365° นิทรรศการภาพถ่าย 365 ภาพที่เล่าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติภายใน 365 วัน

นิทรรศการ 365°

จากภาพวาดของศิลปินดังยุคเรอเนซอง​ซ์ถึงวันแรกที่มนุษย์เดินทางไปอวกาศ จากการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่ไปจนถึงวันที่งานศิลปะของ Banksy ถูกขายต่อในราคาถูกกว่าตลาดเกือบ 3,000 เท่า จากวันที่มนุษย์ตบเท้าเข้าสู่สงครามสู่วันที่การต่อสู้เกิดขึ้นแบบไม่เห็นหน้าผ่านฉากหน้าที่เรียกกันว่า ‘โลกออนไลน์’

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวที่ถูกรวบรวมไว้ใน 365° นิทรรศการภาพถ่ายที่ฉายความสำเร็จและล้มเหลวของมนุษยชาติผ่านไลต์บอกซ์จำนวน 365 กล่อง บรรจุเรื่องราวสำคัญ 365 เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โลก เรียงลำดับตามวันที่ในปฏิทิน

“ถึงภาพถ่ายจะถูกวางไว้แบบเรียงวัน แต่ผมว่านั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไหร่ ผมพูดเสมอว่าผู้เข้าชมสามารถเลือกลำดับการชมภาพตามประสบการณ์ของตัวเองได้ มันสนุกด้วยซ้ำที่จะได้รู้ว่าแต่ละคนรู้สึกดึงดูดกับภาพไหนแล้วค่อยหาคำตอบว่าภาพนั้นหมายถึงเหตุการณ์อะไร ทำไมมันถึงมีความเกี่ยวข้องกับวันนั้นๆ” Eugenio Recuenco ช่างภาพชาวสเปนและศิลปินเจ้าของแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการเล่าให้เราฟังด้วยสีหน้าตื่นเต้น ความสนุกอย่างหนึ่งของเขาคือการได้ถามผู้เข้าชมนิทรรศการว่าภาพเหตุการณ์ไหนที่ดึงดูดใจพวกเขามากที่สุด 

“คุณเชื่อไหม ผมแทบไม่เคยเจอคำตอบที่ซ้ำกันเลย ผู้ชมอายุน้อยรู้สึกประทับใจกับภาพถ่ายแบบหนึ่ง แต่สำหรับคนอายุมาก ภาพบางภาพเป็นมากกว่างานศิลปะเพราะมันบรรจุความทรงจำร่วมสมัย ผู้ชมบางท่านชอบภาพที่ทำให้นึกถึงศิลปินคนโปรด ในขณะที่บางคนรู้สึกผูกพันกับภาพเพราะมีประสบการณ์ร่วม”  

การนำเหตุการณ์จริงมาผสมจินตนาการเพื่อนำเสนอประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจในภาพถ่ายของรีเควนโก ศิลปินชาวสเปนผู้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักในวงการโฆษณา นอกจากจะถ่ายภาพให้นิตยสารดังอย่าง Vogue, Vanity Fair และ GQ แล้ว เขายังเคยร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Diesel, Mango และ Yves Saint Laurent 

แต่แล้วในช่วงหนึ่งของการทำงาน เขากลับรู้สึกเหนื่อยกับการผลิตภาพเพื่อการค้าเลยชวนทีมงานมาทำโปรเจกต์สนุกๆ เพื่อให้ทุกคนได้ปล่อยของกันอย่างเต็มที่ และนั่นคือที่มาของนิทรรศการครั้งนี้

รีเควนโกกล่าวว่า 365° เริ่มต้นจากความคิดเล็กๆ ประมาณ 18 ไอเดีย ส่วนเหตุที่เขาเลือกนำเสนอเรื่องราวผ่านการถ่ายภาพในไลต์บอกซ์เป็นเพราะเทคนิคนี้ทำให้ทีมงานทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นช่างจัดไฟ ทีมแต่งหน้า ไปจนถึงฝ่ายออกแบบเสื้อผ้าและจัดหานางแบบ 

“ตอนแรกผมคิดว่างานสนุกๆ ของเราจะกินเวลาแค่ปีครึ่งถึงสองปี แต่กลายเป็นว่าทุกคนสนุกกับมันมากจนเริ่มหาไอเดียไปเรื่อยๆ จาก 18 ภาพกลายเป็น 365 ภาพ เราเริ่มงานนี้เมื่อ 11 ปีก่อน ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มคิดภาพแรกจนถ่ายภาพสุดท้ายเป็นเวลาทั้งสิ้น 8 ปีเต็ม”

365°

เรื่องเล่าในเรื่องเล่า

รีเควนโคเล่าว่าความน่าสนใจอีกอย่างของงานนี้คือทั้งทีมได้ร่วมงานกันนานเกือบหนึ่งทศวรรษ ระหว่างนั้นโลกได้เจอกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งกระแสการใช้โซเชียลมีเดียและการใช้เทคโนโลยีเพื่อทำร้ายกันอย่างสงครามไซเบอร์ 

“สงครามและความขัดแย้งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานพอๆ กับมนุษยชาติ แต่สิ่งที่แตกต่างเมื่อเวลาผ่านไป คือสงครามในยุคก่อนมีความเป็นมนุษย์อยู่มาก อย่างน้อยเราก็รู้ว่าศัตรูของเราเป็นใคร ในขณะที่สงครามยุคใหม่มาในรูปแบบของการก่อการร้ายหรือสงครามไซเบอร์ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู” รีเควนโกกล่าว ด้วยความสนใจเช่นนี้ ในบรรดาภาพถ่าย 365 ภาพ เราจึงได้เห็นผลงานที่นำเสนอความขัดแย้งของมนุษย์หลายครั้ง

ที่น่าสนใจคือรีเควนโกไม่ได้หยิบเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเล่าเฉยๆ แต่เขาเองก็มีเรื่องที่อยากจะเล่าเช่นกัน

365°

หนึ่งในภาพถ่ายที่มีแนวคิดน่าสนใจคือภาพถ่ายประจำวันที่ 8 มีนาคม นำเสนอเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีภาพจำว่าเป็นการต่อสู้ของลูกผู้ชาย ผ่านภาพของหญิงสาวบนลูกบิลเลียดที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นระเบิด 

ที่เป็นเช่นนี้ ศิลปินเล่าให้ฟังว่าเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดเปลี่ยนบทบาทของสตรี ก่อนหน้านี้ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ต้องทำงานเลี้ยงลูกอยู่บ้าน แต่การเกิดขึ้นของสงครามใหญ่ทำให้ผู้ชายต้องเดินหน้าเข้าสนามรบ ทิ้งหน้าที่มากมายให้กลายเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิง สงครามโลกครั้งที่ 1 กินเวลายาวนานถึง 4 ปี จึงเปิดพื้นที่นานพอให้โลกได้เห็นความสามารถของผู้หญิง เช่นเดียวกับเหตุการณ์สำคัญพลิกโลกอย่างการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 ที่รีเควนโกกล่าวว่าเกิดขึ้นจากผู้หญิงเช่นกัน

ในวันที่ 8 มีนาคม กรรมกรหญิงจากโรงงานทอผ้าในเปโตรกราด (ปัจจุบันคือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย) ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องสิทธิที่เสมอภาค ต่อต้านสงครามและความหิวโหย ประชาชนและกรรมกรจากโรงงานอื่นๆ ขานรับและเข้าร่วมการชุมนุมจนกลายเป็นการปฏิวัติใหญ่ ส่งผลให้พระเจ้าซาร์สละราชสมบัติและรัสเซียสามารถถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สำเร็จ ประเทศจึงได้เดินเข้าสู่หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์เสียที หากแต่ผู้คนจำนวนมากไม่รู้ว่าเรื่องราวยิ่งใหญ่นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากผู้หญิง เพราะอย่างนี้รีเควนโกจึงเลือกนำเสนอภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในวันที่ 8 มีนาคมซึ่งตรงกับวันสตรีสากล เพื่อให้พื้นที่กับบทบาทที่มักถูกหลงลืมไปของสตรี

365°

นอกจากภาพถ่ายเกี่ยวกับสงคราม รีเควนโกยังเลือกนำเสนอเหตุการณ์ทางการเมืองอีกมาก ยกตัวอย่างเช่นภาพถ่ายประจำวันที่ 13-14 สิงหาคม บอกเล่าเรื่องราวการแบ่งโลกเป็นสองฝั่ง คือการสร้างกำแพงเบอร์ลินในชั่วข้ามคืนวันที่ 13 สิงหาคม 1961 กระทั่งเช้าของวันที่ 14 ชาวเบอร์ลินก็ต้องตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจเมื่อได้เห็นว่ากำแพงใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งเมืองออกเป็นสองฝั่ง กลายเป็นสัญลักษณ์ของสงครามเย็นที่จะกินเวลายืดเยื้อไปอีกกว่า 20 ปี

แม้ตัวเขาจะไม่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตในเบอร์ลินตะวันออก แต่หลายครั้งที่ภาพถ่ายของเขาได้รับข้อมูลน่าสนใจมาจากการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ “ผมอยากเล่าเหตุการณ์ใหญ่ผ่านเรื่องราวเรียบง่ายของบุคคลตัวเล็กๆ” 

365°
365°

รีเควนโกเลือกนำเสนอภาพกำแพงเบอร์ลินด้วยความตลกขบขัน ทางฝั่งเบอร์ลินตะวันออก ประชากรมากมายต่างให้ความสนใจกับความเป็นไปในโลกตะวันตก พวกเขาแอบมองโลกเสรีผ่านรอยแตกบนกำแพง บางคนถึงขั้นใช้บันไดเพื่อพยายามปีนข้ามไปอีกฝั่ง ส่วนทางฝั่งเบอร์ลินตะวันตก รีเควนโกเลือกนำเสนอประชากรของโลกเสรีผ่านภาพลักษณ์ของมาริลีน มอนโร ซึ่งเป็นไอคอนของความเป็นอเมริกัน ตัวเขายังได้สอดแทรกมุกตลกเล็กๆ อย่างการที่ตัวละครในฝั่งตะวันออกแอบสูบลมผ่านท่อน้ำเพื่อทำให้กระโปรงของมาริลีนเปิด 

“คนเบอร์ลินตะวันออกมีความคาดหวังบางอย่างเกี่ยวกับคนตะวันตก พวกเขาคิดว่าผู้หญิงในอีกฝั่งจะเป็นเหมือนมาริลีน มอนโร” รีเควนโกเฉลยเบื้องหลังแนวคิด ซึ่งเขาได้มาจากการพูดคุยกับผู้คน

365°

ปริศนาน่าหลงใหลในประวัติศาสตร์

ในบรรดาภาพถ่ายทั้ง 365 ภาพ ภาพที่ทำให้ช่างภาพหนุ่มลำบากใจมากที่สุดคือภาพประจำวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของ Jan van Eyck จิตรกรชื่อดังชาวดัตช์ ภาพวาดต้นแบบที่รีเควนโกตั้งใจนำมาถ่ายทอดมีชื่อเรียกในวงการศิลปะว่า ‘ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี (The Arnolfini Portrait)’ ส่วนเหตุผลที่เขาเลือกนำภาพนี้มาเล่าใหม่เป็นเพราะภาพนี้เป็นผลงานชิ้นเอกของยุโรปที่เต็มไปด้วยปริศนา

The Arnolfini Portrait ภาพต้นฉบับ

ปริศนาอย่างแรกคือเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนในภาพเป็นใคร มีข้อถกเถียงกันว่าฝ่ายชายอาจเป็นจิโอวานนี อาร์นอลฟีนี พ่อค้าผู้มั่งคั่งชาวอิตาลี ส่วนสตรีในภาพอาจเป็นคอสแตนซา เทรนทา ภรรยาคนแรกของเขา แต่อีกกระแสเถียงว่าไม่น่าใช่ ผู้ชายในภาพน่าจะเป็นแมคเคเลย์ อาร์นอลฟีนี น้องชายของจิโอวานนี ส่วนผู้หญิงในภาพอาจเป็นสตรีนิรนามต่างฐานะที่แมคเคเลย์ตัดสินใจแต่งงานด้วย

ฝ่ายที่เชื่อว่าภาพนี้เป็นของจิโอวานนีกับคอสแตนซาเสนอว่า สตรีในภาพสวมชุดสีเขียวทำจากผ้าขนสัตว์ซึ่งมีราคาแพงมากในขณะนั้น นอกจากนี้สีเขียวสดยังเป็นสีที่ย้อมยากเพราะต้องย้อมสีเหลืองก่อนแล้วจึงย้อมทับด้วยสีฟ้า ซึ่งจะเป็นสีฟ้าธรรมดาก็ไม่ได้ แต่ต้องเป็นสีฟ้าสดทำจากลาพิส ลาซูลี หินกึ่งอัญมณีที่นำเข้ามาจากอัฟกานิสถานเท่านั้น ด้วยความยากลำบากในการจัดทำเสื้อผ้าจึงเชื่อกันว่าผู้หญิงในภาพควรเป็นคอสแตนซาที่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวยมั่งคั่ง

ยังไงก็ดี ฝ่ายที่เชื่อว่าบุคคลในภาพควรจะเป็นแมคเคเลย์กล่าวแย้งเรื่องช่วงเวลาโดยเถียงว่า ภาพนี้วาดขึ้นหนึ่งปีหลังจากที่คอสแตนซาเสียชีวิตไป และเป็นปีที่แมคเคเลย์เข้าพิธีแต่งงานกับสาวปริศนาพอดี (คือปี 1434) ดังนั้นเหตุการณ์ในภาพน่าจะหมายถึงพิธีแต่งงาน เพราะมีการวาดมือของฝ่ายชายให้อยู่ในลักษณะของการให้คำสัตย์ บุคคลในภาพทั้งสองจับมือกันด้วยมือซ้าย ซึ่งการจับมือซ้ายอาจหมายถึงการแต่งงานต่างฐานันดร (morganatic marriage หรือ left-handed marriage) ตรงกับความจริงของแมคเคเลย์ที่มีการบันทึกว่าเจ้าสาวของเขามีฐานะทางสังคมไม่เท่าเทียมจึงไม่มีกระทั่งชื่อถูกบันทึกเป็นหลักฐาน 

นอกจากคำถามที่ว่าสองคนในภาพเป็นใคร อีกหนึ่งคำถามที่ไขไม่ได้คือสตรีในภาพกำลังท้องอยู่หรือไม่ ฝ่ายที่เชื่อว่าท้องบอกว่าส่วนท้องของฝ่ายหญิงถูกวาดให้มีขนาดใหญ่คล้ายกำลังตั้งครรภ์ ฝ่ายที่ไม่เชื่อแย้งว่าเป็นเพราะชุดมันหนักต่างหากทำให้เธอต้องยกปลายชุดขึ้นมาจนดูเหมือนท้อง เกี่ยวโยงกับค่านิยมในยุคนั้นที่นิยมตัดชุดให้ดูลำบากเพื่อเป็นการประกาศว่าสตรีในภาพร่ำรวยมากจนไม่ต้องลุกขึ้นหยิบจับอะไร

รีเควนโกคิดว่าคำถามพวกนี้น่าสนุกดีเลยอยากมีส่วนร่วมในการส่งผ่านคำถามเหล่านี้ให้ผู้ชม โดยเขาเลือกนำเสนอภาพนี้ในวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซู

365°

“ในประเทศของผม การประสูติของพระเยซูถือเป็นเหตุการณ์สำคัญทางศาสนา เรามีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ แต่ที่น่าสนใจคือการประสูติของพระเยซูดูเป็นปริศนาพอๆ กับภาพวาดอาร์นอลฟีนี เพราะพระมารดาของพระองค์ยังเป็นหญิงพรหมจรรย์” 

รีเควนโกแบ่งปันเบื้องหลังของการถ่ายภาพ เขากล่าวว่าตัวเองตั้งใจจะสร้างภาพนี้ขึ้นมาใหม่โดยการถ่ายนางแบบแต่ยังเก็บปริศนาไว้ทั้งหมด ยกตัวอย่างรองเท้าที่ถูกถอดไว้สองคู่ หมายถึงปริศนาว่าสองคนน่าจะยืนอยู่บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จึงต้องถอดรองเท้า เป็นไปได้ว่าทั้งสองอาจกำลังทำพิธีแต่งงานซึ่งต้องมีพระเจ้าเป็นพยาน โคมทองเหลืองที่ด้านหลังปรากฏเทียนไขที่ถูกจุดเพียงเล่มเดียว อาจสื่อว่าบุคคลในภาพอยู่กันคนละภพภูมิ ฝ่ายชายที่ยังมีชีวิตอยู่ถูกแทนด้วยเทียนไขที่ยังไม่มอดดับ แต่เทียนของฝ่ายหญิงดับลงไปแล้วแปลว่าเธออาจเสียชีวิต

แนวคิดที่ถูกแทรกในภาพถูกนำเสนอแบบเหมือนจริงมาก แม้แต่น้องหมาที่กำลังมองเราจากมุมล่างก็ถูกวางไว้ในตำแหน่งเดียวกัน โดยสุนัขนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ซึ่งอาจหมายถึงคำสัญญาในวันแต่งงาน

ด้วยความที่ของประกอบฉากมีจำนวนมาก รีเควนโกเล่าว่าทีมงานของเขาต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่การหาสิ่งของไปจนถึงการตัดชุดและหานางแบบ “ผมคิดว่าภาพนี้ใช้เวลานานที่สุดแล้วนะ เพราะเราต้องไปแคสนางแบบและนายแบบกันถึงยุโรปเหนือ มันยากเหลือเกินกว่าจะหาคนที่หน้าตาเหมือนในภาพ ก็อย่างว่าภาพนี้มันถูกวาดมากว่า 500 ปีแล้ว”

ประวัติศาสตร์ในความทรงจำ

นอกจากผลงานเอกของโลกและเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ รีเควนโกยังกล่าวว่าภาพของเขาบางภาพนำเสนอประวัติศาสตร์ผ่านความทรงจำของตัวเองซึ่งอาจต่างไปจากความทรงจำกระแสหลัก ยกตัวอย่างเช่น วันสตาร์ วอร์ส (Star Wars Day) อันที่จริงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม เพราะคำว่า May the Fourth (May the 4th) พ้องเสียงกับประโยคว่า May the force be with you. แต่เขาเลือกนำเสนอภาพนี้ในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ Star Wars เข้าฉายเป็นครั้งแรกในประเทศสเปนเมื่อปี 1977

365°

ส่วนบางภาพก็เป็นความคิดของทีมงาน ยกตัวอย่างเช่น ภาพของวันที่ 8 พฤษภาคม มาจากความสนุกของทีมงานที่เสนอว่าวันที่ 8 พฤษภาคมเป็นวันเกิดของรีเควนโก ดังนั้นน่าจะใช้ภาพของศิลปินเองเป็นตัวแทนของวัน ถึงอย่างนั้นรีเควนโกบอกว่าตัวเขาไม่ชอบเห็นตัวเองอยู่ในภาพ เลยกลายเป็นภาพถ่ายที่เขายืนยันหัวชนฝาว่า “เกลียดขี้หน้ามากที่สุด” 

มองมาถึงตรงนี้ นิทรรศการ 365° เป็นมากกว่าการนำเหตุการณ์สำคัญมาถ่ายทอดให้เราเห็นกันแบบเรียงวัน เพราะมันเป็นเหมือนไดอารีส่วนตัวที่เปิดแง้มให้เราเห็นแนวคิดของรีเควนโกและทีมงาน ซึ่งถูกส่งต่อมาให้ผู้ชมนิทรรศการได้ตีความต่อ 

“น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เดินทางมาร่วมเปิดงานนิทรรศการครั้งนี้ แต่ผมดีใจมากกว่าที่งานของผมจะได้เดินทางมาประเทศไทย ก่อนหน้านี้มันเคยจัดแสดงทั้งในมาดริด เบอร์ลิน ไทเป และเมืองต่างๆ แต่กรุงเทพฯ เป็นสถานที่พิเศษ ผมเคยมาที่นี่สองครั้งแล้วรู้สึกประทับใจมาก ดังนั้นผมจึงคอยอย่างใจจดใจจ่อที่จะได้รู้ว่าคนไทยเห็นภาพของผมแล้วรู้สึกยังไง

“ภาพถ่ายเหล่านี้นำเสนอโลกในแบบที่ผมเข้าใจและรู้จัก มันอาจต่างจากโลกของคุณ แต่การได้เรียนรู้โลกของผู้คนที่แตกต่างทำให้เราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น ผมจึงหวังว่านิทรรศการของผมจะสามารถมอบมิติใหม่ๆ ให้ผู้ที่สนใจศิลปะและมีใจรักประวัติศาสตร์ได้” รีเควนโกกล่าวทิ้งท้าย

365°

นิทรรศการ 365° ของ Eugenio Recuenco เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 – 15 กันยายน 2564 ที่ River City Bangkok ราคาบัตรสำหรับบุคคลทั่วไป 350 บาท นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 250 บาท สามารถจองบัตรเข้าชมได้ที่ zipeventapp.com, ticketmelon.com, The Gallery Shop ชั้น 1 River City Bangkok และที่ BACC Shop ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน