พูดถึงเมืองแห่งแฟชั่นแล้ว เมืองหนึ่งที่เรามักตื่นเต้นกับผู้คนบนท้องถนนคงหนีไม่พ้น โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
การแต่งกายที่สะท้อนถึงความสนุก อัตลักษณ์ที่สะท้อนผ่านความสร้างสรรค์
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงแบรนด์แฟชั่นที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ เสมือนงานศิลปะเชิงทดลอง หนึ่งในแบรนด์ที่เรานึกถึงอยู่เสมอคือ ISSEY MIYAKE
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1960 ปีแห่งความเจิดจรัส และแจ้งเกิด Rei Kawakubo แฟชั่นดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่ปารีส ศูนย์กลางแห่งแฟชั่นของโลก ด้วยแนวคิดแฟชั่นของญี่ปุ่นที่ฉีกจากความเป็นยุโรปผสานกับเอกลักษณ์และเทคนิคที่ไม่เหมือนใครอย่าง Comme des Garcons ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีความโดดเด่นเรื่องการใช้ความอสมมาตรในดีไซน์ (asymmetry) และ Yohji Yamamoto ดีไซเนอร์ผู้ทำลายขนบแพตเทิร์นของยุโรป เขาสร้างแพตเทิร์นที่เรียกว่า deconstructing (ลดทอนรูปแบบ) บวกกับความโอเวอร์ไซส์ และโทนขาว-ดำ ที่กลายมาเป็นลายเซ็นของเขาในที่สุด
ISSEY MIYAKE คืออีกหนึ่งคนที่บุกเบิกปารีสในยุคนั้น เขาทำงานกับดีไซเนอร์ชื่อดัง Guy Laroche และ Hubert de Givenchy หลังจากนั้นเขาก็ตัดสินใจย้ายกลับมาโตเกียวในปี 1970 พร้อมกับก่อตั้ง Miyake Design Studio ต่อมาในช่วงยุค 80s เขาเริ่มทดลองเทคนิคพิเศษต่างๆ จนในที่สุดก็ได้เทคนิคการสร้างสรรค์ผ้าพลีตโพลีเอสเตอร์ (pleated polyester) ที่เป็นเทคนิคเฉพาะของทางแบรนด์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในการเปิดตัวครั้งแรกในปี 1988 ภายใต้แบรนด์ ISSEY MIYAKE และต่อมาในปี 1994 ก็ได้แตกออกมาเป็นแบรนด์ PLEATS PLEASE ISSEY MIYAKE ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากผ้าพลีตอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์แล้ว ในปี 2000 Bilbao หรือ BAO BAO ISSEY MIYAKE กระเป๋าที่มีเพลตสามเหลี่ยมประกอบเรียงกันเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม เมื่อใส่สัมภาระลงในกระเป๋าจากทรงแบนราบ กลายเป็นกระเป๋าที่มีไดนามิก โดยจะเกิดรูปทรงตามสัมภาระ ด้วยคอนเซปต์ตั้งต้นที่ BAO BAO ISSEY MIYAKE แตกต่างและโดดเด่นกว่ากระเป๋าอื่นๆ โดยก่อนที่จะกลายมาเป็น BAO BAO ISSEY MIYAKE ที่หลายคนหลงใหล ดีไซเนอร์ Hikaru Matsumura ผู้อยู่ใต้แบรนด์ PLEATS PLEASE ISSEY MIYAKE คือผู้ให้กำเนิด BAO BAO ISSEY MIYAKE เอกลักษณ์ที่เป็นเพลตสามเหลี่ยม ความเป็นเรขาคณิต (geometry) ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากพิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum Bilbao ประเทศสเปน Bilbao จึงเป็นชื่อแรก กระทั่งได้รับความนิยมจากทั่วโลกจึงแยกแบรนด์ออกมาเป็น BAO BAO ISSEY MIYAKE ในท้ายที่สุด
นับแต่นั้นมา BAO BAO ISSEY MIYAKE ก็ได้รับความนิยมและมีการสร้างสรรค์คอลเลกชั่นอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และยังเน้นคอนเซปต์การทดลองวัสดุต่างๆ ที่นำมาใช้ เช่นเดียวกันกับคอลเลกชั่น SS19 ที่ผ่านมา ที่หยิบยกเรื่องราวเฉดสีและแสงอันมีมิติ ผสานกับเรื่องราวในธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเมืองที่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมาสะท้อนผ่านรุ่นต่างๆ และเล่นกับเทคนิคพิเศษของวัสดุ อย่างรุ่น GLACIER บนตัวเพลตของกระเป๋าเป็นการไล่สีธารน้ำแข็งที่สะท้อนกับแสงของดวงอาทิตย์ใกล้ตกลาลับฟ้ากระทั่งยามกลางคืน นอกจากสีเลเยอร์ที่แบ่งแต่ละช่วงเวลาแล้ว เมื่อกระเป๋าเคลื่อนไหวเราจะเห็นมิติของธารน้ำแข็งอยู่บนกระเป๋า
GLACIER
หรือรุ่น HAZE ที่ใช้เฉดสีแดง จำลองสีของแสงแดดที่ลอดผ่านเมฆหมอก และอีกรุ่น PLATINUM SUNMOON ที่ใช้เฉดสีเงิน จำลองสีของแสงที่สะท้อนผิวน้ำกระทบกับกระจกหน้าต่าง
HAZE
PLATINUM SUNMOON
ต่อมา PIXEL คอลเลกชั่นที่จับโทนสีป๊อปและตรงข้ามมาไว้ด้วยกันอย่างสีน้ำเงิน-สีส้ม สีเหลือง-สีส้ม-สีดำ และสีน้ำเงิน-สีเขียว-สีดำ รวมถึงใส่พิกเซลลงบนเพลต และเพิ่มมิติด้วยการเรียงที่เล่นกับขนาดถึงระดับพิกเซล จนเกิดลวดลายที่หลากหลาย
PIXEL
และสุดท้ายรุ่น CITYSCAPE ที่แต่ละช่องเพลตเปรียบเสมือนการเรียงรายของหน้าต่างอาคาร สะท้อนถึงมุมมองใหม่ของภูมิทัศน์เมือง
CITYSCAPE
สำหรับคอลเลกชั่นต่อไป BAO BAO ISSEY MIYAKE จะหยิบอะไรมาสร้างสรรค์บนกระเป๋า หรือเราจะได้เห็นงานศิลปะรูปแบบไหนจากแบรนด์นี้อีก รอติดตามกันได้เลย
Reference :