัดนิทรรศการ รายล้อมไปด้วยผลงานภาพวาดทั้งเก่าและใหม่ ตั้งแต่งานสีไม้ สีอะคริลิก ไปจนถึงงานเซรามิก และรูปปั้นไฟเบอร์กลาส

ทั้งหมดนี้สวยงามจนคนทั่วไปอาจไม่คาดคิดว่าศิลปินคนน้องผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานนี้อย่างนายพรานจะมีอาการออทิสติก

และใช่ นี่เป็นเหตุผลที่เรานัดพบยายเพิ้งเพื่อพูดคุยถึงการทำศิลปะบำบัด และการดูแลน้องชายจนมีวันนี้

แต่ก่อนจะเข้าสู่ประเด็น เราอยากเท้าความถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปะของทั้งคู่ก่อนสักนิด

งานศิลปะซึ่งเริ่มต้นจากความรัก

“จุดเริ่มต้นมันมาจากงานศิลปะนิพนธ์ ตอนนั้นเราอยากทำงานที่ผูกพัน ใกล้ชิดกับเรา จึงคิดได้ว่าสิ่งที่เราผูกพันมานานตั้งแต่แรกเกิดเลยก็ว่าได้คือครอบครัว และครอบครัวของเราก็พิเศษตรงที่เรามีน้องเป็นเด็กออทิสติก

“เราเชื่อว่าเด็กออทิสติกมีความสามารถพิเศษของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่คนดูแลจะต้องค้นหาให้เจอ อย่างนายพรานชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เขาสามารถจำภาพประกอบจากรายการทีวี โฆษณา แล้วหาเครื่องใช้ อุปกรณ์ในครัวมาวาด มาสื่อสาร เราเลยคิดว่าศิลปะบำบัดนี่แหละ เหมาะสมจะนำมาพัฒนาเป็นผลงานของเรา เพราะมันเกี่ยวข้องกับความรัก ความผูกพันระหว่างครอบครัวตามที่เราสนใจ และยังสามารถพัฒนาน้องควบคู่ไปได้ด้วย

“เพราะตัวเราเองก็เรียนศิลปะ เราทำงานศิลปะมา” ยายเพิ้งเล่าย้ำให้ฟังถึงเหตุผลที่ทำให้เธอเชื่อมั่นในการทำศิลปะบำบัด

“เวลาทำงานศิลปะ เราจะใจเย็น มีสมาธิ และผ่อนคลาย เราเลยปรับมาใช้กับน้องบ้างว่ามันจะได้ผลไหม ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นศิลปะบำบัดหรอก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์บำบัด อาชาบำบัด ธรรมชาติบำบัด ดนตรีบำบัด มันมีคนเริ่มต้นมาอยู่แล้ว เราแค่ดึงสิ่งที่ใกล้ชิดกับตัวเรา และเราก็ทำได้ดีอย่างศิลปะมาใช้กับน้องเราเท่านั้น

“ซึ่งพอลองแล้วก็พบว่ามันก็ได้ผลจริงๆ นายพรานมีสมาธิมากขึ้น สามารถวาดรูปได้นานกว่าคนปกติด้วยซ้ำ เพราะเขาอยากทำให้เสร็จ นี่ถือเป็นหนึ่งในข้อดีของเด็กที่มีอาการนี้ คือเมื่อทำอะไรแล้วก็จะทำซ้ำๆ ทำได้นาน และทำได้ดี ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือเขาสื่อสารได้ดีขึ้น อย่างช่วงแรกๆ ที่เริ่มสอน เราพูดอะไรไปเขาก็จะไม่เข้าใจหรอก แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มพูดซ้ำๆ น้อยลง ซึ่งนั่นหมายความว่า เขาเข้าใจมากขึ้น และสื่อสารได้ดีขึ้นแล้ว

“มันอยู่ที่การพัฒนา ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างต่อเนื่องด้วย”

พัฒนาการที่ได้มาจากความใส่ใจ

การพัฒนาที่ว่าอาจหมายรวมถึงการสอน และการไม่หยุดหาความรู้ด้านศิลปะ เพราะจากวันแรกที่ยายเพิ้งไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะเริ่มต้นสอนน้องวาดรูปอย่างไร เธอได้ฝึกฝนตัวเองลงคอร์สเรียนเซรามิกเพิ่มเติม เพื่อหาศิลปะแบบใหม่ๆ มาพัฒนาผลงาน และหากิจกรรมให้น้องมีส่วนร่วม จนทุกวันนี้เป็นถึงอาจารย์สอนวิชาเซรามิก ของมหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนศิลป์ และเป็นอาจารย์สอนศิลปะให้เหล่าเด็กน้อยอีกหลายคน

“แรกๆ เราก็แบลงก์เหมือนกัน ไม่รู้จะสอนน้องยังไงดี เลยคิดถึงตัวเองว่าวันแรกที่เข้าไปเรียน อาจารย์สอนอะไร หรือเวลาเราวาดรูป เราเริ่มจากอะไร ที่ผ่านมาตอนเราเป็นเด็ก เราเคยเรียนอะไรมาบ้าง เราก็สอนเขาเหมือนที่เราทำเลย เริ่มจากเขียนหุ่นนิ่ง เขียนฟอร์มง่ายๆ อย่างวงกลม สี่เหลี่ยม เขียนเครื่องใช้ในบ้านอย่างหม้อ แก้ว ไห จากนั้นค่อยๆ ให้เขาคิดเรื่องสี พื้นผิว หรือองค์ประกอบอื่นๆ

“แต่ถึงจะสอนแบบคนเรียนศิลปะทั่วไป แต่ความพิเศษของเด็กออทิสติก คือเขาจะถ่ายทอดผลงานออกมาไม่เหมือนคนปกติอยู่แล้ว เขาจะไม่มานั่งกลัวว่ารูปที่เขาวาดนั้นจะถูกหรือผิด สี แสง เงาจะถูกต้องหรือเปล่า เขาจะวาดออกมาจากใจอย่างรวดเร็วมาก มันจึงเป็นศิลปะที่บริสุทธิ์มาก เขาทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้และไม่มีทางทำได้ดีเท่าเขา เราจึงให้เกียรติเขาในฐานะศิลปินคนหนึ่งที่ทำงานร่วมกับเรา รับฟังซึ่งกันและกัน

ความคิดบวกที่มาจากครอบครัว

‘เขามีความพิเศษ’ คือคำที่ยายเพิ้งพูดมาหลายต่อหลายครั้งเมื่อเอ่ยถึงน้องชาย จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าผู้เป็นพี่สาวอย่างเธอจะคิดและรู้สึกอย่างไรในวันที่รู้ว่าน้องชายมี ‘ความพิเศษ’ นี้ครั้งแรก

“ตอนที่รู้ว่าเขามีอาการเราอายุประมาณ 12 ขวบเอง นายพรานก็ 6 ขวบ ยังเล็กมากทั้งคู่ จำได้เลยว่าเรารู้สึกเสียใจ แต่ไม่ได้พูดอะไรออกไป คิดแค่ว่าน้องเราเป็นอะไร ทำไมก้มหน้า ทำไมถึงคิดอยู่คนเดียว ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมมันต้องเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว

“แต่แปลกนะที่เราไม่รู้สึกหมดหวังเลย แปลกเหมือนกันที่ไม่รู้สึกอะไรขนาดนั้น อาจเพราะว่าเรามีครอบครัวที่อบอุ่นด้วย ทุกคนช่วยกันพยุง และไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหา พ่อ แม่ คนในครอบครัว เป็นคนมองโลกในแง่บวก บวกมากจนเรารู้สึกว่ามันดีซะด้วยซ้ำที่มีเด็กพิเศษอยู่ในบ้าน เพราะถึงแม้ว่าตอนนี้เขาจะอายุ 23 ปีแล้ว แต่เขาก็ยังอยู่กับเรา ยังคิดถึง ยังไปไหนมาไหนกับเรา แถมเขาก็โกหกไม่เป็น ขโมยไม่เป็นด้วย เขาไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่นินทาใคร ไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาตพยาบาท ขนาดสัตว์ยังฆ่าไม่เป็นเลย อย่างมากก็แค่ตบยุง” เพิ้งหัวเราะสดใสเมื่อนึกถึงความซื่อตรงของผู้เป็นน้องชาย

“เราว่าความรักจากคนในครอบครัวสำคัญกับเขาที่สุด เพราะเขาไม่ได้มีความต้องการทางโลกอะไรเยอะแยะขนาดนั้น ไม่ได้ต้องการแก้วแหวนเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือความรัก ความเข้าใจจากคนที่เขารักนั่นแหละ

