‘ศิลปะเมื่อคราห่าลง’ เบื้องหลังภาพวาดดังที่บันทึกโรคระบาดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์

Highlights

  • นอกจากศิลปะจะมีไว้เพื่อสุนทรียะ ศิลปะยังเป็นเครื่องมือชั้นดีในการบันทึกเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เช่น ภาพวาดของศิลปินชื่อดังมากมายที่บันทึกโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลกไว้อย่างสวยงามและทรงพลัง
  • ภาพวาดเหล่านี้ถ่ายทอดทั้งแง่มุมเชิงสังคมและปัจเจก เช่น ภาพ The Triumph of Death (1562) ที่แสดงภาพผู้คนล้มตายเพราะโรคระบาดในยุคกลาง ในขณะที่ภาพ Self-Portrait With Spanish Flu (1919) เล่าเรื่องส่วนตัวของ Edvard Munch ระหว่างที่กำลังเผชิญกับไข้หวัดสเปน

ในช่วงเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่หาทางหยุดยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดและกำจัดเชื้อโรคร้ายแล้ว ผู้คนในแทบทุกวงการต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันรับมือกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ระดับโลกในครั้งนี้ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการบันทึกเรื่องราว บอกเล่าเหตุการณ์ และสื่อสารสถานการณ์ในวงกว้างได้อย่างทรงพลัง

ในความเป็นจริงโรคระบาดไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมนุษย์ ในประวัติศาสตร์ มนุษยชาติเผชิญหน้าภัยพิบัติเช่นนี้เรื่อยมาในทุกยุคสมัย ทั้งกาฬโรค โรคห่าหรืออหิวาตกโรค โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และไข้หวัดใหญ่สเปนที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายมหาศาล

นอกจากเหตุการณ์เหล่านี้จะถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ศิลปินในอดีตหลายคนต่างก็ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวและถ่ายทอดสถานการณ์เหล่านั้นให้ผู้คนได้รับรู้ผ่านงานศิลปะเสมอมา เช่นผลงานของศิลปินเหล่านี้ที่เล่าเรื่องโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลกไว้อย่างน่าสนใจ

 

Josse Lieferinxe

เริ่มต้นด้วยผลงาน Saint Sebastian Interceding for the Plague Stricken (1497-1499) ภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้ที่แสดงเรื่องราวของนักบุญเซบาสเตียน นายทหารโรมันและนักบุญมรณสักขีในศาสนาคริสต์ผู้มีชีวิตในช่วงคริสต์ศักราช 300 นักบุญเซบาสเตียนถูกธนูยิงใส่จนพรุนทั้งตัวและถูกทุบตีจนตาย (ศิลปินมากมายจึงวาดภาพนักบุญเซบาสเตียนพิงต้นไม้และถูกธนูปักทั่วร่าง) ด้วยความที่เขารอดตายจากการถูกธนูกระหน่ำยิง และรอยบาดแผลที่หลงเหลือจากลูกศรก็เป็นรูพรุนคล้ายกับแผลของโรคฝีดาษ นักบุญเซบาสเตียนจึงถูกบูชาในฐานะสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครองจากโรคร้าย

รายละเอียดในภาพวาด Saint Sebastian Interceding for the Plague Stricken แสดงถึงเหตุการณ์การระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 7 ที่เกิดขึ้นที่เมืองปาเวียของอิตาลี หลังจากที่นักบุญเซบาสเตียนตายไปหลายศตวรรษแล้ว

ภาพนี้เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่เป็นประจักษ์พยานความสยดสยองของกาฬโรค หรือ ‘มฤตยูดำ’ ที่โจมตียุโรปเป็นเวลาหลายศตวรรษ  ศพของเหยื่อในภาพผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคกำลังจะถูกฝังในขณะที่ผู้ช่วยสัปเหร่อถูกจู่โจมโดยเชื้อโรคร้ายอย่างฉับพลัน (ถ้าสังเกตในภาพจะเห็นต่อมน้ำเหลืองบวมโตที่คอของเขาซึ่งเป็นอาการของโรคนี้) ในขณะที่บนท้องฟ้าเบื้องบนปรากฏภาพของนักบุญเซบาสเตียนกำลังคุกเข่าอ้อนวอนต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าให้ทรงเมตตาต่อมวลมนุษย์ที่กำลังทุกข์ทรมานกับโรคร้าย ต่ำลงมามีภาพเทวทูตและปีศาจกำลังสู้รบกันอยู่บนท้องฟ้า

อันที่จริง จิตรกรชาวดัตช์ตอนใต้ผู้วาดภาพนี้อย่าง Josse Lieferinxe ไม่เคยไปอิตาลีเลยสักครั้ง หากแต่วาดภาพนี้โดยอ้างอิงจากเหตุการณ์โรคระบาดในเมืองอาวีญง ประเทศฝรั่งเศสแทน นอกจากภาพนี้แล้ว ลีเฟอริงเซยังวาดภาพนักบุญเซบาสเตียนต่อสู้กับโรคระบาดอีกหลายภาพ 

Josse Lieferinxe, Saint Sebastian Interceding for the Plague Stricken (1497-1499)

Pieter Bruegel the Elder

ไม่ถึงศตวรรษหลังจากนั้น Pieter Bruegel the Elder จิตรกรคนสำคัญแห่งยุคเฟลมมิชเรอเนซองซ์ในศตวรรษที่ 16 ก็วาดภาพ The Triumph of Death (1562) ที่แสดงถึงความโกลาหลวุ่นวายและความหวาดผวาต่อโรคระบาดที่จู่โจมยุโรปในยุคกลางอย่างรุนแรงและคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายมหาศาล

Pieter Bruegel the Elder, The Triumph of Death (c. 1562), Museo del Prado, Madrid

 

William Blake

ศิลปินระดับตำนานชาวอังกฤษ อย่าง William Blake เองก็วาดภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน (Great Plague of London) ในช่วงปี 1665-1666 เชื้อในครั้งนั้นเชื่อกันว่าเป็นเชื้อกาฬโรคที่ทำให้ชนชั้นนำและเศรษฐีมีเงิน ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์ชาร์ลที่ 2 ต่างก็ละทิ้งเมืองหลวง หนีโรคภัยออกไปอยู่ในชนบท ทิ้งคนยากคนจนเป็นเหยื่อโรคระบาด ประมาณการว่าโรคร้ายครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปราว 75,000-100,000 คน หรือราวหนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมดของกรุงลอนดอนในเวลานั้น 

ในช่วงปี 1779-1805 เบลคสร้างสรรค์ผลงานชุด ‘The Plague’ หรือ ‘Pestilence’ ที่บันทึกเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นก่อนยุคสมัยของเขาออกมาหลายต่อหลายภาพ ทั้งภาพวาดสีน้ำกับปากกาหมึกซึม และภาพวาดเส้นดินสอถ่าน ถ่ายทอดความน่าสะพรึงกลัวของโรคร้ายและความโศกเศร้ารันทดจาการสูญเสียได้อย่างสะเทือนอารมณ์

นอกจากนี้เขายังทำงานวาดภาพสีน้ำกับปากกาหมึกซึมทับบนดินสอถ่านบนกระดาษ อย่าง Pestilence: Death of the First Born (1757-1827) ที่ใช้รูปกายของอสูรกายยักษ์ร่างกายสีเขียวส่องประกายแสงแห่งความตายแทนภาพโรคร้ายที่เหยียบย่างผ่านร่างผู้คนเจ็บไข้และล้มตายในดินแดนที่มีพีระมิดอยู่เบื้องหลัง ภาพวาดนี้อ้างอิงมาจากภัยพิบัติสุดท้าย ‘มรณกรรมของบุตรหัวปี’ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม หนังสืออพยพ ซึ่งคือการที่พระผู้เป็นเจ้าสาบแช่งให้บุตรคนแรกของชาวอียิปต์ต้องตายลงทุกคน แม้แต่บุตรของฟาโรห์ก็ตาม เบลคเปรียบเปรยเหตุการณ์ในพระคัมภีร์กับภัยพิบัติโรคระบาดที่ถูกอุปมาว่าเป็นอสูรกายที่พระผู้เป็นเจ้าส่งมาลงโทษมวลมนุษย์ ในยุคสมัยที่เชื้อโรคยังไม่ถูกค้นพบนั่นเอง

William Blake, Pestilence (1780-84) Courtesy of Robert N. Essick, Altadena, California.

William Blake, Pestilence (1805) Courtesy of Museum of Fine Arts, Boston.

William Blake, Pestilence: Death of the First Born (1757–1827)

 

Egon Schiele

ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 โลกต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาดที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ โดยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 500 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกและมีผู้เสียชีวิตถึง 40 ล้านคนทั่วโลก 

การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทั่วโลกให้หยุดนิ่งไม่ต่างจากจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ทั้งโรงเรียน โบสถ์ ที่ทำการไปรษณีย์ และสถานที่สาธารณะต้องปิดทำการ ระบบการคมนาคมขนส่งทั่วยุโรปต่างชะงักงัน

ศิลปินในยุคนั้นหลายคนต่างตกเป็นเหยื่อของไข้หวัดใหญ่สเปน บางคนถึงกับต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือจิตรกรชาวออสเตรีย-ฮังการีผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 อย่าง Egon Schiele นั่นเอง

ในช่วงปี 1918 อีกอน ชีเลอ ในวัย 28 กำลังอยู่ในช่วงเวลารุ่งโรจน์ เขาเป็นหนึ่งในศิลปินดาวรุ่งที่อายุน้อยที่สุดในยุคนั้น และประสบความสำเร็จทั้งด้านชื่อเสียงและเงินทอง เขาได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลให้แสดงงานในต่างประเทศหลายครั้ง มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในโลกศิลปะระดับสากล และกำลังจะเปิดสถาบันสอนศิลปะที่เขาเคยใฝ่ฝันมานาน

แต่น่าเสียดายที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จของเขาช่างแสนสั้น เพราะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1918 โรคไข้หวัดใหญ่ในสเปนที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20 ล้านชีวิตในยุโรปได้ระบาดมาถึงกรุงเวียนนา และชีเลอกับครอบครัวก็ตกเป็นเหยื่อของโรคนี้

ในจดหมายฉบับสุดท้ายที่เขียนถึงแม่ของเขา ชีเลอบรรยายถึงความกังวลใจเกี่ยวกับ Edith ภรรยาท้องแก่ผู้กำลังเป็นโรคร้ายนี้ ความในจดหมายเขียนว่า 

“เรียนคุณแม่ชีเลอที่รักยิ่ง, อีดิทป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 8 วันที่แล้ว ตอนนี้เธอกำลังทุกข์ทรมานจากอาการปอดอักเสบในขณะที่เธอกำลังตั้งท้อง 6 เดือน โรคนี้ช่างรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต ตอนนี้ผมกำลังเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด”

และในวันที่ 28 ตุลาคม อีดิทผู้กำลังตั้งครรภ์ได้ 6 เดือนก็เสียชีวิตจากโรคนี้ไปพร้อมกับลูกในท้อง ชีเลอเองติดโรคและเสียชีวิตตามไปในเวลาเพียง 3 วันหลังจากนั้นด้วยวัยเพียง 28 ปี ในช่วงเวลา 3 วันก่อนที่เขาจะสิ้นชีวิต เขาสเกตช์ภาพใบหน้าไร้ชีวิตของอีดิทเอาไว้หลายภาพ 

Egon Schiele, Portrait of the Dying Edith Schiele (1918)

นอกจากภาพสเกตช์เหล่านี้ ชีเลอยังมีผลงานชิ้นสุดท้ายที่ยังวาดไม่เสร็จอย่าง The Family (1918) (หรือในชื่อเดิมว่า Squatting Couple ‘คู่รักนั่งยองๆ’) ภาพวาดสีน้ำมันอันงดงามแต่แฝงไว้ด้วยความรันทด แสดงภาพเปลือยของเขาและภรรยากับลูกชายผู้ไม่มีโอกาสลืมตาดูโลก เป็นภาพของครอบครัวอันสมบูรณ์พร้อมหน้าที่ไม่มีวันเป็นไปได้ในความเป็นจริง (อันที่จริงเด็กในภาพคือหลานชายของอีกอน และอีดิทเองก็ไม่ได้เป็นแบบให้เขาวาดภาพนี้ เพราะขณะนั้นเธอกำลังท้องอยู่) 

ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นาน ชีเลอได้ไปเยี่ยม Gustav Klimt ศิลปินรุ่นพี่ชาวออสเตรียผู้ยิ่งใหญ่ผู้เป็นเสมือนอาจารย์ของเขาเป็นครั้งสุดท้ายหลังจากที่คลิมต์เสียชีวิตจากอาการเส้นโลหิตในสมองแตกเฉียบพลัน นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อกันว่าเป็นอาการข้างเคียงจากโรคไข้หวัดสเปน ชีเลอเองก็ได้สเกตช์ภาพใบหน้าไร้ชีวิตของคลิมต์เอาไว้ด้วยเช่นกัน

Egon Schiele, The Family (1918)

Egon Schiele, Gustav Klimt on his death bed (1918)

 

Edvard Munch

แม้แต่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวนอร์เวย์อย่าง Edvard Munch ผู้เป็นที่รู้จักจากภาพวาด The Scream (1893) อันหลอนหลอก ที่เป็นไอคอนของโลกศิลปะสมัยใหม่ ก็เป็นอีกคนที่ตกเป็นเหยื่อของไข้หวัดใหญ่สเปนแต่รอดชีวิตมาได้ ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวเอาไว้ว่า 

“ความป่วยไข้ ความวิกลจริต และความตาย คอยเฝ้ามองผมมาตั้งแต่เกิด และคอยติดตามผมมาตลอดชีวิต”

มุงก์บันทึกช่วงเวลาก่อนและหลังการป่วยจากไข้หวัดใหญ่สเปนลงในภาพวาดสีน้ำมันของเขาสองภาพ อย่างภาพ Self-Portrait With Spanish Flu (1919) ที่จับความรู้สึกเจ็บป่วยทรุดโทรมจากโรคร้ายของเขา ร่างกายซูบซีดจนแทบจะกลืนไปกับผนังห้อง เขาหันใบหน้าอ่อนล้ามามองผู้ชมด้วยดวงตาเลือนราง ปากเปิดอ้า มือไม้ไร้เรี่ยวแรงวางอยู่บนผ้าคลุมบนตัก เขาสวมเสื้อคลุมนั่งอยู่บนเก้าอี้หวายสีเหลืองอยู่ในห้องคนป่วย ข้างๆ เป็นเตียงนอนกับผ้าห่มยับยู่ยี่ที่บ่งบอกถึงอาการดิ้นทุรนทุราย ร่องรอยแดงบนผนังเองก็บอกใบ้ถึงอาการไข้สูงของเขา การวาดภาพผ้าห่ม เตียงนอน และเก้าอี้ ด้วยสีสันสดใส ตรงกันข้ามกับสีสันที่ซีดจางของร่างกายของเขา ขับเน้นให้เห็นถึงความไร้ชีวิตชีวาของมุงก์ได้เป็นอย่างดี 

หลังฟื้นจากการป่วยไข้ไม่นาน มุงก์บันทึกภาพตัวเองอีกครั้งใน Self-Portrait After The Spanish Flu (1919) ที่เขาสำรวจตัวเองในกระจก ถึงแม้ใบหน้าจะซูบผอม หนวดเครารกรุงรัง เบ้าตาลึกโหล แต่ก็มีสีสันและชีวิตชีวากว่าภาพตอนที่ป่วยอยู่มากโข รวมถึงสภาพในห้องที่เต็มไปด้วยแสงสว่างจ้า พื้นปูพรมสีสันสดใส เก้าอี้หวายว่างเปล่าไร้คนป่วย และโต๊ะที่เต็มไปด้วยหนังสือ แสดงให้เห็นถึงภาพในชีวิตประจำวันของเขาที่กลับสู่สภาวะปกติในที่สุด

Edvard Munch, The Scream (1893)

Edvard Munch, Self-Portrait with the Spanish Flu (1919)

Edvard Munch, Self-Portrait After the Spanish Flu (1919)

 

ลงานทั้งหลายเหล่านี้ต่างเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาลำบากยากเข็ญและเปี่ยมอันตราย มนุษย์เราก็ยังคงไม่ขาดไร้ซึ่งสุนทรียะ และสามารถใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงความจริงได้อย่างทรงพลังยิ่งเสมอมา

AUTHOR