นั่งไทม์แมชชีนดูงานศิลปะไทยในประวัติศาสตร์ กับนิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ เยือนย้อนหลังหอศิลป พีระศรี

นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสการเดินทางมาถึงประเทศไทยครบรอบ 100 ปี (พ.ศ. 2466) ของ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี (15 กันยายน พ.ศ. 2435 – 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) บิดาศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร และเป็นผู้ริเริ่มการสร้างหอศิลปะสาธารณชนแห่งแรกของประเทศไทย คือ หอศิลป พีระศรี จึงนับเป็นปีครบรอบสำคัญของวงการศิลปะไทย

หอศิลป พีระศรี เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์และวิสัยทัศน์ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี โดยในยุคที่ประเทศไทยยังขาดการส่งเสริมศิลปะ และขาดสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่เรียกว่าหอศิลป์ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้ริเริ่มโครงการหอศิลป์ เพื่อให้เป็นสถาบันที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนสังคมและศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย แต่ท่านก็ถึงแก่กรรมก่อนที่จะได้มีการสร้างหอศิลป์ 

อย่างไรก็ตาม โครงการได้มีการสานต่อโดยกลุ่มผู้อุปถัมภ์และรักศิลปะ ร่วมจัดตั้ง ‘มูลนิธิหอศิลป พีระศรี’ เพื่อระดมทุนและก่อสร้างศูนย์รวมศิลปะสมัยใหม่ขึ้นมา และเป็นอนุสรณ์ให้แก่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2517 จนถึงปี พ.ศ. 2531

นับว่าเป็นสถาบันที่มีการนำเสนอนิทรรศการและกิจกรรมทางศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่ดำเนินงาน ได้จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ รวมไปถึงละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี และการแสดงอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นิทรรศการศิลปะรูปแบบขนบไปจนถึงรูปแบบใหม่ล้ำสมัยของศิลปินระดับโลกและศิลปินไทย ทั้งที่เป็นศิลปินอาวุโสไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ในขณะนั้น จนทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหมายเป็นอย่างยิ่งในฐานะหอศิลป์ของสาธารณชนแห่งแรก งานต่างๆ ที่จัดขึ้นที่ หอศิลป พีระศรี สะท้อนสภาวะของสังคมไทยในขณะนั้น และสร้างแนวทางความต่อเนื่องของศิลปะที่สืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน 

ทั้งนี้นิทรรศการจัดขึ้นเพื่อตระหนักถึงความสำคัญของ หอศิลป พีระศรี และสร้างความสนใจศึกษาถึงการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของหอศิลป พีระศรี ผ่านนิทรรศการจดหมายเหตุและผลงานศิลปะ เพื่อเป็นฐานความรู้และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ ต่อยอด และเผยแพร่สู่สาธารณชนในวงกว้าง

การเดินทางเข้ามาสู่สยามของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายราชสำนักสยามที่แสวงหาผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้ ในสรรพวิชาการจากโลกตะวันตกเข้ามาทำการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อป้องกันต้านทานการล่าอาณานิคมที่เริ่มตั้งเค้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 อีกทั้งชนชั้นนำสยามต้องทำการปรับตัวในด้านต่างๆ
‘ศิลปะนามธรรม’ เริ่มปรากฏให้สังคมไทยได้รู้จักพบเห็นหลังการเสียชีวิตของศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี (14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) จนเกิดเป็นข้อขัดแย้งระหว่างกลุ่มศิลปินหัวใหม่และหัวเก่าในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 15 พ.ศ. 2507 โดยมีกลุ่มศิลปิน 14 คนขอถอนตัวออกจากการแสดงครั้งนี้ เนื่องจากไม่พอใจผลการตัดสินที่ให้รางวัลเหรียญทองกับผลงานแนวจิตรกรรมประเพณี แต่ผลงานสมัยใหม่หลายชิ้นถูกปฏิเสธการได้รับรางวัล
เมื่อศิลปะแบบตะวันตกเริ่มไหลบ่าสู่การรับรู้ของสังคมไทย ศิลปะแบบประเพณีโบราณดั้งเดิมจึงถูกละเลยมองข้าม คนเรียนศิลปะวัยหนุ่มสาวไม่นิยมสนใจ แม้ ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี จะบรรจุแทรกวิชาศิลปะประเพณีไทยเข้าไว้ในหลักสูตร ก็ไม่สามารถกระตุ้นเร้าให้เกิดความสนใจเป็นวงกว้างได้ มีเพียงคนทำงานศิลปะดังเช่น อังคาร กัลยาณพงศ์, พิชัย นิรันต์, ช่วง มูลพินิจ, ถวัลย์ ดัชนี และ จักรพันธ์ุ โปษยกฤต ที่นำคุณลักษณะเด่นของงานศิลปะประเพณีไทยมาผสมผสานเข้ากับศิลปะตะวันตก เพื่อพัฒนา ประยุกต์ คลี่คลาย สร้างสรรค์ผลงานให้แตกต่างไปจากยุคอดีต
หอศิลป พีระศรี ในช่วง พ.ศ. 2528 เป็นช่วงปีที่มีความเคลื่อนไหวคึกคักอย่างมาก เต็มไปด้วยศิลปะเชิงทดลองในนิทรรศการและกิจกรรมทางศิลปะแนวล้ำยุคของกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้า สะท้อนความคิดในการต่อต้านความงามตามขนบ ‘เวทีสมั่ย’ เป็นกิจกรรมนัดพบทางศิลปะที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ โดยเล็งเห็นถึงแนวทางสร้างงานใหม่ในช่วงนั้นที่จะไม่แขวนบนผนังอีกต่อไป สมควรมีเวทีให้กับศิลปินสร้างงานที่แตกต่างแหวกแนว เปิดโอกาสให้ศิลปินแขนงต่างๆ ก้าวขึ้นมาแสดงความสามารถร่วมกัน ทดลองทำงาน และสร้างประสบการณ์ใหม่ได้อย่างอิสระ
ในเวลากลางวันหอศิลป พีระศรี เป็นสถานที่แสดงงานศิลปะ แต่ในเวลากลางคืนก็ได้กลายเป็นที่จัดงานคอนเสิร์ตและละครอีกด้วย การจัดรายการเหล่านี้มีผลกับการเพิ่มจำนวนผู้เข้าชมที่มาเยือนหอศิลป พีระศรี และเป็นการสร้างรายได้ไปในตัวอีกด้วย ความคึกคักของละครเวที หอศิลป พีระศรี ได้นำเสนอผลงานของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว กลุ่มสองแปด กลุ่มซูโม่ และการจัดละครไนท์สปอตเรื่อง ‘ลอดิลกราช’ ของภัทราวดี มีชูธน เป็นต้น

นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ เยือนย้อนหลังหอศิลป พีระศรี – โครงการ 100 ปี คอร์ราโด เฟโรชี (ศิลป พีระศรี) ถึงสยาม จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิหอศิลป พีระศรี และ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หัวหน้าทีมภัณฑารักษ์: ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ทีมภัณฑารักษ์: นำทอง แซ่ตั้ง, ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร, สิทธิธรรม โรหิตะสุข และ ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ

ชัชชัญญา หาญอุดมลาภ

ช่างภาพสายกิน ที่ถ่ายรูปได้นิดหน่อย แต่กินได้เยอะมาก

ณัฐนิชา หมั่นหาดี

บอกกับตัวเอง รักงานให้เหมือนกับที่รักเธอ