“เราคิดว่าถ้าเจอว่าคนในครอบครัวเป็นแบบนี้ให้มองบวกไว้ก่อนดีกว่า แต่ต้องไม่เป็นการฝืนมองด้วยนะ ให้มาจากใจ ถ้าทำได้ก็จะสามารถมองเห็นความสุขได้ไม่ยาก”

จุดมุ่งหมายที่ตัวเองตั้งใจ

แน่นอนว่าทุกวันนี้ ยายเพิ้งมีความสุขดี แถมยังมีเหลือเฟือจนสามารถแจกจ่ายให้กับคนในครอบครัวได้อย่างครบถ้วน

ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เธอทำอยู่ทุกวันนี้ ทำไปเพื่ออะไร เหตุใดถึงยังพัฒนาผลงานออกมาเรื่อยๆ นานกว่า 5 ปีแม้หน้าที่ทางการเรียนจะเสร็จสิ้นไปแล้วก็ตาม คือสิ่งที่เราสงสัย

“เพราะเราไม่สามารถหยุดทำได้ เรามีน้องที่เป็นเด็กพิเศษอยู่ในบ้าน เราก็รักและชอบทำงานศิลปะ” คือคำที่เธอตอบเรา

“นอกจากนี้เป็นเพราะเรายังมองว่ามันเป็นอาชีพได้ เป็นอาชีพที่จะทำให้นายพรานซึ่งเป็นเด็กพิเศษมีอาชีพด้วยเช่นเดียวกัน เขาจะเป็นที่พึ่งของตัวเอง มีที่ยืนในสังคม เขาสามารถนำสิ่งที่เขาได้ นำไปช่วยเหลือสังคมบ้างในบางครั้ง ไปบริจาคให้ตามมูลนิธิที่เขาสามารถจะทำได้ ให้เกิดความภาคภูมิใจ ไม่ให้เขารู้สึกว่าเกิดมาบกพร่อง นี่คือสิ่งที่เราคิดว่าต้องการที่สุดแล้วจากการทำงานศิลปะ

“และการที่เราจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมา เหตุผลหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ศิลปินทุกคนย่อมต้องคิดถึงอยู่แล้วคือ เราอยากให้คนทั่วไปเข้ามาใกล้ชิดกับศิลปะของเรา ให้เขาเห็นว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่ว่าทำแล้วก็ดูอยู่คนเดียวที่บ้าน อยากให้คนสนใจศิลปะมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนไทยที่มองว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องไม่สำคัญ และต้องมาทีหลังปากท้อง

“ขั้นต้นเราต้องการแค่นี้เอง แค่อยากให้หันมามอง มาใช้เวลากับมันบ้าง เวลาที่ว่างแล้วมาดูศิลปะ คุณรู้สึกยังไง เพลิดเพลินใจ อิ่มใจหรือเปล่า ยังไม่ต้องเห็นก็ได้ว่าสิ่งที่เราทำมันทำให้เด็กคนหนึ่งดีขึ้นนะ แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว แต่ถ้าคุณยิ่งรับรู้ถึงคุณค่าของมันว่าสิ่งที่เราทำกับน้องเกิดประโยชน์กับตัวเอง กับครอบครัวเรายังไง เกิดประโยชน์กับเด็กพิเศษยังไง แล้วเด็กพิเศษคนนี้ทำอะไรให้กับสังคมได้บ้าง เราก็คาดหวังว่าคนจะตระหนักเห็นถึงคุณค่าของงานศิลปะ เห็นถึงคุณค่าของเด็กพิเศษว่าเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง”

“ทุกวันนี้เราเพิ่งเริ่มในเส้นทางนี้เอง ยังเป็นศิลปินหน้าใหม่ เราเลยคิดว่าทุกอย่างต้องค่อยๆ ทำไป แต่ ณ วันนี้ถึงแม้ว่าจะต้องใช้ชื่อร่วมกันกับน้อง แต่เราก็ยินดี เต็มใจ และมีความสุขที่ได้เซ็นชื่อว่ายายเพิ้งและนายพรานตั้งแต่วันแรกที่ตัดสินใจเริ่มทำงานนี้แล้ว”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

กฤต วิเศษเขตการณ์

ช่างภาพผู้ชื่นชอบการถ่ายภาพตามท้องถนนอย่างบ้าคลั่งพอๆ กับการกินกาแฟ และผู้คนมักเขียนชื่อเขาผิด