เรามาถึงด้านหน้าตึกมูลนิธิออทิสติกไทยและชะงักไปครู่หนึ่งกับผลงานภาพวาดมากมายไม่ต่างจากแกลเลอรีขนาดย่อมๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในนั้น
เท่าที่กวาดตาดูจะเห็นว่าลายเส้นบนผลงานแต่ละชิ้นไม่ซ้ำกันเลย เทคนิคการวาดของแต่ละคนมีเอกลักษณ์และแสดงตัวตน มีทั้งเทคนิคแต้มสีเป็นจุดเล็กๆ จนเกิดเป็นภาพใหญ่ เทคนิคภาพเสมือนจริงที่เก็บรายละเอียดได้ไม่แพ้ศิลปินมืออาชีพ บ้างวาดเป็นลายเส้นขาว-ดำแต่อัดแน่นด้วยดีเทลทุกตารางนิ้ว บ้างวาดและลงสีเป็นลายสัตว์สไตล์ญี่ปุ่น
ส่วนถัดไปด้านในคือร้านขายของที่ระลึกแสนน่ารักที่แปลงร่างมาจากลายเส้นบนระนาบ 2 มิติ เป็นข้าวของเครื่องใช้ลวดลายเก๋ไม่ซ้ำใคร ทั้งกระเป๋าสะพาย ผ้าพันคอ โปสต์การ์ด เสื้อยืด เข็มกลัด แก้วน้ำ ไปจนถึงลายเพนต์บนกระเป๋ากาบกล้วยที่มอบเป็นของที่ระลึกในงานประชุมอาเซียนครั้งที่ผ่านมา
ส่วนเจ้าของลายเส้นเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือน้องๆ ออทิสติกในโครงการ Artstory By AutisticThai โดยมูลนิธิออทิสติกไทย
สารภาพว่าตอนแรกเราเกือบไม่เชื่อเมื่อบอกว่างานศิลปะทั้งหมดนี้เป็นผลงานของเด็กออทิสติก เพราะความประณีตสวยงามของผลงานเหล่านั้นทำเราทึ่ง ส่วนความสร้างสรรค์ของน้องๆ ก็ไปไกลกว่าที่เราคาดคิดไว้ในตอนแรก
อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย อาสามาเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของภาพวาดศิลปะสุดสร้างสรรค์ และโครงการ Artstory By AutisticThai ตั้งแต่ระยะตั้งไข่ ไปจนถึงการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ตั้งใจเดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้บุคคลออทิสติกสามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเองผ่านการทำงานศิลปะ ซึ่งกำไรจะกลับมาเป็นรายได้ของน้องๆ ศิลปินผู้สร้างงาน
คุณค่าที่มากกว่าความสวยงามที่ตาเห็นคือความตั้งใจบอกเล่าศักยภาพและศักดิ์ศรีของเด็กออทิสติก สมกับที่โครงการนี้ที่ตั้งว่า Artstory เพราะนี่คือเรื่องราวศิลปะจากคนพิเศษที่ควรค่าแก่การบอกต่อ
ศิลปะที่เยียวยาและช่วยให้เด็กออทิสติกพึ่งพาตัวเองได้
อาจารย์ชูศักดิ์ตีแผ่ภาพกว้างของปัญหาคลาสสิกเกี่ยวกับเด็กออทิสติกให้ฟังว่า เด็กออทิสติกหลายคนต้องออกจากโรงเรียนเพราะเรียนวิชาการไม่ไหว บางคนโรงเรียนไม่รับให้เข้าเรียนด้วยซ้ำเพราะถือว่าไม่พร้อม แต่มูลนิธิฯ จะทำหน้าที่เป็นคนกลางที่จะดึงเด็กออทิสติกให้กลับเข้ามาเรียนทักษะชีวิตที่จำเป็น ให้เด็กพึ่งพาตัวเองได้ เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพในอนาคต
ส่วนการนำศิลปะมาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะนั้น อาจารย์ชูศักดิ์ให้เหตุผลว่า “ศิลปะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพของเด็กออทิสติกได้ พอทำไปเรื่อยๆ ก็พบว่าเด็กๆ มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีขึ้น มีสมาธิขึ้น มีทักษะการโต้ตอบและการเข้าสังคมที่ดีขึ้น”
ต่อมาทางโครงการเห็นความเป็นไปได้ที่จะนำภาพวาดของเด็กๆ มาต่อยอดเป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเริ่มจากแก้วน้ำ เสื้อผ้า และกระเป๋า หลังจากนั้นก็เริ่มมีหลายหน่วยงานเข้ามาจ้างให้เด็กๆ วาดภาพเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
“เราเลยยกระดับโครงการนี้ให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ในนาม บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งโครงการศิลปะ Artstory By AutisticThai เป็นหนึ่งในโครงการหลักที่มูลนิธิดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว”
อาจารย์ชูศักดิ์ฉายผลลัพธ์ของโครงการให้เห็นอีกว่า เด็กออทิสติกทุกคนมีพัฒนาการขึ้นหลังเข้าร่วมโครงการ เพราะการทำงานศิลปะต้องมีสมาธิสูง และตอนนี้หลายคนก็ฉายแววเป็นศิลปินแล้ว เพราะฝีมือไปเข้าตาหน่วยงานต่างๆ จนมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
เมื่อเด็กทุกคนได้รับเงินเดือนจากฝีมือตนเอง พ่อแม่หลายคนก็เริ่มเปลี่ยนความคิด จากเมื่อก่อนที่มีแต่ค่าใช้จ่าย ทั้งค่ายา ค่าเล่าเรียน ค่าคอร์สบำบัด ตอนนี้ลูกๆ สามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองและมีเงินเหลือเก็บพอจุนเจือครอบครัวด้วย
คุณแม่กระจาด–กัญญาวีร์ แขวงโสภา แม่ของ น้องออกัส–กฤษณ์ แขวงโสภา หนึ่งในศิลปินเยาวชนของโครงการที่ถนัดด้านการวาดภาพลายเส้นเป็นพิเศษ ยืนยันว่านอกจากทักษะสังคมที่ลูกค่อยๆ พัฒนาขึ้น คือความมั่นใจว่าลูกจะยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองเมื่อไร้แม่
“เราสังเกตว่าลูกมีสมาธิดีขึ้นตั้งแต่ทำงานศิลปะ เมื่อก่อนลูกแทบไม่พูดเลย แต่พอได้มาฝึกศิลปะบำบัดแล้วลูกจะพูดได้เยอะขึ้น เข้าสังคมได้ มีเพื่อนฝูง
“พอเข้าโครงการนี้ ทางมูลนิธิมีค่าแรงเป็นรายชั่วโมงให้อยู่แล้ว ที่นี่ทำธุรกิจในลักษณะกิจการเพื่อสังคม เด็กๆ ที่เป็นศิลปินจะมีหุ้นส่วนในกิจการด้วย แม่ก็รู้สึกปลอดภัยว่าลูกจะอยู่ได้ถ้าไม่มีแม่แล้ว เพราะมูลนิธิดูแลให้ อย่างน้อยลูกก็มีค่าขนม มีกิจกรรม และมีงานด้วย”
อาจารย์ชูศักดิ์ย้ำจุดยืนขององค์กรอีกครั้งว่า แม้จะมีงานเข้ามาไม่ขาดสาย แต่แน่นอนว่าหลักการของกิจการเพื่อสังคมไม่ใช่การทำกำไรสูงสุดหรือกอบโกยช่วงที่น้ำกำลังขึ้น แต่หัวใจคือการนำรายได้กลับไปพัฒนามูลนิธิฯ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมสำหรับเด็กออทิสติกให้พึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว
“แน่นอนว่าเราไม่ได้เน้นการทำกำไร แต่มันคือการสร้างศักดิ์ศรีว่าคนออทิสติกก็เป็นเจ้าของธุรกิจได้ ไม่ใช่เป็นแค่ลูกจ้าง ที่เราภูมิใจมากคือเรามีกรรมการบริษัทฯ เป็นน้องๆ ออทิสติกถึง 6 คน แต่ละคนก็ฝึกทำฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการตลาด ฝ่ายออกบูท โดยเราจะให้เขาตามทำตามทางที่ตัวเองถนัด และเราต้องการแสดงจุดยืนให้คนภายนอกมองเด็กออทิสติกในมุมใหม่ว่าเขาไม่ได้เป็นภาระ เด็กออทิสติกก็คือมนุษย์ที่มีศักยภาพคนหนึ่ง ถ้าเราให้โอกาสและพื้นที่เขา เขาจะสามารถเปล่งประกายความสามารถเฉพาะตัวออกมา มีการงาน มีรายได้ มีคุณค่า และมีศักดิ์ศรีในตัวเองไม่ด้อยไปกว่าคนอื่นๆ”
แก่นของโครงการที่อยู่ลึกลงไปกว่าการสร้างอาชีพและการสร้างรายได้คือ การลบล้างอคติเดิมๆ และการพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กออทิสติกคือมนุษย์ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีคนหนึ่ง
ศิลปะจากเด็กออทิสติกสู่สายตาประชาคมอาเซียน
นอกเหนือจากการนำผลงานศิลปะของน้องๆ ออทิสติกมาผลิตเป็นข้าวของต่างๆ เพื่อจำหน่ายในนามวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ล่าสุดทางโครงการยังได้จับมือกับแบรนด์กระเป๋ากาบกล้วย ตานี เพื่อผลิตกระเป๋าสะพายคอลเลกชั่นพิเศษที่ใส่ลวดลายเพนต์ฝีมือน้องๆ ออทิสติกลงบนกระเป๋า เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำอาเซียนในการประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ผ่านมา โดยความสนับสนุนของ สยามพิวรรธน์
คุณตุ้ม–นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เกริ่นให้ฟังถึงที่มาที่ไปการร่วมงานกับมูลนิธิออทิสติกไทยซึ่งต่อยอดไปสู่โปรเจกต์พิเศษที่ทำร่วมกับแบรนด์ตานีว่า “จุดเริ่มต้นของการร่วมงานกับ Artstory By AutisticThai คือเราทาบทามให้น้องๆ ออทิสติกวาดภาพให้เพื่อใช้เป็นวอลล์เปเปอร์ใน education zone ที่ไอคอนสยาม ต่อมาเรามีโครงการ Citizen of Love ที่ช่วยสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส ทั้งกลุ่มมูลนิธิที่ต้องการความช่วยเหลือและชุมชนต่างๆ โดยจัดพื้นที่บริเวณไอคอนคราฟต์ ที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม ให้ 7 มูลนิธิ รวมถึงสินค้าในโครงการ Artstory By AutisticThai ของมูลนิธิออทิสติกไทย ได้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่เสียค่าสถานที่ ภายใต้โครงการ Made by Beautiful People
“สยามพิวรรธน์เห็นแววว่าน้องๆ มีความสามารถด้านศิลปะที่ยอดเยี่ยมจากการพาน้องๆ ไปเพนต์งานศิลปะที่บ้านท่านทูตอังกฤษ พอถึงโปรเจกต์งานอาเซียนที่สยามพิวรรธน์เข้าไปสนับสนุน เราเลยชวนทีมงานของแบรนด์ตานีและน้องๆ ออทิสติกมาพูดคุยกันเกี่ยวกับโปรเจกต์เพนต์ลวดลายลงบนกระเป๋ากาบกล้วย เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกให้ผู้นำในงานประชุมอาเซียน 2019 เพราะเรามองว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่สนับสนุนการพัฒนาที่ความยั่งยืน เพราะตัวกระเป๋าเองก็เป็นการเอากาบกล้วยและฝีมือช่างในชุมชนมาทำ และยิ่งเพิ่มมูลค่าและความเป็นเอกลักษณ์จากงานศิลปะฝีมือของน้องๆ”
นอกจากจะผลิตกระเป๋าสะพายที่ระลึกเพื่อมอบแก่ผู้นำจำนวน 18 ใบแล้ว ยังผลิตของที่ระลึกเพิ่มเติมโดยนำตราสัญลักษณ์อาเซียนที่น้องๆ วาดไปพิมพ์บนซองใส่นามบัตรและซองใส่พาสปอร์ตเพื่อแจกสื่อมวลชนภายในงานอาเซียนอีกจำนวน 2,500 ใบด้วย
ส่วนทางสยามพิวรรธน์ก็อาสารับไม้ต่อ นำกระเป๋าสะพายที่มีลายเพนต์ฝีมือน้องๆ ที่ผลิตขึ้นในล็อตหลังไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเครือสยามพิวรรธน์ ราคาใบละ 9,999 บาท โดยรายได้ทั้งหมดแบบไม่หักค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งจะมอบให้ชุมชนช่างสกุลบายศรีที่เป็นผู้ผลิตกระเป๋าแบรนด์ตานี และอีกครึ่งหนึ่งจะมอบเป็นค่าแรงให้แก่น้องๆ ในโครงการ
“จากกลยุทธ์ต้นแบบองค์กรของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมกันสู่ความยั่งยืน เปิดพื้นที่และเชื่อมให้ชุมชนและองค์กรต่างๆ มาเจอกัน รวมไปถึงการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำอาเซียนในโปรเจกต์พิเศษ และเป็นตัวเชื่อมผู้บริโภคให้เข้ามาอุดหนุนผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่เกิดจากความร่วมมือของแบรนด์ตานีและโครงการ Artstory By AutisticThai” คุณตุ้มสรุปความ
เสียงของครูผู้ขัดเกลาเด็กออทิสติก
ครูพิงก์–เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม์ คือครูที่สอนศิลปะบำบัดแก่เด็กๆ ในโครงการ เธอเล่าถึงจุดยืนและความเชื่อในการสอนเด็กออทิสติก ไปจนถึงการกระจายโอกาสสู่เด็กทุกคนในโปรเจกต์ต่างๆ ที่วิ่งเข้ามาหามูลนิธิว่า “ครูเชื่อว่าศิลปะช่วยบำบัดเยียวยาและช่วยให้คนมีความสุขได้ไม่ว่าจะเป็นใคร หัวใจคือเราต้องไม่กลัวว่าจะสวยหรือไม่สวย ไม่ต้องกลัวคนวิจารณ์เรา ครูจะสอนให้เด็กใช้ปากกาและกระดาษขาว ไม่ต้องร่างดินสอก่อน เพราะการวาดด้วยปากกาเลยจะช่วยให้เขามั่นใจ กล้าตัดสินใจ พอคนเรากล้าตัดสินใจ เขาก็จะกล้าใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ ด้วย
“ครูจะสอนเด็กเสมอว่าให้แข่งกับตัวเอง อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ถึงเด็กๆ จะเป็นออทิสติก แต่เขาก็ยังเป็นคน เวลาเราสอนอะไรเขาก็เข้าใจ แต่ตอนนี้จะมีการฝึกพฤติกรรมด้วย ซึ่งการเรียนศิลปะก็เป็นหนึ่งในนั้น ไม่ว่าจะมีโจทย์อะไรมาเด็กๆ ก็จะวาดและคิดสร้างสรรค์ได้หลากหลาย เรามีเด็กที่วาดได้ทั้งภาพเหมือน ภาพสีน้ำ ภาพลายเส้น ภาพแอ็บสแตรกท์ สิ่งที่ครูเชื่อคือเราต้องให้โอกาสเด็กทุกคน เราเลยกระจายงานโปรเจกต์ต่างๆ ให้ทุกๆ คนได้แสดงความสามารถ อย่างงานเพนต์บนกาบกล้วยก็เป็นพื้นผิวไม่เคยเจอ เพราะเด็กของเราเคยทำงานศิลปะแต่บนกระดาษและผ้าใบ ครูก็ต้องมาเรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็ก”
ด้าน ครูต้อย–นฤมล ตันติสัจจธรรม ซึ่งเป็นครูสอนเทคนิคศิลปะ ก็มาร่วมขยายให้ฟังถึงการเรียนรู้ร่วมกันและการลองผิดลองถูกเรื่องการเพนต์งานบนพื้นผิวกาบกล้วย ซึ่งแสดงให้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ ในการทำโปรเจกต์นี้ได้เป็นอย่างดี
“เราได้กาบกล้วยมาเป็นแผ่นๆ แล้วให้เด็กวาดสดลงไป แต่ด้วยความที่พื้นผิวของกาบกล้วยเป็นโทนสีน้ำตาล ถ้าวาดด้วยสีที่บีบจากหลอดมันจะดูโดดไป ไม่เข้ากับกาบกล้วยที่เป็นสีธรรมชาติ เราเลยผสมสีน้ำตาลและสีขาวลงในสีอะคริลิกทุกสีเพราะทำให้ภาพดูเด่นขึ้น
“ส่วนขั้นตอนการวาด ตอนแรกเราให้เด็กๆ ใช้ปากกาตัดเส้น แต่พอวาดลงกาบกล้วยแล้วมันขาดง่าย และอีกอย่างคือเวลามือไปโดนแล้วหมึกเลอะ ทั้งๆ ที่เป็นปากกากันน้ำ เลยลองเปลี่ยนมาใช้เป็นพู่กันเบอร์ศูนย์พิเศษซึ่งปลายเล็กมากๆ ลงสีอะคริลิกแทนปากกา ไม่นานเด็กๆ ก็วาดถนัดมือ
“ตอนหลังเรามาหาวิธีแก้เมื่อหมึกปากกาหลุดลอก คือลองลงสีทองอะคริลิกทับเพื่อเคลือบปากกาไปอีกชั้น สรุปว่าหมึกไม่ลอก คนเห็นก็ชอบเพราะเก๋มากและดูเป็นไทยด้วย นี่เป็นตัวอย่างว่ากระเป๋าที่เพนต์ตอนแรกอาจมีข้อผิดพลาดบ้างแต่เราจะไม่ทิ้ง ครูจะช่วยปรับกับเด็กๆ เราจะเพนต์ลายทับลงไป หรือปรับแต่งบางส่วนให้ดูสวยและไม่ต้องกลายเป็นขยะ” ครูต้อยอธิบายถึงวิธีการทำงาน พร้อมยืนยันว่ากาบกล้วยที่น้องๆ เพนต์ไป แม้จะผิดพลาดบ้าง แต่เมื่อลองปรับแก้ร่วมกันก็ไม่มีเหลือทิ้งเลยแม้แต่แผ่นเดียว
นี่เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ทั้งคุณครูและน้องๆ ศิลปินในโครงการภาคภูมิใจ และจะเป็นประจักษ์พยานสำคัญที่ทำให้เห็นว่าคุณค่าและฝีมือของเด็กออทิสติกนั้นไม่ถูกมองข้าม ทุกฝีแปรงและเส้นสายจากปลายพู่กันของน้องๆ จะบ่งบอกได้ว่า พวกเขาคือมนุษย์ที่มีศักยภาพและไม่ถูกม่านแห่งมายาคติเรื่องความบกพร่องมาบดบังความสามารถอีกต่อไป