สีฟ้าที่ส่องสะท้อนกับแสงและคลื่นน้ำที่กระเพื่อมอย่างแช่มช้า พ้นไปจากพืชพรรณสีเขียวแล้ว ผืนน้ำและฝูงปลาคือพื้นที่ซึ่งเราจะเข้าไปเพื่อผ่อนคลายและพาใจล่องลอยออกไปจากเมือง
ในซีรีส์เรื่อง Move to Heaven ตัวเอกอย่างฮันกือรู–หนุ่มน้อยผู้รับหน้าที่กิจการทำความสะอาดหลังความตาย มีภาวะแอสเพอร์เกอร์ ซึ่งในเรื่องเราจะเห็นว่ากือรูมักใช้เวลาโดยเฉพาะในยามวิกฤตของชีวิตอยู่ในอควาเรียม ร่างกายของกือรูจะถูกอาบไปด้วยเงาสะท้อนสีฟ้าและจ้องมองฝูงปลาอันเป็นสิ่งมีชีวิตที่เด็กหนุ่มหลงใหล
ภายในพื้นที่เมืองซึ่งเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยมนุษย์ที่กือรูต่อไม่ค่อยติดนั้น พื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงอย่างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจะสามารถพาเราข้ามไปยังดินแดนใต้ทะเลที่เราไม่คุ้นเคย หากก็รู้สึกผูกพันกับโลกสีฟ้าแห่งนี้ได้อย่างแปลกประหลาด เป็นอควาเรียมที่แม้ว่าโดยทั่วไปเราอาจนึกถึงในฐานะพื้นที่ของการเรียนรู้ แต่ใครที่เคยอกหัก หม่นเศร้า หรือกำลังมีความรักนั้น โลกสีฟ้าและฝูงปลาน้อยใหญ่ก็พร้อมจะร่วมเยียวยาความรู้สึกของเราได้ คล้ายกับที่ตัวเอกของ Move to Heaven พาตัวเองหลบหนีออกจากเมืองสีเทาไปสู่อควาเรียม
ความพิเศษของอควาเรียมคือการย้ายพื้นที่ธรรมชาติเข้ามามีชีวิตอยู่ในพื้นที่เมือง ซึ่งนอกจากมันจะเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้แล้ว อควาเรียมยังเป็นเหมือนความฝันหนึ่งของมวลมนุษย์ เราสนใจสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลและตัวท้องทะเล เราพยายามสร้างสระสำหรับเลี้ยงปลามาตั้งแต่บรรพกาล จนสามารถสร้างโหลหรือบ่อที่มีความโปร่งใส กระทั่งเรามาถึงยุคที่วิทยาการก้าวหน้าเพียงพอ ด้วยพลังของกระจกใส เทคโนโลยีทางวิศวกรรมอื่นๆ และความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล ทำให้เราสามารถยกและดำลงสู่ท้องทะเลภายใต้อาคารในร่มขนาดใหญ่ได้
แม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้จะทำให้ออกไปดูปลาไม่ได้ แต่เราก็อยากชวนให้ทุกคนลองหลับตาและนึกถึงบรรยากาศของการลงสู่ใต้ทะเลผ่านประวัติศาสตร์สั้นๆ และอุโมงค์ยาวๆ ของอควาเรียมกัน
พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สัญลักษณ์ของอำนาจ และตู้ปลาเพื่อความสดของชาวโรมัน
โลกใต้ทะเลเป็นดินแดนที่มนุษย์เราหลงใหลและมักสงสัยอยู่เสมอ ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างเราและสัตว์ใต้ทะเลนั้นไม่ได้เหินห่างกันมากนัก เห็นได้จากการที่เมืองส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับทะเลหรือไม่ก็แม่น้ำ ซึ่งส่งผลให้มนุษย์คุ้นเคยกับปลาและการจับปลา หรือในแง่ของการนำปลาที่มีชีวิตมาเลี้ยงไว้นั้นเป็นสิ่งที่ทำกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ การเลี้ยงปลาก็สัมพันธ์กับการที่เราจะคิดถึงปลาได้ 3 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นคือความเชื่อ ความมั่งคั่ง และอาหาร
ง่ายที่สุดคือเมื่อเราสัมพันธ์กับปลา มนุษย์กับธรรมชาติในยุคแรกๆ มักมีความสัมพันธ์แบบยำเกรงกัน การเลี้ยงปลาในยุคโบราณจึงสัมพันธ์กับพื้นที่ทางศาสนา โดยที่ปลาหรือสัตว์น้ำมักจะสัมพันธ์อยู่กับเทพเจ้าและความเชื่อเหนือธรรมชาติ นักประวัติศาสตร์คาดว่าเมื่อปลาสัมพันธ์กับเทพเจ้าแล้ว ในวิหารก็น่าจะมีการเลี้ยงปลาไว้เป็นตัวแทน อาจจะด้วยสระหรือลำธารจำลองซึ่งก็เป็นวิทยาการการจัดสวนที่ไม่ได้พ้นไปจากความสามารถของอารยธรรมเก่าแก่อย่างเมโสโปเตเมียและวัฒนธรรมอียิปต์นัก
เช่นเดียวกับในฝั่งเอเชียที่อู่อารยธรรมอย่างจีนมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ น้ำ และปลา จีนเชี่ยวชาญในการจำลองธรรมชาติและกระแสธารเข้าสู่พื้นที่ของมนุษย์ โดยที่แน่นอนว่าเรื่องความสวยงามและความบันเทิงก็เป็นหัวใจสำคัญ จีนเป็นที่รู้จักเรื่องการเลี้ยงปลาเป็นสัตว์เลี้ยงลำดับแรกๆ ของเหล่าอารยธรรมทั้งหลายทั่วโลก ในช่วงราชวงศ์ฉิน ราวคริสต์ศตวรรษที่ 265-240 มีหลักฐานว่าราชสำนักและชนชั้นสูงของจีนเริ่มเลี้ยงปลาเพื่อประดับพื้นที่ โดยการประดับนี้ก็เริ่มมีการพัฒนาสี มีการใช้อาหารเพื่อเร่งสีสันและลวดลายของปลา ถือกันว่าปลาเป็นสิ่งสวยงาม และการจัดแสดงปลาเป็นตัวแทนของอำนาจและความมั่งคั่ง
พ้นไปจากประเด็นเรื่องความสวยงามในการเลี้ยงปลาแล้ว อีกชาติหนึ่งที่ถือว่าใช้ตู้กระจกเพื่อเลี้ยงและจัดแสดงปลาเป็นกลุ่มแรกคือชาวโรมัน โดยเป้าหมายของการจัดแสดงปลาในตู้ไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่เน้นไปที่การขนส่งอาหารและรักษาความสดของปลาไว้ ชาวโรมันถือเป็นกลุ่มอารยธรรมแรกที่เริ่มวัฒนธรรมตู้ปลาหน้าร้านอาหารอย่างที่เราเห็นตามร้านอาหารจีนทุกวันนี้ นักโบราณคดีระบุว่าในสมัยนั้นชาวโรมันชอบรับประทานอาหารทะเลมาก โดยความสดคือหัวใจ ดังนั้นชาวโรมันจึงออกแบบอ่างขึ้นเพื่อใช้ขนและเลี้ยงปลาไว้รอการค้าขาย
นักโบราณคดีถึงขนาดคาดคะเนว่าชาวโรมันอาจสร้างกระทั่งตู้หรือบ่อเอาไว้บนเรือ มีระบบสูบน้ำทะเลเข้าไว้ในตู้และใช้รักษาปลาที่จับไว้ได้ ในยุคแรกชาวโรมันจะใช้อ่างหินอ่อนในการเลี้ยงปลา จนกระทั่งราวศตวรรษที่ 1 เมื่อวิทยาการกระจกเริ่มก้าวหน้า จึงมีหลักฐานว่าร้านรวงในเมืองก็เริ่มติดตั้งตู้ที่บางส่วนเป็นกระจก ทำให้ลูกค้าสามารถมองเห็นและเลือกซื้อปลาได้ การันตีความสดแบบมองเห็นกันได้จะๆ หรืออย่างชาวโรมันเองก็มีการเลี้ยงปลาเพื่อความสวยงามด้วยเช่นกัน เพียงแต่ส่วนใหญ่จะเลี้ยงในบ่อหรือสระมากกว่า ส่วนตู้ปลานั้นประดิษฐ์ขึ้นเพื่อกิจการการกินเป็นสำคัญ
‘อควาเรียม’ จากตู้เลี้ยงจิ๋วสู่อาณาจักรใต้ทะเล
จากยุคโบราณที่ค่อนข้างไกลอยู่หน่อย แต่เราก็พอนึกภาพออกว่ามนุษย์กับปลาไม่ได้เหินห่างกันเท่าไหร่นัก ทว่าถ้าเราพูดถึงคำว่าอควาเรียม หรือที่บ้านเราเรียกว่าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ พื้นที่อันหมายถึงดินแดนที่เต็มไปด้วยตู้กระจกและการจัดแสดงพันธุ์ปลา ด้านหนึ่งพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเลยเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นผลของความสนใจในสิ่งมีชีวิตต่างๆ ประกอบกับความก้าวหน้าทางวิทยาการที่ทำให้พื้นที่สีฟ้าเช่นอควาเรียมนั้นผุดขึ้นทั่วโลก
วิทยาการเรื่องตู้ปลาและการเลี้ยงปลาในระยะแรกนั้นมักเป็นเรื่องส่วนบุคคล อาจจะมีบ่อปลาในสวนบ้างในยุคกลาง ในขณะที่การเลี้ยงปลาสวยงามในบ้านของชนชั้นสูงและพระราชวังในยุโรปเริ่มต้นจริงจังราวศตวรรษที่ 17-18 เมื่อมีการนำเข้าปลาทองของประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงปลาเพื่อความสวยงามมากกว่าอาหาร ในช่วงเวลานั้นจึงเกิดความต้องการเรื่องตู้ขนาดเล็กสำหรับเลี้ยงปลา และการเริ่มผลิตอ่างหรือโถเซรามิกที่โปร่งแสงบางส่วนเพื่อสนองความต้องการของตลาด
จากการเลี้ยงสัตว์เพื่ออาหารการกินและความสวยงามส่วนตัว สู่การเลี้ยงเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ จนค่อยๆ พัฒนากลายเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่นั้นสัมพันธ์อยู่กับวิทยาศาสตร์ ในสมัยศตวรรษที่ 18 มนุษย์เราเริ่มสนใจสิ่งมีชีวิต มีการเลี้ยงและศึกษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งการจะศึกษาเฝ้าสังเกตสิ่งมีชีวิตได้ก็ต้องมีตู้ใส ช่วงก่อนกลางศตวรรษที่ 18 คำว่าอควาเรียมนั้นมีอยู่แล้ว โดยใช้เรียกภาชนะเลี้ยงทั่วๆ ไปในวงการพฤกษศาสตร์ กระทั่งในปี 1832 นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ Jeanne Villepreux-Power ก็ได้ประดิษฐ์ตู้กระจกใสสี่เหลี่ยมขึ้น
ภาพตู้สี่เหลี่ยมในหนังสือชีววิทยาตอนนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมจนทำให้นักวิทยาศาสตร์และผู้ที่สนใจรู้จักคำว่าอควาเรียมในฐานะตู้เลี้ยง โดยในช่วงแรกความหมายของมันคือตู้สำหรับเลี้ยงทั้งพืชและสัตว์น้ำ แน่นอนว่าต่อมาตู้กระจกสี่เหลี่ยมใสก็ทำให้ผู้คนสนใจสัตว์น้ำมากขึ้น การมีตู้ใสนอกจากจะทำให้นักวิทยาศาสตร์เลี้ยงและศึกษาปลาได้แล้ว ยังทำให้โลกชีววิทยาเข้าใจระบบนิเวศย่อมๆ เข้าใจถึงการที่พืชน้ำผลิตออกซิเจนให้ปลา และการเลี้ยงปลาให้มีชีวิตยืนยาวและไปรอดสัมพันธ์กับพืชพรรณใต้น้ำและการสร้างระบบนิเวศภายในตู้
ในช่วงแรก การจัดแสดงปลาในตู้ถูกจำกัดอยู่ในห้องทดลองและบ้านเศรษฐีเท่านั้น จนกระทั่งในทศวรรษ 1850 เริ่มมีสวนสัตว์ ประกอบกับวิทยาการตู้กระจกเริ่มแข็งแรงขึ้น มีโครงเหล็กประกอบกับกระจกใสที่ออกแบบโดย Philip Gosse ในปี 1853 พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นที่ลอนดอนภายใต้ชื่อง่ายๆ ว่าบ้านปลา (Fish House) ที่ใช้พื้นที่ทั้งอาคารในสวนสัตว์ลอนดอนเพื่อจัดแสดงสัตว์น้ำ การจัดแสดงนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการจัดตู้ปลาจำนวนมากเรียงรายไปตามผนังและมีสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ให้สาธารณชนได้รับชม
แน่นอนว่าเมื่อลอนดอนมีแล้ว ภาครัฐและเอกชนในเมืองต่างๆ ก็เล็งเห็นความเป็นไปได้ของการจัดแสดงสัตว์น้ำที่มีชีวิตทั้งสำหรับการสร้างพื้นที่เรียนรู้และพื้นที่ทางธุรกิจ ช่วงครึ่งศตวรรษหลัง หลังจากการจัดแสดงที่ Regent’s Park ที่ลอนดอน เมืองต่างๆ ก็เริ่มสร้างและเปิดพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำของตัวเอง เริ่มที่เบอร์ลิน เนเปิลส์ ปารีส ไปจนถึงนิวยอร์ก มีรายงานว่าในปี 1928 มีพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำทั้งของรัฐและเอกชนราว 45 แห่งทั่วโลก
หลังจากนั้น ภายใต้วิทยาการใหม่ๆ ตู้ปลาก็ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น นวัตกรรมกระจกที่ใหญ่ขึ้น โค้งได้ และไร้รอยต่อ เทคโนโลยีระบบกรองที่ทันสมัยขึ้น รวมไปถึงมีการสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในพื้นที่ที่หลากหลายและหลากวัตถุประสงค์ เช่น พื้นที่ริมทะเล เพื่อรักษาและศึกษาพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่น
หนึ่งในแง่มุมพิเศษของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำคือการสร้างพื้นที่เสมือน นั่นคือเสมือนว่าเราได้ทะลุลงไปสู่พื้นที่ใต้น้ำได้จริง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในยุคต่อมาก็เริ่มเน้นการพาเราไปสู่โลกใต้ทะเลด้วยนวัตกรรม เช่น ในปี 1984 พิพิธภัณธ์สัตว์น้ำ Monterey Bay Aquarium ได้สร้างตู้ปลาสูงถึง 10 เมตร และหลังจากนั้นที่ Kelly Tarlton’s Underwater World ที่เมืองอ็อกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้มีการสร้างอุโมงค์อะคริลิกใสขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อสร้างประสบการณ์ดำดิ่งให้กับผู้มาเยือน
ดำดิ่งสู่ห้วงน้ำ เมื่อความเศร้าอาจบรรเทาได้ด้วยฝูงปลา
ว่ากันว่าน้ำรสเค็มอย่างเหงื่อ น้ำตา และท้องทะเลจะช่วยรักษาบาดแผลกาย-ใจของมนุษย์ได้ สายน้ำเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับการเยียวยารักษามาโดยตลอด และแน่นอนว่าพื้นที่อย่างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำก็เป็นพื้นที่พิเศษที่การออกแบบและวิทยาการความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลได้เปิดให้เราดำดิ่งลงสู่ผืนน้ำ ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเป็นพื้นที่ในหลายเมืองใหญ่ที่ให้ผู้คนไปใช้เวลา หลายครั้งที่ดินแดนใต้น้ำนี้นอกจากจะถูกใช้เพื่อศึกษาดูปลา ใช้เป็นที่ออกเดตของคนรักเก่า-ใหม่ รวมถึงคนในครอบครัวแล้ว โลกใต้ทะเลยังเป็นที่พึ่งทางใจและช่วยเยียวยาความรู้สึกของผู้คนได้ด้วย
เบื้องต้นที่สุดที่อควาเรียมส่งผลทางใจต่อเราคือความสงบ นึกภาพช่วงเวลาที่แสงกำลังเคลื่อนแช่มช้าในช่วงบ่าย การได้ยืนดูปลาที่เคลื่อนไหวอย่างนุ่มนวลในตู้ท่ามกลางแสงสะท้อนของท้องน้ำที่อาบให้พื้นที่ในอาคารกลายเป็นสีเขียวหรือฟ้า การหงายหน้าดูปลากระเบนเหินข้ามหัวของเราไป หรือการได้เฝ้ามองโซนแมงกะพรุนที่ขยับตัวไปอย่างไม่ต้องเหนื่อยหน่าย การเห็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใช้ชีวิต และการได้เชื่อมต่อกับธรรมชาติแม้เพียงชั่วครู่ ก็อาจช่วยบรรเทาความหนักหนาน่าเบื่อของชีวิตเราได้บ้าง
นอกจากประสบการณ์เวลาเข้าไปในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่รู้สึกสบายแล้ว ยังมีงานศึกษาช่วยยืนยันผลกระทบเชิงบวกและความสามารถในการเยียวยาของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำด้วย อย่างการศึกษาในปี 2015 ของ The European Centre for Environment and Human Health (ECEHH) ที่สนใจศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพในการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำพบว่า ยิ่งสิ่งมีชีวิตที่เรายืนดูหลากหลายเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีต่อจิตใจของผู้ชมมากขึ้นเท่านั้น
มีงานวิจัยหนึ่งได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเข้าไปชมตู้จัดแสดงปลาพร้อมเฝ้าดูการเต้นของหัวใจและค่าความดันโลหิต โดยที่การทดลองจะเริ่มจากตู้ว่างๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปลาลงไป ผลคือความดันโลหิตและการเต้นของหัวใจลดลง ผู้วิจัยระบุว่าการเข้าสู่บรรยากาศสีฟ้าส่งผลค่อนข้างเร็ว คือภายใน 5 นาทีแรกก็ส่งผลกับร่างกายแล้ว และค้นพบมุมที่น่าสนใจว่ายิ่งมีตู้ปลามาก มีความหลากหลายทางชีววิทยามาก ก็ยิ่งส่งผลดีต่อผู้เข้าชม ความเข้าใจนี้สอดคล้องและส่งสัญญาณถึงประเด็นทางสุขภาพต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีววิทยาที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่
อควาเรียมถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ยังมีประเด็นซับซ้อน ยุคแรกๆ อควาเรียมนั้นมีการบริหารจัดการที่ต่างจากสวนสัตว์ อควาเรียมไม่จำเป็นต้องจัดแสดงปลาประหลาด แค่ปลาธรรมดาคนก็ตื่นเต้นแล้ว ในขณะที่บางเมืองของสหรัฐฯ เช่น ฟิลาเดลเฟียมีการสร้างอควาเรียมจนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมือง และเริ่มมีการรวบรวมปลาและสัตว์น้ำแปลกๆ อื่นๆ เข้ามา หรืออย่างที่ญี่ปุ่นก็มีคุณฉลามวาฬที่แหวกว่ายวนไปมา ช่วยให้คนที่ได้เห็นดีใจจนยิ้มไม่หุบไปทั้งวัน
สำหรับเด็กๆ อควาเรียมคงเป็นเหมือนดินแดนแห่งความฝัน และสำหรับผู้ใหญ่ อควาเรียมเป็นเหมือนดินแดนที่เรากลับไปรักษาความฝันบางอย่างเอาไว้ เป็นที่ที่เราปล่อยใจให้จมดิ่งไปกับความเนิบช้า พาตัวเองกลับไปอยู่ในห้วงน้ำ เฝ้าเห็นปีกพลิ้วไสวของปลากระเบนที่โบยบินไปอย่างอิสระ
ห้วงน้ำ–พื้นที่ใต้น้ำและการจมลงสู่ผืนน้ำไม่ว่าจะทางตรงหรือผ่านกระจกใสนั้น ก็ล้วนให้ความรู้สึกแปลกประหลาดสำหรับมนุษย์ที่เดินบนผืนดินเช่นเราๆ เป็นการข้ามไปยังอีกโลกที่ใต้ผิวน้ำนั้นพาเราหนีไปจากสิ่งที่เกิดขึ้น จากปัญหาและความหนักหน่ายของชีวิต เราเลยรู้สึกอิจฉาเมืองใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่พักใจแปลกๆ โดยมีอควาเรียม และมีฝูงปลาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เราได้หลบหนีจากผิวโลกเป็นครั้งคราว
อ้างอิง