พูดไม่ออกต้องบอกผ่านภาพ : เข้าใจศิลปะบำบัดผ่าน Stranger Things และ Parasite

Highlights

  • นอกจากซีรีส์เรื่อง Stranger Things และภาพยนตร์เรื่อง Parasite จะมีพล็อตชวนติดตามจนคนดูนั่งไม่ติดเก้าอี้แล้ว ทั้งสองเรื่องยังแฝงไว้ด้วยเรื่อง 'ศิลปะบำบัด' ที่น่าสนใจอีกด้วย
  • ใน Stranger Things ตัวละคร Will ถูกปีศาจครอบงำจนจิตใจมีบาดแผล แต่ไม่อาจพูดออกมาและต้องสื่อสารผ่านภาพวาด ส่วนใน Parasite ปรากฏตัวละคร Jessica นักจิตบำบัดเก๊ที่วิเคราะห์ภาพวาดของเด็กชายผู้เป็นโรคสมาธิสั้นได้เป็นฉากๆ
  • ท่ีแตกต่างกันคือแม้ใน Parasite จะโชว์ฉากที่เจสซิกาวิเคราะห์ภาพวาดด้วยมาดผู้เชี่ยวชาญ แต่สมาคมนักจิตบำบัดหลายแห่งกลับเตือนผู้ชมว่านั่นไม่ใช่กระบวนการบำบัดที่แท้จริง ในขณะที่ Stranger Things ไม่ได้พูดเรื่องการบำบัดโดยตรง แต่วิธีที่แม่ของวิลคุยกับลูกชายดันใกล้กับการบำบัดมากกว่าเสียอีก

ใครเคยดูซีรีส์เรื่อง Stranger Things คงจำตัวละครที่เป็นกุญแจหลักของเรื่องอย่างเจ้าหนู Will Byers ได้ วิลคือผู้ประสบชะตากรรมเลวร้ายจากการถูกปีศาจเงามืด Mind Flayer เข้าควบคุมร่างกายและจิตใจ บังคับให้เขาต้องกลายเป็นผู้ส่งสารจาก Upside World สู่โลกมนุษย์ จนสูญเสียความเป็นตัวเอง

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงพล็อตสำคัญของซีรีส์ที่ทำให้คนดูนั่งไม่ติดเก้าอี้เท่านั้น แต่เมื่อมองผ่านแว่นของนักจิตวิทยา เราจะพบว่าในความโชคร้ายของวิลมีเรื่องราวของศิลปะบำบัดซ่อนไว้ให้เราเรียนรู้มากมาย

ศิลปะบำบัด

 

ความเจ็บปวดที่ไม่มีเสียง

สำหรับวิล ประสบการณ์การมองเห็นและเชื่อมต่อจิตใจกับปีศาจเงามืดคือเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (traumatic event) ที่สร้างบาดแผลทางใจ ส่งผลให้วิลไม่สดใสเหมือนเด็กคนอื่นในแก๊ง และยังอาจกลายเป็นปมในใจต่อเนื่องในวัยผู้ใหญ่หากไม่ได้รับการเยียวยา

แต่ทำไมทั้งๆ ที่ต้องเจอเหตุการณ์ที่น่าหวาดกลัวถึงขนาดนั้น วิลกลับไม่เล่าเรื่องทั้งหมดให้ใครฟัง

นั่นเพราะตัวละครวิลเป็นเหมือนตัวแทนของผู้มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก มีการค้นพบว่าในคนที่มีบาดแผลทางใจแบบนี้ สมองส่วน Broca ที่เป็นศูนย์กลางควบคุมเรื่องการพูดจะตัดการเชื่อมต่อทันทีที่ภาพความทรงจำในอดีตถูกกระตุ้นขึ้นมา ผู้ประสบเหตุการณ์เลวร้ายส่วนใหญ่ เช่น ผู้ที่รอดชีวิตจากอุบัติเหตุร้ายแรง หรือถูกคุกคามทางร่างกาย จะไม่สามารถเล่าเหตุการณ์นั้นออกมาเป็นคำพูดได้ เช่นเดียวกับวิล ทุกครั้งที่เขาต้องเล่าว่าตัวเอง ‘เห็น’ อะไร หรือรู้สึกยังไงในเหตุการณ์วันนั้น เขาทำได้เพียงปิดปากเงียบและแสดงความหวาดกลัวออกมาผ่านแววตา

แม้วิลจะไม่สามารถเล่าเรื่องได้ แต่สิ่งที่เป็นเบาะแสให้ครอบครัวและเพื่อนๆ ของวิล รวมถึงคนดูอย่างเรา สามารถปะติดปะต่อเรื่องราว นำไปสู่ความเข้าใจประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้คือ ‘ภาพวาด’ การวาดทำให้วิลเล่าสิ่งที่ตัวเองประสบออกมาได้ง่ายกว่าการพูด และเรื่องราวที่ปลดปล่อยลงบนกระดาษยังทำให้ครอบครัวและเพื่อนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับวัยเยาว์ของวิล

