Health In Detention วิชาสร้างตระหนักรู้สุขภาพเรือนจำที่สอนในรั้วธรรมศาสตร์ที่แรกในเอเชียแปซิฟิก

Highlights

  • Health In Detention หรือสุขภาพผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ คือหนึ่งในวิชาเรียนสำหรับหลักสูตรปริญญาโท สาขาสุขภาพโลก คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งเปิดสอนครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยแรกในเอเชียแปซิฟิกที่เปิดสอนเรื่องนี้
  • คอร์สนี้มี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรภาษาไทยที่ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐให้ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำมาเรียน และอีกหลักสูตรสำหรับนักเรียนปริญญาโทจากหลายประเทศทั่วโลกที่เข้ามาเรียนสาขานี้ ก็จะได้ร่วมคลาสวิชานี้ด้วย
  • ความพิเศษของวิชานี้คือ นักศึกษาได้เปิดโลกกว้างในเรื่องสุขภาพในเรือนจำ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานจริง รวมถึงได้ร่วมวงสนทนาว่าด้วยปัญหาสุขภาพเรือนจำในบ้านเกิดตัวเองจนทำให้คลาสเรียนนี้กลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ Behind Bars ซีรีส์ที่ a day ร่วมกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวการดูแลสุขภาพของนักโทษในเรือนจำ ผ่านแนวคิดสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน

Health In Detention
เมื่อปีที่แล้ว ICRC ร่วมเปิดคอร์สสร้างตระหนักรู้สุขภาพในเรือนจำกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยบรรจุวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรปริญญาโทของสาขาสุขภาพโลก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันแรกในเอเชียแปซิฟิกที่เปิดสอนวิชานี้ 

ชื่ออย่างเป็นทางการของวิชานี้คือ Health In Detention หรือวิชาสุขภาพผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งประกอบไปด้วยคอร์ส 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรภาษาไทย ซึ่งร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่าง กรมราชทัณฑ์, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกองพยาบาล โดยเปิดสอนให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำในไทย

อีกหลักสูตรเป็นภาคภาษาอังกฤษ เปิดสอนให้นักศึกษาระดับปริญญาโทจากทั่วโลกที่เข้ามาศึกษาในสาขาสุขภาพโลกของคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้เข้ามาเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่จากเรือนจำประเทศต่างๆ และเจ้าหน้าที่จาก ICRC เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องสุขภาพนักโทษในเรือนจำ

Health In Detention
การเรียนการสอนที่ว่านี้จะเป็นยังไง ศ. Marc Van der Putten และ ผศ. ดร.วรรณภา นาราเวช จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประตูห้องเรียนรอเราอยู่แล้ว

Health In Detention

ทำไมธรรมศาสตร์ถึงตัดสินใจร่วมสร้างหลักสูตรสุขภาพในเรือนจำกับ ICRC

มาร์ค : ธรรมศาสตร์มีหลักการ 3 อย่างที่พวกเรายึดเป็นหลักคือ ความเท่าเทียม ความยุติธรรมในสังคม และการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งหลักการสองอย่างที่สำคัญและตรงกันกับแนวคิดของ ICRC คือ ความยุติธรรมทางสังคมและการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งพอ ICRC มีแนวคิดว่าทุกคนมีสิทธิเข้าถึงสุขภาพได้แม้จะเป็นกลุ่มเปราะบางหรือผู้ต้องขังในสังคม ทั้งหมดก็ตรงกับหลักการที่ธรรมศาสตร์ให้ความสำคัญ 

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเรือนจำไม่มีความสำคัญเลยไม่มีใครให้ความสนใจเท่าไหร่นัก แต่ยังมีคนที่เดินเข้า-ออกเรือนจำทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นญาติหรือเจ้าหน้าที่ มันจึงมีความเชื่อมโยงกันอยู่ระหว่างคนข้างในกับคนข้างนอก นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญในระบบสาธารณสุข เพราะสามารถถ่ายทอดโรคสู่กันได้ อีกอย่างคือแม้ผู้ต้องขังในเรือนจำเองเคยทำความผิดทางอาชญากรรมมาก่อน แต่พวกเขามีสิทธิในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งในสังคมยังตระหนักเรื่องนี้กันค่อนข้างน้อย เราจึงร่วมพัฒนาหลักสูตรการสอนกับทาง ICRC ด้วยการสร้างความตระหนักเรื่องนี้ในประเทศไทย รวมถึงในภูมิภาคอาเซียนด้วย 

วรรณภา : เรามีคอร์สสองภาษา คือหลักสูตรภาษาไทย ซึ่งเราทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มพยาบาลอีกอันเป็นหลักสูตรแบบอินเตอร์เนชั่นนอล ให้นักเรียนปริญญาโท สาขาสุขภาพโลกได้เข้ามาเรียนวิชานี้ ซึ่งทำให้ที่นี่กลายเป็นเวทีที่คนทำงานสาธารณสุขศึกษา คนทำงานที่มีประสบการณ์ทางด้านเรือนจำ กับนักศึกษาซึ่งบางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ทำงานที่สาธารณสุขที่อื่นๆ มาก่อน แต่พวกเขาไม่มีประสบการณ์ในการทำงานเรือนจำมาเจอกัน มันเลยเกิดเครือข่ายของคนสองฝั่งที่มาช่วยกัน เรียนรู้และเวิร์กช็อปด้วยกันในห้อง ทั้งเรื่องของคนในเรือนจำ การจัดการสุขภาพในเรือนจำ ซึ่งคอร์สแบบนี้ไม่ค่อยมีที่ไหนทำ 

Health In Detention

แล้วกระบวนการในการสร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมา ต้องทำยังไงบ้าง

มาร์ค : เรามีการประชุมร่วมกัน 3 หน่วย คือ ICRC เจนีวา, ICRC ไทย และสาขาสุขภาพโลก ของคณะสาธารณสุขศาสตร์เพื่อคุยกันว่าอะไรคือวัตถุประสงค์ของการทำคอร์สนี้ มีอะไรที่สำคัญที่เราอยากเอาเข้ามาอยู่ในคอร์สนี้บ้าง 

เรามีองค์ประกอบหลายอย่างในการวางหลักสูตร ซึ่งประกอบด้วยโมเดลจาก WHO ทั้งเรื่องการจัดการและโลจิสติกส์ และใช้สองหลักการในการวางมาตรฐานเรือนจำคือ Mandela Rules และ Bangkok Rules เพราะสองข้อกำหนดนี้ใช้ในระดับสากล และข้อกำหนดกรุงเทพฯ ก็เข้ามาให้ความสำคัญในการดูแลสิทธิของผู้ต้องขังหญิงด้วย

วรรณภา : ดังนั้น ในหลักสูตรจะมีอยู่ 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นเรื่องการสร้างความตระหนักให้เห็นเรื่องจรรยาบรรณ ความเท่าเทียม สิทธิของคนที่อยู่ในเรือนจำ อันที่สองคือความรู้ในเรื่องการจัดการทางด้านสุขภาพ และส่วนที่สามคือระบบการปฏิบัติจริง เมื่อนำแนวคิดไปใช้จริงจะต้องทำยังไง ซึ่งในคลาสอาจจะไม่ได้ลงไปปฏิบัติจริง แต่เราจะให้รู้ว่าแนวทางปฏิบัติคืออะไร โดยดูจากเหตุการณ์จำลอง

Health In Detention

แต่ในแต่ละประเทศมีกฎหมายที่ไม่เหมือนกัน แล้วเราจะทำให้คอร์สอินเตอร์เนชั่นนอลตอบโจทย์นักศึกษาได้ทุกคนยังไงบ้าง

มาร์ค : แน่นอนพวกเขามาจากคนละประเทศ กฎหมายบางอย่างไม่เหมือนกัน แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่แอฟริกาหรืออาเซียนมันจะมีหลักการพื้นฐานที่เหมือนกัน ผมขอยกตัวอย่างมาอธิบายเกี่ยวกับคอร์สนี้ให้ฟัง ICRC จัดการประชุมระดับภูมิภาคปีละครั้ง มันคือการประชุมสุขภาพเรือนจำของเอเชียแปซิฟิก คณะเราสนับสนุนให้อาจารย์ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ในงานจะมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในราชทัณฑ์จากหลายประเทศ ทั้งจากออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น ไทย พวกเขาจะมาหารือในหลายเรื่องที่สนใจร่วมกัน หรือแม้กระทั่งประเด็นปัญหาที่พบบ่อย 

ดังนั้นหลักสูตรอินเตอร์ของเรามีลักษณะคล้ายกันกับการประชุมภูมิภาคนี้เลย เราอยากให้คอร์สนี้สร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาพในเรือนจำในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาคุยกันถึงปัญหาที่เจอ จัดระบบเรือนจำ และระบบให้บริการด้านสุขภาพของเรือนจำ 

แม้ความจริงนักศึกษาจากหลายๆ ประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกัน หรือแถบอาเซียนจะไม่ได้ตั้งใจมาเรียนวิชาสุขภาพเรือนจำโดยตรง เพราะเขามาเรียนสาขาสุขภาพโลก วิชานี้เป็นเพียงหนึ่งในหลักสูตรนี้ แต่ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางการปลูกเมล็ดพันธุ์ต้นเล็กๆ เราเปิดมุมมองเขาให้กว้างแล้ว เมื่อไหร่ที่นักศึกษากลับไปยังประเทศตัวเอง แล้วได้พูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ เราก็มีผู้สนับสนุนที่ให้ความสนใจเรื่องเรือนจำแล้ว

Health In Detention

มีเรื่องอะไรบ้างที่นักศึกษาจากหลายๆ ประเทศมาพูดคุยกันแล้วเจอเหมือนกัน

มาร์ค : หลายหัวข้อมาก เช่น เรื่องที่เกิดได้ปกติทุกประเทศเลยคือ คนล้นคุก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา แล้วพบว่าในหลายประเทศ คนติดคุกเพราะยาเสพติดถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็มีการคุยกันว่าถ้าเขาโดนจับเพราะเสพยาแล้วไปเข้าคุกมันเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องไหม หรือเขาควรไปรับการบำบัดมากกว่า เพราะถ้าเราทำแบบนี้ก็อาจจะลดประชากรในเรือนจำลงไปได้ 

อีกเรื่องที่หลายประเทศเจอเหมือนกันเลยคือ ระบบที่ทำให้คนมีความเป็นอยู่ชีวิตที่ดี ซึ่งต้องอาศัยระบบวิศวกรช่วยเหลือตรงนี้ เช่น น้ำ ท่อระบายน้ำ การระบายอากาศที่ดี แสงสว่าง พวกนี้เป็นเรื่องปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน บางประเทศมีโครงสร้างเรือนจำเก่า ไม่ได้รับการปรับปรุง ซึ่งอาจกลายเป็นสาเหตุของการติดเชื้อหรือปัญหาสุขภาพได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องโรคติดต่อ เพราะเอาคนหลายๆ คนไปอยู่ในพื้นที่จำกัด ถ้าหากมีคนหนึ่งเป็นโรคขึ้นมา คนอื่นๆ ก็จะติดเชื้อไปด้วย 

จิตใจของนักโทษก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะคนโดนกักขังให้ไปไหนไม่ได้ ไม่มีอิสรภาพ และอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ด้วยกัน บางประเทศถึงขั้นที่นักโทษ 3 คนต้องนอนเตียงเดียวกัน แล้วพวกเขาต้องผลัดกันนอน 3 กะ คนแรกนอนไปก่อน 8 ชั่วโมง ต่อมาคนที่สองไปนอนต่ออีก 8 ชั่วโมง คนที่ 3 ถึงจะได้ไปนอน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนหมด

 Health In Detention

แล้วอย่างในคอร์สจะมีการเรียนการสอนยังไงบ้าง อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าบรรยากาศให้ฟังหน่อย

วรรณภา : เราจะมีอาจารย์ทั้งจากคณะเรา และวิทยากรจาก ICRC มาร่วมให้ความรู้ด้วย และด้วยคอร์สของเราที่เน้นเรื่องการสร้างความตระหนัก ในคลาสเรียนจะมีกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ตระหนักและเปิดกว้าง ตัวอย่างอาจารย์ ICRC ท่านหนึ่ง เขาจะใช้วิธีสร้างสถานการณ์สั้นๆ จำลองเป็นเคสที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกมองไม่เท่าเทียม ได้รับการปฏิบัติแบบแย่ๆ แล้วให้นักศึกษาเลือกว่าจะอยู่ข้างไหน มีส่วนไหนที่เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือไม่แน่ใจ แล้วอาจารย์จะถามเหตุผลทุกคนว่าเห็นด้วยเพราะอะไร ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แล้วคนที่ไม่แน่ใจล่ะเพราะว่าอะไรถึงเลือกทางนี้ มันจะเกิดไดอะล็อก 3 กลุ่มนี้ เขาจะเกิดการคุยกันแล้วตระหนักเองว่ามันดีหรือไม่ดี

แล้วเราก็จะมีการจำลองสถานการณ์อื่นๆ เช่น ตามกำหนดของเรือนจำ ทุกอย่างมีตารางชีวิต ทุกอย่างอยู่ในกฎเกณฑ์ เพราะฉะนั้นเวลาจะทำอะไร นักโทษไม่มีอิสรภาพ แล้วถ้าเจ็บป่วยในเรือนจำ เขาจะจัดการยังไง ถ้ามีเจ้าหน้าที่แค่คนเดียว แล้วมีนักโทษเป็นพันคนจะดูแลยังไง เพราะฉะนั้นการดูแลในเรื่องของสุขภาวะ ระบบสาธารณะสุขจะมีข้อจำกัดอะไรบ้าง นักศึกษาจะได้เรียนรู้ตรงนี้

บางคลาสนักศึกษาเขาจะเริ่มเอาบริบทประเทศตัวเองมาแชร์ให้ฟัง บางคนเพิ่งเสิร์ชอินเทอร์เน็ตเลยว่าเรือนจำบ้านเขาเป็นยังไง แต่ก่อนเขาไม่ได้สนใจ เรื่องเรือนจำไม่เคยอยู่ในหัวเขา พอเข้ามาแล้ว เขาเริ่มมองเห็นว่าจริงๆ มันมีสังคมอย่างนี้อยู่ด้วยนะ แล้วเขาก็เกิดการตระหนักรู้ว่าเดี๋ยวคนกลุ่มนี้จะกลับไปอยู่ในสังคมของเขา แล้วถ้าเราไม่ทำอะไรให้ดีขึ้นกับคนกลุ่มนี้ ผลมันก็จะสะท้อนกลับเหมือนระเบิดเวลา

Health In Detention

แสดงว่าได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากนักเรียน

วรรณภา : ต้องบอกว่านักศึกษาที่มาเรียน ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยคิดว่าเรื่องเรือนจำเป็นเรื่องใกล้ตัว พอมาเรียนแล้วเขารู้สึกว่าไม่ได้ไกลตัวเลย เพราะพอนักโทษพ้นโทษออกมาเขาจะมาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมเรา เขาก็เกิดการตระหนักรู้ว่าเขาต้องสนใจเรื่องนี้

มีนักศึกษาจากพม่าคนหนึ่งบอกว่า prison health ไม่เคยอยู่ในหัวเขาเลย เขาเลยมาบอกว่าอยากจะขอต่อปริญญาเอก อาจารย์รับเขาไหม เขาก็ขอมาเรียนแล้วจะทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับ prison health 

 

อาจารย์คิดว่าการวัดความสำเร็จในการสอนคอร์สนี้คืออะไร

วรรณภา : การวัดความสำเร็จมีหลายระยะ ถ้าระยะใกล้ เราเห็นเลยว่าผู้เข้าร่วมมีความตระหนักเห็นถึงความสำคัญ จากการประเมินผลหลังจบคอร์ส นักศึกษาพอใจมาก ต่อมาในระดับกลางเรามองเรื่องของตัวชี้วัด เช่น เด็กสนใจเรียนต่อเรื่องนี้ และศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น ส่วนในระยะยาวคือตามไปดูว่ามีการสร้างเครือข่ายทำงานหรืออะไรต่อยอดจากการเรียนตรงนี้ไหม ซึ่งเรามองว่าจะทำในอนาคต 

Health In Detention

ในอนาคตหลักสูตรนี้จะเติบโตไปยังไงต่อ เพราะตอนนี้เราได้สร้างการตระหนักรู้แล้ว

วรรณภา : ก่อนหน้านี้อาจารย์มาร์คเป็นไดเรกเตอร์ของโปรแกรม แกมองว่าอยากจะให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ของนานาชาติเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขังในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะว่าจากที่เราได้เรียนรู้จากวิทยากรของ ICRC เรารู้สึกว่าคนในเรือนจำ โดนสังคมเพิกเฉยจริงๆ ความฝันของอาจารย์มาร์คก็อยากให้ที่นี่เป็นเซนเตอร์เรื่องนี้ 

ส่วนอาจารย์คิดว่าในอนาคตอาจจะมีการสร้างเครือข่าย ถ้าหากนักศึกษาจบออกไป เขาสนใจอยากจะทำวิจัยเรื่องนี้ หรือทำโครงการที่จะเสริมศักยภาพคนในเรือนจำ หรือคนที่กำลังจะพ้นโทษ เขาจะได้มีเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ถ้ามีนักศึกษาที่เรียนจบไปสร้างเครือข่ายทำงานด้วยกันกับเพื่อนในคลาส หรือกับคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาจริงๆ แล้ว อาจารย์มองว่าเป็นอีกก้าวที่ประสบความสำเร็จค่ะ

Health In Detention

 


ขอบคุณภาพจาก ICRC 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย