ทางออกอยู่ตรงไหนและโรคระบาดสิ้นสุดอย่างไรในอดีต : ว่าด้วยโรคระบาดในประวัติศาสตร์โลก

Highlights

  • มนุษยชาติเผชิญการระบาดใหญ่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสีย แต่บางครั้งก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของระบบสังคม ความเชื่อ ไปจนถึงศิลปวิทยาการ
  • การระบาดใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปได้ไกลกว่า 8,000 ปีก่อนคริสตกาล อย่างโรคฝีดาษ ที่พบในมัมมี่ของฟาโรห์อียิปต์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี
  • ในช่วงศตวรรษที่ 14 กาฬโรคแพร่จากเอเชียไปยังยุโรปจนทำให้เกิดการสั่งกักตัวครั้งแรกของโลก โดยการปิดเมืองและท่าเรือเพื่อกักตัวประชาชนไม่ให้สัมผัสกับโรคร้ายจนยุโรปรอดจากการระบาดครั้งใหญ่มาได้

ฝีดาษ กาฬโรค อหิวาตกโรค และบรรดาโรคระบาดทั้งหลาย คือหายนะและความกลัวที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ความเป็นมนุษย์

ในทางศาสนาพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ระบุว่า โรคระบาดคือ 1 ใน 4 จตุรอาชาแห่งวันสิ้นโลก ตำนานเล่าว่าพระผู้เป็นเจ้าจะส่งจตุรอาชาแต่ละตนมาตามลำดับเพื่อใช้ในยามโลกถึงวันพิพากษา เหล่าจตุรอาชาประกอบไปด้วยโรคระบาด (อัศวินขี่ม้าสีขาวที่สวมมงกุฎและถือคันศร) สงคราม (อัศวินขี่ม้าสีแดงและกวัดแกว่งดาบที่มีประกายไฟขนาดใหญ่) ความอดยาก (อัศวินบนม้าสีดำในมือถือตราชั่ง สัญลักษณ์ของความอดอยากทั้งมวล) และความตาย (อัศวินโครงกระดูกขี่ม้าสีเขียวหม่น)

Four Horsemen of the Apocalypse, an 1887 painting by Viktor Vasnetsov.

ในทางวิทยาศาสตร์โรคภัยไข้เจ็บเป็นสิ่งที่วิวัฒนาการมาก่อนการเกิดขึ้นของมนุษยชาติ แบคทีเรียมีวิวัฒนาการราว 3.5 หมื่นล้านปี ไวรัสเกิดขึ้นบนโลกมากกว่า 1.5 หมื่นล้านปี ในขณะที่มนุษย์เพิ่งเริ่มปรากฏตัวบนโลกราว 1.3 แสนปีก่อน 

เมื่อโรคร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศใดประเทศหนึ่ง กระทั่งกระจายตัวไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เราเรียกสิ่งนี้ว่า โรคระบาด (epidemic) และเมื่อการระบาดกระจายตัวข้ามทวีปจนกลายเป็นสิ่งที่มีร่วมกันทั่วโลก เรายกระดับความรุนแรงของอุบัติการณ์ด้วยชื่อใหม่ที่เรียกว่า การระบาดใหญ่ (pandemic) 

มนุษยชาติเผชิญกับการระบาดใหญ่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่ความสูญเสีย แต่บางครั้งนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของระบบสังคม ความเชื่อ ไปจนถึงศิลปวิทยาการ โรคระบาดไม่เพียงส่งผลต่อชีวิตประจำวัน แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่าสงครามและความขัดแย้ง 

การระบาดใหญ่ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปได้ไกลกว่า 8,000 ปีก่อนคริสตกาล เราพบว่าโรคระบาดสำคัญอย่างโรคฝีดาษถูกพบในมัมมี่ของฟาโรห์อียิปต์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี ทุกวันนี้เรากำจัดโรคฝีดาษได้ด้วยการใช้วัคซีนหรือที่เรียกกันว่าการปลูกฝี แต่หลายครั้งที่การระบาดไม่ได้จบลงด้วยดีเสมอไป 