เรื่องราวของวิลในซีรีส์ Stranger Things นี่เองคือประตูที่กำลังจะนำเราไปสู่ความเข้าใจเรื่อง ‘ศิลปะบำบัด’ 

ศิลปะบำบัด

 

พูดไม่ออกต้องบอกผ่านภาพ

ศิลปะบำบัด (art therapy) คือศาสตร์ที่นำกระบวนการทำศิลปะและการสร้างสรรค์หลายรูปแบบมาใช้เป็นทางเลือกในการเยียวยาผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้าย คนที่มีเรื่องราวที่พูดออกมาไม่ได้ หรือแม้แต่รู้สึกไม่สมดุลทางอารมณ์ ทำให้พวกเขาสามารถแสดงเรื่องราวหรือความรู้สึกภายในได้ผ่านภาพวาดหรืองานศิลปะ นำไปสู่การประเมินสภาวะทางจิตและการเยียวยารักษาเพื่อให้กลับมาสู่สุขภาพใจที่สมดุล

คำว่า art therapy ถูกบัญญัติขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1950s โดยจิตแพทย์หญิง Margaret Naumburg แต่ก่อนหน้านั้นมีการรายงานคุณประโยชน์ของศิลปะในมุมที่ช่วยเยียวยาอาการป่วยไข้ รวมถึงนำกระบวนการแบบศิลปะบำบัดไปประยุกต์เข้ากับการรักษาแบบดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว จนถึงวันนี้ศิลปะบำบัดแตกแขนงออกไปมากมายหลายรูปแบบ ทั้งศิลปะบำบัดด้วยการวาดภาพ, ดนตรีบำบัด, จิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว โดยไม่จำกัดว่าจะต้องมีทักษะการวาดรูปหรือเคยทำศิลปะมาก่อน

นอกจากนี้ยังมีศิลปะบำบัดที่ผสมผสานวิธีการแสดงออกหลากหลาย อย่าง expressive arts therapy ที่บูรณาการทั้งการวาดรูป การปั้นดิน การเขียน การถ่ายภาพ การตัดแปะ ไปจนถึงการเคลื่อนไหว การแสดงละคร หรือแม้แต่การใช้เสียงดนตรี เพื่อให้นักบำบัดสามารถเลือกวิธีการที่เหมาะสมและผู้บำบัดรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงออกที่สุด

และบางครั้งการที่ผู้บำบัดสามารถเล่าสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาได้ เท่ากับเรียนรู้ว่าบาดแผลในใจหรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับตนเองคืออดีตที่ผ่านไปแล้ว วางมันลง และกลับมาตระหนักรู้อยู่กับตัวเองในปัจจุบัน หรือบางครั้งนักศิลปะบำบัดอาจสะท้อนสิ่งที่สังเกตเห็นในงานศิลปะ การมองจากมุมของผู้สังเกตการณ์อาจเห็นบางอย่างที่ผู้บำบัดไม่เคยมองเห็น นำไปสู่การทำงานกับหัวข้อนั้นๆ ต่อไป

ศิลปะบำบัด

 

นักศิลปะบำบัด = ผู้ถอดรหัสจากภาพวาด (?) 

ล่าสุดภาพยนตร์เกาหลีที่กวาดเกือบทุกรางวัลบนเวทีโลกอย่าง Parasite โดยผู้กำกับ Bong Joon-ho ก็นำเสนอตัวละครพี่สาวจากครอบครัวคิมที่ปลอมตัวเป็นนักศิลปะบำบัดนาม Jessica เข้าไปดูแลลูกชายตระกูลปาร์ก ผู้มีอาการไฮเปอร์แอ็กทีฟหรือภาวะสมาธิสั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ศาสตร์ศิลปะบำบัดถูกพูดถึงในภาพยนตร์อย่างจริงๆ จังๆ ในแง่คุณประโยชน์ของการเยียวยาทางจิตใจ และยังเป็นการเปิดตัววิชาชีพนักศิลปะบำบัดให้คนทั่วโลกได้รู้จักมากขึ้น

ฟังดูเหมือนลูกชายตระกูลปาร์กจะโชคดีกว่าวิลใน Stranger Things ที่มีนักจิตบำบัดมาดูแลและเยียวยา แต่นักบำบัดตัวปลอมที่ศึกษาศาสตร์นี้ด้วยกูเกิลและอ้างว่าจบสาขาจิตวิทยาและศิลปะบำบัดอย่างเจสซิกาจะน่าเชื่อถือสักแค่ไหน 

คำตอบคือบรรดาจิตแพทย์และนักจิตบำบัดต่างพากันออกมาให้ความเห็นกับตัวละครนี้ นั่นเพราะเธออาจทำให้ผู้ชมเข้าใจบทบาทของนักศิลปะบำบัดคลาดเคลื่อนไปได้

ฉากที่เจสซิกานั่งคุยกับคุณนายตระกูลปาร์กหลังจากปลอมตัวเข้าไปบำบัดลูกชายบ้านนี้ครั้งแรก เธอวิเคราะห์ภาพวาดของเด็กน้อย Da-song ได้เป็นฉากๆ แถมยัง ‘ตีความ’ ด้วยว่า ส่วนสีดำที่อยู่ตรงมุมขวาล่างของทุกภาพคือ ‘มุมจิตเภท’ และบอกอีกว่านั่นคือปริศนาเร้นลับในจิตใจทาซง ก่อนจะถามชวนคุณนายปาร์กว่าอยากไขปริศนานี้ไปด้วยกันไหม 

การนำเสนอภาพของนักศิลปะบำบัดในแบบผู้วิเศษที่สามารถไขรหัสลับภาพวาดในเรื่อง Parasite อาจสร้างมุมมองที่ผิดต่อศิลปะบำบัดไปสักหน่อย American Art Therapy Association ถึงกับต้องเผยแพร่บทความเพื่อปรับความเข้าใจกันใหม่จากกรณีนี้ ว่ากระบวนการที่นักศิลปะบำบัดและผู้บำบัดทำร่วมกันครั้งแรกเป็นการทดสอบว่าผู้บำบัดมีความคุ้นเคยกับศิลปะในระดับไหน ตั้งเป้าหมายและจุดประสงค์ของกระบวนการ ทำความเข้าใจปัญหาเบื้องต้น และมองเห็นจุดแข็งเบื้องต้นของผู้บำบัดเท่านั้น อย่างไรก็ตามภาพภาพเดียวไม่สามารถบอกชัดเจนทะลุปรุโปร่งว่าเกิดอะไรขึ้นภายในจิตใจของทาซงอย่างที่เจสซิกาทำ

ในขณะที่ Pennsylvania Art Therapy Association ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ชมว่า ‘นักศิลปะบำบัดไม่ได้มีหน้าที่ให้นิยามว่าตรงไหนคือมุมจิตเภท (the schizophrenia zone) อย่างที่ตัวละครเจสซิกาทำ อันที่จริงไม่มีแม้แต่คำว่า zone ด้วยซ้ำ’

จริงอยู่ที่ศาสตร์ศิลปะบำบัดอย่าง clinical art therapy จะเน้นกระบวนการวาดภาพเป็นหลัก นักศิลปะบำบัดจะประเมินสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ด้วยการมองหาสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในภาพ เช่น รูปคนแสดงท่าทางแบบนี้หรือรูปบ้านลักษณะนี้ ‘มักจะ’ นำไปสู่อาการทางจิตแบบไหนในเชิงสถิติ แต่ทุกเคสไม่มีคำตอบตายตัวที่ฟันธงได้ในปราดเดียว นักศิลปะบำบัดเชื่อว่าผู้บำบัดคือคนที่รู้เรื่องราวในภาพดีที่สุด มุมสีดำของทาซงอาจเป็นลานกว้างแสนสงบสำหรับเขา หน้าที่ของนักศิลปะบำบัดจึงเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างความสัมพันธ์ที่ผู้บำบัดรู้สึกไว้วางใจจนสามารถแสดงเรื่องราวออกมา ก่อนจะช่วยไกด์พวกเขาไปสู่การเยียวยาและการเติบโตทางอารมณ์ในทางที่ดี

หลายครั้งนักศิลปะบำบัดโดยเฉพาะแขนง expressive art therapy ทำหน้าที่สร้างความท้าทายและเอื้อให้ผู้บำบัดเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ เช่น ถ้าวงกลม 2 วงนี้ต่อกันมันจะเป็นยังไง ถ้าความรู้สึกในภาพถูกเปล่งออกมาเป็นเสียงมันจะเป็นแบบไหน หรืออยากลองเล่นอะไรกับภาพวาดเหล่านี้ไหม

ถ้าจะมีตัวละครหนึ่งที่ดูมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับนักศิลปะบำบัดที่สุดในมุมนี้ คงไม่ใช่เจสซิกาจาก Parasite แต่เป็น Joyce Byers แม่ของเจ้าหนูวิลใน Stranger Things ที่แม้ไม่ได้เป็นนักศิลปะบำบัด แต่ในขณะที่คนอื่นตัดสินรูปวาดของวิลเป็นแค่สัตว์ประหลาดในเกมหรือลายเส้นขยุกขยุยจากอาการทางใจที่ไม่ปกติ จอยซ์กลับใช้เวลาสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลจากรูปที่วิลวาดจนเห็นว่ากระดาษแต่ละแผ่นมีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมต่อกัน จนนำไปสู่การค้นพบแผนที่ดินแดน Upside World ใต้เมือง Hawkins 

คุณแม่จอยซ์ไม่ได้ตัดสินว่าวิลวาดอะไร หรือกำลังเป็นอะไร

เพียงให้เวลาและบอกออกมาสั้นๆ ว่า “ดูสิ มันต่อกันล่ะ!”  


อ้างอิง

แวน เดอ คอล์ค, เบสเซล.  2562.  ฝันร้ายในร่างกาย.  แปลโดย ภัทร กิตติมานนท์.  กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.

American Art Therapy Association

Pennsylvania Art Therapy Association

AUTHOR