วันนี้คุณดองเหล้าบ๊วยแล้วหรือยัง : ว่าด้วยฤดูกาลและความงดงามของการหมักดอง

ลูกบ๊วยจำนวนมากคือสัญญาณของการผลิบานของฤดูใบไม้ผลิ เข้าสู่ช่วงแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในวินาทีที่เราปิดขวดโหล วินาทีนั้นเหมือนกำลังบอกกับเราว่า ขอให้อดทน รอคอย และมีสุขภาพที่ดี จนกว่าจะถึงวันที่เหมาะสม แล้วเราจะได้พบกันอีกครั้ง

นานมาแล้วที่เราอาจไม่ได้มองท้องฟ้าและต้นไม้ใบหญ้าที่ผลิดอกออกใบแล้วรู้สึกว่าวงจรชีวิตบางอย่าง พืชผลบางประเภทกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ พวกมันกำลังผลัดเปลี่ยนกันสุกงอมและออกผลตามคาบของฤดูกาล ฤดูกาลคือสิ่งที่บ่งบอกว่าบางสิ่งกำลังมาถึงในห้วงเวลาที่เฉพาะเจาะจง 

การหมักอาหารส่วนหนึ่งเกิดจากเงื่อนไขในการเอาตัวรอดและการรักษาอาหารเอาไว้ โดยเฉพาะในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมตั้งแต่ห้องเย็นไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ต สมัยที่อาหารยังไม่ถูกห่อด้วยพลาสติก และมีพืชผักผลไม้ปรากฏอยู่ในห่อแทบทุกหนแห่ง

จริงอยู่ว่าโลกสมัยนั้นแสนสบาย แต่การกินและซื้อวัตถุดิบที่แสนจะง่ายดายและเป็นระเบียบเรียบร้อยก็ทำให้เราออกห่างจากธรรมชาติและความเป็นธรรมชาติไปบ้าง เราแยกขาดออกจากสิ่งที่เรากิน จากต้นกำเนิด จากรูปลักษณ์ จากการมีชีวิตของพวกมันที่ประกอบขึ้นจากเวลา ความสวยงามและไม่สวยงาม เรากินสิ่งต่างๆ โดยบางครั้งก็ไม่ทันได้รับรู้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของฤดูกาลและของบริบทบางอย่าง

umeshu
Umeshu – Yashima Gakutei

อาจด้วยช่วงเวลาของโรคระบาดที่ทำให้เราต้องอยู่บ้าน หรืออาจเป็นกระแสเหล้าบ๊วยที่เริ่มบูมในปีก่อนหน้า ในช่วงนี้หลายคนคงเริ่มรวบรวมบ๊วยสด ล้างทำความสะอาดขวดโหล เตรียมพร้อมสำหรับการดองบ๊วยสำหรับปีต่อไป ฤดูบ๊วยถือได้ว่ามาอย่างถูกช่วงเวลา ในช่วงวิกฤตอันประกอบด้วยการปลีกตัวและรอคอย การนำวัตถุดิบลงในขวดโหลและเฝ้ารอจนกว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสมเลยเป็นเหมือนคำมั่นที่บอกกับเราว่า การรอคอยและมีสิ่งที่ให้เรารอคอยนั้นไม่ใช่เรื่องเลวร้ายแต่อย่างใด

การหมักดองอาหารทั้งผักผลไม้และวัตถุดิบอื่นๆ จึงเป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยความหมาย ในด้านหนึ่งคือความสนุกที่เราได้เล่นและสร้างเงื่อนไขให้กับสิ่งที่มีขนาดเล็กให้มันได้เติบโตและทำหน้าที่ของตัวเอง โหลดองและของดองที่เรียงรายบนชั้นจึงทำให้เราเป็นเหมือนนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังเพาะเลี้ยงอะไรบางอย่าง ส่วนอีกด้านก็ทำให้เราครุ่นคิดถึงการถนอมพืชผลต่างๆ ที่ออกในช่วงเวลาเฉพาะเจาะจง ทำให้เราได้กลับไปเชื่อมต่อกับโลกทั้งในแง่ของการดูแลจุลินทรีย์เล็กๆ และผลิตผลที่เราจะนำมาใส่ในขวดโหล

โหลดองกับการกลับสู่ธรรมชาติ

แม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่มีตู้เย็นแล้ว แต่การหมักดองอาหารและวัตถุดิบก็ยังคงมีเสน่ห์อยู่ดี ในระยะหลังการดองอาหารกำลังเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ ดูง่ายๆ จากโหลดองบ๊วย ส่วนหนึ่งก็มาจากความเข้าใจว่าของดองมีโพรไบโอติกส์ต่างๆ ที่ดีต่อสุขภาพ แต่อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอยู่กับบ้านทำให้เราคอยหากิจกรรมบางอย่างทำ ซึ่งการดองอาหารนอกจากจะสัมพันธ์กับการบริหารจัดการวัตถุดิบและการได้ของดองอร่อยๆ แล้ว ยังส่งผลดีกับความรู้สึกของเราด้วย

ตอนแรกคิดว่าอาจเป็นเรื่องเฉพาะตัว คือถ้าเราตัดสินใจว่า เฮ้ย อยากจะดองผักผลไม้แล้วนะ เราถึงจะเริ่มมองหาสิ่งต่างๆ รอบตัวว่าอะไรที่เอามาดองได้บ้าง เราถึงจะเริ่มสนอกสนใจสภาพภูมิอากาศ สนใจฤดูกาลของวัตถุดิบพิเศษๆ ที่เราหมายใจว่าจะนำห้วงเวลาของวัตถุดิบสดๆ นั้นมารักษาไว้ในขวดโหล

จุดนี้เองที่สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ Sandor Katz ผู้เขียนหนังสือ Fermentation as Metaphor ที่เสนอว่าโลกใบนี้สัมพันธ์กับการหมักบ่ม และมองว่าการหมักบ่มอันเป็นกิจกรรมในครัวเรือนคือจุดตัดของหลายๆ สิ่ง โดยการที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตอาหารทำให้เราต้องเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ตั้งแต่ลมฟ้าอากาศ ผลผลิต ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่รอบตัวเรา  

umeshu

การหันมาหมักดองอาหารทำให้เราหันมามองสิ่งต่างๆ รอบตัว สิ่งที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะเกี่ยวข้องกับเรา นอกจากการมองเห็นผักผลไม้ที่ออกในช่วงเวลาที่เฉพาะเจาะจงแล้ว การหมักดองยังสัมพันธ์กับการสัมผัสสิ่งที่ตาเรามองไม่เห็น นั่นคือเหล่าจุลชีพที่กำลังเติบโตและทำงานอย่างขะมักเขม้นด้วย

Cultivation–การขุดพรวนและการสัมผัสสิ่งที่ตามองไม่เห็น

คำว่า cultivation เป็นคำสำคัญมากๆ ของมนุษย์คำหนึ่ง แน่นอนว่าการขุดพรวน หล่อเลี้ยงสิ่งต่างๆ เป็นรากฐานของอารยธรรมและวัฒนธรรมของเรา คำว่า culture ก็มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกัน การขุดพรวน หยั่งราก และถ่ายทอดดูแลผลผลิตไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณธัญญาหาร หรือการหล่อเลี้ยงความคิดและภูมิปัญญาล้วนเป็นกิจกรรมที่เราทำกันอยู่ตลอดเวลา

umeshu
Cultivation of the Vines – Henri Martin

แน่นอนว่าการหมักดองอาหารส่วนหนึ่งคือการ cultivate เป็นการสร้างสภาวะที่เหมาะสมให้เหล่าสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วและกาลเวลาได้ทำหน้าที่ของมัน การเพาะเลี้ยงและหล่อเลี้ยงสิ่งต่างๆ ในแง่นี้นอกจากจะเป็นการผลิตของอร่อยแล้ว ยังอาจกล่าวได้ว่ามันเป็นภาคปฏิบัติขนาดจิ๋วของการเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่เราต่างร่วมกันสร้างสภาวะที่เหมาะสมและเฝ้ารอเวลาของการเติบโต ไม่ว่าจะตัวเราเองหรือสิ่งที่เรากำลังดูแลอยู่ในมือ

อาจฟังดูเว่อร์นิดหน่อย แต่ลองคิดภาพว่าถ้าเราจะเตรียมโหลดองอะไรสักอย่าง การหมักดองของนั้นมีทั้งความง่ายและยากเจือปนกันไป การฆ่าเชื้อและปรับลักษณะของน้ำดองหรือสิ่งที่เราจะนำวัตถุดิบไปหมักเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างระมัดระวัง และเป็นเครื่องชี้วัดปลายทางว่าไข่เค็ม เหล้าบ๊วย หรือผักดองใดๆ ของเราจะมีรสชาติเป็นยังไง สำหรับการหมักดอง ในด้านหนึ่งคือการที่เราสร้างสภาวะอันเหมาะสมให้กับจุลชีพจิ๋วๆ ต้องทำความรู้จักพวกมันประมาณหนึ่งว่าสามารถเติบโตได้ในสภาวะแบบไหน จะอยู่รอดปลอดภัยที่อุณหภูมิเท่าไหร่ และกลายเป็นเรื่องสนุกเพราะว่าในที่สุดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม สิ่งมีชีวิตพวกนี้จะทำงานของมันจนเสร็จ โดยที่เราก็จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของพวกมันได้เมื่อถึงกำหนดของการดองนั้นๆ

จนกว่าจะพบกันใหม่ขอให้อดทนจนกว่าจะถึงวันหน้า

ถ้าจะมองการหมักดองให้โรแมนติกมันก็โรแมนติกอยู่ เพราะส่วนหนึ่งของการดองสัมพันธ์กับเวลา และอีกส่วนสัมพันธ์กับเรื่องสุขภาพ หลายครั้งการดองสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องของยาและการรอคอย การดองบ๊วยดูจะเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ทั้งตัวบ๊วยเองสัมพันธ์กับความอดทนและเกี่ยวข้องกับมิติทางวัฒนธรรม เช่น บ๊วยดองเป็นอาหารเรียบง่ายที่ให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เป็นอาหารของความสบายใจอย่างหนึ่ง ขั้นตอนการดองบ๊วยมักสัมพันธ์กับกิจกรรมของครอบครัว เป็นช่วงเวลาที่คนทั้งครอบครัวจะมาร่วมกันเก็บ คัดเลือก และทำเม็ดบ๊วยก่อนจะนำไปลงโหลดอง

การหมักดองโดยเฉพาะการดองสิ่งที่ต้องใช้เวลาเนิ่นนานอย่างบ๊วย จะทำให้เราสัมพันธ์กับโลกและฤดูกาลในหลายระดับ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจสภาวะอากาศและธรรมชาติแล้ว การดองยังสัมพันธ์กับความรู้สึกของเราในการใช้ชีวิตด้วย

อธิบายอย่างเรียบง่าย นึกภาพการดองเหล้าบ๊วยที่ตัวมันเองสัมพันธ์กับกิจกรรมในช่วงเวลาหนึ่งของปี ที่นอกจากจะสัมพันธ์กับห้วงเวลาในปัจจุบันแล้ว ในวินาทีที่เราปิดโหลดองบ๊วยก็เหมือนกับว่าเราได้วางหมุดหมายของเวลาในอีกหนึ่งปีข้างหน้า ว่าหลังจากนี้ในอีกหนึ่งปีที่เราจะอดทนรอ ผ่านร้อนผ่านหนาว เอาชีวิตรอด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง แล้วมาเปิดโหลดองเหล้าบ๊วยนี้เพื่อเฉลิมฉลองการผ่านพ้นปีที่ผ่านมาด้วยกันนะ

umeshu
The Plum Orchard at Kamata – Utagawa Hiroshige

ฟังดูอาจจะเป็นการตีความที่มากเกินไป แต่เชื่อว่าในช่วงวิกฤต การมองหากิจกรรมบางอย่างทำ มองหาการเชื่อมต่อและความหมายจากสิ่งต่างๆ ในชีวิตไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ล้วนเป็นเรื่องสำคัญกับการใช้ชีวิตต่อไป เพราะในช่วงวิกฤตของชีวิต บางครั้งก็เป็นความเคว้งคว้างที่เราทำเหตุผลของการรอคอยวันรุ่งขึ้นหล่นหายไป

การที่เรามีคำมั่นบางอย่าง มีกำหนดวันที่เรารอคอยที่จะไปให้ถึง รวมถึงมีเงื่อนไขของการดูแลอะไรบางอย่าง (ในกรณีนี้คือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ขนาดจิ๋วๆ) และมีของอร่อยที่เราทำขึ้นเองกับมือ การได้ใช้เวลากับการดูแลรักษา คัดเลือกทำความสะอาด การตัด หั่นผักหรือเอาไม้จิ้มบ๊วย ในเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกอย่างไม่น้อยเท่าไหร่

หรือต่อให้เราไม่ได้มองว่าผลลัพธ์จะต้องยิ่งใหญ่ แต่การลงมือหมักดองของก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้การรอคอยสนุกขึ้น แถมปลายทางยังมีของอร่อยรออยู่อีกต่างหาก

อ้างอิง

emergencemegazine.org

nutritionunplugged.com

raniglick.com

theguardian.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

chubbynida

illustrator ที่มี shape เป็นวงกลม คนคิดมาก ติดเกม ชอบฟังเพลงซ้ำเป็นร้อยครั้ง