 

กาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) กับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

กาฬโรคแห่งจัสติเนียนตั้งชื่อตามจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ เชื่อกันว่าโรคระบาดนี้มีจุดเริ่มต้นจากประเทศจีน แต่เดินทางข้ามทวีปมาผ่านเส้นทางการค้า

กาฬโรคที่ว่ามาถึงอาณาจักรไบแซนไทน์ใน ค.ศ. 541 โดยมีหมัดที่เกาะอยู่บนหนูเป็นพาหะ และระบาดหนักจากการส่งเสบียงอาหารผ่านทางเมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์ เมื่อโรคร้ายมาถึงกรุงคอนสแตนติโนเปิล (เมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์ ปัจจุบันคือกรุงอิสตันบูลของตุรกี) มีผู้คนเสียชีวิตราว 5,000 คนต่อวัน และส่งผลสำคัญต่อความมั่นคงของอาณาจักรเพราะไม่มีแรงงานพอในการดูแลรักษาประชากรและดินแดนที่มีขนาดใหญ่

ไร่นาที่ปราศจากคนไถหว่านนำมาซึ่งภาวะขาดแคลนทางอาหารครั้งสำคัญ เงินทองที่เก็บไว้ใช้เพื่อทำสงครามขยายอาณาเขตถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมโรคระบาด ผลที่ตามมาคือพรมแดนของอาณาจักรถูกรุกรานและยึดครองโดยเหล่าอนารยชน

คนในยุคนั้นไม่เข้าใจสาเหตุของโรคระบาด โทษว่าเป็นความผิดของจักรพรรดิจัสติเนียนและกล่าวหาว่าพระองค์เป็นปีศาจ ถูกสาปโดยพระผู้เป็นเจ้า การกล่าวโทษลุกลามไปไกลกระทั่งสาปแช่งพระนางทีโอดอรา พระมเหสีของพระองค์ ว่าเป็นผู้นำมาซึ่งโชคร้าย

โอกาสเสียชีวิตจากการติดกาฬโรคแห่งจัสติเนียนสูงมาก คือราว 80 เปอร์เซ็นต์ โรคยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดซึ่งเพิ่มโอกาสเสียชีวิตเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ และหากใครโชคร้ายเจอการติดเชื้อแทรกซ้อนในกระแสเลือด โอกาสที่จะเสียชีวิตอาจกลายเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ทันที 

Emperor Justinian

กาฬโรคแห่งจัสติเนียนระบาดอยู่เพียง 1 ปี (ค.ศ. 541-542) แต่เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวมกันราว 30-50 ล้านคน ประชาชนกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลเสียชีวิต “ผู้คนไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับโรคร้ายยังไง อย่างเดียวที่พวกเขาทำได้คือการหลีกเลี่ยงผู้ป่วยในทุกทาง” Thomas Mockaitis ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย DePaul ในแคลิฟอร์เนีย กล่าว “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการแพร่ระบาดจบลงได้ยังไง เชื่อกันว่าผู้ติดเชื้อบางส่วนรอดชีวิตและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมาหลังประชากรจำนวนมากเสียชีวิต” 

แม้มีหลักฐานเหลืออยู่ไม่มาก แต่นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าโรคระบาดนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการล่มสลายของอาณาจักรไบแซนไทน์ในอีกหลายร้อยปีต่อมา 

Saint Sebastian pleads with Jesus for the life of a gravedigger afflicted by plague during the Plague of Justinian. (Josse Lieferinxe, c. 1497–1499)

 

กาฬมรณะ (Black Death) และการกักตัวครั้งแรกของโลก 

ในช่วงศตวรรษที่ 14 กาฬโรคหรือ Black Death แพร่จากเอเชียมายังยุโรป เชื่อกันว่าโรคนี้มาพร้อมการรุกรานของกองทัพมองโกลโดยมีหนูและเห็บหมัดเป็นพาหะสำคัญ โดยสมัยนั้นทหารมองโกลใช้ศพของทหารที่ป่วยเป็นโรคโยนเข้าไปในเมืองเพื่อให้ประชาชนป่วยตายโดยไม่มียารักษา หลายคนมองว่ากาฬโรคเป็นอาวุธชีวภาพของโลกยุคโบราณ ส่วนที่เรียกกันว่า Black Death เพราะผู้ป่วยมักมีตุ่มหนองสีดำและอาเจียนเป็นเลือดสีดำในระยะสุดท้าย

The Franciscans treating victims of the plague, miniature from La Franceschina, ca 1474, codex by Jacopo Oddi.

