‘แขวน’ นิทรรศการ 6 ตุลาที่ตอกย้ำว่าประเทศนี้ไม่ควรมีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดอีก

Highlights

  • โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลานำหลักฐานวัตถุ เอกสาร และข้อมูล เช่น ประตูแดง ลำโพงที่มีร่องรอยกระสุน เสื้อผ้าของนักศึกษาที่ถูกทำร้าย หนังสือพิมพ์มาจัดแสดงในวาระครบรอบ 44 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
  • ด้วยความสนใจของคนรุ่นใหม่ต่อเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ที่มากขึ้น ทีมออกแบบจึงใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาเพิ่มประสบการณ์การชมนิทรรศการด้วย
  • ทีมงานย้ำจุดประสงค์ของการนำเรื่องราวทั้งหมดนี้มาแสดงว่า เพื่อให้สังคมได้เห็นถึงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ควรหมดไปจากประเทศนี้สักที 

นิทรรศการ 6 ตุลา
ใครบางคนกล่าวว่ากาลเวลาจะช่วยพัดพาความเจ็บปวดออกจากความทรงจำบางอย่างในชีวิต แต่สำหรับเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคมเมื่อ 44 ปีที่แล้ว เราไม่แน่ใจว่ากาลเวลาจะช่วยพัดพาความเจ็บปวดออกไปจริงไหม

แต่ที่แน่ใจคือ ยิ่งกาลเวลาผันผ่าน เรื่องเล่าของ 6 ตุลาค่อยๆ ชัดเจนในความทรงจำของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เมื่อเทียบกับ 20 ปีแรกของความเงียบงันภายใต้ภาวะ ‘ลืมไม่ได้ จำไม่ลง’ ที่ศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เคยอธิบายเอาไว้

และในปีที่ 44 ของร่องรอยความทรงจำ เศษเสี้ยวและชิ้นส่วนหลักฐานที่อยู่กระจัดกระจายกันกลับมารวมเป็นข้อมูลสำคัญอีกครั้ง ในนิทรรศการแขวน on site museum โดยทีมงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งก่อตั้งโดย ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ภัทรภร ภู่ทอง ผู้ประสานงานโครงการฯ และเป็นหนึ่งในคนที่ทำงานรวบรวมข้อมูลหลักฐานในโครงการบันทึก 6 ตุลา, เบญจมาส  วินิจจะกูล สถาปนิก, ปริยกร ปุสวิโร อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง สองพี่น้อง (The Two Brothers) และผู้กำกับเอ็มวีเพลง ประเทศกูมี

นิทรรศการ 6 ตุลา

นิทรรศการ 6 ตุลา
นอกจากชิ้นส่วนหลักฐานที่นำมาจัดแสดงแล้ว สิ่งที่เราจะได้เรียนรู้ประสบการณ์คนเดือนตุลาอย่างใกล้ชิดมากขึ้นคือการเดินตามร่องรอยเหตุการณ์ในสถานที่จริง ร่วมกับฟังบรรยายการนำชมนิทรรศการโดยผู้อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาอย่าง กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความและกรรมการจัดงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา

นิทรรศการ 6 ตุลา
นี่คือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ยังไม่ได้สะสางผ่านกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดเจน และเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการตอกย้ำให้เห็นว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังคงมีแจ่มชัด และเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันต่อต้านไม่ให้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย

นิทรรศการ 6 ตุลา

 

แขวน 

ปีที่แล้ว ทีมงานโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลาได้เก็บหลักฐานชิ้นสำคัญ คือประตูแดง สถานที่พบศพช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอ คือ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศ์ษา ทั้งสองคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่ติดป้ายคัดค้านการกลับมาของถนอม กิตติขจร 

พวกเขานำประตูแดงมาจัดแสดงร่วมกับหลักฐานชิ้นอื่นๆ เป็นครั้งแรกในนิทรรศการ ประจักษ์ I พยาน ในวันที่ 6 ตุลาคมปีที่แล้ว ปรากฏการณ์ที่ทีมงานได้เห็นคือ นักเรียนวัยมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยผลัดกันเดินเข้าชมนิทรรศการไม่ขาดสาย คนรุ่นใหม่ศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ในเชิงลึกกันมากขึ้น

แล้วพอมาปีนี้ เราก็มาคุยกันว่าจะทำอะไรดี บนบริบทที่มีคนรุ่นใหม่สนใจเยอะมาก ทางทีมข้อมูลคืออ้อ (ภัทรภร ภู่ทอง) กับธนาพล เขาเลยเสนอว่า เอาข้อมูลที่ค้นพบจำนวนคนที่โดนแขวนคอไหม แล้วก็ตั้งคำสำคัญไว้ว่าแขวน แล้วเราก็นำเสนอเรื่องนี้เป็นหลักค่อยๆ โยงออกไปหาเรื่องอื่นๆ” เบญจมาส หนึ่งในผู้ออกแบบนิทรรศการครั้งนี้เล่า

นิทรรศการ 6 ตุลา

เมื่อ 4 ปีที่แล้วทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลาค้นพบข้อเท็จจริงจากหลักฐานภาพถ่ายว่ามีคนถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามในสนามหลวงมากกว่าหนึ่งคนอย่างที่เราเห็นในภาพถ่ายรางวัลพูลิตเซอร์ของนีล ยูเลวิช

“เพราะว่าสิ่งที่คนรับรู้ในข้อค้นพบใหม่นี้คือวงเสวนาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าอยู่ในวงแคบ ในแง่มุมของคนออกแบบเราเลยเอาเนื้อหาตรงนี้มาจัดแสดงให้กว้างขึ้น เพราะเราไม่ได้คิดจะทำนิทรรศการที่เดินดูแบบไล่ตามไทม์ไลน์อย่างเดียวอยู่แล้ว”

 

นิทรรศการ 6 ตุลา

on site museum บนร่องรอยความทรงจำของสถานที่จริง

การจัดนิทรรศการในหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุจริง คืออีกสิ่งที่ทีมงานเชื่อว่าจะทำให้ผู้ชมมองเห็นภาพเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาได้ชัดขึ้น

“จุดนี้คือจุดที่การ์ดนักศึกษาในขณะนั้นโดนยิง พวกเขาเลือกอยู่ตรงนี้กัน เพราะมีเจ้าหน้าที่บุกมาทางด้านหน้าประตู แล้วทางขึ้นหอประชุมบังกระสุนได้พอดี แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้คือ มีเจ้าหน้าที่มาซุ่มอยู่หลังกำแพงพิพิธภัณฑ์อยู่แล้ว เขาเลยวางโต๊ะให้เป็นบังเกอร์บังกระสุนไว้ ในภาพเราจึงเห็นว่าเมื่อเขาถูกยิงโต๊ะมันล้มลง คนที่ถูกยิงคือคุณกมล ซึ่งสุดท้ายศพของเขาถูกแขวนคอที่สนามหลวง” เบญจมาสพาเราเดินมาดูจุดทางขึ้นหอประชุม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแรกของนิทรรศการ

นิทรรศการ 6 ตุลา

“นี่คือเหตุผลที่เราทำเป็นนิทรรศการ on site museum หมายความว่าคุณได้มายืนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุจริง คุณไปดูเรื่องราวแบบนี้ที่ไหนไม่ได้แล้วในโลกนี้ คุณต้องมาดูเรื่อง 6 ตุลาที่นี่เท่านั้น” 

นิทรรศการ 6 ตุลา

นิทรรศการ 6 ตุลา

เดินขึ้นบันไดมาจนถึงประตูทางเข้า ทีมงานเลือกตั้งประตูแดงไว้ข้างหน้า โดยแยกประตูสองข้างออกเพื่อเผยให้เห็นภาพสนามหลวงข้างใน อีกทั้งยังนำไปสู่ความหมายที่ว่าจากเหตุการณ์แขวนคอวันที่ 24 กันยายนนำไปสู่การแขวนคอที่สนามหลวงวันที่ 6 ตุลาคม

นิทรรศการ 6 ตุลา

“ไอเดียแรกหลังจากเดินผ่านภาพประตูแดงไม่ใช่เรื่องภาพต้นไม้ เพราะเรารู้ว่ามิวเซียมอีกที่คือสนามหลวง ซึ่งเดินไปใกล้ๆ ก็ถึงแล้ว ทำ on site AR ตรงนั้น เดินเข้าไปแล้วส่อง อิมแพกต์กว่านี้เยอะเลย แต่เราเข้าไปทำในสนามหลวงไม่ได้” ทีมออกแบบจึงต้องยกสนามหลวงมาไว้ในหอประชุมใหญ่แทน 

นิทรรศการ 6 ตุลา

“อย่างที่บอกว่าเราหยิบคำว่าแขวนมาเป็นคีย์เวิร์ดงาน พอรวมกับว่าเรื่อง 6 ตุลาอยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ เราจึงเลือกพูดภาษาที่ร่วมสมัยมากขึ้น” เบญจมาสกำลังพูดถึงการหยิบเอาเทคโนโลยี AR เข้ามาให้ผู้มาชมได้รับประสบการณ์ใหม่ในการรับรู้ข้อมูลนิทรรศการ 6 ตุลา

“การเอา AR มาช่วยเล่าเรื่อง มันเป็นการเอาอดีตมาทาบทับปัจจุบัน นำเสนอเรื่องที่ว่า 6 ตุลาถูกซ่อนไว้ 44 ปี แล้ว ไม่มีใครมี sense of place กับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย เช่น ภาพสนามหลวงที่เราเอามาวางไว้ตรงกลาง เราคิดคีย์เวิร์ดมาเลยว่า สิ่งที่ไม่ปกติถูกซ่อนในสิ่งที่ปกติ หมายความว่าหลังจากผ่านมา 40 ปี ข้างหน้าสนามหลวงกลายเป็นที่ยืนรอรถเมล์ โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าเคยมีการแขวนคอเกิดขึ้นตรงนั้น แต่คุณจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเดินมาดูที่จอ AR ภาพมันจะปรากฏให้เห็น” 

นิทรรศการ 6 ตุลา

อีกสิ่งที่พวกเขาเพิ่มเข้ามาในตอนหลังคือเบาะนั่งด้านหน้าภาพถ่ายสนามหลวง เหตุผลที่ต้องเพิ่มเข้ามาเพราะ หนึ่ง อยากให้คนรู้สึกเหมือนมานั่งในสนามหลวงจริงๆ และ สอง เธออยากให้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งในภาพ AR โดยไม่รู้ตัว เพื่อสื่อว่าในความปกติธรรมดานั้นมีสิ่งที่เรามองไม่เห็นซ่อนอยู่ และเรากำลังเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งเหล่านั้น

“เราอยากให้คนรู้สึกกับสถานที่จริงๆ เพราะเมื่อไหร่ที่คุณเอาความทรงจำ เรื่องราว และประสบการณ์ออกไปหมด มันจะเป็นเพียงสถานที่ที่แห้งแล้งหรือที่จอดรถทัวร์เท่านั้น”


นิทรรศการ 6 ตุลา

นอกจากนี้ คำว่า on site musuem ไม่ได้มีเพียงแค่สถานที่เกิดเหตุ แต่ยังมีเรื่องเล่าจากคนในเหตุการณ์รวมอยู่ด้วย ปริยกร ในฐานะนักออกแบบนิทรรศการอีกคนเล่าว่า ตั้งแต่จัดนิทรรศการวันแรกมีคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์แวะเวียนมาโดยที่ทีมงานก็คาดไม่ถึง

“คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้เจอกัน เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ดังนั้นถึงต้องบอกว่าเป็น on site museum ที่หาที่ไหนไม่ได้จริงๆ เพราะต่อให้ไปเจอพี่ๆ ข้างนอกแล้วถามเหตุการณ์วันนั้นอาจจะอีกความรู้สึกหนึ่ง แต่ถ้าเขาเห็นรูป มองเห็นสนามฟุตบอล วันนั้นเขาอาจจะนอนอยู่ในนั้น มันเกิดอะไรขึ้น โดนกระหน่ำยิงยังไง ความรู้สึกก็จะเป็นอีกแบบ” 

นิทรรศการ 6 ตุลา

นิทรรศการ 6 ตุลา

 

สี่ทศวรรษกับความทรงจำ 6 ตุลา

หนึ่งในคนเดือนตุลาที่เห็นเหตุการณ์และมาร่วมเป็นผู้นำชมนิทรรศการครั้งนี้คือ กฤษฎางค์ นุตจรัส 

ในความทรงจำของกฤษฎางค์ ภาพวันที่เขาเป็นนักศึกษาปี 2 คณะนิติศาสตร์ ทำงานในองค์การนักศึกษายังคงแจ่มชัด เสียงปืนและระเบิดยังคงกึกก้องในความทรงจำมาตลอด 44 ปี

นิทรรศการ 6 ตุลา

“ผมจำภาพวันที่คลานตามทางเดินไปตึกโดมได้ เราต้องคลานเพราะเขายิงกราด เพื่อนข้างหน้าผมโดนยิงเพราะเงยหน้าขึ้น เสียงปืนดังตลอดเวลาไม่มีหยุดเลย มันยังคงชัดเจน​” เขาย้อนเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

ทุกปีกฤษฎางค์จะเข้าร่วมจัดงานรำลึกถึงเพื่อนในวันที่ 6 ตุลา การเป็นกรรมการจัดงานทำให้เขามองเห็นพัฒนาการของมุมมองเหตุการณ์สังหารหมู่มากขึ้น

นิทรรศการ 6 ตุลา

แต่เดิมเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการจัดงานทุกปี อย่างปี 2520 เราก็จัดงานตักบาตรได้อย่างเดียวเพราะตอนนั้นทำอะไรไม่ได้ ยังอยู่ในช่วงรัฐประหารของเผด็จการ แต่มันก็เริ่มพูดถึงกันเรื่อยๆ เริ่มเอาหนังสือ เรียบเรียงข้อมูล แต่เป้าหมายยังอยู่ที่การรำลึกถึง”

“แต่ปีหลังๆ มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิดในการจัดงานว่าจริงๆ เราต้องการให้คนที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์เข้าใจและบันทึกอยู่ในประวัติศาสตร์ แทนที่เราจะไปแค่รำลึกความหลังเฉยๆ”

“ผมรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จนะ เพราะคนรุ่นใหม่พูดถึงเหตุการณ์นี้มากขึ้น มาปีนี้เราเลยคุยกันว่าจะทำยังไงให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ เพราะมีการแสดงหนึ่งของเด็กที่เอาสีเทราดตัวเพื่อพูดถึง 6 ตุลา มันเป็นแรงบันดาลใจให้ผมว่าเราต้องจัดงานที่ตอบสนองต่อความรู้สึกเด็กให้ได้” 

นิทรรศการ 6 ตุลา

นอกจากการจัดงานให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม อีกประเด็นสำคัญที่สุดที่ทีมงานทุกคนเห็นร่วมกันคือ ทุกข้อมูลและข้อเท็จจริงใน 6 ตุลาคือการตอกย้ำว่าเราต้องหยุดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดไม่ให้เกิดในสังคมไทย

“เรายกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าเราต้องช่วยกันต่อต้านวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล ซึ่งการจะทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้อาศัยวิชาชีพด้านเดียว เราจึงรวมตัวกันในหลากหลายสาขาอาชีพจัดตั้งโครงการที่เรียกว่าพิพิธภัณฑ์ และจัดนิทรรศการให้เป็นส่วนหนึ่งของการเอาข้อเท็จจริงมาให้เห็น ดังนั้น การที่มีคนบอกว่าอย่ามาชุมนุมเลย เดี๋ยวจะเกิดความรุนแรง แต่พวกเราทั้ง 5 คนเชื่อว่าความรุนแรงไม่ได้เกิดจากผู้ชุมนุม และหากจะเกิด 6 ตุลารอบสอง มันก็เพราะวัฒธรรมลอยนวลพ้นผิดยังมีอยู่ในสังคม”

นิทรรศการ 6 ตุลา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย