สำหรับเด็กยุค 90s หรือหลังจากนั้น เราจะมีความทรงจำหนึ่งคือการไปห้าง และไปต่อคิวเข้าถ่าย ‘ตู้สติ๊กเกอร์’ แรกๆ ก็ไม่กี่ที่ หลังๆ คือแทบทุกห้างต้องมีเจ้าตู้นี้ ความสนุกสำคัญคือการไปรวมตัวกันทั้งกับครอบครัวหรือกับเพื่อนๆ ไปเลือกกรอบ เลือกเฟรม จนออกมาเป็นภาพความทรงจำที่เรามักจะใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์
จริงๆ เจ้าตู้สติ๊กเกอร์หรือตู้ถ่ายรูปค่อนข้างมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และถือเป็น ‘สาธารณูปโภค’ คือเป็นตู้ เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ตั้งไว้ในเมือง ในพื้นที่สาธารณะแล้วคนก็เข้าไปใช้งาน ก่อนตู้สติ๊กเกอร์เราก็เคยมีตู้ถ่ายรูปติดบัตร ที่เจ้าตู้เหล่านี้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เวลาไปเที่ยวต่างประเทศก็มักจะไปถ่ายรูปเก็บไว้ เป็นภาพสี่ช่อง ขาว-ดำ เป็นการเก็บความทรงจำและของที่ระลึกที่สำคัญอย่างหนึ่ง
ว่าก็ว่าเจ้าตู้สติ๊กเกอร์ที่เราคุ้นเคยในช่วงปี 2000 หรือตู้ถ่ายรูปติดบัตรนั้นถือเป็นสาธารณูปโภคที่แสนพิเศษในหลายระดับ จากตู้ยุคแรกที่สร้างกระแสฝูงชนและกำไรมหาศาลในปี 1925 นอกจากว่าในปี 2020 นี้พวกมันทำท่าจะคัมแบ็ก คือเป็นตู้ถ่ายรูปที่ยังคงอยู่แม้ว่าเราจะถ่ายเซลฟี่กันวันละร้อยๆ รูปอยู่แล้ว แต่เราเองก็ยังพาเพื่อนฝูงไปกดถ่ายรูปกับเจ้าตู้เหล่านี้กันอยู่ดี ว่าไปแล้วเจ้าตู้พวกนี้นอกจากจะสร้างความเคลื่อนไหว ร่วมบันทึกความทรงจำร่วมของเราในพื้นที่นอกบ้านแล้ว พวกมันยังน่าจะนิยามได้ว่าเป็นบรรพชน และราชาของการเซลฟี่ เราเซลฟี่กันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 20 โน่น
ถ้าเรามองในมิติของเมือง ของวัฒนธรรม โฟโต้บูทถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่สร้างสีสันให้กับเมืองที่ดูเฉยชา นึกภาพเมืองสีเทาๆ แต่ในตู้แคบๆ กลับเป็นพื้นที่ที่คนมารวมตัวกัน ทั้งรวมตัวถ่ายภาพในหมู่เพื่อนฝูง และบางครั้งในแถวยาวๆ ของคนแปลกหน้าที่ต่อคิวเข้าใช้งานกลับนำไปสู่ปฏิสัมพันธ์ เกิดการพูดคุยที่คาดไม่ถึงขึ้น ซึ่งตอนนี้เหมือนว่าโฟโตบูทกำลังมาเป็นกระแสที่ตอบความต้องการของยุคดิจิทัล แต่สำหรับที่ญี่ปุ่น ตู้ถ่ายรูปในชื่อน่ารักๆ purikura ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมสำคัญของเหล่าเด็กผู้หญิงที่พวกเธอใช้ตู้เหล่านี้ในการบันทึกภาพเพื่อนฝูงและความทรงจำ เป็นอุปกรณ์สำหรับถ่ายรูปเซลฟี่ละโมเมนต์ที่สำคัญกว่าการถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือ
ตู้ถ่ายรูปรุ่นแรก รอยยิ้มของผู้คนและบรรพบุรุษของการเซลฟี่
แน่นอนว่าถ้าย้อนไปที่จุดเริ่มต้น ยุคที่การถ่ายภาพยังไม่แพร่หลาย คอนเซปต์สำคัญของตู้ถ่ายรูปคือการสร้างตู้ที่สามารถให้ภาพบุคคลคุณภาพสูงได้ในราคาถูก ไม่จำเป็นต้องใช้ช่างภาพ ทำงานอัตโนมัติ ตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติแรกเกิดขึ้นในปี 1925 โดย Anatol Josepho ผู้อพยพชาวเซอร์เบียในสหรัฐฯ ซึ่งแกนำไปตั้งที่ถนนบรอดเวย์และอีกตู้ไปตั้งใกล้ๆ ไทม์สแควร์
ผลคือ…เกิดเป็นอภิมหากระแส ผู้คนทั้งหลายทะลักไปยืนต่อคิวเพื่อจะถ่ายภาพตัวเองและเพื่อนๆ ซึ่งแน่นอนว่าการมีตู้ถ่ายรูปอันเป็นเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาหนึ่งตู้ ไปตั้งอยู่บนถนนของเมือง ตู้นั้นก็กลายเป็นพื้นที่ของกิจกรรมอันแสนพิเศษที่ผู้คนได้มาบันทึกภาพและห้วงเวลาของตัวเองบนพื้นที่เมืองที่เฉยชาต่อกัน ในตู้ถ่ายภาพนั้นกลับปรากฏเป็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจำนวนมากขึ้น ในตอนนั้นคุณโจเซปโปก็รับรายได้เละไปราว 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากต้นทุนตู้ละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ
หลังจากนั้นตู้ถ่ายภาพก็กลายเป็นสิ่งยอดฮิตที่กระจายไปทั่วเมือง จากภาพขาว-ดำกลายเป็นภาพสี ตู้ถ่ายภาพกลายเป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะ ค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นตู้สติ๊กเกอร์ หรือกระทั่งปัจจุบันนอกจากตู้สติ๊กเกอร์ที่เน้นออกแบบฟิลเตอร์หรือตัวตู้สนุกๆ ก็มีการพัฒนาเป็นตู้คุณภาพสูงขึ้น ความพิเศษอย่างหนึ่งที่เจอได้คือความสัมพันธ์ของคนแปลกหน้า การแอบมองการถ่ายภาพของคนที่อยู่ด้านหน้า การแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน
พุริคุระ วัฒนธรรมตู้ถ่ายรูปที่ยังอยู่รอด
ตู้ถ่ายรูปหรือฟโต้บูทอาจจะมีมา มีหาย เป็นตู้สติ๊กเกอร์ที่เคยปรากฏอยู่ทุกห้าง หรือไปปรากฏตามพื้นที่ที่เฉพาะเจาะจงเช่นพวกตู้ถ่ายรูปคุณภาพสูง หรือตู้ถ่ายภาพในงานอีเวนต์ แต่ที่ญี่ปุ่นตู้ถ่ายรูปกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สถิตสถาวรและกลายเป็นวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมของเด็กสาวชาวญี่ปุ่น เป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมคาวาอี้ และที่เก๋กว่านั้นคือเป็นพื้นที่ทางสังคมของเหล่านักเรียนหญิง
ตู้พุริคุระแรกของญี่ปุ่นปรากฏตัวขึ้นในปี 1995 ในความร่วมมือของสองบริษัทเกมยักษ์ใหญ่คือ Atlus และ Sega โดยเจ้าตู้นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่คือมันไปโผล่ที่เกมเซ็นเตอร์ที่เคยเป็นพื้นที่ของเหล่าเด็กผู้ชาย กลายเป็นว่าหลังจากนั้นเกมเซ็นเตอร์ก็เลยขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าผู้หญิง ซึ่งตู้ถ่ายรูปนั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ความพิเศษของพุริคุระคือการที่ตัวมันไปด้วยกันกับวัฒนธรรมแห่งความคาวาอี้ จากความสำเร็จในปี 1995 เจ้าตู้นี้ก็ค่อยๆ ได้รับการพัฒนาโดยแน่นอนว่ามีฐานลูกค้าผู้หญิงและความน่ารักเป็นเป้าหมายสำคัญ เหล่าตู้เจ้าต่างๆ ก็แข่งขันกันใส่นวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นกรอบน่ารัก ฟิลเตอร์แต่งหน้าอัตโนมัติ หรือยุคหนึ่งจุดแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายคือการออกแบบ AI ให้ตรวจจับดวงตา และแข่งกันจนนำไปสู่ความนิยมว่าตู้พุริคุระเจ้าไหนที่ทำให้ตาโต แบ๊วได้สมใจมากที่สุด มีบทสัมภาษณ์สาวๆ ระบุว่า ต่อให้มีฟิลเตอร์มือถือแล้ว พวกเธอก็รู้สึกวางใจตู้ถ่ายรูปพวกนี้มากกว่าว่าจะทำให้รูปของพวกเธอน่ารักสวยงามได้
กิจกรรมทางสังคมในตู้ถ่ายภาพ ถึงมีมือถือก็ยังถ่ายรูปที่ตู้กับเพื่อน
นอกจากความแน่นอนของความน่ารักที่นักเรียนหญิงญี่ปุ่นวางใจ สิ่งสำคัญของตู้พุริคุระคือการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ทางสังคมที่เด็กนักเรียนญี่ปุ่นใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน วัฒนธรรมพุริคุระหรือตู้ถ่ายรูปนี้มาจากงานวิจัยในปี 2006 ว่าด้วยพลังทางสังคมของพุริคุระ ข้อค้นพบที่น่าสนุกคือพบว่าคนญี่ปุ่นเห็นว่าตู้ถ่ายรูปนี้มีความสะดวกในการถ่ายภาพกลุ่มคน ไม่ว่าจะคู่รักหรือกลุ่มเพื่อนที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องพะวงกับการถือกล้อง ทั้งตู้ถ่ายรูปยังให้ความเป็นพื้นที่ส่วนตัวกลางพื้นที่เมืองใหญ่ สามารถปรินต์รูปได้ทันทีและสามารถปรับเปลี่ยนฉาก ฟิลเตอร์ สติ๊กเกอร์ตกแต่งได้อย่างไม่จำกัด
ในงานศึกษายังระบุถึงมิติทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งลงไปอีก การถ่ายภาพที่ตู้ยังมีองค์ประกอบพิเศษอื่นๆ คือนอกจากจะเป็นการใช้เวลาร่วมกันและเก็บภาพร่วมกันแล้ว ตัวตู้ยังสัมพันธ์กับการแชร์ การส่งต่อภาพ ในระยะหลังพวกตู้เหล่านี้นอกจากจะพิมพ์ภาพแล้วยังส่งภาพเข้ามือถือและส่งต่อได้ ในกระบวนการส่งต่อนั้นก็มักจะมีการลงชื่อ เขียนโน้ตเพื่อบันทึกถ้อยคำพิเศษและส่งต่อให้แก่กัน
ที่สำคัญคือผู้วิจัยบอกว่านักเรียนหญิงทุกคนที่ให้ข้อมูล ทุกคนมีมือถือ มีบล็อกสำหรับแชร์ภาพ แต่ว่าภาพจากกล้องมือถือมักจะเป็นภาพสิ่งของ อาหาร และภาพวิว และเมื่อต้องถ่ายภาพตัวเองหรือภาพเพื่อนฝูง พวกเธอจะใช้ตู้ถ่ายรูปในการเก็บภาพตัวตน บรรยากาศและผู้คนที่อยู่รอบๆ ตัวเธอ ตรงนี้ก็ถือเป็นวิธีคิดและการใช้ภาพถ่ายที่น่าสนใจ คือภาพในมือถือเป็นเหมือนภาพองค์ประกอบการใช้ชีวิต แต่พวกเธอจะรักษาความเป็นส่วนตัวและใช้ภาพจากตู้ถ่ายภาพที่อาจจะแชร์ในวงแคบ จัดการได้ง่ายกว่า
SUMMER-PHOTOAUTOMAT
การกลับมาของโฟโต้บูทในช่วงนี้ สำหรับหน้าร้อนในฐานะห้วงเวลาของความทรงจำและการพักผ่อน ทางเดอะมอลล์ กรุ๊ปชวนเราไปรับความเป็นฤดูร้อนกับเคมเปญ ‘SUMMER-CATION’ ปิดจอแล้วไปใช้เวลา เก็บห้วงเวลาดีๆ ของหน้าร้อนไปพร้อมๆ กัน โดยมีโปรเจกต์เอกซ์คลูซีฟ ‘Summer-Cation Sculpture Pop-up’ ร่วมกับ Sculpture Bangkok ชวนเพื่อนรักไปรับลมร้อน
พูดมาอย่างยืดยาว แน่นอนว่าในโปรเจกต์นี้ก็จะมี Photoautomat มาให้เราใช้เก็บความทรงจำด้วยตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติรายละเอียดสูงที่เหมือนเราได้ไปท่องเที่ยวรับหน้าร้อนในที่ต่างๆ ได้สร้างสรรค์และเก็บภาพความสัมพันธ์ของฤดูร้อนไว้ได้อย่างเต็มสีสัน
นอกจากตู้ถ่ายรูปอัตโนมัติแล้ว โปรเจกต์พิเศษฤดูร้อนนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย โดยยกบรรยากาศและกิจกรรมในหน้าร้อน 3 แบบ 3 สไตล์มาที่ห้างในเครือ เดอะมอลล์ กรุ๊ปทุกสาขา เช่น บรรยากาศพร้อมกิจกรรมการทำว่าว (Kites) กิจกรรมการตกแต่งจากสีมัดย้อม (Tie-dye) และป๊อปอัพช็อปพร้อมลานเซิร์ฟสเกตลายสายรุ้ง (Rainbow) ที่ยาวที่สุด
แต่โปรเจกต์พิเศษที่มีตู้ถ่ายรูปและกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ร่วมกับทาง Sculpture Bangkok จะจัดขึ้นสำหรับกิจกรรม SUMMER PHOTO-AUTOMAT มีเฉพาะห้างเดอะมอลล์ กรุ๊ป สามสาขาเท่านั้นเท่านั้นคือ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ชั้น 1 แผนก Beauty Hall, เอ็มโพเรียม ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ชั้น 2 แผนก Men InTrend และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ ชั้น 2 แผนก Men InTrend พร้อมรับ Summer Passport เก็บโมเมนต์ความสนุกกลับไปพร้อมกัน รวมถึงตู้สินค้าอัตโนมัติ ‘Summer-Vending Machine’ ที่เต็มไปด้วยซัมเมอร์ไอเทมสุดเอกซ์คลูซีฟอย่างหมวก Summer Cap หลากสีสัน จำลองประสบการณ์ของที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
ทั้งสามสาขาจะมีความสนุกที่แตกต่างกันออกไป แนะนำว่าซัมเมอร์นี้ต้องไปเก็บให้ครบทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 7-30 เมษายน 2564 ทุกวัน เวลา 12:00-20:00 น.