ชาวยุโรปที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้องเจอกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตประชากรไปถึง 30-60 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียง 6 ปี โรคนี้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของภูมิภาค แม้การระบาดหนักจะกินเวลาช่วง ค.ศ. 1347-1351 แต่ทำให้ประชากรเสียชีวิตมากถึง 200 ล้านคน และต้องใช้เวลาฟื้นฟูถึงกว่า 200 ปี 

การฝังศพผู้เสียชีวิตจากกาฬมรณะในเมืองตูร์แน ภาพประกอบจากบันทึกของ Gilles Li Muisis อธิการอารามนักบุญมาร์แต็งแห่งตูร์แน

ในเมืองที่มีประชาการหนาแน่นอย่างลอนดอนและปารีส ประชากรกว่าครึ่งติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคระบาด ทำให้เกิดการปิดเมืองและท่าเรือเพื่อกักตัวประชาชนไม่ให้สัมผัสกับโรคร้าย เมืองท่าสำคัญอย่างเวนิสมีมาตรการให้เรือทุกลำกักตัวเป็นเวลา 30 วันก่อนจะแล่นเข้าเทียบท่า ช่วงเวลานี้ถูกระบุในกฎหมายว่า trentino และเมื่อจำนวนวันกักตัวเพิ่มเป็น 40 วัน จึงมีการระบุช่วงเวลากักตัวใหม่ว่า quarantino ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า quarantine (การกักตัว)

ปัจจุบันมาตรการนี้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก และสามารถลดการแพร่กระจายของโรคได้จริง 

Copper engraving of Doctor Schnabel (i.e., Dr. Beak), a plague doctor in seventeenth-century Rome, circa 1656

ในระหว่างนี้ชาวยุโรปเริ่มหมกมุ่นกับศาสนาและศิลปะของความตาย คำว่า memento mori ข้อความในภาษาละตินที่แปลเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆ คือ Remember you will die. หมายถึงความตายจะมาถึงมนุษย์ทุกคน กลายเป็นคติเตือนใจที่เป็นแรงบันดาลใจของงานศิลปะสมัยต่อมา เรียกกันว่า ars moriendi หรือ art of dying well

Death and the Miser, Frans Francken II (1581–1642), Wellcome Collection

Austrian Master. Vanity Portrait of a Lady. 1700s.

กาฬมรณะยังส่งผลสำคัญให้ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ล่มสลาย เพราะผู้คนที่รอดชีวิตมีจำนวนน้อยมากและเหล่าทาสติดที่ดินของขุนนางมีทางเลือกมากขึ้นที่จะทำงานเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า 

Vanitas by Harmen Steenwijck

 

โรคระบาดครั้งใหญ่ในกรุงลอนดอน (Great Plague of London) นโยบายปิดพื้นที่สาธารณะเอาชนะโรคร้ายได้ในที่สุด

กาฬโรคไม่เคยหมดไปจากลอนดอน ในช่วง ค.ศ. 1348-1665 มีการระบาดของกาฬโรคในลอนดอนอย่างน้อย 40 ครั้ง แต่ละครั้งส่งผลให้ประชากรในเมืองหลวงของอังกฤษเสียชีวิตราว 20 เปอร์เซ็นต์

ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1500 อังกฤษผ่านกฎหมายสำคัญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ให้มีการกักแยกผู้ป่วยออกจากสังคม บ้านไหนที่มีผู้ติดเชื้อต้องทำสัญลักษณ์หน้าบ้านโดยนำกองฟางมาติดไว้บนเสา ถ้ามีผู้ป่วยอยู่ในบ้านแต่จำเป็นต้องออกมาทำงานหรือซื้อหาสินค้าต้องถือเสาสีขาว (white pole) เพื่อแสดงตัว 

Scenes in the streets of London during the Great Plague of 1665.

A detail from an 18th-century oil painting depiction of the Dance of Death. WELLCOME IMAGES, LONDON/ CC BY 4.0

กาฬโรคครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายระบาดในลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1665 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากร 1 แสนคนในเวลาเพียง 7 เดือน รัฐบาลตัดสินใจปิดพื้นที่สาธารณะทั้งหมด รวมถึงโรงละคร ผับ บาร์ ร้านอาหาร ผู้ติดเชื้อถูกสั่งให้อยู่ในบ้าน ห้ามออกมาโดยเด็ดขาด บ้านที่มีผู้ป่วยให้ทำสัญลักษณ์เป็นรูปกางเขนสีแดงพร้อมเขียนข้อความ ‘ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงเมตตา’ เพื่อเป็นการขอขมาต่อพระเจ้า โรงเรียนและสถานศึกษาจำนวนมากตัดสินใจปิดทำการและส่งนักศึกษากลับบ้านที่ต่างจังหวัด ผู้คนจำนวนมากย้ายออกจากเมืองใหญ่ กักตัว และทำงานจากบ้าน เพื่อป้องกันโรคระบาดไม่ให้มาถึงตัว 

โชคดีว่านโยบายกักผู้ป่วยและปิดพื้นที่สาธารณะช่วยให้ลอนดอนรอดจากการระบาดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายมาได้ ผู้ที่มีชีวิตผ่านช่วงเวลาสำคัญคือ Sir Isaac Newton ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 

 

โรคฝีดาษ (smallpox) การค้นพบวัคซีนและชัยชนะของมนุษยชาติ

โรคฝีดาษเป็นฝันร้ายของยุโรป เอเชีย และตะวันออกกลาง มาหลายศตวรรษ ผู้ติดโรคมีโอกาสเสียชีวิตถึง 3 ใน 10 และแม้รอดมาได้หลายคนมีแผลเป็นหรือบางรายอาจถึงขั้นตาบอด การระบาดของฝีดาษสร้างผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดในโลกใหม่ เมื่อกองเรือของสเปนในศตวรรษที่ 15 นำโรคที่ว่าเข้าไปในทวีปอเมริกา ส่งผลให้ชาวพื้นเมืองกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เสียชีวิตเพราะไม่มียารักษาและภูมิต้านทาน ประชากรในเม็กซิโกเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เป็นหนึ่งในเหตุผลให้อาณาจักรแอซเท็กล่มสลายและสเปนสามารถเข้าครอบครองโลกใหม่ได้สำเร็จ 

โรคฝีดาษกลับมาระบาดร้ายแรงในยุโรปอีกครั้งช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และกลายเป็นโรคที่พรากชีวิตประชากรในยุโรปมากที่สุด คือประมาณ 4 แสนคนต่อปี ทารก 1 ใน 10 เสียชีวิตจากโรคนี้ก่อนมีอายุครบ 1 ปี และที่สำคัญ​โรคนี้ไม่แบ่งแยกชนชั้นและแพร่ระบาดคร่าชีวิตบุคคลสำคัญของยุค อย่างราชินีแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ และพระสวามี พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 รวมไปถึงน้องสาวของพระองค์ ควีนแอนน์ที่ 1

ฝีดาษยังเป็นสาเหตุของการสวรรคตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งสเปน และพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส บุตรและธิดา 4 ใน 16 คนของพระนางมาเรีย เทเรซา จักรพรรดินีแห่งออสเตรียและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ล้วนสิ้นพระชนม์จากโรคฝีดาษตั้งแต่เด็ก

ในยุคนั้นมีการคิดการป้องกันโรคด้วยการนำเชื้ออ่อนๆ จากผู้ติดโรคมาฉีดให้บุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรงดีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต แต่วิธีนี้อันตรายเพราะ 3 ใน 100 คนของผู้รับเชื้อเสียชีวิตจากโรคฝีดาษ 

Dr. Edward Jenner performing his first vaccination against smallpox on James Phipps, circa 1796.

และแล้วทางสว่างของโรคก็เริ่มปรากฏเมื่อ Edward Jenner นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษสังเกตว่าหญิงรีดนมวัวที่เคยป่วยเป็นไวรัสที่อ่อนกว่าอย่างฝีดาษวัว (cowpox) กลับไม่ป่วยเป็นโรคฝีดาษเหมือนคนทั่วไป เขาสันนิษฐานว่าโรคฝีดาษวัวน่าจะสร้างภูมิคุ้มกันให้มนุษย์ได้ จึงลองสกัดวัคซีนจากเชื้อดังกล่าวฉีดให้กับลูกชายคนทำสวนของตัวเอง ปรากฏว่าเด็กน้อยวัย 9 ขวบมีอาการไข้เพียงไม่กี่วันก็หายดี เจนเนอร์ทดลองต่อไปด้วยการฉีดเชื้อฝีดาษในตัวเด็ก ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่มีอาการป่วยไข้ เขายังทดลองต่อไปอีกหลายครั้งจนแน่ใจ และวัคซีนที่ว่าก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา 

 

อหิวาตกโรค (cholera) และการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลเพื่อป้องกันโรค

ช่วงต้นถึงปลายศตวรรษที่ 19 อหิวาตกโรคระบาดหนักในอังกฤษ มีความเชื่อว่าโรคนี้มีที่มาจากอากาศและการติดเชื้อมาจากการระบายอากาศที่ไม่ดีของกรุงลอนดอน John Snow คุณหมอช่างสังเกตไม่เชื่อทฤษฎีนี้และตั้งสมมติฐานว่าโรคระบาดน่าจะมีที่มาจากระบบน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะของกรุงลอนดอน

เขาทดลองโดยดูแผนที่การแพร่กระจายของโรคและพบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อปรากฏมากเป็นพิเศษในบริเวณปั๊มน้ำแห่งหนึ่ง โดยมีผู้ติดเชื้ออหิวาตกโรคมากถึง 500 คนใน 10 วัน ในสมัยนั้นปั๊มน้ำทำหน้าที่คล้ายบ่อน้ำเพื่อให้ประชาชนในเมืองใหญ่สามารถเข้าถึงน้ำได้โดยไม่ต้องเดินไปตักในแม่น้ำ

A satirical cartoon showing the River Thames and its offspring cholera, scrofula and diptheria, circa 1858.

“หลังจากที่ศึกษาการแพร่กระจายของโรค ผมสงสัยว่าปั๊มน้ำใน Broad Street น่าจะทำให้เกิดการปนเปื้อนบางอย่างและนำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคผ่านทางน้ำ” สโนว์บันทึกไว้หลังจากนำผลการสำรวจไปเสนอผู้ดูแลเขต เขาสามารถโน้มน้าวให้มีการเปลี่ยนปั๊มน้ำได้สำเร็จ และเหมือนเวทมนตร์ผู้ป่วยอหิวาตกโรคลดลงทันทีอย่างมีนัยสำคัญ มีการตรวจหลังจากนั้นและพบว่าน้ำจากแม่น้ำเทมส์ซึ่งเป็นต้นน้ำปนเปื้อนสิ่งสกปรกจากแหล่งชุมชนและโรงพยาบาล ทำให้น้ำที่ถูกนำมาใช้ในปลายทางกลายเป็นศูนย์รวมสิ่งสกปรกและโรคร้าย 

การค้นพบนี้นำไปสู่การปรับปรุงระบบสุขาภิบาลขนาดใหญ่ในกรุงลอนดอน


ภาพปก : Bacchus and Ariadne, Titian, from 1520 until 1523 

อ้างอิง

britannica.com

history.com

nationalinterest.org

weforum.org

youtube.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา