พิพิธภัณฑ์แห่งแรกในโลก
ว่ากันว่า พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 500-600 ปีก่อนคริสตกาล ในช่วงเวลาที่อารยธรรมเมโสโปเตเมียหรือบาบิโลนเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่ก็มีบางทฤษฎีบ่งชี้ว่ากรุงโรม เป็นสถานที่แรกซึ่งมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น
ในกรุงโรมสมัยก่อนคริสตกาล คำว่า ‘Museum’ ไม่ได้มีความหมายดังเช่นปัจจุบัน หากแต่เป็นสถานที่สำหรับการถกปัญหาทางปรัชญา พิพิธภัณฑ์แห่งแรกซึ่งมีลักษณะคล้ายกับมิวเซียมของโลกในตอนนี้คือ สถานที่เก็บคอลเลกชันศิลปะของตระกูล Medici ในกรุงฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อประมาณศตวรรษที่ 15
กรุงฟลอเรนซ์ในขณะนั้นเฟื่องฟูทั้งด้านวิทยาการและงานศิลป์ Leonardo Da Vinci ตัวพ่อแห่งวงการวิทยาศาสตร์และศิลปะโลกเอง ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สร้างความก้าวหน้าของศาสตร์และศิลป์ในช่วงเวลาที่กรุงฟลอเรนซ์มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุด
เมื่อเมืองเต็มไปด้วยวัตถุมีค่าและงานศิลปะซึ่งเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง สถานที่จัดเก็บวัตถุเหล่านั้นจึงมีความจำเป็นขึ้นมาอย่างยิ่งยวด

กรุงเทพฯ ยุค 90 หรือว่ายุคต้มยำกุ้ง
ยุค 90 เป็นช่วงเวลาที่ดนตรี ภาพยนตร์และศิลปะของโลก มีความเอกลักษณ์และได้รับการกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้
โลกมีนักร้องหญิงที่เป็นไอคอนระดับโลกอย่าง Björk ซึ่งมาจากดินแดนแห่งแสงเหนือของโลกอย่างไอซ์แลนด์ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของสหราชอาณาจักรสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมั่งคั่ง สถานีโทรทัศน์ MTV ของสหรัฐอเมริกาเป็นสื่อหลักทางด้านดนตรีของโลก วงการฮอลลีวูดสร้างภาพยนตร์อมตะตลอดกาลที่ยังคงมีให้ชมมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับประเทศไทย การมีอยู่ของค่ายเพลงแกรมมี่ คีตา และ RS ในช่วงเวลาก่อนเกิดวิกฤตกาลต้มยำกุ้ง ช่วยสร้างแรงขยับให้กับแวดวงศิลปะและวัฒนธรรมของไทย นักร้องนักดนตรีหน้าใหม่อย่างธงไชย แมคอินไตย์ กระตุ้นให้ความสนใจในการนำเข้าความเป็น ‘ฝรั่ง’ แพร่หลายไปในระดับแมส และค่ายเพลงน้องใหม่ในเวลาต่อมาอย่าง Bakery Music สร้างความแปลกใหม่ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอยู่ที่ใจกลางสยามสแควร์
ดนตรีซึมซาบเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่ การสร้างผลงานเพลงเป็นความฝันของวัยรุ่น วงดนตรีในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกรุ่นเดอะของไทยในตอนนี้อย่าง ‘โมเดิร์นด็อก’ เองก็เป็นหนึ่งในนั้น
บรรยากาศการสร้างสรรค์เกิดขึ้นโดยมีสยามสแควร์เป็นศูนย์กลาง ดนตรี แฟชั่น และการออกแบบ เริ่มเข้ามาอยู่ในจังหวะชีวิต
แล้วศิลปะล่ะ? อยู่ที่ไหนในลมหายใจของผู้คน?
มองไปรอบๆ กายในเวลานั้น คำว่า ‘ศิลปะ’ เป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลจากชีวิตผู้คน จนมองแทบไม่เห็น
ในสายตาของคนส่วนใหญ่ ศิลปะเป็นเพียงการวาดเส้น ลงสีหรือว่าแสงเงา ไม่ได้รับความสนใจดังเช่นในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมด้านอื่นๆ กำลังมาแรงที่สุดในภูมิภาค…

หอศิลปกรุงเทพฯ
ความคิดในการสร้างหอศิลปกรุงเทพฯ เกิดขึ้นในยุค 90 ซึ่งเป็นเวลาไม่กี่ปีก่อนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540
กรุงเทพฯ ในเวลานั้นมีความพร้อมในด้านวัฒนธรรมดนตรีและแฟชั่น ส่วนสาขาการออกแบบก็กำลังเป็นที่จับตามอง เรียกได้ว่ามีศักยภาพไม่แพ้ประเทศใด แต่ไทยเรากลับไม่มีเวทีให้งานศิลป์ได้แจ้งเกิดเลย…
การยกระดับงานอาร์ตในกรุงเทพฯ และประเทศไทย ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในโลก จึงเป็นอีกภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้ลุล่วง แต่กว่าจะจัดตั้งหอศิลปกรุงเทพฯ หรือว่า Bangkok Art and Culture Center (BACC) ได้ก็อีก 11 ปีให้หลัง หรือว่าเมื่อปีพ.ศ. 2551
ด้วยความที่เคยมีหน้าที่การงานด้านเนื้อหาในศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือที่คุ้นหูในชื่อ ‘Creative Economy Agency (Public Organization): CEA’ ตัวเราจึงมองว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ ‘ศิลปะ’ ไม่ใช่ปัจจัย 4 หรือว่าสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จึงมักมี ‘สิ่งอื่นๆ’ ที่รีบด่วน รีบเร่ง สำคัญ และจำเป็นมากกว่าศิลปะเสมอ อีกทั้งนิยามของคำว่า ‘ศิลปะ’ ยังมีความเป็นนามธรรมอยู่ค่อนข้างมาก บางมุมอาจจับต้องได้ยาก การวัดผลว่าการลงทุนใน ‘ศิลปะ’ มีความคุ้มค่าหรือไม่ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
หากรัฐลงทุนในสิ่งที่ยังมีความคลุมเครือ และไม่สามารถวัดผลออกมาเป็นรูปธรรมและชัดเจนได้ ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจะเป็นอะไร?
อาคารที่ก่อสร้างอย่างไร้ความหมายหรือ???
ความคิดเห็นต่างมุมในเรื่องการสร้างหอศิลปกรุงเทพฯ จึงมีมาตลอด แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ‘ศิลปะและวัฒนธรรม’ เป็นช่วยเติมเต็มชีวิตมนุษย์ให้สมบูรณ์ขึ้น
Maslow บิดาแห่งจิตวิทยายุคใหม่ พูดถึงลำดับขั้นความต้องการซึ่งอยู่สูงไปกว่าความต้องการพื้นฐานของดำรงชีวิตมนุษย์ คือ ความต้องการด้านสังคม (Social Needs) ความต้องการเห็นคุณค่าของตนเอง (Self-Esteem needs) แล้วลำดับขั้นสูงสุดก็คือ ความต้องการบรรลุความหมายและการมีชีวิตตามอุดมคติ (Self Actualization)
ด้วยความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและชุมชน ให้คุณค่ากับตนเองและการได้รับการยอมรับ รวมทั้งการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงทำให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น

หอศิลปกรุงเทพฯ จึงสร้างขึ้นมาด้วยความมุ่งหมายที่จะประกาศศักยภาพความเป็นสากลของกรุงเทพฯ และเติมเต็มความเป็นมนุษย์ในเชิงศิลปะ และด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบใหม่ (Modern Architecture) ที่เน้นความลื่นไหล (Flow) ของพื้นที่ แสงแดด อากาศ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ บทสนทนาระหว่างชีวิตชีวาของเมือง ศิลปะ และผู้คน จึงเกิดขึ้นอย่างงดงาม ผ่านกำแพงสีขาวซึ่งพร้อมสำหรับติดตั้งงานศิลป์ บันไดเวียนขึ้นไปยังชั้นบนสุด แสงแดดส่องลงบนพื้นที่ในแต่ละชั้น ลานด้านหน้ารองรับการใช้งานที่หลากหลาย
ทั้งหมดขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้ไปข้างหน้า ในฐานะเมืองหลวงแห่งศิลปะและวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
แต่ละวันประตูของหอศิลป์ BACC เปิดกว้างต้อนรับทุกคนเข้ามาชมนิทรรศการและการจัดแสดงต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
