จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ ‘cofacts’ แชตบอตจากไต้หวันผู้อาสาตรวจข่าวปลอมในกรุ๊ป LINE ให้ทุกครอบครัว

Highlights

  • cofacts คือแชตบอตแบบ Open Source สัญชาติไต้หวันที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการรู้ไม่เท่าทันสื่อของคนไต้หวัน
  • เช่นเดียวกับบ้านเรา พวกเขามีกรุ๊ป LINE ครอบครัวที่ส่งต่อข่าวปลอมกันทุกวัน cofacts จึงเข้ามาช่วยตรวจสอบและแนะนำข้อมูลที่ถูกต้องให้ เพียงแค่คุณเพิ่มเพื่อน ส่งต่อข้อความที่คิดว่าเป็นข่าวปลอมให้แชตบอต จากนั้นรอรับข้อความตอบกลับจากผู้แนะนำในระบบได้เลย
  • ความพิเศษคือ ผู้แนะนำหลายคนสามารถเสนอความคิดเห็นหลายๆ อันให้ผู้ใช้ได้ ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกเชื่ออันไหน
  • Johnson Liang คือชายผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างแชตบอตนี้ เขาสร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร แชตบอตสร้างความเปลี่ยนแปลงแค่ไหนในประเทศไต้หวัน บทสนทนาด้านล่างมีคำตอบ

cofacts เช้าวันที่ฉันมีนัดสัมภาษณ์เขา กลุ่ม Line ครอบครัวก็ส่งภาพสวัสดีวันจันทร์มาให้ตามปกติ

ฉันจำไม่ได้แล้วว่าครั้งสุดท้ายที่กดเข้าไปอ่านไลน์ครอบครัวคือเมื่อไหร่ ฟังดูเป็นลูกหลานที่แย่มากใช่ไหม ฉันขอยอมรับโดยไร้ข้อแก้ตัว แต่พูดก็พูดเถอะ ทุกครั้งที่มีข้อความเด้งขึ้นมา ฉันมักเห็นการอัพเดตที่ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวของครอบครัว แต่เป็นคอนเทนต์ทั่วไปที่มักขึ้นต้นด้วยเฮดไลน์ฟาดๆ จำพวกรู้หรือไม่ (เกร็ดความรู้ทั่วไป), แจ้งเตือนภัย (ซึ่งไร้ที่มาของข่าว), สูตรรักษาโรค (ที่ไม่รู้ว่าใช้ได้จริงไหม) หรือข่าวนาซ่าค้นพบดาวดวงใหม่ ซึ่งอาจเป็นภัยต่อคนทั้งโลก เริ่มตุนอาหารตั้งแต่วันนี้เลยนะ! (…)

อย่าเข้าใจผิด ฉันชื่นชมความอยากส่งต่อสิ่งดีๆ ของคนในครอบครัวนะ แต่คอนเทนต์ส่วนมากคือคอนเทนต์จำพวกที่ดูแค่ชื่อก็คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นข่าวปลอม บางอันก็มาจากฟอร์เวิร์ดเมลเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บางครั้งที่ฉันเห็นและรู้ว่ามันไม่จริง ฉันก็เข้าไปพิมพ์บอกว่าเรื่องนี้เชื่อไม่ได้นะ

และสารภาพตามตรงว่าบางทีฉันก็ปล่อยผ่านเพราะไม่แน่ใจ บางข่าวนี่แม้แต่ตัวเองก็ยังแอบคล้อยตาม ก็เฮดไลน์กับเนื้อหามันน่าเชื่อถือเสียขนาดนั้น

ถ้าจะมีตัวช่วยกรองข่าวพวกนี้ กรุ๊ปครอบครัวของฉันคงเฮลตี้ขึ้นเยอะ

ฉันเพิ่งรู้เมื่อไม่นานมานี้ว่าไต้หวันนั้นเป็นประเทศที่มีสถานการณ์ทาง LINE คล้ายกับเรา กล่าวคือ ทุกคนที่เล่น LINE มักมีกลุ่มแชตที่สมาชิกในกลุ่มส่งข่าวปลอมให้กัน และส่วนมากมักเป็นกลุ่มไลน์ครอบครัวด้วย

การตื่นตัวเรื่องนี้ทำให้เกิดการขอระดมทุนเพื่อสร้างแชตบอตที่ช่วยตรวจสอบข่าวปลอมขึ้นมานามว่า cofacts

cofacts ย่อมาจาก Collaborative Fact-Checking หรือแชตบอตที่ ‘ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง’ ของสิ่งที่ถูกส่งต่อใน LINE วิธีการใช้ก็ง่ายแสนง่าย เพียงคุณเพิ่มแชตบอตตัวนี้เหมือนเพิ่มเพื่อนคนหนึ่ง เมื่อได้รับลิงก์ข่าวที่สงสัยว่าเป็นข่าวปลอม คุณก็ส่งต่อลิงก์นั้นให้เพื่อนคนนี้ ซึ่งระบบหลังบ้านจะมีอาสาสมัคร Editors (ในที่นี้ขอใช้คำว่า ผู้แนะนำ) ช่วยตรวจสอบข้อมูลแล้วตอบกลับมาหาคุณ

จริงหรือมั่ว ชัวร์หรือไม่ คำตอบอาจเป็นไปได้หลากหลาย และแชตบอตจะไม่ฟันธง ผู้แนะนำคนแรกอาจตอบคุณว่าข่าวนี้จริงพร้อมแปะลิงก์ข่าวจากสำนักหนึ่ง ในขณะคนที่สองอาจตอบว่าจ้อจี้ พร้อมแนบหลักฐานบลัฟคนแรกว่าลิงก์นั้นมาจากสำนักข่าวปลอม และเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น

มีตัวเลือกแนะนำให้ แต่การตัดสินใจเป็นของเราเอง นี่แหละคือเสน่ห์ของ cofacts

และนี่แหละคือเหตุผลที่ฉันนัดสัมภาษณ์เขา Johnson Liang ผู้เป็นแกนนำก่อตั้งแชตบอตตัวนี้


สวัสดีวันจันทร์

สวัสดีครับ

 

ในไต้หวัน ข่าวปลอมแบบไหนที่ถูกส่งต่อเยอะมากที่สุด

ส่วนมากเป็นข้อความคำแนะนำเรื่องสุขภาพ หรือข้อความประเภทแจกสินค้าฟรีที่กลายเป็นข่าวปลอม หรือในช่วงก่อนเลือกตั้งประมาณ 2-3 เดือน จะมีข่าวจำพวกเกี่ยวกับการเมืองด้วยเช่นกัน จุดร่วมของข้อความพวกนี้คือมันดูเหมือนไม่มีอันตราย ทำให้เราตัดสินใจส่งต่อให้เพื่อนได้ง่ายๆ เลย

 

ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คุณและคนไต้หวันสนใจเรื่องข่าวปลอม

คนไต้หวันสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตั้งแต่ยุคอินเทอร์เน็ตแรกเริ่ม ดังนั้นเราจึงคุ้นเคยกับการเห็นข่าวปลอมหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากฟอร์เวิร์ดเมลกันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มการรับ-ส่งข้อความที่เปลี่ยนไป คนที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตก็เข้ามาใช้กันมากขึ้น ผู้ที่ไม่มีความรู้เท่าทันสื่อส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ก็เริ่มต้นสำรวจโลกอินเทอร์เน็ตด้วยการรับ-ส่งข้อความในแอพพลิเคชั่น LINE และเริ่มส่งต่อข่าวปลอมให้กัน ซึ่งข่าวปลอมนั้นอาจเป็นฟอร์เวิร์ดเมลเมื่อสิบปีที่แล้วแต่กลับมาแพร่กระจายเพราะกลุ่มคนที่ไม่เคยใช้อินเทอร์เน็ตเหล่านี้


สำหรับคุณ การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องนั้นสำคัญแค่ไหน

จุดประสงค์ที่แท้จริงของแชตบอตไม่ใช่เพื่อการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แต่เป็นการเชื่อมโยงความคิดเห็นที่แตกต่างมารวมกันมากกว่า มันเกิดจากการที่กลุ่มคนที่รู้ไม่เท่าทันสื่อนั้นไม่รู้วิธีการค้นหาข้อมูลด้วยเสิร์ชเอนจิ้น พวกเขารับรู้ความจริงของข่าวที่ส่งต่อกันมาเพียงด้านเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือรวบรวมความคิดเห็นและมุมมองที่หลากหลายจาก editors หรือผู้แนะนำหลายๆ คน ซึ่งทุกคนสามารถแสดงความเห็นว่าข่าวนี้จริงหรือปลอมได้ พร้อมแนบรายงานหรือหลักฐานประกอบการแนะนำของตัวเอง

 

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณเริ่มต้น cofacts

ผมได้รับข่าวปลอมในไลน์บ่อยมาก บางครั้งมาจากคนในครอบครัว แต่ที่บ่อยที่สุดคือกรุ๊ป LINE ของกรุ๊ปทัวร์ที่ผมเคยไปเที่ยวด้วย ผมพบว่ามันใช้พลังสูงมากในการค้นหาข้อมูลที่ถูกต้องให้พวกเขาและตอบกลับไปในทุกๆ ครั้ง

ข้อความส่วนมากมาจากคนที่เพิ่งเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ๆ แตกต่างจากคนที่เคยส่งอีเมล เห็นฟอร์เวิร์ดเมลมาก่อน พวกเขาเชื่อในข้อมูลง่ายเพราะยังไม่มีภูมิต้านทานในเรื่องพวกนี้ พวกเขาเรียนรู้ที่จะเล่น LINE ก่อนเรียนรู้ที่จะค้นหาข้อมูลในกูเกิลเสียอีก

ผมจึงคิดว่า ถ้าสามารถสร้างแชตบอตที่หาข้อมูลและตอบพวกเขาได้โดยอัตโนมัติล่ะ แม้พวกเขาใช้กูเกิลไม่เป็น แต่พวกเขาส่งต่อข้อความเป็น แมตช์กันเลยทีนี้ ตอนนั้นแหละที่ผมปิ๊งไอเดียที่จะสร้างแชตบอตตอบกลับข้อความแบบตัวต่อตัวกับผู้ใช้ในหลายๆ มุมมอง


แชตบอตตัวนี้ทำงานอย่างไร

เกริ่นก่อนว่า ผมปิ๊งไอเดียที่จะทำแชตบอตเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อความในไลน์เมื่อปี 2016 หลังจากนั้นเราก็เปิดตัวโปรเจกต์นี้ในโครงการ g0v hackathon ไป ในช่วงแรกนั้น เราออกแบบระบบการทำงานของแชตบอตให้สามารถค้นหาข้อมูลในกูเกิลจากบางส่วนของข้อความนั้นโดยอัตโนมัติ บอตจะดึงข้อความมาโดยใช้คีย์เวิร์ดอื่นๆ ประกอบ เช่น ข่าวลือ ข่าวปลอม แฉ จากนั้นก็ค้นหาด้วยข้อความเหล่านี้ในกูเกิล แต่เราค้นพบว่าวิธีนี้ไม่เวิร์กเลย ส่วนใหญ่ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นลิงก์ของข่าวปลอมนั้นเอง เราจึงตัดสินใจว่าจะเปิดระดมทุนตั้งแต่นั้น

เดือนมีนาคมปี 2017 เราสร้างเว็บไซต์ cofacts.g0v.tw ขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ฐานข้อมูล ‘ข่าวลือ’ ร่วมกัน ฐานข้อมูลนี้เก็บรวบรวมข้อความทั้งหมดที่ผู้ใช้ทุกคนส่งต่อมาให้แชตบอตของเรา บนเว็บไซต์จะโชว์ลิสต์ของข้อความเหล่านั้น ซึ่งข้อความเดิมที่เคยส่งเข้ามาจะสามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อีก

2 ปีที่ผ่านมา เรามีผู้ใช้ราวๆ 110,000 คนแล้ว ในทุกวันมีข้อความใหม่ถูกส่งเข้ามาประมาณ 15-20 ข้อความ และมีข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลประมาณ 29,000 ข้อความ

 

ในมุมของผู้ใช้ล่ะ เราจะสามารถใช้มันได้อย่างไร

แค่คุณเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE และเมื่อเห็นข่าวปลอมถูกส่งต่อมาให้ในกรุ๊ปหรือแชตส่วนตัว คุณก็สามารถส่งต่อข่าวนั้นมาให้เราได้ในทันที เราไม่ได้มีเวลาที่แน่นอนในการตอบกลับนะ แต่จากการสังเกตของผม หากข้อความนั้นถูกส่งต่อมาจากผู้ใช้หลายๆ คน พวกเขาจะได้รับการตอบกลับภายใน 1-2 วัน (เว้นแต่ว่าเป็นข้อความหรือข่าวปลอมที่ยากต่อการตอบกลับ เช่น ความคิดเห็นทางการเมือง)

สำหรับข้อความที่ไม่ ‘ป๊อปปูลาร์’ นัก มักใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์หรืออาจจะเป็นเดือน หรืออาจโดนผู้แนะนำทุกคนลืมมันไปเลย (หัวเราะ) นอกจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อความนั้นถูกบอตค้นหาในฐานข้อมูล หรือรับจากผู้ใช้มาบ่อยแค่ไหนด้วย

cofacts

cofacts


ในเมื่อมีผู้แนะนำ (
editors) หลายคน คุณควบคุมคุณภาพของการตรวจสอบข่าวปลอมยังไง

เราไม่สามารถควบคุมคุณภาพของการตรวจสอบโดยผู้แนะนำได้หรอก ยังไงก็ตาม เราอนุญาตให้ 1 ข้อความมีผู้แนะนำได้หลายคน เพราะฉะนั้น หากผู้แนะนำคนใหม่พบว่าการตอบกลับล่าสุดนั้นไม่อัพเดต หรือไม่มีประสิทธิภาพอีกแล้ว พวกเขาสามารถสร้างการตอบกลับใหม่ของตัวเองได้

ผู้ใช้จะได้รับการตอบกลับทั้งหมดนั่นแหละ อยู่ที่เขาแล้วว่าจะเลือกเชื่อข้อความตอบกลับอันไหน

 

สมมติว่าเราส่งข่าวปลอมข่าวหนึ่งไปให้แชตบอตตรวจสอบ และอีก 3 ปีผ่านไป เราส่งข่าวเดิมไปให้คุณอีกครั้ง แสดงว่าข่าวนี้มีสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบใหม่ได้ ถูกไห

ถูกต้องเลย เมื่อคุณส่งต่อข้อความมาให้เรา ข้อความจะถูกเก็บในระบบตลอดไป ไม่ว่าข้อความนั้นจะถูกเรียกกลับมาใช้กี่ครั้งก็ตาม มันจะตอบกลับด้วยข้อความตอบกลับของผู้แนะนำทุกคน ผมคิดว่ามันเป็นระบบจัดการข้อมูลที่ดีนะ

cofacts


ถึงตอนนี้ มีอะไรที่คุณคิดว่า
ต้องพัฒนาอีกไหม

เยอะเลยล่ะ เรามีลิสต์สิ่งที่ต้องพัฒนาสำหรับแชตบอตของเราตามมาอีกเป็นพรวนเลย เราอยากมีระบบที่จูงใจผู้แนะนำ (editors) ให้เข้ามาช่วยระบบมากกว่านี้ อย่างตอนนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าข้อความตอบกลับของเขาเป็นประโยชน์ต่อคนมากน้อยแค่ไหน เราอยากทำระบบแจ้งเตือนว่า เฮ้ ข้อความตอบกลับของคุณถูกอ่านเมื่อ 2 วันที่แล้วนะ และมันเป็นประโยชน์กับคนตั้ง 76 คนแน่ะ คุณสร้างประโยชน์ต่อคนอื่นนะ เพื่อให้กำลังใจเขา และเพื่อให้เขากลับมาเป็นอาสาสมัครอีก เราอยากทำระบบแบบนี้ครับ

 

รัฐบาลไต้หวันมีส่วนร่วมในการสร้างแชตบอตนี้บ้างไหม

ผมคิดว่ามันจะดีกว่านะถ้าโปรเจกต์นี้ถูกควบคุมโดยใครก็ตามที่ไม่ใช่รัฐบาล เพราะผู้คนในไต้หวันต้องการอิสระทางการพูด ความคิด แม้กระทั่งการแชต ถ้ารัฐบาลเข้ามาควบคุมการสร้างแพลตฟอร์มแบบนี้ คนจะคิดว่า เฮ้ นี่ควบคุมกันนี่หว่า มันจะดีกว่าถ้าโปรเจกต์แบบนี้เริ่มต้นจากประชาชนทั่วไป เหมือนคุณกับผม

ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดข่าวลือขึ้น แล้วผู้แนะนำของเราจะตอบกลับกับผู้ใช้ในเรื่องนี้ได้เร็วเช่นกัน มันเหมือนกับความคิดเห็นของรัฐบาลคือหนึ่งในความคิดเห็นที่ใช้ตอบกลับผู้ใช้ของเรานั่นเอง

cofacts

cofacts ช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ยังไง

ผมคิดว่าแชตบอตตัวนี้เป็นเหมือนกลุ่มสนับสนุนผู้ที่เผชิญปัญหาเรื่องการรู้เท่าทันสื่อนะ ไม่เคยมีเทคโนโลยีไหนที่จะตอบผู้ใช้ตรงๆ แบบนี้ได้ ถ้าผู้คนยังสับสน งุนงงกับการแยกข่าวจริงข่าวปลอม สังคมจะก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้เลย ผมคิดว่าการสร้างเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือผู้คน บอกพวกเขาว่า ‘พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว’ นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยดูแลสังคมร่วมกัน และพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กันโดยปราศจากความสับสนจากข่าวปลอม

 

ในประเทศไทย เราก็ใช้ LINE และประสบปัญหาการส่งต่อข่าวปลอมจากครอบครัวหรือเพื่อนในแบบเดียวกับคุณ แนะนำเราหน่อยสิว่าเราควรเริ่มแก้ไขปัญหาจากตรงไหน

สร้าง cofacts เวอร์ชั่นไทยดีไหม (หัวเราะ) เพราะจริงๆ แล้วเราเป็น open source ที่เปิดให้ทุกคนที่สนใจสามารถนำโค้ดของแชตบอตเราไปดัดแปลงต่อได้นะ แต่ก่อนหน้านี้ผมได้ข่าวมาว่าในไทยก็มีสำนักข่าวที่พยายามสร้างระบบดักจับข่าวปลอมอยู่แล้วใช่ไหม ผมว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเลยนะ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก