เส้นทางนั่งรถไฟฟ้าไปดู 6 จุดอาร์ตจาก Bangkok Art Biennale 2018 ภายใน 1 วัน

Highlights

  • Bangkok Art Biennale คือเทศกาลศิลปะที่จัดแสดงผลงานของศิลปินนานาชาติกว่า 70 ชีวิตใน 20 สถานที่ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2018 ไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2019
  • วันนี้ เราอยากชวนทุกคนไปเช็กอิน 6 จุดอาร์ตตามเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งในแกลเลอรีศิลปะ ห้างสรรพสินค้า และสถานที่ outdoor ซึ่งเราพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถไปตามรอยได้ภายใน 1 วัน

เกือบครึ่งเดือนแล้ว นับตั้งแต่งาน Bangkok Art Biennale เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปในวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา เราเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มคุ้นหูคุ้นตากับชื่อเทศกาล เห็นภาพงานศิลปะจากศิลปินนานาชาติกว่า 70 ชีวิตผ่านสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดียของผองเพื่อนที่เช็กอินกันใน 20 จุดแสดงงานทั่วกรุงเทพฯ กันไปบ้างแล้ว

ก่อนหน้านี้ เราเคยแนะนำแลนด์มาร์กสำหรับชมงานศิลปะริมแม่น้ำเจ้าพระยา จาก Bangkok Art Biennale 2018 แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง และเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากกว่าทางเรือ รู้ไหมว่าจุดแสดงงานหลายแห่งอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ดีไม่ดีจะตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าที่หลายคนคุ้นเคยดีเสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงมาชวนทุกคนออกไปดูงานอาร์ตตามแนวรถไฟฟ้าด้วยกัน

พร้อมแล้วก็ขึ้นบันไดเลื่อนตามมาเลย


01 BTS พร้อมพงษ์

ออกจากสถานีพร้อมพงษ์ด้วยทางออกที่ 1 ได้เลย เพื่อเดินไปดูงานศิลปะที่จัดแสดงอยู่ที่ห้าง ดิ เอ็มควอเทียร์ คำแนะนำคืออาจต้องรีบมาดูสักหน่อย เพราะงานที่นี่มีช่วงเวลาจัดแสดงค่อนข้างจำกัด โดยช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีงานของ Choi Jeong Hwa ชุด Happy Happy Project ให้ดู ส่วนในวันที่ 1 – 7 พฤศจิกายน ถ้าเดินไปยังชั้น G บริเวณน้ำตกก็จะพบกับงานชุด Equilibrium โดยศิลปินและภูมิสถาปนิกหญิง สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ และแว่วๆ ว่าต่อไปอาจมีการฉายผลงานภาพถ่ายและวิดีโอบนตัวอาคาร The Glass Quartier ใครอยากรู้ต้องรอติดตามกันต่อไปนะ

งาน Equilibrium ตอนจัดแสดงที่ประเทศเกาหลีใต้


02 BTS เพลินจิต

นั่งรถไฟฟ้าต่อมาอีกแค่ 3 สถานีแล้วเดินไปเซ็นทรัล เอ็มบาสซี กันต่อ ในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน – 13 มกราคม เราจะได้พบกับ Fruits Tree ผลงานเป่าลมชิ้นโตของศิลปินเกาหลี Choi Jeong Hwa อยู่ที่ลานด้านหน้าบริเวณหัวมุมถนนวิทยุกับพระราม 1 คอยทักทายทุกคนด้วยสีสันสดใส

เมื่อเดินตามถนนวิทยุมาเรื่อยๆ เราจะเจอกับบ้านปาร์คนายเลิศ ที่ด้านในสวนมีประติมากรรม Miss Forest / Thinker ของ Yoshitomo Nara ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาของต้นก้ามปูขนาดใหญ่ ส่วนในสระน้ำบริเวณข้างเคียงมีดอกไม้เป่าลมสีชมพูขนาดใหญ่ Breathing Flower จากโปรเจกต์ Happy Happy Project ของ Choi Jeong Hwa ซึ่งหากเดินลึกเข้าไปในสวนก็จะเจองานอีกชิ้นของเขาตั้งอยู่เช่นกัน


03 BTS ชิดลม

ถัดมาอีกแค่สถานีเดียว เราอยากชวนออกจากสถานีด้วยทางออก 6 แล้วเดินทางเชื่อมต่อไปยังเซ็นทรัลเวิลด์ ผลงานบางส่วนที่นี่จะฉายบนจอ the panOramix บริเวณภายนอกอาคาร อย่างงานของ ตั้ม–วิศุทธิ์ พรนิมิตร เจ้าของผลงานมะม่วงจัง, ศิลปินหญิงชาวไทย กวิตา วัฒนะชยังกูร และศิลปินสัญชาติรัสเซีย AES+F ถ้าอยากเห็นงานแบบชัดๆ เราแนะนำให้เดินไปดูบนสกายวอล์กหน้าเกษรพลาซ่าที่ทอดยาวไปยังฝั่งประตูน้ำ เพราะอยู่ตรงข้ามกับเซ็นทรัลเวิลด์แบบพอดิบพอดี

ส่วนในตัวห้างเองก็มีทีเด็ดที่ห้ามพลาด นั่นคือผลงาน 14 Pumpkins ฟักทองลายจุดของ Yayoi Kusama ศิลปินที่เปลี่ยนความกลัวจุดให้เป็นงานศิลปะ แขวนอยู่เหนือลาน Beacon 3 ให้ได้ชมเพลินๆ ตอนขึ้นบันไดเลื่อน และ Flower Power ผลงานการสร้างภาพจากเครื่องสแกนของ Angki ศิลปินชาวอินโดนีเซียที่แสดงอยู่บริเวณ Groove Gallery Walk โซน Groove นั่นเอง


04 BTS สยาม

เมื่อมาถึงสถานีสยาม เราแนะนำให้ออกจากสถานีด้วยทางออกที่ 3 และเดินเข้าสยามพารากอนผ่านทางลานน้ำพุ เพราะแค่ขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชั้น 1 แล้วเลี้ยวซ้ายไปที่โซน Fashion Gallery เราก็จะพบกับผลงาน 2 ชิ้นของ Yayoi Kusama อย่าง Pumpkin และ I Carry on Living with the Pumpkins ทันที

พร้อมไปต่อเมื่อไหร่ ก็ย้อนกลับมายังลานน้ำพุแล้วเดินต่อไปที่สยามเซ็นเตอร์กันได้เลย บริเวณชั้น G ของห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เดิมทีจัดแสดงผลงาน Love Me Pink Pig ของ Choi Jeong Hwa ถึงสองจุดด้วยกัน จุดหนึ่งเป็นหมูสีชมพูเป่าลมขนาดยักษ์ที่ปัจจุบันย้ายไปแสดงในสถานที่อื่นแล้ว ส่วนอีกจุดคือหมูสีชมพูขนาดเล็กที่ยืนล้อมกันเป็นวงกลม ซึ่งจะจัดแสดงที่นี่ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายนเท่านั้น ใครอยากดูน้องอย่ารอช้า

ดูงานที่สยามเซ็นเตอร์เสร็จแล้ว ลองเดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสยามดิสคัฟเวอรี่ ทันทีที่เปิดประตูเข้าไปก็จะเจอกับงานประติมากรรม Alchemy ของ Choi Jeong Hwa ที่มีพื้นผิวมันวาวสะท้อนเงา เป็นส่วนหนึ่งของ Happy Happy Project เช่นกัน กับผลงานนี้ เราแนะนำว่าอย่าเพิ่งรีบดู รีบไป แต่ให้เดินมองจากหลายๆ มุมก่อน ดูจนหนำใจเมื่อไหร่ก็ขึ้นบันไดเลื่อนมาที่ชั้น 2 แล้วเดินตามทางเชื่อมไปต่อที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกัน


05 BTS สนามกีฬาแห่งชาติ

ใครยังไม่เมื่อยขา เราอยากชวนเดินต่อข้ามสกายวอล์กมายังหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) แต่ถ้าหมดแรงก็สามารถขึ้นรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติได้เช่นกัน

ถ้าอยากดูงานให้ครบ เรากระซิบว่าให้เมินทางเชื่อมจากรถไฟฟ้าเข้าหอศิลปกรุงเทพฯ ไปซะ แล้วลงมาที่ลานด้านหน้า เพราะตรงนี้มีงาน installation art อยู่ถึง 3 ชิ้น นั่นคือ The Shelter ของ Marc Schmitz ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวเยอรมัน, ผีในเมือง ของ ศรชัย พงษ์ษา และ เรือแห่งความหวัง ของ จิตติมา ผลเสวก

ก้าวเข้ามาด้านในของหอศิลปกรุงเทพฯ เราจะเจอกับ Basket ผลงานใน Happy Happy Project ของ Choi Jeong Hwa ที่ทำจากตระกร้าสีสันสดใส และที่ตั้งอยู่ด้านหลังคือผลงาน The Settlement ของ Mark Justiniani ศิลปินฟิลิปปินส์ที่ทุกคนจะต้องเข้าไปในพื้นที่ขนาดเล็ก เราเองไม่อยากสปอยล์ว่าด้านในเป็นอย่างไร แต่เชียร์ให้ทุกคนลองเข้าไปเล่นกันสักครั้ง

เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 5 อย่าลืมแวะชมงาน Spiritual Spaceship ผลงานขนาดใหญ่ของ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข ก่อนจะขึ้นบันไดเลื่อนไปยังชั้น 7 เมื่อมาถึง เราก็จะเจอกับ Genetic Manipulation ของศิลปินอินโดนีเซีย Heri Dono ที่มีสวิตช์ให้กดบริเวณกำแพงด้านข้าง เดินต่อไปยังด้านใน มีชุดภาพถ่ายและวิดีโอของ Anneè Olofsson ศิลปินชาวสวีเดน ส่วนในห้องดำใกล้ๆ เป็นผลงาน Forest Floor ของ Fiona Hall ที่ใช้สีน้ำมันเขียนลงบนแก้ว

สองฝั่งทางเดิน เป็นผลงานภาพถ่ายจาก Gauri Gill ศิลปินอินเดียที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านที่ทำงานเปเปอร์มาเช่แบบท้องถิ่น ส่วนห้องทางขวาแสดงผลงานของ จุมพล อภิสุข ประกอบไปด้วยวิดีโอและผ้าปักมือที่เล่าเรื่องความฝันของหญิงสาวที่ทำงานบริการ บริเวณหน้าห้องมีผลงาน No More Sewing Machine ของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ ที่ทำขึ้นจากอะไหล่จักรเย็บผ้าและเส้นผมของพนักงานบริการ สุดปลายตาเป็นป้ายไฟเขียนคำว่า ‘Good Girls Go To Heaven, Bad Girls Go Everywhere’ ที่เป็นชื่อชิ้นงานจากศิลปินคนเดียวกัน

วนไปตามทาง เราเจอกับ Tape Bangkok โดยกลุ่มศิลปิน Numen For Use Design Collective ซึ่งเป็น installation art ขนาดใหญ่จากเทปกาวที่ก่อนหน้านี้เปิดให้ผู้ชมได้เข้าไปเล่นได้ เดินต่อไปเรื่อยๆ เราพบชุดภาพถ่าย National Road Number 5 ของศิลปินกัมพูชา Lim Sokchanlina บนกำแพงทางขวา และภาพถ่ายจากศิลปินไทย ดาว วาสิกศิริ บนกำแพงทางซ้าย ตรงกลางห้องเป็นชิ้นงาน สภาวะแห่งความทุกข์ ของ สุนันทา ผาสมวงค์ และในมุมห้อง เราเห็นงานผ้าขนาดใหญ่ The Check Point ของศิลปินชาวเมียนมา เง เลย์

บริเวณใกล้ๆ กัน มีห้องฉายผลงานวิดีโอ Tomorrowland ของ Yuan Goang-Ming ศิลปินไต้หวัน ห้องแสดงผลงานของกลุ่มศิลปินหญิง มุสลิมะห์ ที่ประกอบไปด้วยงานกระดาษ การถักทอ ภาพวาด การเย็บปัก ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความงามของผู้คนในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และห้องฉายวิดีโอ NUSANTARA: the seas will sing and the wind will carry us ของ Sherman Ong

รู้ตัวอีกที เราก็ออกมาอยู่หน้าทางลาดวนขึ้นชั้น 8 บริเวณนี้มีการแสดง Migrational Craving [Exodus 1=1 bMt] ผลงานประติมากรรมแว่นเหล็กและภาพถ่ายโดยศิลปินชาวบังคลาเทศ Firoz Mahmud และที่ห้อยมาจากเพดาน มีลักษณะคล้ายธง คือผลงาน The Outlaw’s Flag ของ จักกาย ศิริบุตร

บริเวณชั้น 8 เป็นผลงานที่มีชื่อว่า A Possible Island? ทางฝั่งหนึ่งจะเป็นงานการแสดงแบบต่อเนื่องจาก 8 ศิลปินกลุ่ม MAI (Marina Abramovic Institute) ทำการแสดงทุกวันอังคาร-อาทิตย์ ในเวลา 12:00-20:00 น. ตั้งแต่ 18 ตุลาคม – 11 พฤศจิกายน สร้างประสบการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งศิลปินและผู้ชม ส่วนอีกฝั่งเป็น The Abramovic Method ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีมารีนา ข้างในสองห้องนี้ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป และเราก็จะไม่บอกหรอกว่าประสบการณ์ของเราเป็นยังไง เพราะอยากให้ทุกคนมาลองสัมผัสด้วยตัวเองกันมากกว่า

ก่อนจะออกมา เราขอชวนให้ทุกคนขึ้นทางลาดไปชั้น 9 สักครึ่งหนึ่งแล้วมองย้อนกลับมา จะเห็นงาน LIMBO ของ Marc Schmitz ที่ทำจากหลอดไฟนีออนอยู่บนผนังฝั่งขวาด้วยล่ะ


06 MRT ลุมพินี

แม้จะห่างจากสถานีอื่นๆ ออกมาสักหน่อย แต่มีงานศิลปะให้ชมกันจุใจ เพราะแค่ออกจากสถานีด้วยทางออก 3 แล้วเดินเลี้ยวขวามาตามถนนวิทยุ ก็จะเจอกับ BAB BOX หนึ่งในที่จัดแสดงงานที่มีชิ้นงานมากที่สุด โดยสิ่งแรกที่สะดุดตาเมื่อเราเปิดประตูเข้าไป คือเจ้าหมูสีชมพูขนาดใหญ่ Love Me Pink Pig หนึ่งใน Happy Happy Project ของ Choi Jeong Hwa ส่วนบริเวณติดๆ กัน ก็มีงาน Animal Kingdom ของ CANAN ศิลปินชาวตุรกีตั้งอยู่
   

เดินขึ้นไปที่ชั้นสอง เราพบกับชุดผลงานภาพวาดของ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ อยู่ทางขวามือ ส่วนทางซ้ายมือเป็นผลงาน สินไซเดินดง ที่ใช้สีสันสดใสแต่งแต้มผนังจนเต็มจากศิลปินฮูปแต้ม ลาว-ไทย เมื่อเดินต่อก็พบกับงาน Standing Structures for Human Use จาก Marina Abramovic ที่ชวนให้คนชมงานเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงานด้วยการใส่หูฟังปิดกั้นเสียงจากภายนอก

หลังจากที่อยู่กับงานของ Marina ได้สักพัก เราก็เปิดผ้าม่านเข้าไปในห้องที่มีจอพาโนรามาเต็มผนังที่กำลังฉาย Inverso Mundus ของ AES+F บอกเลยว่าใครเป็นแฟนงานเซอร์เรียลขอให้เตรียมเวลามาเยอะๆ เพราะจะต้องหลงรักชิ้นนี้อย่างแน่นอน

ดูจนจุใจแล้วก็ไปชมภาพวาดของ นที อุตฤทธิ์ ที่วาดลงบนบานพับ และเข้าไปในห้องแสดงงานภาพวาดเงาของ Francesco Clemente ซึ่งภาพตรงกลางห้องเป็นผลงานร่วมกันระหว่าง Jean-Michel Basquiat, Francesco Clemente และ Andy Warhol ใน ค.ศ. 1984 ที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ อีกด้วยนะ

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย