เปลี่ยนทุกเรื่องราวเป็นทาร์ตสุดสร้างสรรค์กับ befor.tart

Highlights

  • befor.tart หรือ ซิก–สุรัตน์ ซิการี่ คือนักอบขนมที่เปลี่ยนเรื่องราวในภาพยนตร์ให้ออกมาเป็นทาร์ต ปัจจุบันทำมาแล้วถึง 7 คอลเลกชั่นด้วยกัน
  • ล่าสุด befor.tart ร่วมมือกับเพียรหยดตาลเป็นคอลเลกชั่นพิเศษที่เล่าเรื่องราวการทำน้ำตาลมะพร้าวโดยใช้วัตถุดิบจากชุมชน
  • นอกจากคอลเลกชั่น befor.tart ยังรับทำทาร์ต custom จากหนัง เพลง หรือเรื่องราวในชีวิตของแต่ละคนอีกด้วย

ใครชอบกินขนมหวานยกมือขึ้น

ใครชอบดูหนังยกมือขึ้น

หากรู้ตัวว่ากำลังยกมือในใจให้กับสองข้อข้างบน ตามมาทางนี้ เพราะเราจะชวนทุกคนมารู้จักกับ ซิก–สุรัตน์ ซิการี่ เจ้าของร้าน befor.tart ชายหนุ่มผู้เปลี่ยนเรื่องราวในหนังให้เป็นทาร์ตสัดส่วน 16:9 ที่เปี่ยมด้วยรสชาติไปด้วยกัน

befor.tart

before

ในขณะที่การทำงานในร้านอาหารหรูระดับ fine-dining อาจเป็นความฝันของเชฟหลายต่อหลายคน แต่ไม่ใช่สำหรับซิก

นับตั้งแต่ที่ชายหนุ่มตัดสินใจหันหลังให้กับงานสายภูมิศาสตร์ตามสาขาที่เรียนมา และก้าวเข้าครัว ฝึกทำขนมภายใต้โรงเรียนวิชาการโรงแรมแห่งโรงแรมโอเรียนเต็ล เป้าหมายของซิกคือการเปิดร้านของตัวเอง ดังนั้นหลังจากทำงานประจำในร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์อย่าง Gaggan ที่ซอยหลังสวน และ L’Atelier de Joël Robuchon บนตึกมหานคร คิวบ์ สะสมประสบการณ์การทำงานจนอิ่มตัว ซิกก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำตามความตั้งใจ

ด้วยการวางแผนและเก็บเงิน ซิกใช้เวลา 3 เดือนหลังลาออกคิดว่าจะทำขนมอะไร รสชาติอย่างไร ก่อนจะตัดสินใจว่าจะทำทาร์ตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหลงใหลไม่แพ้การทำขนม

“เลือกทำทาร์ตเพราะตัวผมเองเป็นคนไม่ชอบกินเค้ก ชอบกินขนมที่กัดกินได้เป็นคำ แล้วทาร์ตก็เป็นเหมือนกรอบที่เราจะใส่ใส้ด้านในได้หลากหลาย ออกมาเป็นอะไรก็ได้ บวกกับชอบดูหนังมากๆ ถ้าทำให้หนังกับขนมมาอยู่ด้วยกัน แล้วเราก็จะได้ดูหนังบ่อยๆ น่าจะสนุก”

befor.tart

 

befor.

เพราะอยากให้ทาร์ตพิเศษที่สุด และอยากให้คนชิมรู้สึกถึงความใส่ใจในทาร์ตทุกชิ้น ซิกจึงเลือกตั้งชื่อร้านว่า befor.tart ที่ไม่ได้มาจากคำว่า before ที่แปลว่าก่อน แต่มาจาก be for ที่สื่อถึงทาร์ตที่เกิดขึ้นมาเพื่อใครคนหนึ่งโดยเฉพาะ

ด้วยความบังเอิญ หนังโปรดของซิกอย่าง Before Sunrise, Before Sunset และ Before Midnight มีชื่อพ้องกับชื่อแบรนด์พอดี ชายหนุ่มจึงเลือกทำหนังชุดนี้ออกมาเป็นคอลเลกชั่นแรกพร้อมๆ กับการเปิดตัวแบรนด์ ก่อนจะออกคอลเลกชั่นใหม่ทุกๆ 3 เดือน เริ่มจาก La La Land, Inception, About Time, เถียนมีมี่, Her จนมาถึงคอลเลกชั่นล่าสุดอย่าง Le Petit Prince หรือเจ้าชายน้อย ซึ่งเป็นการทำทาร์ตจากหนังสือครั้งแรก จากวันแรกถึงวันนี้ befor.tart สร้างสรรค์ทาร์ตมาแล้ว 7 คอลเลกชั่น

befor.tart

“ผมเอาความชอบของตัวเองมาก่อน ตอนที่ทำคอลเลกชั่น Before ออกมา 50% ของคนที่มาซื้อไม่รู้จักหนังมาก่อน เลยพยายามเลือกหนังที่คนรู้จักมากขึ้นมาทำสลับๆ กันไป แล้วก็ดูให้เหมาะกับช่วงเวลา ตอนทำ La La Land คือหนังกำลังเข้าพอดี หรือตอนที่ทำ Inception ก็เพราะ Dunkirk ของ Christopher Nolan ผู้กำกับคนเดียวกันกำลังเข้า คนก็รู้จักมากขึ้น” ซิกเล่าให้ฟังถึงเกณฑ์ในการเลือกหนัง

ในทุกคอลเลกชั่น การตีความภาพยนตร์ออกมาเป็นทาร์ตจะต่างกันออกไป บางเรื่องทาร์ตถูกใช้เป็นตัวแทนของตัวละคร บางเรื่องแทนฉากสำคัญ บางเรื่องแทนบทเพลงประกอบ ซิกยกตัวอย่างให้ฟังว่าในคอลเลกชั่น Her เขาตีความว่าหนังเล่าเรื่องความรักที่จับต้องไม่ได้ จึงกำหนดให้ทาร์ตแต่ละชิ้นแทนตัวละครผู้หญิงแต่ละคน แล้วเลือกใช้กลิ่น รสชาติ และสีสันที่เหมาะกับตัวละครแต่ละตัว

“อย่างแรกจะดูหนังวนไปเรื่อยๆ วันนี้ดูสามรอบ พรุ่งนี้ดูอีก รวมแล้วก็เป็นสิบรอบ แล้วจดออกมาว่าเรื่องนี้เล่าอย่างไรได้บ้าง skip ดูว่าจะเอาตรงไหนมาใช้เพื่อให้ทาร์ตสามารถเล่าถึงหนังทั้งเรื่องได้”

นอกจากจะรีเสิร์ชผ่านการดูหนัง ซิกยังต้องค้นหาความหมายของวัตถุดิบแต่ละชนิด และเมื่อคิดขึ้นมาได้ก็ต้องทดลองทำออกมาเพื่อเช็กว่ารสชาติแต่ละชิ้นเข้ากันหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการไหม หรือในบางครั้งเมื่อทำไส้เปล่าๆ กินแล้วอร่อย แต่พอใส่ในทาร์ตแล้วผิวสัมผัสไม่เข้ากันก็ต้องปรับปรุง ได้รสชาติตามที่ต้องการเมื่อไหร่ก็จะนำไปให้คนรอบตัวทดลองชิม ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่สาว เพื่อนที่ชอบกินขนม และเพื่อนที่ไม่ค่อยกินขนม แล้วนำฟีดแบ็กที่ได้มาปรับปรุงก่อนจะวางขาย

หนึ่งในคอลเลกชั่นที่ซิกสนุกกับการทำมากที่สุดคือ Inception ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เขาเล่นกับการแต่งกลิ่น ใช้วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับเพื่อให้สอดคล้องกับตัวหนัง โดยมีความตั้งใจจะให้กินเป็นลำดับ และเมื่อกินชิ้นถัดไป รสชาติของชิ้นก่อนหน้าจะหาย เหมือนกับความฝันที่คนมักจะลืมต้นเรื่องและจำได้แค่ช่วงใกล้ตื่น เขาจึงต้องคิดสูตรและทดลองกินอยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ

befor.tart

ส่วนคอลเลกชั่นล่าสุดของ befor.tart เป็นคอลเลกชั่นพิเศษจากการร่วมมือกับแบรนด์น้ำตาลมะพร้าวธรรมชาติ เพียรหยดตาล

ซิกรู้จักกับ เอก–อัครชัย ยัสพันธุ์ แห่งเพียรหยดตาลในฐานะเพื่อนของเพื่อน แล้วเริ่มร่วมมือกันเพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับน้ำตาลมะพร้าวว่าสามารถทำได้มากกว่าอาหารคาวและขนมไทย โดยใช้ทักษะการเล่าเรื่องราวผ่านทาร์ตตามความถนัดของซิก

befor.tart

“การทำน้ำตาลมะพร้าวก็เป็นเรื่องเล่าอย่างหนึ่ง เรารีเสิร์ชโดยการนั่งดูเขาทำน้ำตาลมะพร้าวแล้วพบว่าก่อนทำน้ำตาลจะได้โปรดักต์อื่นๆ เช่น น้ำตาลสด ไซรัปน้ำหวานดอกมะพร้าว แล้วค่อยเป็นน้ำตาลมะพร้าว เราเลยนำวัตถุดิบสี่อย่างคือมะพร้าว น้ำตาลสด ไซรัปน้ำหวานดอกมะพร้าว และน้ำตาลมะพร้าว มาใช้ แล้วออกแบบให้แมตช์กับเรื่องราวของเขาไปด้วย ชิ้นแรกเป็นมะพร้าวกับเจลลี่ขิง ซึ่งขิงเป็นรสชาติของผู้ใหญ่ แทนคนทำงานในชุมชนเพียรหยดตาลซึ่งเป็นผู้สูงอายุ แก่แต่มีความจัดจ้าน ชิ้นที่สองใช้น้ำตาลสดหมัก ชิ้นที่สามเป็นน้ำหวานดอกมะพร้าว ชิ้นสุดท้ายเป็นแครมบูเล่น้ำตาลมะพร้าว เพราะอยากให้รู้สึกเหมือนเป็นหน้าเตา มีการเผา และช็อกโกแลต 2 ชิ้นที่อยู่ด้านบนก็เป็นตัวแทนเตาทำน้ำตาล 2 เตาที่ยังเปิดใช้งานในชุมชน”

befor.tart

befor.tart

นอกเหนือไปจากคอลเลกชั่นที่ออกมาเป็นประจำ ทุกวันนี้ซิกยังรับทำทาร์ต custom ตามความปรารถนาของผู้สนใจด้วยเช่นกัน ซึ่งโจทย์ที่เขาได้รับก็มีตั้งแต่หนัง เพลง หนังสือ ซีรีส์ ละครเวที เอนิเมชั่น เรื่องราวความรักของแต่ละคู่ ไปจนถึงไอดอลเกาหลีก็ยังมี

“การทำ custom มันเปิดโลกผมมาก ท้าทายในการตีความ เพราะต้องรีเสิร์ชใหม่หมด บางทีเป็นซีรีส์ยาว 20 ตอน ตอนละชั่วโมง ก็ต้องนั่งดู แต่ถ้าเขาบรีฟมาให้ สรุปพาร์ตที่สนใจหรือชอบมาให้ก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น แต่ส่วนใหญ่ที่เข้ามาก็จะเป็นหนังที่ชอบ กับเรื่องราวความสัมพันธ์ เช่น วันเกิดแฟน วันครบรอบแต่งงาน ซึ่งเป็นการตีความจากสตอรี่ของแต่ละคน”

befor.tart

befor.tart

เมื่อลูกค้าติดต่อเข้ามาในอินบ็อกซ์เพจเฟซบุ๊กและเล่าถึงความต้องการ ซิกจะขอเวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์ในการรีเสิร์ช คิดค้น เมื่อสำเร็จเขาก็จะเล่าถึงการตีความออกมาเป็นทาร์ตให้แต่ละคนอย่างละเอียดผ่านทางข้อความ

“บางทีก็จะแนบการ์ดไป แต่ในการ์ดจะเล่าแค่ว่ารสชาติทาร์ตเป็นอย่างไร ผมไม่ได้เขียนไปทั้งหมด โดยเฉพาะยิ่งถ้าสั่งเป็นของขวัญ เพราะเราอยากให้ผู้รับสงสัย ผู้ให้จะได้อธิบายให้ฟังว่าเขาเล่าเรื่องราวให้เราฟังว่าอย่างนี้ แล้วเราตีความมันออกมาอย่างนี้ ซึ่งในการเล่าทั้งสองคนก็จะได้นึกถึงเรื่องราวที่ผ่านมาด้วยกัน ได้ใกล้กันมากขึ้น มันโรแมนติกกว่าการเขียนการ์ดซึ่งเขาอาจจะไม่ได้อ่าน”

 

after

ในทุกๆ วัน ซิกจะตื่นนอนในเวลาตีสามถึงตีห้าเพื่อทำทาร์ตที่มีคิวส่งในวันเดียวกันให้เสร็จภายในเวลาเก้าโมงเช้า และนัดส่งทาร์ตที่สถานีรถไฟฟ้าสยามในเวลาสิบเอ็ดโมง เพื่อให้ผู้รับได้ทาร์ตที่สดใหม่ที่สุด จากนั้นเขาก็จะจัดการทำธุระ ซื้อของที่จำเป็น และกลับบ้านไปดูหนัง ทำรีเสิร์ชทาร์ต custom ก่อนนอนก็จะเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำทาร์ตในวันถัดไป แล้วเข้านอนในเวลาสี่ทุ่ม

“จากตอนนี้เปิดมาได้เกือบ 2 ปี คนรู้จักเรามากขึ้น จากตอนแรกที่เพื่อนเคยบอกว่าใครจะมาซื้อ แต่มันก็ค่อยๆ โตขึ้น”

befor.tart

ในช่วงที่เปิดร้านได้ไม่นาน ซิกฝันอยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเอง และจัดอีเวนต์ฉายหนัง กินขนม ในวันนี้ชายหนุ่มยังคงยืนยันความตั้งใจเดิม แม้หน้าร้านจะยังเป็นเรื่องไกลตัวเพราะต้องมีทั้งเงินทุนและการจัดการคนเพิ่มขึ้นมาจากปัจจุบันที่เขายังคงจัดการทุกอย่างด้วยตัวคนเดียว

“วันหนึ่งผมอยากมีร้านของตัวเอง เพราะเวลาเราไปออกอีเวนต์ เราจะได้คุยกับคน อธิบายเรื่องราวของทาร์ตที่เราทำ ถ้ามีหน้าร้านก็จะได้คุยกับคนที่เข้ามา นั่งกินไปอ่านหนังสือดูหนังไป เสร็จแล้วก็คอมเมนต์ว่าชอบไม่ชอบอย่างไร ผมก็ปรับปรุงในวันรุ่งขึ้นได้เลย” ซิกเล่า แต่เขาบอกกับเราด้วยแววตาเป็นประกายว่า ไม่นานนี้อาจได้จัดอีเวนต์ดูหนังกินขนมตามฝันในร้านอาหารที่เปิดใหม่ของเพื่อน

ความมุ่งมั่นของเขาย้ำกับเราว่าการทำในสิ่งที่รักมีรสชาติหอมหวานขนาดไหน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย