อธิษว์ ศรสงคราม : ศิลปินหนุ่มผู้ไม่เชื่อว่าภาพถ่ายคือความจริงเสมอไป

ถ้าเอ่ยชื่อ อธิษว์ ศรสงคราม หลายคนอาจยังไม่คุ้นหู
แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปในยุคที่วงการดนตรีของไทยเพิ่งเริ่มตั้งไข่
เขาคือมือฟลุตและคีย์บอร์ดของวงดนตรีฟังสบายอย่าง Armchair จนเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘อ้วน
Armchair’ ก่อนที่เขาจะลาออกแล้วบินไปศึกษาต่อด้านศิลปะการถ่ายภาพอย่างจริงจังที่
Kunstakademie Düsseldorf สถาบันศิลปะที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเมือง Düsseldorf ประเทศเยอรมนี เมื่อ 10
ปีที่แล้ว

หลังรู้ข่าวว่าอ้วนกลับมาปักหลักที่เมืองไทยเมื่อ
3 – 4 เดือนก่อน และกำลังจะมีนิทรรศการของตัวเองในชื่อ ‘Mind the Monsoon’ ส่วนหนึ่งของโครงการศิลปกรรมแบรนด์นิว
2016 (Brandnew 2016 Art Project) ที่ปีนี้ได้อังกฤษ
อัจฉริยโสภณ มาเป็นภัณฑารักษ์รับเชิญคัดเลือกศิลปิน ความน่าสนใจของงานนี้ไม่ใช่แค่เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของอ้วนเท่านั้น
(ที่เยอรมนีเขาเคยจัดแต่นิทรรศการกลุ่มและคู่ร่วมกับเพื่อนศิลปิน)
ซึ่งพอได้นั่งลงคุยกับเขา
เราถึงได้อีกคำอธิบายหนึ่งเกี่ยวกับปรากฏการณ์เรื่องความจริงของภาพถ่ายในมุมที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย

“งานนี้เริ่มทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่
3 – 4 ปีก่อน เราคิดถึงขอบเขตของภาพถ่ายในเชิงกายภาพว่าจริงๆ แล้วมิติมันสิ้นสุดที่ตรงไหน
ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง เราเห็นภาพถ่ายเป็นแค่วัตถุหนึ่ง วิธีการคือเอาภาพถ่ายมาทำเทคนิคอะไรสักอย่างกับมัน
แล้วถ่ายรูปซ้ำอีกที เป็นงานที่ใช้คอนเซปต์ครึ่งหนึ่ง และความสวยงามอีกครึ่งหนึ่ง
ถ้าคนดูแล้วไม่เข้าใจคอนเซปต์ก็ยังได้สนุกหรือเก็บความรู้สึกบางอย่างกลับไป แต่ถ้าใครมายืนมองงานไปเรื่อยๆ
สังเกตภาพส่วนต่างๆ จะเห็นสิ่งที่เราบอกใบ้อยู่ และเกิดคำถามว่าภาพนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง”
อ้วนค่อยๆ เล่าให้ฟังถึงชิ้นงานที่ติดอยู่บนกำแพงสีขาวในพื้นที่ของ Gallery VER ที่มีบางภาพสะดุดตาเราเหมือนกันแม้จะมองครั้งแรกแล้วยังเข้าใจไม่หมด

คล้ายจะอ่านความคิดเราออก อ้วนเลยพาเดินชมนิทรรศการและยกตัวอย่างงานบางชิ้น
อย่างภาพมุมสี่เหลี่ยมที่ซ้อนทับกันหลายชั้น เกิดจากการถ่ายเอกสารกระดาษเอสี่ซ้ำๆ จนเกิดเป็นเงาสีดำ
พิมพ์ออกมา นำกระดาษอีกแผ่นซ้อนและถ่ายเอกสารซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อชี้ให้เห็นการผลิตซ้ำ
(reproduction)
ของภาพถ่าย หรือภาพที่มองดูเผินๆ อาจคิดว่าอ้วนแค่ถ่ายรูปสระว่ายน้ำจากมุมสูง แต่จริงๆ
แล้วเกิดจากการถ่ายภาพกระดาษรูปสระน้ำแล้วอาศัยเงาของต้นไม้ที่กระทบลงมาแค่นั้นเอง

“แต่ละภาพ เราค่อยๆ ทดลองเทคนิคต่างๆ
ลองเปียกน้ำไหม หรือลองพับ แต่ละเทคนิคไม่ได้มีความหมายอะไรหรอก เราแค่ลองดู”
อ้วนบอกว่าการเล่นกับประเด็นความจริงไม่จริงของภาพถ่าย การจัดสร้างภาพถ่ายไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่ศิลปินคนไหนไม่เคยทำ
แต่ความตั้งใจของอ้วนที่อยากเล่นกับหัวข้อนี้ซ้ำ เกิดจากเขาตั้งเป้าหมายว่าอยากให้คนดูเห็นภาพถ่ายเป็นแค่พื้นผิวหนึ่งที่ไม่มีอะไรลึกไปกว่านั้น
มองให้เห็นเป็นกระดาษ กระจก หรือวัสดุที่เขาทดลองถ่ายมันออกมา ซึ่งหลายภาพ อ้วนก็ทิ้งจุดที่บอกใบ้ไว้ให้คนดูได้เห็น
ความสนุกของงานนี้เลยอยู่ที่ว่าเราจะมองออกไหมว่าแต่ละภาพถูกสร้างขึ้นมายังไง

“สำหรับเรา
ความจริงในภาพถ่ายหยุดไปตั้งแต่เราถ่ายภาพมันไว้แล้ว พอเราถ่ายภาพเสร็จ จะอัดออกมาหรือดูในคอมพิวเตอร์
มันคือโลกในตัวมันเองของภาพถ่ายแล้ว มันไม่เชื่อมโยงกับความจริงแล้ว
การที่เราถ่ายภาพโดยมีจุดมุ่งหมายว่าเป็นงานศิลปะ พอจับโมเมนต์นั้นเสร็จ
ความจริงก็หายไปหมดแล้ว” อ้วนอธิบายความคิดของเขาต่อประเด็นเรื่องความจริงของสื่อภาพถ่ายที่เราตั้งข้อสงสัย
“ภาพถ่ายเป็นสื่อที่ล้อเลียนความจริง มันเกี่ยวกับความจริงแหละ แต่เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันเป็นความจริง”

แล้วต่อจากนี้เวลาถ่ายภาพออกมา
เราควรมองมันยังไง เราสงสัยต่อ

“เราไม่ควรเชื่อภาพถ่ายที่เห็น
แต่ควรตั้งคำถามกับภาพถ่ายว่าจริงหรือไม่จริง เซ็ตหรือไม่เซ็ต ยิ่งยุคนี้มีโฟโต้ช็อปก็ยิ่งน่าสนใจว่าเราจะสามารถเชื่ออะไรได้บ้าง
และความจริงอยู่ตรงไหน”

คำตอบของอ้วนทำให้เรานึกถึงกรณีที่หญิงสาวคนหนึ่งตัดต่อภาพถ่ายตัวเองกับวิวสถานที่ท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งเป็นประเด็นดราม่าในโซเชียลมีเดียเมื่อสัปดาห์ก่อน
เขามองว่าสิ่งนี้สะท้อนปรากฏการณ์ที่คนเราเริ่มสนใจการปรับแต่งภาพถ่ายชัดเจนมากๆ “สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของทั้งคนดูและคนที่ทำรูปด้วยนะ
ว่าต้องการให้ภาพที่ถ่ายเป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการอยากนำเสนอ”

อ้วนยกตัวอย่างกรณีที่เคยมีปัญหาอย่างตอนประกวดภาพถ่าย
Nikon Singapore เมื่อภาพของผู้ชนะเลิศเกิดจากการตัดต่อภาพเครื่องบินเข้าไป
“เราไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาอะไรเลย ถ้าช่างภาพคนนั้นอยากให้ภาพเป็นแบบนั้น
ทำไมจะเป็นไม่ได้” อ้วนบอกทัศนคติของตัวเองซึ่งอ้วนบอกว่าตัวเขาอาจไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นช่างภาพ
แต่คือศิลปินที่ใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะมากกว่า

“เป้าหมายของเราไม่ใช่การบันทึกความจริง”
อ้วนย้ำ

นอกจากงานภาพถ่ายที่สะท้อนความจริงไม่จริง
อีกประเด็นที่อ้วนมักใส่ลงไปในผลงานคือการปล่อยสัญชาตญาณที่ผ่านมาในห้วงอารมณ์หรือที่เรียกว่างานซูพรีมาติสม์
(Suprematism) ซึ่งให้ความสำคัญกับความรู้สึกผู้ชมมากกว่าการบังคับจากศิลปินว่าต้องคิดอย่างนั้นอย่างนี้
ความชัดเจนในสไตล์เป็นผลผลิตจากการทำงานที่อ้วนทำซ้ำอย่างแน่นหนักมาเรื่อยๆ ตั้งคำถามและสังเกตเรียนรู้จากงานของศิลปินคนอื่นมามากมายจนคัดกรองได้ว่าตัวเองสนใจอะไร

“งานเราเปลี่ยนไปเยอะมาก
เราไม่อาจเรียกงานที่ทำในไทยตอนเด็กๆ ว่าเป็นงานศิลปะได้เลย
เพราะมันยังไม่มีกระบวนการคิด เราแค่ถ่ายรูปเล่น แต่จริงๆ
แล้วมันเป็นเหมือนสเกตช์น่ะ สิ่งที่ตลกคือภาพที่เราสแน็ปในตอนนั้นมันก็มีองค์ประกอบคล้ายๆ
กับงานในตอนนี้ของเรา แค่เรายังไม่ชัดเจนกับความคิดและประเด็นของภาพ
ถ้าเทียบกับงานชุดแรกๆ ตอนอยู่เยอรมนี ชุดนี้ก็เป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ต้องอธิบาย
ไม่ต้องพูดมาก แต่ใช้ความรู้สึกดูก็ได้ เราคิดว่างานศิลปะที่ดีควรทำให้ได้อย่างนั้น”
อ้วนตอบคำถามเราถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและได้มาจากการใช้ชีวิตอยู่ที่เยอรมนีกว่า 10
ปี
ก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาสร้างงานศิลปะที่บ้านเกิดพร้อมกับดูแลชีวิตส่วนอื่นของตัวเองไปด้วย

“อยู่นู่นเหมือนเข้าค่ายสร้างงานศิลปะ
ไม่ทำงานแล้วรู้สึกผิดน่ะ เรารู้สึกว่าถ้าอยู่ไทยน่าจะมีกิจกรรมอะไรทำเยอะกว่าที่นู่น มีครอบครัว มีเพื่อน และอย่างอื่นๆ
ที่ต้องรับผิดชอบ”

แวะไปใช้ความรู้สึกกับภาพถ่ายที่ไม่จริงของอ้วนในนิทรรศการ
‘Mind the Monsoon’ ที่
Gallery VER ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง
15 มกราคม 2560 แล้วค่อยหาบทสรุปอีกทีว่าภาพถ่ายที่เราเห็นกันในหน้าโซเชียลมีเดียทุกวันนี้มีความจริงประกอบมากน้อยแค่ไหนกัน

ภาพ ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

AUTHOR